การตรวจใจในความโสดอย่างยั่งยืน

การอยู่เป็นโสดโดยทั่วไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขายินดีในการเป็นโสด ก็อาจจะเป็นเพียงแค่โสดรอเสพ โสดหวังสูง โสดค่าตัวแพง ฯลฯ อะไรประมาณนี้

ก็อย่างที่รู้กันว่าการอยู่เป็นโสดแบบโลกีย์นั้นคือโสดแบบมีภพ มีกิเลสอาศัยอยู่ เพียงแต่มันนอนก้น ตกตะกอน ไม่แสดงตัว แต่ถ้ามีสิ่งที่หวัง ที่ฝันไว้ เช่นคนหน้าตาดี คนมีตัง คนอบอุ่น คนเป็นที่พึ่ง คนที่เข้าใจ คนมีธรรม คนในอุดมคติ ฯลฯ โผล่เข้ามาก็อาจจะใจแตกได้

คงจะมีแค่ส่วนน้อยในสังคมเท่านั้นที่สอนให้ยินดีในความโสด และในส่วนน้อยนั้นก็ยังมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ถูกบ้าง ผิดบ้างไปตามปัญญาของแต่ละท่าน แต่ก็ยังสามารถใช้หลักของพระพุทธเจ้ามาตรวจสอบได้ว่าที่เป็นอยู่ ที่เข้าใจอยู่ ที่เชื่ออยู่นั้นถูกต้องมั่นคงถาวรไม่เวียนกลับ ไม่แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหรือกาลเวลาใด ๆ

เราสามารถประยุกต์หลักของพระพุทธเจ้าได้จากเวฬุทวารสูตร (เล่ม 19 ข้อ 1459) โดยเนื้อความของพระสูตรนี้เป็นเรื่องของการเบียดเบียน ซึ่งการมีสละโสดไปมีคู่นั้น ก็อยู่ในหมวดของการเบียดเบียนด้วยเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว หลัก 3 อย่างที่จะประกันความโสดได้คือ 1.ตนเองต้องยินดีในความโสด 2.ชักชวนให้ผู้อื่นเป็นโสด 3.ยินดีในธรรมที่พาให้เป็นโสด

จิตของคนที่พ้นจากความอยากมีคู่ ยินดีในความโสด จะมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องปรุงว่าเราจะต้องทำตาม 3 หลักนี้ มันจะเป็นไปเองอย่างนั้น ซึ่งนี้คือสภาพผลของการปฏิบัติที่ถูกตรงเท่านั้น ถ้าไม่ถูก จิตมันจะไม่มีสภาพ 3 อย่างนี้

บางคนดูเหมือนยินดีในความโสด แต่พอจะชักชวนคนอื่น หรือยินดีในธรรมที่เป็นโสดกลับไม่เข้าใจ ปรับใจตามไม่ได้ หรือบางคนยินดีในการเป็นโสด แต่พอไปร่วมงานแต่งงานกลับยินดีในธรรมฝ่ายตรงข้าม คือไปยินดีที่เขาแต่งงานกัน มีอาการชอบ ปลื้มใจ แบบนี้มันก็ไปคนละทิศ หรือจะตรวจง่าย ๆ ก็ดูคนรักกันทั่วไปก็ได้ จะรักกันจริงหรือในละคร พอเห็นแล้ว ถ้ามันชอบใจ ถูกใจก็ยังไม่พ้น

การปฏิบัติธรรมกับการหมั่นตรวจมรรคผลเป็นของคู่กัน ถ้าทำแล้วไม่มีการตรวจ ไม่มีการชี้วัด จากหลักฐานเช่นพระไตรปิฎกหรือผู้รู้จริงทั้งหลาย ก็อาจจะทำให้หลงเข้าใจผิดไปได้ว่าตนเองผ่านโจทย์นั้น ๆ

สภาพหลงบรรลุธรรมจะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ในทุกกรณี เพราะสำคัญว่าตนเองผ่านแล้ว ได้แล้ว สำเร็จแล้ว จึงเสียโอกาสในการเรียนรู้เพิ่ม พลาดโอกาสในการตรวจสอบจุดพร่อง หรืออาจจะนำมาซึ่งเหตุเภทภัยอื่น ๆ จากความประมาณตนผิด

มือไม่ถึง พาวอดวาย

วันนี้ได้ลองใช้สว่านไฟฟ้าขันสกรูเป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะใช้แต่ไขควง อย่างเก่งก็ใช้สว่านเจาะนำก่อน แต่ครั้งนี้สกรูมันยาว 3 นิ้ว แถมจุดหนึ่งก็หลายตัว จะไขด้วยมือก็คงนาน เลยใช้สว่านไขเอา

ก็เคยเห็นตอนช่างเขาทำอยู่ มันก็ดูเหมือนไม่ยาก ก็ดันไปแล้วก็กด มันก็เข้าไปได้ แต่พอลองเองนี่มันไม่ง่าย ถึงกับเสียหัวไปหนึ่งอัน แถมเสียสกรูอีก 2-3 อันและเสียเวลาขันสกรูที่เกือบจะเสียออก…ถึงจะพอจับทางได้ (ดีนะมีหัวสำรองอีกอัน)

…เข้าเรื่องกันเลย จากภาพจะเห็นว่าสกรูก็พัง หัวแฉกก็พัง สรุปคือพังทั้งคู่ ถ้าทำไม่เป็นมันจะพากันพังทั้งคู่

เหมือนกับธรรมะที่พอไม่เป็นแล้วทำเหมือนเป็นนี่มันพังจริง ๆ แล้วมันพังแบบแนบเนียนด้วย คือพังแล้วไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับที่เห็นกันมากมายในข่าวที่มีผู้นำลัทธิที่อ้างว่าใช้วิถีพุทธแล้วทำเรื่องผิดศีลมากมาย แบบนี้มันก็มีให้เห็นเยอะ แต่มันเป็นความน่ากลัวในความธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องอันตราย ถ้าแสดงฐานะเกินฐาน หรือเกินกว่าที่มีเมื่อไหร่ ภัยจะมา จริงอยู่ว่าในเบื้องต้นเราอาจจะแสร้งว่าเรามีธรรม เราเป็นผู้วิเศษ แต่ถ้ามันดันติดลมบน มีคนนิยม แล้วจะยังไงต่อ โลกธรรมมันเข้ามา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุขมันเข้ามา แล้วตนเองไม่มีธรรมนั้นจริง แต่ก็ไม่อยากเสียโลกธรรม ก็เลยตามเลย แสดงธรรมไปตามที่ตนเข้าใจ(ผิด) ผลมันก็เหมือนกับหัวแฉกกับสกรูนี่แหละ คือตนเองก็พัง คนอื่นก็พัง พังเพราะพากันเมาในมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งในสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยคือมิจฉาทิฏฐิ ปิดไว้จะเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ แล้วคนที่เขาหลงเขาจะรู้ไหม เขาไม่รู้หรอก เขาก็เปิดเผยมิจฉาที่เขาหลงว่าเป็นสัมมานั่นแหละ ดีไม่ดีเขียนตำราใหม่เลย นี่แหละคือสัมมา(ของข้า)

สิ่งที่น่ากลัวกว่าโลกธรรม ก็คืออัตตา บางคนเหมือนว่าเขาไม่เสพโลกธรรมแล้ว ลาภมาไม่สน ชมมาไม่ฟู เรียกอาจารย์ก็ไม่ใส่ใจ แต่ลึก ๆ ในใจแล้วไม่มีใครรู้หรอก ภาพข้างนอกมันก็วิเคราะห์กันได้แค่ประมาณหนึ่ง คนอื่นเขาก็รู้ด้วยได้ยาก ว่าตกลงผ่านไม่ผ่าน

แล้วพวกอัตตาจัดนี่เวลาจับธรรมะแล้วจะโหดสาหัสเลย ยิ่งอ้างว่าตนเป็นพุทธแท้เท่าไหร่ยิ่งจะหนักเท่านั้น เพราะพูดออกไปมันได้โลกธรรมมาก ถ้าคนเชื่อเขาก็เทน้ำหนักให้มาก นั่นหมายถึงวิบากที่ได้รับก็มากตามได้ด้วยตามน้ำหนักที่ประกาศออกไป

ทีนี้มันก็มีทั้งจริงไม่จริงไง ที่จริงมันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือมันไม่จริง พออัตตาจัดแสดงธรรม มันก็เหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีคนติดตาม มีลูกศิษย์ ทีนี้ก็ติดลมบนแล้ว ณ จุดนี้มันจะช่วยยากแล้ว เพราะส่วนมากก็ยึดตามหลักตนไปแล้ว ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็น…ฯลฯ แล้วล้างกิเลสไม่ได้จริง มันจะพอกเป็นอัตราพิเศษต่างจากคนทั่ว ๆ ไป

ธรรมะนี่เป็นหน่วยลงทุนที่กำไรมาก แต่เวลาพลาดก็ขาดทุนมากเช่นกัน และปัญหาคือขาดทุนแล้วไม่รู้ตัว หนึ่งในสภาพที่น่ากลัวก็คือ “หลงบรรลุธรรม” คือเกิดสภาพหลงไปว่าตัวเองมีคุณวิเศษนั้นจริง ไม่มีก็เข้าใจว่ามี เปรียบเหมือนคนบ้าหลงว่าตัวเองใส่เกราะถือดาบแต่จริง ๆ ใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว แล้วจะวิ่งไปรบกับกองทัพศัตรู มันก็มีแต่ตายเปล่าเท่านั้นเอง

แล้วยิ่งพาคนอื่นบ้าไปด้วยนี่วิบากมันจะยิ่งคูณ / ยกกำลังเข้าไปใหญ่ กว่าจะกลับมาเป็นคนปกติที่สามารถเรียนรู้ธรรมะที่สัมมาทิฏฐิได้ก็คงจะไม่ใช่ง่าย เพราะวิบากกรรมนั้นจะส่งผลให้หลงตามปริมาณที่เคยพาคนอื่นหลง

จะเตือนกันว่า ถ้าไม่มั่นใจก็อย่ารีบแสดงธรรมกันเลย มันก็คงจะไม่ไหว เพราะผลที่ได้จากการแสดงธรรมนี่มันหอมหวาน เต็มไปด้วยภาพเสมือนของกุศล(เหมือนจะดี)และโลกีย์รส โลกธรรมเอย อัตตาเอย เขาก็พุ่งเข้าหานั่นแหละ บางคนตอนแรกเขาก็ตั้งใจทำดี แต่เจอกิเลสดักตีหัว สุดท้ายก็อาจจะต้องจบลงแบบสกรูกับหัวแฉก แบบนี้ คือพังทั้งตนเองและผู้อื่น