เมล็ดถั่วพุ่ม

เมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่ม

เมล็ดถั่วพุ่ม

ช่วงก่อนหน้านี้ฝนตกบ่อย อากาศชื้นเหมือนหน้าฝน ถั่วพุ่มเลยออกดอกออกฝักกันมาเต็มเลย ซึ่งก็ไม่ได้เก็บกินหรอก เก็บเมล็ดดีกว่า เพราะยังมีน้อยอยู่

เมล็ดที่เก็บก็จะเก็บจากฝักแห้งบ้าง ฝักที่เกือบแห้งบ้าง เก็บแล้วเอามาวางตากลมทิ้งไว้เดี๋ยวเมล็ดมันก็จะค่อย ๆ คายน้ำ มีขนาดเล็กลงและแข็งขึ้น ช่วงนั้นค่อยเก็บเข้าซอง

เมล็ดที่เห็นนี่ถ้าไปซื้อเมล็ดแบบซองก็คงต้องเสียเงินอย่างน้อย 10-20 บาทแน่นอน แต่เราเก็บเมล็ดมาปลูกต่ออย่างนี้ได้ คนส่วนมากเขาไม่ค่อยทำกันเพราะมีความเชื่อว่าคุณภาพมันจะตก แต่ผมมีความเชื่ออีกอย่างนะ เชื่อในการเอาตัวรอดตามธรรมชาติ เชื่อว่าเดี๋ยวมันก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเองแหละ ถ้ามันไม่รอด ก็แค่ปลูกไม่ขึ้น ไม่ออกผล เราก็ไม่ได้เมล็ดต่อเท่านั้นเอง แต่ถ้ามันได้ผล ได้เมล็ดต่อ แสดงว่ามันปรับปรุงตัวได้

งานเมล็ดพันธุ์เป็นงานหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ไม่จริงจังนัก เอาไว้ลดรายจ่าย คงไม่ถึงกับต้องไปพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการผสมเกสรเองเหมือนอย่างที่เคยเรียนรู้แต่ก่อน ตอนนี้เอาแค่มีปลูกมีกินให้เหมาะกับวิถีชีวิตก็พอแล้ว

ส้มตำ กับวัตถุดิบที่ปลูกเอง

ส้มตำ

ส้มตำ กับวัตถุดิบที่ปลูกเอง

วันก่อนลองทำส้มตำอีก เป็นสูตรแบบที่เขาใส่ทั่วไป เพื่อทดลองและเรียนรู้อะไรบางอย่าง

พอทำเมนูหนึ่งก็จำเป็นต้องกินหลายวัน เพราะวัตถุดิบมันเยอะ แต่พอหลายวันก็มีเน่าเสียไปบ้างก็มี เช่น มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว

ก็เลยไปหาวัตถุดิบในสวนว่าพอจะมีอะไรบ้าง ก็มีมะเขือเทศสองลูก ลูกหนึ่งสุกอีกลูกเขียว ลูกหม่อน ถั่วพุ่ม ก็เอามาใส่ส้มตำ

แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ส้มตำนี่จริง ๆ เป็นเมนูจากของใกล้ตัวทั้งนั้นเลยนะ ตอนนี้ยังขาดมะละกอ มะนาว พริก กระเทียม ที่ยังไม่โตบ้าง ยังไม่ได้ปลูกบ้าง แต่ถ้าปลูกครบก็ไม่ต้องวิ่งออกไปหาที่ไหน เก็บกินเอาได้ในสวนนั่นแหละ

หลังจากใส่หม่อนไป ผมเพิ่งจะสังเกตว่าคนเราต้องการเสพรสที่หลากหลาย อย่างรสเปรี้ยวนี้เขาไม่ได้ต้องการเปรี้ยวเดียว ส้มตำนี้มีสามเปรี้ยว คือเปรี้ยวจากมะขามเปียก เปรี้ยวจากมะเขือเทศ เปรี้ยวจากมะนาว และที่ผมใส่ยังไปได้เปรี้ยวจากลูกหม่อนอีก

มันต้องหลากหลายไปไหน เปรี้ยวเดียวไม่ได้หรอ? เดี๋ยววันหลังจะลองเปรี้ยวเดียว ส่วนเค็มหวาน เผ็ดในส้มตำนี่ไม่ค่อยหลากหลายอยู่แล้ว แต่อาจจะมีบางที่เขาทำหลากหลายนะ อย่างในบางเมนูอาหารพริกแห้งก็ต้องมี พริกสดก็ต้องใส่ ความหลากหลายเหล่านี้คนเขาก็เรียกว่าอร่อย แต่ผมว่ามันเป็นความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนะ

มะเขือเทศรุ่นสอง

มะเขือเทศรุ่นสอง

มะเขือเทศรุ่นสอง

หลักจากที่เด็ดมะเขือเทศไปแล้ว ก็ต้องรอชุดใหม่สุก มะเขือเทศมันจะสุกเป็นชุด ๆ ก็คงจะตามการดูแลของเรา ดูแลดีมันก็ออกดอกติดผล ไปเป็นช่วง ๆ

มะเขือเทศสามารถเอาไปประกอบอาหารและกินสดได้ คือใช้เป็นทั้งผักและผลไม้ได้ ตอนนี้ต้นที่โตเต็มวัยในชุดที่รอดมาจากการถูกปลูกแล้วทิ้งไปเฉย ๆ 3 เดือนนั้นมีแค่สามต้น

พอเวลาแต่ละต้นสุก ก็สุกไม่พร้อมกัน แม้จะมีลูกอยู่มาก แต่ก็จะสุกทีละ 3-4 ลูกเท่านั้น ดังนั้นวันหนึ่งอย่างเก่งก็เก็บผลกินได้เท่านั้นแหละ

ช่วงนี้ก็เลยปลูกเพิ่ม ก็อีกหลายสิบต้น ราว ๆ 50 ต้น ไม่รู้ว่าตอนโตแล้วออกดอกออกผลพร้อมกันจะเป็นอย่างไร รู้แต่สามต้นนี่ไม่พอกิน มีให้กินได้ทุกวันมันก็ดี

ซึ่งมะเขือเทศนี่เก็บผลไว้กับต้นได้นาน ไม่ต้องมีตู้เย็น กว่ามันจะแดง กว่ามันจะเหี่ยวก็นานอยู่ ดังนั้นถ้ามีหลายต้นก็คงจะได้กินทุกวัน

กินมะเขือเทศไร้สารพิษทุกวันแบบนี้ สุขภาพดีจะหนีไปไหน มะเขือเทศเป็นผักฤทธิ์เย็นด้วย ทำให้กินง่าย ปรับง่าย จะปรับให้ร้อนขึ้นก็แค่เอาไปปรุงเพิ่ม ถ้าอากาศร้อนก็กินสด ปลูกติดบ้านไว้ไม่เสียหาย

การปลูกวอเตอร์เครส

การปลูกวอเตอร์เครส

การปลูกวอเตอร์เครส

จากที่ผมทดลองปลูกมา ดูเหมือนว่าถ้าเราปลูกในที่แดดรำไร ก็จะเห็นผลได้ดีกว่า คือต้นโต ใบใหญ่

ในตอนแรกผมเข้าใจว่ามันต้องได้แดดเยอะ ๆ ถึงจะดี จากข้อมูลที่ทดลองปลูกที่บ้านกรุงเทพฯ ถ้าเอาไว้ในร่มไม่ดี เอามาตั้งหน้าบ้านให้โดนแดดบ้างจะดี ก็เลยเอามาทดลองต่อกลางแดด

ทีนี้กลางแดดที่นี่มันแดด 100% ทั้งวัน มันก็เลยมากเกินไป ปลูกไปต้นก็ไม่งาม ใบก็สีอ่อน ต้นก็แห้ง ๆ เลยทดลองใหม่ ปลูกใต้ค้างตำลึง ก็มีตำลึงช่วยพรางแสงให้ สรุปผลออกมาดี ใบใหญ่ กรอบ ต้นไม่แข็ง

เลยได้ผลสรุปว่า ก็ปลูกกลางแดดนี่แหละ แต่ต้องอยู่ใต้ต้นไม้อื่นหรือ ใต้ค้างไม้เลื้อย ถึงจะดี

[30] ลองกินมะเขือเทศ + เก็บเมล็ด

diary-0030-ลองกินมะเขือเทศ

30. ลองกินมะเขือเทศ + เก็บเมล็ด

หลังจากที่ปลูกมะเขือเทศแล้วได้ผล ก็เลยคิดว่าน่าจะทดลองปลูกมะเขือเทศพันธุ์อื่น ๆ บ้าง

เมื่อคิดอย่างนั้น ก็เลยไปลองซื้อมากินดู ว่าแต่ละพันธุ์นั้นมีรสชาติอย่างไร (ปกติกินแต่มะเขือเทศทั่วไป) ซึ่งก็ได้ผลมาว่า บางชนิดเนื้อแน่น บางชนิดเนื้อไม่แน่น บ้างก็ออกหวาน บ้างก็ไม่ค่อยหวาน และก็ได้ประสบการณ์ใหม่ว่า มะเขือเทศกินสดก็ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะพวกผลเล็ก ๆ กินไปก็คล้าย ๆ องุ่น ก็น่าปลูกดีเอาไว้กินเป็นผลไม้

ที่ซื้อมาลองก็มะเขือเทศที่ขายในห้างทั่วไป ผมซื้อมาอย่างในรูปนี้ก็ 5 ชนิด ก็แพงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้แพงที่สุด ตกแพคละ 20-50 บาท ไอ้ที่แพคละ 100-300 นี่ซื้อไม่ลง มันอาจจะหวานกว่าละมั้ง แต่ที่กินไป 5 ชนิดนี่แทบไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น คือไม่มีนัยสำคัญในความหวาน ซึ่งการซื้อผลสดมาลองกินก็น่าจะดีกว่าซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เขาขายเป็นซอง เพราะถ้าซื้อแบบนั้น กว่าจะรู้ว่ามันรสเป็นอย่างไร ก็ต้องรอโต

แต่วิธีของผมนี่จะเลือกปลูกจากที่ได้ทดลองกินแล้ว เหมือนย้อนขั้นตอนไปอีกขั้น กินแล้วก็เก็บเมล็ดเอง เคยลองแล้วได้ผล และมันไม่ยากก็เลยเลือกใช้วิธีนี้

การปลูกพืชผักของผม ไม่เหมือนเกษตรกรเขาทำ แต่จะทำเหมือนการวิจัย ทดสอบ ทดลองอะไรไปเรื่อย เน้นเอาความรู้ ส่วนผลผลิตนั้นเป็นผลพลอยได้

ถ้ามะเขือเทศชุดนี้เพาะสำเร็จแล้ว ลงปลูกแล้ว ได้ผลแล้ว จะเอามาให้ดูกันอีกที

วอเตอร์เครสใบใหญ่

วอเตอร์เครสใบใหญ่

วอเตอร์เครสใบใหญ่

หรืออีกที่เขาเรียกกันว่าวอเตอร์เครสฮาวายนี่แหละ เอามากินสดก็ดี เอาไปใส่แกงจืดก็ดี ใส่สลัดก็ดี ก็แล้วแต่ใครจะกินแบบไหน

พอดีวันก่อนทำใบของมันตกไปในถังน้ำที่มีฝาปิด ก็เปิดฝามาใช้น้ำทุกวัน ก็เห็นมันลอยและสีเขียวสดอยู่หลายวัน ลองหยิบขึ้นมาดูก็พบว่ามันยังสดและดูเหมือนจะมีพลังชีวิตอยู่

ก็เลยลองเด็ดใบต้นที่เพิ่งจะขุดย้ายที่ปลูกมา ใบของมันไม่ตึงมาก ออกไปทางเหี่ยว ๆ ด้วยซ้ำ แต่ผมเอาไปแช่น้ำไว้หนึ่งคืน ปรากฎว่ามันเต่งตึง แข็ง กรอบ เหมือนผักที่ได้รับการดูแลอย่างดี

ตอนแรกก็คิดไปว่าเอาผักไปแช่น้ำไว้ข้ามคืน มันจะเน่า ที่ไหนได้ มันสดขึ้น แถมแช่ได้หลายวันด้วยสิ ก็คงแล้วแต่ชนิดผัก อันนี้เป็นความรู้ที่ได้มาแบบบังเอิญ ถ้าใบมันไม่ตกในถังน้ำก็คงไม่รู้แบบนี้

มะเขือเทศที่ไม่เป็นสีแดง

มะเขือเทศที่ไม่เป็นสีแดง

มะเขือเทศที่ไม่เป็นสีแดง

อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่หลายคนก็คงรู้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ผมเพิ่งรู้ คือ “มะเขือเทศไม่จำเป็นต้องสุกเป็นสีแดง”

ผมก็เคยเห็นบ้างที่เขาเอามะเขือเทศมาขาย ลูกสีส้มบ้าง สีเขียวบ้าง ก็เข้าใจว่าเขาเก็บตอนที่มันยังไม่สุก ถ้าสุกมันก็คงเป็นสีแดงเหมือนกันหมด

จนกระทั่งผมลองปลูกมะเขือเทศเอง ก็ได้ผลสุกเป็นสีแดงทั้งหมด จนกระทั่งมาเจอกับมะเขือเทศต้นนี้ เป็นต้นที่ให้ลูกมาก ลูกใหญ่ ตอนที่ผมไปเจอมันอยู่ในพงหญ้าก็มี 8 ลูกโต ๆ แล้ว ทุกลูกเป็นสีเขียว

ต่อมาผมก็ถางหญ้า รดน้ำดูแลมัน หวังว่ามันจะสุก สุดท้ายแม้จะรอนานแค่ไหน มันก็ไม่สุกเสียที ก็อย่างที่เห็น มันก็สีเหลืองจนเหี่ยวไปนั่นแหละ ผมก็ลองเอาผลสีเหลืองมากินแล้ว มันก็รสเหมือนมะเขือเทศสุกทั่วไป

คือมันสุก แต่มันไม่เป็นสีแดง ผมไม่เคยซื้อมะเขือเทศสีอื่นมาเลย เลือกแต่ลูกแดง ๆ และมะเขือเทศต้นนี้ก็เป็นต้นที่เพาะเมล็ดมาจากผลสีแดงที่ซื้อจากตลาดนั่นแหละ

เหมือนกับที่เราคาดหวังว่าใครสักคนจะพัฒนา เราเฝ้าดูแล เอาใจใส่ สุดท้ายพบว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ วันเวลาเปลี่ยนแปลง ร่างกายของเขาแก่ก็จริง แต่ความคิดเขาไม่เปลี่ยน สุดท้ายเขาก็อาจจะตายไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจความผาสุกที่แท้จริงเลยก็ได้

แน่นอนว่าการดูแลของเราก็เป็นกรรมดีที่เราสมควรทำ แต่ความคาดหวังนั้นเป็นสิ่งที่จะทำร้ายตัวเรา เหมือนกับมะเขือเทศ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะสุกเป็นสีแดงหรือไม่ เป็นเพราะเราดูแลไม่ดีหรือเป็นเพราะพันธุ์มัน หรือเพราะเรายึดมั่นว่าผลสุกที่ดีต้องสีแดง ถ้ามันเป็นพันธุ์ที่ไม่มีวันจะเป็นสีแดงได้ เราไปพยายามให้มันเป็นมันก็ทุกข์เปล่า ๆ

คนก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า คนนั้นมีทั้งคนที่สอนได้ คนที่สอนไม่ได้ แม้คนที่สอนได้ยังมีระดับง่ายไปจนถึงสอนลำบาก ในช่วงเวลาที่มีอยู่จำกัด เราจะเลือกทำสิ่งใด ถ้ามะเขือเทศที่ตลาดต้องการต้องมีผลสดใหญ่สีแดง เรายังจะปลูกมะเขือเทศที่ไม่มีวันเป็นสีแดงนี้อยู่ไหม เหมือนกับที่โลกต้องการคนดีแท้ เราจะให้เวลากับการสร้างคนดีแท้ที่พอจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย

นี่คือเรื่องที่ผมได้จากมะเขือเทศต้นนี้ …แต่ผมอาจจะดูแลมันไม่ดีก็ได้นะ เดี๋ยวจะลองใส่ปุ๋ยแล้วมาดูผลชุดใหม่กันอีกที

เก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่ม

เก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่ม

เก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่ม

ผมเคยปลูกถั่วพุ่มไว้หนึ่งแปลงเล็ก ๆ ขนาด 4*1 เมตร ผลที่ได้ก็ดีเชียวล่ะ แต่ก็มาเสียตรงที่ปล่อยมันไว้กับฟ้ากับฝนนานไปหน่อย ก็ประมาณ 3 เดือน

แต่กลับมามันก็ยังไม่ถึงกับตาย แค่พิการไปบ้าง ใบไม่มี เหลือแต่ต้นที่ยังมีสีเขียว ๆ พอรดน้ำดูแลไปสักพัก ใบก็เริ่มผลิออกมาใหม่ ไม่นานนักก็ให้ผล คือมีฝักถั่ว แต่ไม่งามหรอก ต้นหนึ่งได้หนึ่งฝักก็ถือว่าเก่งแล้ว กับสภาพของต้นที่มันเป็น

เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ชุดนี้ซื้อมา แล้วก็ไม่อยากจะต้องเสียเงินไปซื้ออีก ก็เลยยังไม่เด็ดไปกิน ถึงจะเด็ดไปกินก็ได้ไม่กี่ฝัก เลยคิดจะเก็บเมล็ดไว้ปลูกชุดใหม่น่าจะดีกว่า

แต่การจะไปปล่อยไปตามธรรมชาติ บางทีฝักก็ไม่สมบูรณ์ มักจะมีแมลงมากินตรงกลางฝัก ก็เหมือนจะได้เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย

สุดท้ายนึกได้ ไปเจอห่อผ้าที่เขาไว้ห่อของชำร่วย ก็เลยเอามาห่อฝักเลย หนึ่งฝักนี่ก็คงได้ไม่ต่ำกว่า 5 เมล็ด ก็จะลองปลูกต่อดู ขึ้นไม่ขึ้นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที ถ้าขึ้นก็ดี จะได้มีปลูกมีกินไปเรื่อย ๆ ไม่ขึ้นก็ลองศึกษากันต่อไป

ต้นมะเขือเทศสุดอึด

ต้นมะเขือเทศสุดอึด

ต้นมะเขือเทศสุดอึด

มะเขือเทศนี่เป็นพืชที่ผมค่อนข้างประทับใจกับความอึดของมันตั้งแต่ครั้งก่อนที่ลงว่า ปลูกไว้ตั้งแต่ต้นโตแค่ 4-5 นิ้ว แต่ทิ้งไว้ กับฟ้ากับฝน 3 เดือน กลับมา ยังรอดอยู่ได้ แถมให้ผลอีก

แล้วตอนนี้มันไม่ใช่แค่รอดนะ มันยังงามด้วย คือให้ผลได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่เรารดน้ำ บำรุงมันให้ดีหน่อย มันก็กลับฟื้นและออกดอกออกผล

อย่างในรูปนี้ กิ่งนี้กิ่งเดียว ก็ออกผล 5 ลูก ยังมีกิ่งอื่นอีก แต่มีลูกไม่เยอะ 2-3 ลูก ต้นนี้มี 3 กิ่ง คิดว่าคงโตและให้ผลไปได้อีกสักพักก่อนที่มันจะต้องตายไปตามอายุขัยของมัน อย่างน้อยก็มีมะเขือเทศไร้สารพิษให้ผมได้กินเสริมวิตามินไปได้อีกสักพัก

ตำลึง

ตำลึง

ตำลึง

เพิ่งจะปลูกตำลึงจริงจังได้ไม่นาน จริงจังขนาดว่าทำค้างให้มันเลื้อยด้วย แต่มันไม่ยอมเลื้อยไปตามค้าง มันจะเลื้อยไปตามผิวดินท่าเดียว ก็เลยต้องเอาเชือกผูกกับค้าง แล้วเอามาพัน ๆ เถาตำลึง

ตำลึงที่หามานั้นก็เอามาจากแถว ๆ นั้นที่มันขึ้นของมันเองบ้าง เอามาจากที่บ้านกรุงเทพฯ บ้าง ( มันก็ขึ้นของมันเองเหมือนกัน) ก็เอามาปลูกรวม ๆ กัน จะได้มีมวลหน่อย ตอนนี้เพิ่งจะคุ้นกับดินใหม่ เพิ่งจะแตกยอด ยังไม่คลุมค้าง อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก แต่คิดว่าตำลึงจะกลายเป็นผักกันตายอีกชนิด รองจากไชยา คิดอะไรไม่ออก ไม่มีอะไรกิน ก็กินตำลึงนี่แหละ ดูเลี้ยงง่ายตายยากดี มีให้กินเรื่อย ๆ ก็เลี้ยงดูขยายพันธุ์กันต่อไป ถ้างามแล้วจะเอามาให้ดู ตอนนี้ก็งามเท่าที่เห็นนี่แหละ ดีที่สุดแล้ว