เห็ดหูหนู

เห็ดหูหนู

เห็ดหูหนู

วันก่อนไปเก็บท่อนไม้ที่เตรียมไว้ทำฟืน ก็เห็นเห็ดขึ้น น่าจะเป็นเห็ดหูหนู เพราะรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน

อุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม เห็ดก็เลยขึ้น แต่ก่อนก็เคยคิดจะปลูกเห็ดแต่ก็พับโครงการไป เพราะดูมีรายละเอียดเยอะ ในช่วงนี้กินโปรตีนจากถั่วไปก่อนจะดีกว่า เพราะเก็บได้นาน หาซื้อง่าย ที่สำคัญคือไม่ต้องดูแล

การจะปลูกหรือดูแลพืชใหม่ ๆ นั้น ผมจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาสักพักหนึ่งเพื่อทำความรู้จักกับมันว่าต้องปลูกอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร ฯลฯ จนมั่นใจว่าลองไปแล้วจะได้ผลผลิตคุ้มค่ากับทุนและเวลาที่มีจึงจะลงมือ

ว่าแล้วก็เอาฟืนที่มีเห็ดหูหนูไปก่อไฟ ปล่อยเห็ดไปตามทางของมันก่อน วันใดวันหนึ่งเราอาจจะได้มีโอกาสศึกษามัน

[31] ใช้ฟืน ได้ไฟ ได้ถ่าน

diary-0031-ใช้ฟืน-ได้ไฟ-ได้ถ่าน

31. ใช้ฟืน ได้ไฟ ได้ถ่าน

หลังจากที่ผมใช้ฟืนมาได้สักพัก ก็ได้รับประโยชน์จากฟืนมากมาย ได้มากกว่าถ่านเสียอีก เลยเก็บมาบันทึกกันหน่อย

การได้ฟืนมานั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะต้องถางป่าที่รกอยู่แล้ว ไหนจะกระถิน ไหนจะปอกระสา มันเยอะจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เอามาทำเป็นเชื้อเพลิงนี่แหละ สุดท้ายก็จะได้ถ่าน เอาไปใช้ปลูกต้นไม้ได้อีก

ถ้าซื้อถ่านที่เขาเผานี่มันไม่ง่ายนะ มันต้องเอารถไปขนมา ฟืนจึงเป็นความเรียบง่ายและพอเพียงชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับชีวิตบ้านไร่

ฟืนคือความไม่แน่นอน จะวางใจเหมือนใช้เตาแก๊สหรือกะทะไฟฟ้าไม่ได้ เพราะความร้อนที่ได้มันไม่แน่ แม้จะมีฟืนปริมาณเท่ากัน แต่ถ้าไม้ต่างชนิดก็ให้ความร้อนต่างกัน ไหนจะขนาด รูปทรง อีกที่มีผลต่อความร้อน ดังนั้นการทำอาหารด้วยฟืนจะต้องคอยสังเกตมากกว่า ต้องคอยเติมเชื้อเพลิงหรือลดมันลงบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าการปรับอุณหภูมิขึ้นลงของเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก

การใช้ฟืนในหน้าฝนนั้น คงไม่เหมือนหน้าร้อน เพราะอากาศมีความชื้นสูง ต้องจัดเตรียมฟืน เก็บฟืนไว้ในที่แห้ง หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่ให้โดนน้ำค้างหรือน้ำฝน

การใช้ฟืนนั้นยังสามารถจุดไฟให้ติดได้ง่ายกว่าใช้ถ่าน เพราะก่อกองไฟด้วยเศษไม้และฟืนนี่แทบจะไม่ต้องใช้พัด แต่ก่อเตาถ่านต้องใช้ ก็เลยเป็นอีกหนึ่งความสะดวกของการใช้ฟืน

[24] ขี้เถ้า

diary-0024-ขี้เถ้า

24. ขี้เถ้า

ช่วงหลังมานี่ขี้เถ้าชักจะเยอะขึ้นมาก เป็นขี้เถ้าที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่มาที่นี่แรก ๆ เก็บจนได้เป็นถัง ก็เลยต้องหาวิธีใช้มัน

มีครั้งหนึ่งที่เคยก่อกองไฟกันบนพื้นดิน ก็ก่อกันหลายชั่วโมง ใช้ฟืนไปพอประมาณ พอฤดูกาลผ่านไป กลายเป็นว่าวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่กองไฟนั้น เจริญเติบโตได้ดีกว่าวัชพืชในพื้นที่อื่น ๆ

ผมเคยคิดว่าขี้เถ้านี้มีความเป็นด่างมาก ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อต้นไม้ แต่จากสิ่งที่ได้เห็น จึงเข้าใจใหม่ว่ามันขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ จริง ๆ แล้วมันดี มันมีธาตุอาหารอยู่ แต่ก็ต้องใช้มันให้พอเหมาะไม่มากจนเกินไป

มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ขี้เถ้าแบ่งปันอยู่ในอินเตอร์เน็ต ผมก็ได้ประโยชน์จากการค้นหาข้อมูลเหล่านั้นนั่นแหละ สุดท้ายเลยได้วิธีการกำจัดขี้เถ้าที่เต็มถังได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นั่นคือเอามันไปใส่พืชผักที่เราปลูกนั่นเอง

[5] จุดไฟด้วยวัสดุต่าง ๆ

diary-0005-จุดไฟด้วยวัสดุต่างๆ

5. จุดไฟด้วยวัสดุต่าง ๆ

หลังจากที่มาเรียนรู้การประกอบอาหารด้วยฟืนหรือถ่าน ผมก็เรียนรู้การจุดไฟมาเรื่อย ๆ

ความเข้าใจเดิม ๆ ก็คือต้องมีขี้ใต้ มีวัสดุช่วยจุดไฟ ซึ่งถ้าในสถานการณ์ เช่น เดินป่าก็อาจจะเหมาะก็ได้ แต่นี่เราอยู่บ้านมันก็ไม่ต้องมีอะไรยุ่งยาก

ผมเริ่มเรียนรู้การจุดไฟจากเศษกระดาษเหลือใช้ ตั้งแต่การใช้กระดาษเยอะ ๆ จนเหลือเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นก็ติดเตาได้

แล้วก็ทดลองใช้กิ่งไม้แทนกระดาษ ใช้เศษหญ้า เศษฟางแทนกระดาษ ลองใช้ไม้ฟืนที่ตัดเตรียมไว้แทน ก็พบว่าแทนกันได้ดี

ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อความยากง่ายในการติดไฟนั้นก็คือความชื้น เราควรเก็บเชื้อเพลิงของเราให้แห้งเข้าไว้จะง่ายต่อการจุดไฟ แต่ถ้าเปียกชื้นมันก็พอได้อยู่ แต่ต้องใช้เวลาและแรงมากหน่อยในการจะก่อไฟแต่ละครั้ง