กลัว – เกิน

เวลาที่เราเริ่มมีความเก่งหรือชำนาญด้านใดขึ้นมาเป็นพิเศษ ก็จะเริ่มมีโอกาสที่จะใช้ความรู้นั้นช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้พอดี

จากประสบการณ์ ผมก็เจอมาแล้วทั้งสภาพกลัว และสภาพเกิน

กลัวคือ ไม่กล้าจะบอกสิ่งดีออกไป แม้จะมีโอกาสเหตุปัจจัยที่เหมาะสม อาจจะด้วยเหตุที่ว่ากลัวเสียหน้า เสียมิตร เสีย…ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที ก็จะทำให้เสียโอกาสในการทำดีไป

ความเกิน คือสภาพล้น ส่วนมากเกิดจากความล้นของอัตตา บางส่วนเป็นการประมาณที่ผิด เป็นสภาพที่เห็นได้ง่ายและเห็นได้บ่อย เพราะถ้าคนทั่วไปเขากลัวนี่เขาก็ไม่พูด ไม่พูดก็ไม่รู้ ก็เลยดูเหมือนไม่มี แต่ความเกินนี่มันแสดงตัวตนของมันออกมาอยู่แล้ว เลยเห็นได้ง่าย แต่ก็รู้ไม่ได้ง่าย ๆ เพราะความยึดดีมันมักจะบัง และทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ฉันทำอยู่นั้นดี นี่ฉันแสดงสิ่งดีให้เธอ เธอจงฟังฉัน เธอจงน้อมใจมาในธรรมของฉัน ถ้าอัตตามันจะมีอารมณ์มั่นใจแบบเกิน ๆ ปนอยู่

แต่สภาพพอดีนั้นเป็นไปได้ยาก แม้เราจะประเมินตัวเราได้ 100% แต่ฝั่งเขาเราประเมินไม่ได้ทั้งหมด ได้แค่ประมาณเอาตามข้อมูลที่ได้รับ และใน 100% ที่เราเข้าใจ อาจจะเป็นความจริงเพียงแค่ 50% ตามที่เขาแสดงออกมาก็เป็นได้

สภาพพอดี 100% ทั้งผู้ให้และผู้รับ คือสภาพของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก ผู้ให้ต้องมีองค์ประกอบของปัญญาและสัปปุริสธรรม(หลักการประมาณ) ที่แม่นยำ ผู้รับต้องมีศรัทธาที่มากพอ คือมีอินทรีย์พละที่มากพอที่จะสามารถทำใจในใจตามธรรมนั้นได้

ในชีวิตจริง ใครล่ะที่จะทำได้ขนาดนั้น แล้วทำได้ทุกครั้งหรือไม่ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เอาจริง ๆ ก็ยากเสียจนนึกไม่ออกเลยล่ะ ดังนั้นเมื่อไม่ใช่เรื่องง่ายมันก็ต้องฝึก ก็ฝึกไปทั้งที่มันเกิน ๆ นี่แหละ แต่ให้เกินให้น้อยที่สุด

คือเสนอดีแล้ววางดีให้ได้ ถ้ากลัวไม่กล้าเสนอมันก็ไม่ต้องวางอะไร เพราะมันชิงวางไปก่อนหน้านั้นแล้ว วางทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำดีอะไร กุศลมันก็ไม่เกิด แต่วางหลังจากทำดีไปแล้ว แม้ไม่เกิดดีก็มีกุศล และยังมีโอกาสที่จะเกิดบุญจากการละวางตัวตน วางความเห็น วางความยึดดี ถือดี หลงดี ที่จะหลงยึดมั่นถือมั่นให้เขามาเอาตามที่เราหวังอีกด้วย

แต่การเสนอดี หรือบอกสิ่งดีก็ต้องมีศิลปะ อาจจะไม่ได้พูดทั้งหมด มี 100 อาจจะพูด 1 ถ้าเขาสนใจก็ค่อยเพิ่ม เขาไม่สนก็ค่อยเลิก ไม่ใช่ มี 100 ใส่ 100 อันนี้บางทีมันจะกดดัน พากันแตกร้าว แถมทุ่มหมดตัวก็อาจจะทำให้วางดีนั้นได้ยากตามไปด้วยเช่นกัน

คนทุกคนย่อมมีที่อาศัย…

ประโยคจริงเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ แต่ได้ยินเนื้อหาประมาณนี้ จากอาจารย์หมอเขียวช่วงทำบำเพ็ญอยู่โรงทานสนามหลวงปีก่อน

ฟังตอนนั้นก็เข้าใจระดับหนึ่ง มาถึงวันนี้ก็เข้าใจลึกขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือเขาก็ต้องอาศัยสภาพนั้น ๆ อยู่ไปนั่นแหละ

เอาง่าย ๆ เขาก็ต้องเป็นอยู่ของเขาไปอย่างนั้น เขาก็อาศัยที่ของเขาไปในแบบของเขา ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา เป็นส่วนของเขา ไม่ใช่ของเรา

หมายรวมถึงแม้เขาจะใช้ชีวิตจมกับกิเลส เขาจะเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ เขาจะมุ่งล่าโลกธรรม เขาจะปฏิบัติบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน มันก็เป็นที่อาศัยของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้อื่นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายถึงว่าเขาก็จะทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ จนกว่าเขาจะเลิกทำ แล้วหันมาอาศัยพึ่งพาเรา จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดสรรค์องค์ประกอบให้เกิดบุญกุศลขึ้น

ในกรณีที่การมีอยู่ของเขา จุดยืนของเขา สภาพที่เขาอาศัยนั้นไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นนัก ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันเบียดเบียนสังคมมากก็อาจจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขาและผู้อื่นก็ได้

ผมพอจะเข้าใจอารมณ์ของนักปฏิบัติธรรมเมื่อเข้ามาศึกษาใหม่ ๆ คือ “ความหนักของความยึดดี” มันหนักเพราะมันยึดว่าเกิดดีจึงจะดีที่สุด และพยายามทำให้เกิดสิ่งดีนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกว่าทำดีอย่างหน้ามืดตามัว ไม่รู้จักประมาณ อ่านสถานการณ์ไม่ออก

หลาย ๆ ครั้งมันจะเกิน คือทำเกินเป็นส่วนมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายพอไม่เกิดดีดังใจหวังมันก็ขุ่นใจ เป็นความหนักที่จิตต้องแบกไว้ วางไม่ได้

ซึ่งโดยมากคนยึดดีก็จะไม่ได้แค่ยึดกับตัวเอง ส่วนมากก็จะไปยึดให้คนอื่นดีด้วย มันก็ลำบากตรงนี้ ถ้าเราปรับใจ พยายามเข้าใจจุดยืนว่า เขาก็อยู่ตรงนั้น เขาก็มีที่ยืนของเขา มีที่อาศัยของเขา เขาก็อาศัยชั่วนั่นแหละดำรงชีวิต ถ้าทำความเข้าใจได้ วางดีได้ มันก็เบา ก็ยอมให้เขาอาศัยชั่วนั้นแหละดำรงชีวิตไปตามแบบของเขา

วันก่อนผมขุดดิน ไปเจอไส้เดือน ก็หวังดี จะดึงมันออก จะได้ขุดต่อ และมันก็จะไม่ได้รับอันตราย(จากการขุดครั้งต่อไป) โดยไม่ได้ดูว่าตัวมันมีแผลจากจอบแรกอยู่ พอดึงเริ่มตึงเข้า ตัวมันก็ขาด อ้าว…บาดเจ็บกันไปใหญ่ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กัน บางทีการทำดีของเรามันจะไปทำลายจุดยืนของคนอื่นก็ให้ระวัง จุดอาศัยของไส้เดือนก็คือตัวมันที่บาดเจ็บอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ เราก็ดูดี ๆ ก่อน แล้วก็เปลี่ยนไปขุดที่อื่นก็พอ จอบแรกนี่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีอะไร แต่ไปดึงตัวมันด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ดูนี่มันเจตนา มันบันทึกเป็นกรรม มันจะไม่คุ้มเอา

ที่เล่ายกตัวอย่างมาคือจะสื่อว่า จะช่วยน่ะช่วยได้ แต่ให้ดูด้วย บางทีการช่วยที่ดีที่สุดก็คือการไม่ยุ่งกับมัน ซึ่งก็อย่างเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราก็ไม่ต้องไปเสนอตัวช่วยใครมาก เสนอไปแต่ความรู้ความสามารถก็พอ ใครเขามาอาศัยเรา เราก็ช่วย ใครเขาไม่มาอาศัย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราก็ไม่ต้องแบก ไม่ต้องเป็นภาระ เราก็เอาแต่ขอบเขตที่เราช่วยไหว ไม่ต้องโลภ ไม่ต้องเอาดีเกินจริง

ถ้าเราไปแบกอะไรที่เขาไม่ยินดี ไม่ใช่หน้าที่ของเรามันจะหนักเป็นพิเศษ มันจะแตกร้าวได้

แต่ถ้าเราไปเอาภาระคนที่เขายินดีให้ช่วย แม้มันจะหนัก แต่มันก็มีโอกาสที่มันจะเจริญ จะเกิดบุญกุศล มันก็พอจะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าเก่งที่สุดในโลกยังช่วยคนไม่ได้ทุกคนเลย นับประสาอะไรกับเด็กน้อยอย่างเรา … ว่าแล้วก็อาศัยดีที่ทำได้จริงอยู่ต่อไป (อจ. ท่านว่า ให้ทำดีที่ฟ้าเปิด (ทำดีเท่าที่เขาให้โอกาสที่จะทำ))

สรุปสมการออกมาก็น่าจะเป็น… MAXดี(ดีที่เกิดสูงสุด) = MAXโอกาส(ความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะเป็นบุญ กุศล ไม่ผิดศีล ไม่ทะเลาะ ไม่เพ่งโทษ ไม่แตกร้าว ไม่จองเวรจองกรรม ฯลฯ) ,ไม่ใช่ MAXดี = MAXความยึดดี

คนมีหนาม

วันนี้ระหว่างที่ตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่มีหนามแหลม ก็นึกเรื่องนึงขึ้นได้…

การตัดต้นไม้ที่มีหนามนี่ต้องระวังมาก ทั้งการจับ การดึง การตัด ตัดไม่ดีบางทีมันเด้ง มันกระเด็น มันตกมาใส่เราอีก แถมจะขนไปทิ้งยังลำบาก ต้องค่อย ๆ จับ ไม่งั้นหนามมันก็ตำเอา

ระหว่างที่ขนกิ่งไม้หนามไปทิ้ง หนามของมันก็ไปเกี่ยวนั่นเกี่ยวนี่ เกี่ยวของ ของก็ตก เกี่ยวถุงพลาสติก ถุงก็ขาด เกี่ยวแขนขาเรา ก็ได้เลือด

ก็มาระลึกว่า เรานี่นะ ต้องพยายามทำตัวไม่ให้มีหนาม ไม่งั้นมันจะไปเกี่ยวคนอื่น ทำให้เขาเจ็บปวด มีบาดแผล แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือเราจะมี “กรรม” ไปเกี่ยวกับเขานี่แหละ ถ้ามันเป็นกรรมดีมันก็แล้วไป แต่ถ้าเปรียบกับหนามนี่ดูจะเป็นกรรมชั่วเสียมากกว่า

เกี่ยวกันด้วยกรรมชั่วแล้ว ผลมันก็ออกมาชั่วนั่นแหละ นำความทุกข์ เสียหายมาให้ ทั้งเราและเขา

พอพิจารณาเรื่องหนามอย่างนี้ จิตมันก็เริ่มเกรงกลัวภัยของกิเลสมากขึ้น เพราะรู้ว่าความยึดดีจะนำโทษมาให้ ผมเปรียบหนามก็คือความยึดดีนั่นแหละ นึกภาพคนดีปราบคนชั่วเอานะ คือมันจะมีเหตุผลดี ๆ สารพัดในการปราบคนชั่ว ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามใจ ถ้านึกภาพหยาบ ๆ ก็คือคนดีเอาดีไปข่มคนชั่วเขานั่นแหละ

คือมันก็ดีล่ะนะ แต่มันเหมือนหนาม มันแทงใจเขา มันไม่ได้แทงแบบช่วยเขาด้วย มันแทงแบบทำลายเขา ไม่ใช่ทำลายกิเลสเขานะ ทำลายตัวเขาเลยนั่นแหละ ทีนี้พอแทงไปปุ๊ป เขาก็โกรธปั๊ป พยาบาทจองเวรต่อเนื่องกันไป

ก็เหมือนโดนหนามทิ่มนั่นแหละ มันไม่ได้จบแค่เจ็บและเลือดไหลเสียหน่อย ไอ้ปลายหนามที่มันฝังอยู่ในหนังเรานี่แหละตัวทำให้เจ็บปวด ดีไม่ดีเอาไม่ออก ฝังเป็นก้อนแข็งให้รำคาญอยู่ในเนื้อหนังเลยก็เป็นได้

เปรียบกลับมาก็เหมือนหนามของคนติดดีนี่แหละ ทิ่มเข้าไปทีฝังในวิญญาณเขาเลย ประมาณว่าเขาฟังแล้วก็ดีนะ เออเอ็งดี เอ็งเก่ง แต่ข้าไม่เอาด้วย เพราะมันเจ็บ มันครูด มันปัก มันเกี่ยว มันฝังใจ มันเป็นดีที่ยังไม่ใส ยังไม่เนียน

…ว่าแล้วก็มานั่งเอาเข็มมาเกี่ยวเอาหนามที่ฝังอยู่ออก ก็เห็นว่าเข็มกับหนามนี่มันแหลมเหมือนกันนะ แต่มันทำหน้าที่ต่างกัน เอาเป็นว่าหน้าที่หนามให้เป็นของคนอื่นแล้วกัน ยังมีคนดีอีกมากที่ยังมีหนาม ผมก็ยกให้เขาทำไป แล้วจะเปลี่ยนงานมาเป็นเข็มไว้ถอนหนามออกแล้ว นี่ก็ต้องปรับตัวอยู่เหมือนกันนะ จะเปลี่ยนงานมันก็ไม่ง่าย แต่ก็คงต้องฝึกกันไป