(โศลก : พ่อครูสมณะโพธิรักษ์)
ผมนี่ซึ้งกับประโยคนี้จริง ๆ เพราะเป็นประโยคที่อธิบายชั่วในดี ที่แอบแฝง ซ่อนเร้น มารยา ตอแหล ฯลฯ ได้อย่างดี
เป็นภาวะของเทวดาเก๊ที่สร้างภาพขึ้นมาว่าจะช่วยเขา แต่ที่จริงตัวเองแอบเสพสุขอยู่ หรือสร้างองค์ประกอบขึ้นมาลวง ๆ ให้ดูเหมือนว่าตัวเองกำลังช่วยเขา แต่ที่จริงมีวาระซ่อนเร้นอยู่
เหมือนคนสูบบุหรี่แล้วอ้างว่าเอาภาษีไปช่วยชาติ แต่จริง ๆ ตนเองนั่นแหละอยากสูบบุหรี่
เหมือนคนที่ซื้อหวยแล้วบอกว่าเอาไปพัฒนาชาติ แต่จริง ตนเองโลภมากอยากลงทุนน้อยได้เงินมาก อยากถูกรางวัล
เหมือนคนที่หาเรื่องมากมายเพื่อที่จะมาปรึกษา พูดคุย แนะนำกับคู่ตรงข้าม แต่จริง ๆ ก็แอบชอบเขา
เหมือนคนที่สอนธรรมคนอื่น แต่จริง ๆ แอบเสพสุขที่มีคนยกย่อง ชื่นชม ศรัทธาตนเอง
เหมือนคนที่บวชมาในพุทธศาสนา ปากก็บอกว่าต้องการจะสืบสานศาสนา แต่มุ่งหน้ากอบโกยลาภสักการะและบริวาร
ถ้าจะเอาให้เหมือนจริง ๆ ก็นักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยการ ทำเหมือนว่าจะทำเพื่อประชาชนนั่นแหละ
…ตามความเข้าใจของผม ที่พ่อครูว่า “เลวที่สุด” เพราะมันมีสภาพชั่วเชิงซ้อน คือชั่วแล้วชั่วอีก หมายถึงที่จะทำมันก็ชั่วพออยู่แล้ว ยังจะไปหลอกคนอื่นว่าชั่วที่ตนทำนั้นมันดีเสียอีก
ไอ้ชั่วซับซ้อนแบบนี้นี่มันแก้ยาก แกะยาก อธิบายยาก เข้าใจยาก รู้ได้ยาก เพราะมันซ่อนไว้ในดี เวลาคนดีไปแตะเขาจะโดนกระแทกกลับมา เพราะมันไม่ใช่ชั่วตรง ๆ มันมีเกราะแห่งความดีตอแหลป้องกันอยู่ ดังนั้นมันจึงเป็นชั่วที่หนักหนามาก ปราบได้ยาก ทำลายได้ยาก ความชั่วที่ทำลายได้ยาก ชำระได้ยาก แก้ได้ยาก ก็ย่อมเป็นความเลวที่สุดเป็นธรรมดา
จริง ๆ มันก็มีภาวะลึก ๆ อีก แต่จะไม่ลงรายละเอียด เอาเป็นว่าใครสนใจก็ตามไปศึกษาหัวข้อธรรม เมถุนสังโยค ข้อ 7 กันต่อได้เลย