ชีวิตคือการลงทุน

หลังจากได้เรียนบริหาร ผมก็เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนมากขึ้น และหลังจากที่ได้รู้จักกับพุทธศาสนา ผมก็เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่ให้ผลเป็นสุขมากขึ้น

เป็นธรรมดาของการลงทุนที่จะมีผู้ร่วมลงทุน มีกิจการที่จะลงทุน แต่ก่อนผมก็เหมือนกับคนอื่นนั่นแหละ คิดว่าการลงทุนกับการมีครอบครัวจะให้ผลเป็นสุข เป็นบวก ได้กำไร ฯลฯ แต่เมื่อได้ศึกษามากขึ้นก็พบว่าการอยู่เป็นครอบครัวนั้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ส่วนมากเป็นทุกข์ โดยค่ารวม ๆ ติดลบ

ลงทุนในกรอบแคบ ๆ ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย เหมือนการเอาความหวังไปฝากไว้กับคู่รัก ลูกหลาน มันก็ต้องผิดหวัง ต้องทุกข์ ต้องหวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา

และใช่ว่าธุรกิจครอบครัวจะไปได้ดี การไว้ใจญาติ บางทีก็ให้ผลเสียอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกัน แต่การจะใช้ชีวิตคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องดีอีกเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงควรเลือกหน่วยลงทุนที่ให้ความเจริญสูงสุด/เวลา คือเลือกกลุ่มที่ปฏิบัติดี พากันลดโลภ โกรธ หลง แล้วไปลงทุน ลงแรงร่วมกับเขา

ผมไม่เชื่อว่าถ้าผมยังดำเนินกิจกรรมไปตามโลก ไปเป็นพนักงาน หัวหน้า ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ ฯลฯ แล้วผมจะรอดพ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะจากที่ผมเห็นมาตั้งแต่เกิด คนที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จรุ่งเรืองใหญ่โต ก็ไม่เห็นจะพ้นทุกข์ เป็นสุขกันตรงไหน ดูเผิน ๆ เปลือกเขาก็สวยดี แต่ใส้ในก็ไม่เห็นน่าดูกันสักคน

ผมก็เลือกที่จะไม่เดินทางนั้น ก็เลือกมาดำเนินชีวิตทางธรรมดีกว่า ในเบื้องต้นเป็นฆราวาส(ผู้ครองเรือน) ก็มีอาชีพจิตอาสาให้ทำ เงินไม่ได้หรอก แต่เขาไม่ปล่อยให้อดตายแน่ ๆ และรับประกันได้ว่าจะมีงานทำตลอดชีวิต ไม่มีวันตกงาน งานฟรีมีให้ทำเยอะมาก เลือกสาขาได้ตามที่ถนัดเลย

แต่ถ้าเราไม่ขัดเกลากิเลสของเราออกบางส่วนก่อนมันจะไม่คิดแบบนี้นะ มันจะมุ่งไปทางโลก แสวงหาวัตถุลาภยศมาบำเรอตัวเองอย่างเดียวเลย ถ้าให้มาทำจิตอาสาไม่มีเงินเดือนนี่มันไม่เอาเพราะมันไม่ได้เสพดั่งใจ ถ้าทำงานหาเงินนี่อยากได้อะไรก็ไปซื้อ แต่ถ้ามาใช้ชีวิตแบบไร้เงินเดือนนี่มันต้องสังวรระวัง และต้องอดทนอดกลั่นต่อความอยากมาก มันไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ เลย ตรงนี้แหละมันเริ่มจะมีทิศทางไปสู่ความเจริญแล้ว เพราะเรากินน้อยใช้น้อย ทุนที่ลงไปก็ต่ำ เราทำงานมาก ทำดีมาก กำไรเราก็เยอะ รับรองว่าชีวิตทำงานฟรีกินใช้ไม่มีหมด ยังทำไม่ได้ชัด ๆ หรอกนะ แต่ดูจากครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่างเอา ที่เหลือก็แค่ทำตามให้ได้

และตอนนี้ก็ทำไม่ได้เต็มตัวหรอก เป็นได้แค่ครึ่งตัว อีกครึ่งตัวก็ต้องให้เป็นไปตามวิบากกรรม แต่ผมเชื่อนะว่าการลงทุนทางธรรมนี่แหละคุ้มค่าที่สุด เอาปริญญาบริหารเป็นประกันเลยเอ้า…

ให้ทาน อย่างไม่มีกั๊ก

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว แต่ก็ยังไม่เหมาะกับการเล่าในบรรยากาศบ้านเมืองก่อนหน้านี้ มาตอนนี้ก็มีโอกาสได้นึกถึงเรื่องนี้ ก็จะขอเล่าให้ได้อ่านกัน ก็ลองพิจารณาประโยชน์กันดูครับ

ในวันหนึ่งที่สนามหลวง มีการเปิดโรงทานกันมากมาย ผมเองเป็นคนหนึ่งที่คิดจะพึ่งพาอาหารจากโรงทานเหล่านั้น และก็พยายามช่วยลดภาระของโรงทานเหล่านั้นด้วยการนำภาชนะไปเอง

กล่องใส่อาหารของผมนั้นมีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับปริมาณของอาหารที่กินจริง ๆ ในแต่ละวัน และที่สำคัญ ผมคิดว่าที่นี่พึ่งพาได้ ผมจึงคิดว่าจะกินเอาอิ่มทั้งวันไปทีเดียวเลย (กะจะกินมื้อเดียวนั่นแหละ)

ทีนี้วิธีการกินนี่ก็เหมือนคนปกติ คือไปต่อแถวรอเป็นรอบ ๆ ซึ่งมีอาหารอยู่ 3-4 อย่าง รอบแรกก็ลองอาหารไปปรากฎว่ากินไหวแค่สองอย่างคือผัดถั่วงอกกับผัดผักบุ้ง อีกสองอย่างเป็นพวกผัดที่เผ็ด ๆ มันกินไม่ค่อยไหว รอบสองก็เลยไปขอแต่ผัดถั่วงอกกับผัดผักบุ้ง

ทีนี้เหตุการณ์มันเกิดขึ้นต่อไปขอรับอาหารรอบสาม ผมก็ขอผัดผักบุ้งเขาเพิ่มจากที่เขาตักปกติ เหมือนคนตักผัดผักเขาจำได้ เขาทักขึ้นมาว่าเอาอีกหรอ? พร้อมมีอาการชะงักในการตัก

….

ในจังหวะนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอจะรู้ว่าสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ทันจะตัดสินใจทำอะไร เพื่อนของเขาที่ตักอยู่ข้าง ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า “เอาเลยกินเยอะ ๆ ตักไปเลย” สุดท้ายเขาก็ตักผัดผักบุ้งให้ผมเพิ่มนั่นแหละ

อาจจะจริงอยู่ที่ว่าผมดูเหมือนจะกินเยอะ แต่ในสถานการณ์ปกติ ผมเชื่อว่าโรงทานที่ผมไปกินนั้น เขาแจกให้กินกันฟรียิ่งกว่านี้อีก ดังนั้นผมจึงไม่ได้คิดหรือระวังว่าการขอเยอะจะสร้างปัญหาใด ๆ เพราะถึงเยอะแค่ไหน มันก็เต็มที่ได้แค่หนึ่งอิ่ม

ความจริงผมก็ไม่สามารถรู้จิตใจเขาได้หรอก แต่จะเอาเหตุการณ์นี้มาสมมุติว่าเป็นตัวเรา ถ้าเราจะให้ใครก็ควรให้อย่างเต็มที่ มันอาจจะมีเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากให้คนนั้นคนนี้ แต่เราสามารถล้างความยึดมั่นถือมั่นของเราแล้วสละให้เขาได้ไหม

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีเจตนาเพียงแค่มากินเฉย ๆ หรือมาสะสมของกิน เราให้เขาได้ไหม เราจะเอาประโยชน์คนอื่นมาก่อนประโยชน์ตัวเองไหม พระพุทธเจ้าให้หมั่นทำนาที่ตนอย่าไปทำนาคนอื่น ถ้าเราถือเอาการขัดใจคนอื่นมาก่อน เราอาจจะขาดทุนก็ได้ เพราะในบริบทของการให้ทาน คือการฝึกสละอย่างหมดเนื้อหมดตัว ถ้าสละหมดได้จริง ถึงตอนนั้นจะขัดเกลาผู้อื่นมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการสะดุดแค่ไม่กี่วินาที แต่ผมคิดว่ามันจะมีประโยชน์แก่จิตอาสาที่ไปบำเพ็ญกุศลในท้องสนามหลวงอยู่ตอนนี้ ในส่วนของผู้บำเพ็ญ ผมจะอิ่มหรือไม่ก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญตรงที่ผู้บำเพ็ญคนนั้นขัดเกลากิเลสได้มากเท่าไหร่ ในส่วนของผม การอิ่มหรือไม่อิ่มก็ไม่สำคัญเช่นกัน สำคัญตรงที่ผมยังเบิกบานได้อยู่รึเปล่าแค่นั้นเอง ซึ่งในตอนนั้นผมก็รู้ตัวว่าไม่ได้มีอาการน้อยใจหรือหงุดหงิดใจใด ๆ มีแต่ความเข้าใจและเกรงใจเขาด้วยซ้ำ ส่วนปัญญาที่ได้มา ก็ถือเป็นกำไรไป