ในสังคมพุทธส่วนใหญ่จากในอดีตที่ผ่านมา มักมีความเห็นหนึ่งที่ต่อต้านการแสดงตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เขาจะอ้างเหตุว่าเป็นการอวดตัวอวดตนบ้างล่ะ คนบรรลุธรรมจริงไม่บอกบ้างล่ะ บอกว่าบรรลุแล้วผิดวินัยบ้างล่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นที่จำ ๆ กันมาเพื่อที่จะยึดว่าสิ่งเหล่านั้นถูก ตามที่เขาถูกใจ
ในองค์ประกอบของความเห็นผิดเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์โลกีย์อยู่คือ ผู้ที่ยังมัว ๆ เมา ๆ ปฏิบัติหลง ๆ ไม่บอกใคร พอตนเองปฏิบัติได้ประมาณหนึ่ง มีผู้ศรัทธา เขาก็หลงคิดไปว่าอาจารย์ตนบรรลุธรรม แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ก็เดา ๆ กันไป แล้วก็งง ๆ กันอยู่แบบนั้น กลายเป็นสภาพตาบอดจูงตาบอดชวนกันไปดูหนังใบ้ คือตนเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรแล้วศิษย์ก็หลงไปว่าอาจารย์บรรลุ แล้วก็ไม่ได้เปิดเผยความจริง สุดท้ายก็เลยเป็นความมัว ที่ถูกต้องในสังคมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน
ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุด แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับกลายเป็นศาสนา ๆ ที่มัว ๆ เดา ๆ เอา คนนั้นเป็นอย่างนั้น ท่านนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เดาเอากันตามที่เขาว่ามา
ทีนี้มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบรรลุธรรมแล้วไม่บอกนี้ว่าอย่างไร
ในโลหิจจสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 351) มีพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือมีความคิดลามกคนหนึ่ง มีความเห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะเห็นว่าตัดกิเลสไปแล้ว จะไปสร้างเครื่องผูกขึ้นใหม่ทำไม ซ้ำยังบอกอีกว่าการบอกผู้อื่นเป็นความโลภ เพราะคนอื่นเขาจะมาสรรเสริญ จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พราหมณ์สรุปว่าการที่ผู้บรรลุธรรมนั้นบอกผู้อื่นคือความลามก
จะสังเกตได้ว่า ความเห็นของคนส่วนมากจะตรงกับพราหมณ์ลามกท่านนี้ แต่สุดท้ายจะจบไม่เหมือนกัน เพราะยังดีที่พราหมณ์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับอาหารของพราหมณ์
หลังพระพุทธเจ้าจากเสวยอาหารเสร็จ ท่านก็ถามพราหมณ์ว่า จริงหรือที่ท่านมีความเห็นลามกเช่นนั้น พราหมณ์ ก็ตอบว่าจริง และเชื่ออย่างนั้นอย่างเต็มใจ มั่นใจ
ได้ยินเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนโดยการเปรียบเทียบ เพื่อน้อมใจให้พราหมณ์ทำใจในใจตาม ความโดยสรุปว่า ถ้าเจ้าเมืองผู้มีสมบัติมาก ไม่แบ่งปันทรัพยากร ไม่บริหารทรัพยากรไปเพื่อสังคม ครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองนั้นถือเป็นคนที่เป็นภัยต่อชาวเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าเป็นภัย และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร
แล้วท่านก็ถามต่อว่าทำอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าไม่ มีจิตเป็นศัตรูหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่ มีจิตเป็นศัตรูนี่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่
พระพุทธเจ้าก็สรุปความว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดดังนั้น จะมีที่ไปสองอย่าง คือ 1. ไปนรก คือเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ 2.เกิดความเป็นเดรัจฉานในตน คือ เกิดความโง่ดั่งสัตว์เดรัจฉาน
หลังจากนั้นท่านก็สอนธรรมแก่พราหมณ์อีกหลายบท สุดท้ายพราหมณ์ก็ยอม และขอมอบตนเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา
…จะสรุปความและยกตัวอย่างให้ตรงยุค ก็คงต้องเทียบกับผู้นำประเทศที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แจกจ่ายหรือบริหารทรัพยากรให้ผู้อื่น เก็บไว้บำเรอตน เก็บไว้เพื่อตนผู้เดียว ไม่ให้ใคร ภาพที่ออกมาก็คงจะเป็นคนผู้เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดแน่นอน มีของดีแท้ ๆ แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ไม่แจกแจงให้ผู้อื่น
กลับมาในบริบทนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน เขาก็เห็นผิดไปตามวิบากของเขา ดีไม่ดีก็ไม่มีธรรมในตนจริงหรอก ไปตีกินเอา ไม่พูดก็ไม่ผิด ไม่มีใครมาตรวจสอบ สมัยนี้แม้ไม่บอกว่าตนบรรลุอะไร เขาก็เอาของมาบำเรออยู่ดี สู้อยู่เงียบ ๆ กินอยู่ไปเรื่อย รักษาตัวรอดไปจะดีกว่า บอกไปเดี๋ยวเขามาตรวจสอบเอา เหนื่อยอีก แถมไม่มีจริงอีก จะยิ่งลำบาก
แล้วจะเห็นว่าตอนแรกที่พราหมณ์มีความเห็นลามก เพราะไม่ได้อยู่ในพุทธ แต่ทุกวันนี้ความเห็นลามกเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อพุทธนี่เอง ดังนั้น มันจึงมีการบิดเบี้ยว ปัดป้อง เลี่ยงบาลี กันจนหลง จนงงกันไปหมด จริง ๆ แล้วความเห็นและการปฏิบัติส่วนมากในปัจจุบันนั้นนอกขอบเขตพุทธไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อเท่านั้นที่ใช่ แต่ความเห็นความเข้าใจไม่ใช่
โลหิจจพราหมณ์ เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ในเบื้องต้นจะมีความเห็นผิด แต่ก็สามารถทำใจในใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านน้อมนำได้เป็นอย่างดี จนละความลามกได้ในที่สุด
อย่าคิดว่าคนที่มีปัญญาอย่างโลหิจจพราหมณ์จะหากันได้ง่าย ๆ ในยุคนี้นะ ดีไม่ดีอ่านพระสูตรนี้ไปก็ยังเมาอยู่เลย ยังเบี้ยวไปตามความเห็นลามกของตนอยู่เลย ยังไม่เปลี่ยนทิศไปจากมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบบนี้แหละ อย่าไปหวังมาก ใกล้กลียุคแบบนี้คงต้องทำใจ