dinp 2016

หลังจากอัพเดทล่าสุดเมื่อต้นปี 2015 ที่ผ่านมา นี่ก็ผ่านมาหนึ่งปีแล้ว มีเหตุผลบางประการที่รู้สึกว่าเว็บไซต์ต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง ทั้งเนื้อหาและงานออกแบบ

dinp 2016

ผ่านไปปีนึง มีข้อมูลหลายๆอย่างเข้ามา จึงทำให้ตัดสินใจปิดเว็บไซต์เกี่ยวกับต้นไม้ทั้งหมดเลย ทั้งแคคตัส บอนสี ลิ้นมังกร ซึ่งให้เหตุผลไว้ใน “บทเรียนจากการเลี้ยงไม้ประดับ

ทำให้เว็บไซต์มีเนื้อหาน้อยลง แต่ยังคงความเป็นเครือข่ายอยู่ คือไปทำที่นู่นบ้างที่นั่นบ้าง ดูแลกันทั่วถึงบ้างไม่ทั่วถึงบ้าง อย่างในปีที่ผ่านมานี่ก็แทบไม่ได้แตะ Veggie kitchen (blog) เลย จะไปอัพเดทกันในเฟสบุคซะมากกว่า แต่ก็ยังถือว่าน้อย เพราะงานหลักๆ จะไปหนักอยู่ที่เฟสบุค “ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์” นอกนั้นก็อัพเดทบ้าง ไม่ได้อัพเดทบ้าง แม้แต่บล็อกแห่งนี้ก็ยังถูกปล่อยทิ้งร้างกันอยู่นานเลยทีเดียว

หลักการออกแบบของปีนี้ต่างจากปีก่อนๆที่เป็นโทนดำ-แดง-ขาว ปีนี้มาในโทนสี ขาว-น้ำตาล-เขียว ในอารมณ์แบบธรรมชาติๆ เปิดภาพหน้าปกด้วยภาพมอสที่ถ่ายมาตอนไปน้ำตกพริ้วเมื่อนานมาแล้ว พื้นพลังเป็นแพทเทินไม้ไผ่ โดยรู้สึกอยู่ในใจลึกๆว่าอยากให้มีอารมณ์ที่สื่อถึงการเติบโตเล็กๆ ไม่ต้องมากมาย เอาแค่พอมีชีวิต

เมื่อเทียบกับโทนเดิม ซึ่งเป็นดำ-แดง-ขาว ก็เหมือนป่าที่ถูกไฟไหม้ เต็มไปด้วยฝุ่นควัน ถ่าน และขี้เถ้า ในแนวคิดปีนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการเติบโตหลังจากที่ถูกไฟป่าไหม้ไปละมั้ง (ก็จินตนาการโยงไปเรื่อยตามประสา)

แต่ก็เอานะ คิดว่ามันคงสบายตาและใช้งานง่ายมากขึ้น ไม่ซับซ้อน อ่านข้อมูลกันนิดหน่อยก็เข้าไปชมเนื้อหาในแต่ละส่วนต่อได้

ย้ายไตรสิกขา

จากตอนแรกที่ “ไตรสิกขา” นั้นได้อยู่ในส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ dinp.org ซึ่งก็ยังไม่มีคนแวะเวียนมาสักเท่าไรนัก ใช้เป็นเพียงสถานที่สำรองข้อมูลบทความต่างๆเท่านั้น

พอคิดไปคิดมาจะเอาไว้ในโดเมนนี้ (dinp.org) ก็ไม่ค่อยเหมาะนัก เพราะจากชื่อโดเมนแล้วมันก็ดูแสดงความเป็นบุคคลชัดเจน ซึ่งในใจผมอยากให้ไตรสิกขานั้นเป็นรูปแบบของสาธารณะ เป็นการศึกษาแบบกลุ่ม

สุดท้ายจึงได้ไปจดโดเมนใหม่ ในนาม dawnofdhamma.org ซึ่งจะใช้ชื่อในนามของ “แสงอรุณ” หรือ “กลุ่มแสงอรุณ” เพราะจะสามารถขยับขยายได้มากกว่า และ “ไตรสิกขา” ก็ได้ถูกย้ายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแสงอรุณ นั่นก็เพราะกลุ่มแสงอรุณจะใช้ไตรสิกขาเป็นหลักในการศึกษาและปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งก็สอดคล้องกันพอดี

เหตุที่มาของการย้ายก็มีเพียงเท่านี้ การทำเว็บไซต์นี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้หน้าเว็บ dinp.org ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา การเปลี่ยนแปลงนั้นก็สะท้อนการเปลี่ยนไปของผู้ทำในหลายๆด้านก็ต้องลองมาติดตามกัน

ส่วนใครจะติดตามไปดูไตรสิกขาใน url ใหม่ ก็ติดตามไปได้ที่ http://threefold-learning.dawnofdhamma.org/

 

เสียสละ หรือ ต้องช่วยกันเจ็บ ?

วันนี้ผมติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมเหมือนเคยครับ เพราะต้องคอยระวังที่บ้านไว้ด้วย และอีกอย่างคือวันนี้จะออกไปซื้อของด้วยก็เลยต้องตามข่าวกันติดหนึบหน่อย

ข่าวสารเนี่ยมันเป็นข้อมูลครับ ยิ่งฟัง ก็ยิ่งคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด คนเราบางทีก็รับข้อมูลบางอย่างเข้าสมองมากเกินจำเป็นครับ การคัดกรองข่าวสารที่จำเป็นเพียงเล็กน้อยจากข้อมูลข่าวสารจำนวนมากเกินจำเป็น (Snow job คำนี้ผมได้มาจากการเรียน Negotiate และชอบมากๆ )  ซึ่งผมได้รับทราบมาว่ามีทั้งข่าวที่เกิดขึ้นจริง และข่าวที่บิดเบือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับข่าวสาร

ข่าวสารสำหรับผมนั้น ในโลกนี้ไม่มีข่าวใดจริงแท้เลย ทุกๆข่าว ผ่านสายตา สมอง และปากจนถึงปลายปากกาหรือมือที่พิมพ์ลงไป ระหว่างทางที่ข่าวนั้นๆ ผ่านมาจนถึงเราจะเจออะไรบ้าง ประสบการณ์ ความวิตก อคติ ลำเอียง การคิดไปเอง ฯลฯ ทำให้ข่าวสารเหล่านั้นถูกบิดเบือนแต่แรกแล้ว ดังนั้นการรับข่าวสารจำเป็นต้องกรองจากหลายแหล่งกันให้ดีนะครับ เพราะจะส่งผลในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ ซึ่งในเวลานี้ทุกอย่างดูจะแข่งกับเวลามากทีเดียว

เข้าประเด็นกันเลย…

ระหว่างที่ผมอ่านเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมจำนวนมาก ก็ได้ปรากฏข้อความหนึ่ง ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเมื่อโดนซึนามิว่า “ญี่ปุ่นพยายามกั้นแนวความเสียหายให้วงแคบที่สุด และทุกคนเสียสละและมีระเบียบ ความมีระเบียบทำให้ญี่ปุ่นจัดการทุกอย่างได้ไว แต่เมื่อมองคนไทยแล้ว คนไทยกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าการเสียสละเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทำไมไม่ช่วยกันแบ่งเบา ฉันโดนคุณช่วยกันโดนบ้าง ต้องโดนให้ทั่วๆกัน จะได้มาตราฐานเดียวกัน ” อะไรประมาณนี้

ในความเห็นนั้นมีกระทั่งคนที่บอกมาว่ามีคนไปทำลายแนวกระสอบทรายก็ยังมี ผมอ่านแล้วก็ไม่แปลกใจ เพราะจากที่ฟังวิทยุดูเหมือนจะมีการขัดแย้งกันในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นดูจะมาจากมุมมองทางการเมือง ซึ่งผมเองขอให้ความคิดเห็นตรงๆว่า เราน่าจะมองไปที่การจัดการปัญหาน้ำท่วมกันมากกว่า

ผมเองอยู่กรุงเทพฯ คงไม่มีหน้าไปบอกว่าให้คนต่างจังหวัดช่วยกันเสียสละให้กรุงเทพฯ เพราะเห็นภาพน้ำท่วมก็พูดไม่ออก แต่ถ้าเราคิดไปถึงระดับประเทศ เราควรจะรักษาอะไรเป็นอันดับแรก สิ่งที่ประเทศจำเป็นต้องรักษาคืออะไร? ถ้าให้ดีก็คิดไปถึงระดับโลกเลยก็ดีครับ เพราะจริงๆ ปัญหาที่เราเจอนั้นเป็นปัญหาระดับโลกทีเดียวนะครับ

ผมเองเป็นแค่ชีวิตเล็กๆในเมืองใหญ่คงจะไม่มีปัญญาไปช่วยอะไรเขาได้มาก จากสถานการณ์ตอนนี้คงได้แค่ภาวนาให้ฝนไม่ตกมากไปกว่านี้ และคิดว่าหลังจากนี้เราควรทำอะไรกันบ้าง

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสังคมที่ค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลายพอสมควร แต่ผมยินดีต้อนรับทุกความคิดเห็นครับ

สวัสดี

กิจกรรมยามว่าง คือเขียนบล็อก

แทบจะไม่เชื่อตัวเองเลยว่า ปัจจุบันกิจกรรมยามว่างของผมคือการนั่งพิมพ์บล็อก เพราะแต่ก่อนนี้ผมไม่ค่อยได้สนใจและ มองคนที่เขียนไดอารี่หรือบล็อกด้วยอคติด้วยซ้ำ

แต่ทุกวันนี้การเขียนบล็อกกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตผมไปเสียแลัว อาจจะเป็นอย่างที่โบราณว่าไว้ “เกลียดอะไรก็จะได้อย่างนั้น” แต่ก็ผิดไปนิดหนึ่งก็คือมันเปลี่ยนจากมุมมองด้านลบๆ มาเป็นบวกตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะถ้าผมไม่ชอบ ผมคงไม่สามารถนั่งพิมพ์บล็อกทุกวันได้อย่างนี้หรอก

แต่ก่อนนั้น…

เมื่อหลายปีก่อน ผมเห็นเพื่อนที่ร่วมเรียนด้วยกันเขียนบล็อก ผมเองมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลามาก ทำไมผมต้องมานั่งเสียเวลาเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นอ่านด้วย มันไม่จำเป็นเลย ซึ่งผ่านไป 4-5 ปีผมก็ยังมีมุมมองนี้อยู่ดี แต่ไม่นานนักเมื่อชีวิตผมเปลี่ยน

ตั้งแต่ชีวิตที่ได้เปลี่ยนไป…

ผมเคยเป็นพนักงานบริษัทเหมือนกับชาวบ้านที่เขาเป็นกัน ชีวิตนั้นก็สุขสบายดีอยู่แล้ว ขาดอย่างเดียวคือการสนองตอบความสามารถในตัวผม ผมเองคิดว่าผมทำอะไรได้มากกว่านั้น ความสามารถผมมากกว่านั้น จึงตัดสินใจลาออกมาทำกิจการเล็กๆที่ใช้ความสามารถตัวเองได้เต็มที่ และคิดได้เต็มที่ ฝันได้เต็มที่ เจ็บได้เต็มที่ มันน่าสนุกถ้าผมจะทำอะไรที่อยากทำในขณะที่ยังจะพอทำอะไรได้อยู่

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผม การประกอบกิจการส่วนตัวนั้นจำเป็นต้องลงแรงทุกอย่างที่มี ทักษะที่เคยสั่งสมมาแต่ไม่เคยคิดจะใช้ทำมาหากิน นั่นคือทักษะการทำเว็บไซต์ แต่ก่อนไม่เคยคิดจะทำเว็บไซต์เพราะยุ่งยาก แต่ทุกวันนี้ก็ต้องมานั่งทำเพราะความจำเป็นและก็กลับชอบขึ้นมาอีกด้วย และการเขียนบล็อกก็ก้าวเข้ามา ณ จุดนั้น ในจุดที่ผมจำเป็นต้องเขียนบทความเผื่อโปรโมตเกี่ยวกับกิจการของผมให้คนอื่นได้รับทราบ

และจากการพิมพ์บล็อก (เขียนบล็อก) เพื่อการโฆษณา ปัจจุบันมันกลายเป็นงานอดิเรกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมกลับสนุกที่ได้บันทึก ได้เรียบเรียง ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ผมได้รับมา ผมรู้สึกดีเมื่อรู้ว่าตัวเองได้พัฒนาทักษะการพิมพ์ได้ดีขึ้น จากความเห็นบางส่วนของผู้ที่มาตอบ สำหรับตอนนี้ผมก็คงจะเล่าไปถึงแค่ทำไมมันถึงกลายมาเป็นกิจกรรมยามว่างของผมได้ และคิดว่าคงจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ วิธีการ เกี่ยวกับบล็อกเพิ่มขึ้นด้วยครับ เผื่อว่าจะมีคนสนใจแบบผมบ้าง

สวัสดี