เป้าหมายในชีวิต

ตั้งแต่ได้ศึกษาธรรมะมา เป้าหมายอันมากมายที่เคยมีในชีวิตก็ค่อย ๆ ลดลงจนเหลือชัดเจนอยู่อย่างเดียว

แต่การจะถึงเป้าหมายนั้น มีเส้นทางที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าในทุกเส้นทางนั้นจะมีมรรคเป็นองค์ประกอบ เมื่อผมได้สรุปเส้นทางในชีวิต ก็พบว่าเหลือแค่สองทางเท่านั้น คือ บวชกับไม่บวช

ผมเป็นคนที่มีองค์ประกอบที่พร้อมสำหรับการบวช คือไม่มีภาระอะไรต้องห่วง ไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบ สามารถตัดสินใจด้วยตนเองในทันที ครอบครัวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังไม่เลือกการบวชด้วยเหตุผลที่ว่า

ผมต้องการจะใช้ความสามารถและความรู้ที่ได้เรียนมา ช่วย “สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง” เสียก่อน

ผมเองไม่ได้ใส่ใจกับปริญญาและความรู้ที่ได้ศึกษามา จะทิ้งก็ได้ไม่มีปัญหา แต่จากที่ทบทวนดูว่าทำไมชาตินี้ต้องเกิดมาได้เรียนแบบนั้น มันไม่มีหรอก เบิกกุศลมาให้เรียนตั้งหลายแสนแล้วทิ้งไปเฉย ๆ ฟ้าเขาก็คงให้มาเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือทำกุศลต่อละน่า ถ้าจะให้ฝึกทิ้ง ทิ้งแค่นี้มันก็น้อยไปหน่อย ไม่สะใจ

สรุปคือผมประเมินว่า ฟ้าเขาให้อุปกรณ์ทำความดีมาแล้ว เราจะทิ้งไปหรือจะเอาไปใช้ประโยชน์ และปัจจัยหลักก็คือ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงทุกวันนี้มีแต่คนตอแหล ทำหลอกในหลวง เป็นคำที่ก้องอยู่ในหัวผมเรื่อยมา ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมเฝ้าสังเกตคนที่เขาบอกว่าทำเศรษฐกิจพอเพียง และพบว่านั่นมันตอแหลจริง ๆ

เพราะเขาทำแล้วไม่ได้ลดความโลภ โกรธ หลง ไม่ได้ลดกิเลส ทำเศรษฐกิจพอเพียงไม่ลดกิเลสมันจะพอเพียงได้ไง มันก็โลภไปเรื่อย ๆ สิ ไม่โลภเอาวัตถุ ก็โลภเอาโลกธรรม หรือไม่ก็เอาอัตตา ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่า แบบนี้แย่แน่ ๆ มีแต่เปลือก แก่นไม่มีเลย

เศรษฐกิจพอเพียงในความเห็นของผม ต้องเริ่มจากลดกิเลสให้ได้ก่อน ส่วนปลูกพืชปลูกผัก หรืออะไรอื่น ๆ นั้นไว้พัฒนาทีหลัง เพราะถ้าไม่ศึกษาการลดกิเลสให้ได้จริง ทำอะไรไปสักพักเดี๋ยวกิเลสก็โต แรก ๆ ก็อาจจะสร้างภาพพอเพียงได้อยู่ แต่นานไปมันฟุ้งเฟ้อแน่ ๆ

อีกอย่างคือ ผมรู้สึกว่าควรจะทำให้เศรษฐกิจพอเพียงนั้นปรับใช้ได้ในทุกฐานะอาชีพ เพราะเดิมทีผมมีพื้นฐานเป็นคนเมือง ถ้าผมจะศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็ต้องศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้มาปรับใช้กับคนเมืองด้วย

ดังนั้นผมจึงไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นเกษตรกร ผมไม่เน้นผลผลิต ผมเน้นการศึกษาเรียนรู้ว่าทำอย่างไร เราจึงจะลดกิจกรรมที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ลดความโลภโกรธหลงที่ต้นเหตุได้ ซึ่งจากที่ผมประเมินดูแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีใครทำในหัวข้อนี้ชัดเจนนัก ก็เลยคิดว่าจะลองทำดูก่อน ลองเอาภาระในเรื่องนี้ดู ผมคิดว่ามันเป็นกุศลนะ เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนทำ และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากเหมือนกัน

ชาตินี้ก็คิดว่าจะทำสิ่งนี้ไป ได้เท่าไหนก็เท่านั้น ตามความสามารถ ตามบารมี ถ้ามันตันนักก็เลิก จะว่าหนีไปบวชก็ใช่ เพราะบารมีไม่พอไง ชาติหน้าค่อยมาฝึกทำใหม่ ถ้าอยู่ในสถานะนักบวชก็คงจะพอทำได้ แต่ไม่คล่องเท่าฆราวาสหรอก มันยืดหยุ่นกว่า ส่งเสริมได้ง่ายกว่า ผมขอสรุปตามความเห็นของผมเลยว่า ถ้าผมทำเรื่องนี้ ฆราวาสจะเจริญได้ง่ายกว่า

พิมพ์มาถึงตรงนี้ก็ลืมบอกไปว่าเป้าหมายคืออะไร เป้าหมายในชีวิตผมก็เลิกโง่บริบูรณ์ละนะ ส่วนผมจะฝึกปฏิบัติในเส้นทางไหนก็ตามที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ อ่านดูอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่จริง ๆ เป็นเรื่องที่ตัดสินใจไว้ตั้งแต่ 3-4 ปีก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแค่ไม่เคยได้บอกได้กล่าวกับใครเลยเท่านั้นเอง

ผู้สมควรบวชให้ผู้อื่น ต้องเป็นพระอรหันต์

ภิกษุพึงเป็นพระอรหันต์ จึงให้กุลบุตรบวชได้!!

ไปอ่านเจอมาในพระไตรปิฎก เรียกว่าโหดมากทีเดียว แต่ก็เป็นส่ิงที่สมควรที่สุด ในการบวช ในการให้นิสัย รวมทั้งให้มีสามเณรคอยดูแล… ควรเป็นพระอรหันต์

จะยกพระสูตรนึงมาให้อ่านนะครับ ( เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๕๑-๒๕๓)

“[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ พึงให้
กุลบุตรอุปสมบทได้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็น
ของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัศนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ฯ”

ในข้ออื่นๆ ก็มีความไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างคำว่า ศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ คำว่า “อเสขะ” คือไม่ต้องศึกษาแล้ว มีตำแหน่งเดียวคือพระอรหันต์นั่นแหละ สรุปคือต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ในระดับของพระอรหันต์นั่นเอง แม้เป็นพระอริยะระดับอื่นๆ ก็ยังไม่สมควร

สรุปคือถ้าไม่เป็นอรหันต์นี่บวชให้ใครไม่ได้นะครับ จะฝืนบวชก็ได้ แต่ไม่เจริญหรอก

ซึ่งสูตรที่ยกมานี้เข้ากับคำตรัสที่ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงจะไปสอนใครก็ทำตัวเองให้ได้ก่อน การบวชนี่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นตนเองต้องทำให้ได้ก่อน

ถ้าสาวกพระพุทธเจ้ามาอ่านสูตรนี้ผมว่าสะดุ้งเลยนะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันจะรู้สึกเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร สมมุติถ้าผมเป็นนักบวชนี่ ผมก็คงไม่กล้าบวชให้ใคร หรือถึงเคยทำไปโดยไม่รู้ ก็เลิกทำล่ะงานนี้ ฝืนทำต่อก็นรกกินหัวเปล่าๆ

ส่วนจะมีสูตรไหนอนุโลมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ผมว่ายึดสูตรนี้ไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณนักบวชหรอก เน้นคุณภาพก็พอ ศาสนาพุทธนี่ไม่ได้เน้นปริมาณนะ เอาปริมาณเข้าว่าไม่ได้ เพราะคนเห็นผิดเท่าดินทั้งแผ่นดิน คนเห็นถูกเท่าฝุ่นที่ติดปลายเล็บ ดังนั้นจึงควรจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก