อรหันต์ในรูปของฆราวาส

อรหันต์ในรูปของฆราวาส

จากตอนก่อนที่ผมยกเรื่องจิตตคฤหบดีน่าจะเป็นอรหันต์มาด้วยหลักฐาน ๒ สูตรนั่นคือ อเจลสูตร (เล่ม ๑๘ ข้อ ๕๘๐)และปุตตสูตร (เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐) นั้น ต่อมาได้มีเพื่อนได้แสดงความเห็นต่างว่า จิตตคฤหบดีน่าจะเป็นพระอนาคามีตามที่เขาได้ศึกษามา และได้เสนอความเห็นมาดังนี้

(1) พระอนาคามีจะไม่ต้องมาเกิดในกามวจรภูมิอีก แม้บรรลุธรรมขั้นต่ำๆ จะเกิดในพรหมโลกเท่านั้น และบางท่านก็จะสามารถบรรลุนิพพานได้ในพรหมโลกเลย ตามแต่กรรมและความเพียรที่ทำมา

(2) หากฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้ว จะต้องบวชทันที โดยวิสัยของพระอรหันต์ หรือไม่ก็จะสิ้นอายุทันที

ผมจะยืนยันในสิ่งที่ผมพบตามหลักฐานในพระไตรปิฎกดังนี้ครับ จากนี้ก็ขอให้ท่านพิจารณาข้อความที่ยกมาโดยแยบคาย โดยยกสัญญาหรือสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาวางไว้ก่อน แล้วเรียนรู้กันตามหลักฐานที่ปรากฏกัน

(ตอบ 1) ในข้อนี้เขาให้ความเห็นฟันธงลงไปแล้วว่าจิตตคฤหบดีน่าจะเป็นพระอนาคามี จากนั้นจึงได้บรรยายองค์ประกอบของพระอนาคามีตามสมมุติสัจจะที่ได้เรียนรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งผมมีความเห็นต่าง ตรงที่ผมประเมินว่าจิตตคฤหบดีเป็นพระอรหันต์จากเหตุปัจจัย ในอเจลสูตร และปุตตสูตรดังนี้

ในอเจลสูตร จิตตคฤหบดี ได้ตอบเพื่อนที่ถามถึงมรรคผลว่าปฏิบัติแล้วได้อะไรบ้าง ดังนี้ “จิตต. ท่านผู้เจริญ แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม” มาวิเคราะห์ท่อนนี้กันก่อน

แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้” จากประโยคนี้ก็บอกอยู่แล้วว่า แม้ฆราวาสก็มีธรรมเช่นนั้นได้ คือนักบวชเขาเป็นอรหันต์กันได้ เราก็เป็นกันได้เช่นกัน

เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า” ประโยคนี้สื่อว่า ท่านทำสิ่งนั้นได้จริง หวังได้คือมันเป็นไปได้ ถ้าคนปฏิบัติยังไม่ถึงผลจริงๆ นี่มันยังหวังไม่ได้ชัดเจนนะ มันจะมัวๆ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึง เรียกว่าแค่ “ได้หวัง” แต่ที่ท่านย่อมหวังได้เพราะท่านทำได้จริง

“เราสงัดจากกาม” ความที่ว่าสงัดจากกามนั้น ต่างจากไม่เสพกาม การไม่เสพกามนั้นอาจจะเป็นเพียงผู้ที่กดข่ม หรือผู้ที่ข้ามกามภพ แต่สงัดจากกามหรือสงบจากกามนี่ หมายถึงผู้ที่ข้ามกามทั้งหมด ถ้าเราเอาสังโยชน์ มาอธิบาย กามจะมีอยู่ทั้งในสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ และสังโยชน์เบื้องสูง ๕ กามฉันทะจะอยู่ในสังโยชน์เบื้องต่ำ ส่วนรูปราคะ และอรูปราคะอยู่ในสังโยชน์เบื้องสูง พระอนาคามีนั้นดับกามภพหรือกามฉันทะได้หมดสิ้นเกลี้ยงแล้ว นั่นจึงไม่กลับไปเกิดในภามภูมิอีก ไม่ไปเสพกามอีก แต่ทีนี้มันจะเหลือรูปราคะ และอรูปราคะ คือความติดใจในรูปเป็นอารมณ์ ก็คืออยากเสพนั่นแหละ แล้วคำว่ากามในพุทธนี่กินความกว้างมาก หมายถึงความอยากเสพทั้งหมด รวมทั้งรูปและอรูปเลย นั่นหมายถึงผู้ที่สงัดจากกามอย่างแท้จริงนั้น จะต้องดับ รูปราคะและอรูปราคะด้วย และผู้ที่ดับสังโยชน์เบื้องสูงทั้งสองนั้นได้ ก็มีแต่พระอรหันต์ เพราะพระอนาคามีนั้นยังมีสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ อยู่ นั่นคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

“สงัดจากอกุศลธรรม” คำนี้ยิ่งย้ำยืนยันความเป็นอรหันต์ ถ้าคนไม่หมดกิเลสนี่พูดคำนี้ไม่ได้นะ ผิดสัจจะ เพราะการที่ยังมีกิเลสอยู่นั้นหมายถึงยังมีอกุศลธรรมอยู่ แม้จะเหลือแค่อวิชชา อวิชชานั้นก็ยังเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งดีงามเลย คนจะหมดอกุศลธรรมได้อย่างแท้จริงก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น

จากนั้นท่านก็บอกว่าท่านเข้าฌาน ๑ ๒ ๒ ๔ เป็นอันหวังได้สำหรับท่าน ก็คือท่านทำได้ทั้งหมดนั่นเอง จบประโยคชุดนี้ด้วย “ก็แหละข้าพเจ้าพึงพยากรณ์ก่อนพระผู้มีพระภาคไซร้ ก็จะไม่เป็นการน่าอัศจรรย์ สำหรับข้อที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์ ข้าพเจ้าว่า ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว)จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ”

จากสูตรนี้ผมสังเกตว่า จิตตคฤหบดี เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน มีปัญญามาก รู้ประมาณว่าสิ่งใดควรไม่ควร ท่านรู้นะว่าตัวท่านเองบรรลุธรรม แต่จะบอกคนอื่นก่อนมันก็ไม่งาม นี่ท่านรู้ในตนอยู่แล้ว ท่านก็เลยให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกว่าท่านบรรลุธรรม

ประโยคที่พระพุทธเจ้าพยากรว่า” ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว)จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ” สำหรับประโยคนี้จะยกปฏิจสมุปปบาทมา ดังที่เรารู้กันดีว่าอวิชชานั้นเป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ … ดังนั้นหากไม่ดับอวิชชา ก็ถือว่าไม่ดับเหตุแห่งการเกิด มันจะต้องมีเหตุให้เกิดได้ในวันใดก็วันหนึ่ง เพราะการดับอวิชชาเท่านั้นจึงเป็นการดับที่สิ้นเกลี้ยง ไม่เวียนกลับ ไม่ถดถอย แต่ถ้าดับไม่ถึงขั้นนั้น ก็จะเวียนกลับมาตกต่ำได้ ดังนั้นถ้าไม่ดับอวิชชา การกลับมาสู่โลกนี้ ก็เป็นอันหวังได้ เพราะพระอนาคามีนั้นยังมี รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาอยู่ แม้จะไม่เสพกามแล้ว แต่ลาภ ยศ สรรเสริญทั้งหลายนั้นยังเป็นภัยต่อพระอนาคามี ยังเป็นสิ่งที่ฉุดพระอนาคามีให้ลงมาเสพได้ ดังจะขยายในสูตรต่อไป

ปุตตสูตร สูตรนี้กล่าวถึงอันตรายอันเผ็ดร้อนของลาภสักการะ เนื้อความเต็มของสูตรนี้มีดังนี้ [๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อวิงวอนบุตรคนเดียวซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ พึงวิงวอนอย่างนี้ว่า ขอพ่อจงเป็นเช่นจิตตคฤหบดี แลหัตถกอาฬวกอุบาสกเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จิตตคฤหบดีและหัตถกอาฬวกอุบาสก เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้ ถ้าพ่อออกบวช ก็ขอจงเป็นเช่นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเถิดดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้ ขอพ่อจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล ถูกลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำ ถ้าลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำภิกษุผู้เป็นพระเสขะไม่บรรลุอรหัตผลไซร้ ก็ย่อมเป็นอันตรายแก่เธอ ลาภสักการะแลชื่อเสียง ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

สูตรนี้กล่าวถึงหญิงชาวพุทธวิงวอนลูกชายคนเดียวที่เธอรัก ว่าให้ลูกจงเป็นอย่าง จิตตคฤหบดี* แต่ถ้าจะบวชก็ขอให้เป็นอย่างอัครสาวกทั้งสอง ขอให้ลูกอย่าได้เป็นเพียงพระอริยะที่ยังไม่บรรลุอรหัตผลเลย เพราะลากสักการะจะเป็นอันตรายแก่พระอริยะที่ต่ำกว่าพระอรหันต์ (ในพระสูตรอื่น กล่าวว่า แม้ลาภสักการะ ก็ยังเป็นอันตรายแก่พระอรหันต์เช่นกัน แต่ก็ถือว่าอันตรายน้อยที่สุด)

นี่แม่สมัยก่อนเขาไม่ได้อยากให้ลูกดัง มีชื่อเสียง ร่ำรวย หรือเป็น ซีอีโอ อะไรแบบนั้นนะ เขาอยากให้ลูกเป็นพระอรหันต์ ลูกจะได้ไม่ต้องประสบภัยจากลากสักการะทั้งหลาย พระอริยะขั้นอื่นๆ นี่แม่เขาไม่เอาเลยนะ แม้จะสูงส่งกว่าปุถุชนแม่ก็ไม่เอา จะให้ลูกเป็นอรหันต์อย่างเดียว

ทีนี้แม่ที่หวังจะให้ลูกเป็นอรหันต์จะแนะนำให้ลูกเป็น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีหรือไม่? ก็ต้องไม่ใช่ไหม ดังนั้นการที่แม่จะแนะนำให้ลูกเป็นอย่างจิตตคฤหบดี นั่นหมายความว่า ถ้าจะดำรงอยู่ในรูปฆราวาสก็ต้องเป็นอรหันต์ พระสูตรนี้มีสมการที่ค่อนข้างลงตัวอย่างนี้

๐. แม่อยากให้ลูกเป็นอรหันต์

๐. แม่ไม่ยินดีให้ลูกเป็นอริยะที่ต่ำกว่าพระอรหันต์

๐. แม่แนะนำให้ลูกเป็นอย่างจิตตคฤหบดี

๐. ดังนั้นจิตตคฤหบดี ต้องเป็นพระอรหันต์

จบการตอบข้อคิดเห็นข้อแรกเพียงเท่านี้ครับ นี้เป็นหลักฐานที่ผมได้จากสองสูตรนี้ ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณากันดู ซึ่งอ่านแล้วจะเห็นต่างก็เป็นสิทธิของแต่ละท่าน เพียงแต่ผมชี้ให้เห็นว่า ผมเข้าใจว่าจิตตคฤหบดีเป็นอรหันต์ด้วยเหตุดังนี้

(ตอบ 2.) จากโจทย์ (2) หากฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้ว จะต้องบวชทันที โดยวิสัยของพระอรหันต์ หรือไม่ก็จะสิ้นอายุทันที

ผมเข้าใจว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อตามๆ กันมา เพราะปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดเป็นข้อกำหนดว่าฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้วถ้าไม่บวชจะสิ้นอายุภายในวันนั้นวันนี้ แม้ในสมัยพุทธกาล ฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์จะสิ้นอายุก็เพราะกรรมของท่านเหล่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นพระอรหันต์เลย

ในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสบอกว่า อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพราะเหตุหลายๆ ประการเช่น เขาเล่าสืบต่อกันมา เขาเชื่อกันโดยมาก มีครูบาอาจารย์บอกมา มีหลักฐานตามตำราหรือหนังสือ ทั้งหมดนั้นจะไปรีบเชื่อก็ไม่ควร เพราะอาจจะเป็นเรื่องหลอกก็ได้ วิธีพิสูจน์คือทำตัวเองให้เข้าถึงภาวะนั้นๆ แล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเชื่อแล้วดี สิ่งใดเชื่อแล้วไม่ดี

ความเชื่อว่า ฆราวาสเป็นอรหันต์ถ้าไม่บวชจะตายภายใน ๗ วันนั้นมีมานานแล้วในเมืองไทย แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องดำมืด เป็นเรื่องของคนไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ทำเหมือนเป็นเรื่องลี้ลับ ทำให้เหมือนเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งๆที่ หลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นเรื่องของความรู้แจ้ง ชัดเจน พิสูจน์ได้

ผมยังให้ข้อสังเกตเพิ่มว่า อาจจะเป็นการแบ่งชั้นวรรณะของคน ว่านี่พระนะ ถ้าจะเป็นอรหันต์ต้องเป็นพระ นี่ฆราวาสนะ ไม่มีทางสูงกว่าพระได้หรอก จากที่ผมศึกษามาหลายๆครั้ง แนวโน้มของความเห็นคนจะไปในแนวทางนี้เป็นส่วนมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตรัสไว้อย่างนี้นะ หาอ่านที่ไหนก็ไม่เจอ หลักฐานก็ไม่มี มีแต่เรื่องแต่ง เรื่องเล่า เป็นนิทาน เป็นนิยายกันมาทั้งนั้น

เรื่องนี้จึงเป็นอุปทานหมู่ที่ฝังใจคนไทยมานานแสนนาน เป็นเรื่องลี้ลับที่ไร้การพิสูจน์ เพราะไม่รู้จะไปหาพระอรหันต์มาจากไหน ถึงมีก็ไม่รู้อีกว่าอรหันต์จริงอรหันต์เก๊ หรือถึงจะยืนอยู่ตรงหน้า คนไม่มีปัญญาก็ไม่รู้อยู่ดีว่านั่นเป็นพระอรหันต์ ดังที่มีพราหมณ์เคยแลบลิ้นใส่พระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อว่าท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เองโดยไม่ต้องมีอาจารย์

ดังนั้นผมจึงให้ความเห็นในเรื่อง ความเชื่อที่ว่า ถ้าฆราวาสเป็นพระอรหันต์แล้วไม่บวชภายในวันนั้นวันนี้ก็จะตาย เป็นความเชื่อที่เบาหวิว ไม่มีหลักฐานที่อ้างใดๆ และถ้าเอาจริงๆ จะฟันว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่แรงเกินไปนัก เพราะความเชื่อนี้ขัดกับหลักของกรรมและผลของกรรมอย่างรุนแรง เพราะการเป็นพระอรหันต์นี่มันดีนะ ดีที่สุดในโลกเลย เป็นมหากุศล แต่ทีนี้มีคนไปบอกว่าเป็นแล้วต้องตาย อ้าวนี่มันขัดกันนะ ทำไมดีที่สุดในโลกกลับต้องรับผลกรรมที่ทำให้ต้องตาย มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย กรรมดีก็ต้องให้ผลดีเป็นอยู่ผาสุกสิ กรรมชั่วก็ต้องให้ผลเป็นทุกข์ อันนี้สิถึงจะตรง เอาเรื่องกรรมมาวิเคราะห์กันประเด็นนี้ก็ตกเป็นมิจฉาทิฏฐิไปแล้ว เว้นแต่เขามีความเห็นอุปทานไปในเชิงไสยศาสตร์นั่นแหละ เขาเลยเข้าใจแบบนั้น แต่ถ้าทางพุทธศาสตร์ที่สัมมาทิฏฐินี่ไปเข้าใจแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะมันจะขัดสัจจะไปหมดเลย

สรุปข้อสองนี้ ผมให้ความเห็นว่าท่านลองพิสูจน์กันเองเลยดีกว่า ทำตัวให้เป็นอรหันต์แล้วลองไม่บวชดู จะตายไม่ตายมันไม่ใช่ปัญหาของพระอรหันต์อยู่แล้ว ถ้าตายก็ตายพิสูจน์สัจจะไปว่า เออที่เขาว่ามันจริง แต่ถ้าไม่ตายก็อยู่ช่วยโลกไป ก็ไม่มีใครเสียประโยชน์ แถมได้ความรู้อีกต่างหาก

ศึกษาธรรมะบนความแตกต่าง

ตั้งแต่ปีก่อน…

ผมใช้เวลาศึกษาธรรมะที่แตกต่างกันในหลายสาย หลายทิฏฐิ หลายวิธีปฏิบัติ เพื่อศึกษา เปรียบเทียบ และค้นหาคำตอบบางอย่าง

อ่านข้อมูลในเว็บบอร์ดต่างๆก็บ่อย เช่นในพันทิพห้องศาสนานี่ก็เหมือนสนามรบ ถ้าไม่เก่งจริงนี่เอาตัวรอดยาก ควงดาบควงง้าวฟาดฟันกันตลอด

ผมว่าเรื่องศาสนานี่แรงกว่าการเมืองอีกนะ สมัยที่ติดตามข่าวการเมือง แม้จะอ่านทั้งสองด้าน ยังไม่รู้สึกว่าหนักเท่ากับคนที่ซัดความเห็นใส่กันด้วยเรื่องศาสนาและความเชื่อ

เคยลองแหย่ไปที่พวกกลุ่มปฏิบัติธรรมอยู่เหมือนกัน แบบว่าอยากรู้ว่าคนอื่นเขาจะคิดยังไง ปรากฏว่าโดนฟันแทบไม่ยั้ง ความเห็นมันไม่ตรงกัน อธิบายกันไปก็เท่านั้น เลยสงบศึกแล้วถอยออกมา

เรื่องศาสนานี่แหละ ที่จะมีคนมีอัตตามากที่สุด เพราะแต่ละคนก็คิดว่าตนทำดี ตนทำถูก ตนเห็นถูก อาจารย์ของตนถูก หมู่กลุ่มของตนถูก อัตตาจึงโตได้ง่าย อีกทั้งเป็นเรื่องที่พิสูจน์หลายๆสิ่งได้ยากเสียด้วย

บางทีผมก็แปลกใจนะ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง และเจ้าตัวก็ยอมรับเช่นนั้น แต่ก็จะเถียงเอาชนะ ทั้งที่ไม่มีผลเจริญในการปฏิบัติใดๆในตนนั่นแหละ …แล้วมันจะเอาอะไรมาเข้าใจตรงกันละทีนี้

แต่ผมก็ยังมี “คาถา” ที่เอาไว้ป้องกันตัวเองนะ การศึกษาเหล่านี้ผมเคยถามอาจารย์ แล้วว่าทำได้ไหม จะดีไหม ท่านก็บอกว่า “ถ้ามันมิจฉามากก็ไม่ต้องไปยุ่งก็ได้” นี่แหละคือขีดที่ผมเอาไว้ประมาณในการศึกษา