มาเล่าย้อนกันต่อกับเรื่องการให้ทาน เมื่อนานมาแล้วผมเคยไปสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นเขาก็มีงานเทศกาลอะไรสักอย่าง
ก็มีบูทเปิดขายหนังสือ ผมก็ดูหนังสือ แล้วก็ถามว่าเท่าไหร่ เขาตอบมา 9 บาท แต่ที่ใส่เงินนั้นเป็นกล่องบริจาค ผมก็แปลกใจเล็กน้อย ผมมีเหรียญ 10 หนังสือ 9 บาท ถ้าผมจะขอทอนนี่คือผมงกรึเปล่า? แต่ด้วยความที่ว่าไม่อยากยุ่งยากก็หยอดไป 10 บาทนั่นแหละ เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมเงินไว้ทอน มีแต่กล่องให้ใส่เงินเท่านั้น ผมก็สงสัยอยู่ในใจ ขาย 9 บาทก็รับ 9 บาทสิ แล้วจะเอาเงิน 9 บาทนั้นไปใส่อะไรก็ตามใจ ส่วนกล่องบริจาคก็ตั้งแยกไว้ไกล ๆ หน่อย ไว้กันคนหน้าใหญ่มาใส่เงินเกินความจำเป็น
ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างตะขิดตะขวงใจกับคำประมาณว่า “บริจาคตามศรัทธา” อยู่แล้ว ผมเองไม่ได้จน แต่ก็ไม่ได้รวย พอมีเงินอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่คนใช้เงินไม่คิด
มาเล่าเคสที่สองกัน เป็นแผงใกล้ ๆ เขามีหนังสือมาวาง เป็นหนังสือเกี่ยวกับวินัยของพระ ผมเปิดดูก็น่าสนใจ แต่ไม่เห็นมีป้ายบอกว่ากี่บาท เลยถามเขาว่านี่เอามาแจกหรอครับ คนที่นั่งอยู่เขาก็ว่าให้ฟรี แต่คนที่ยืนอยู่เขาก็บอกว่าตามกำลังศรัทธา
ผมมองไปที่เขายืนอยู่ก็มีกล่องบริจาค ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดว่า เอาไงดี คนหนึ่งบอกแจก คนหนึ่งบอกบริจาคตามกำลังศรัทธา ผมเลยถามย้ำอีกทีว่าเล่มนี้ผมรับฟรีได้ใช่ไหม? ก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิม สรุปผมก็เลยขอเขามาฟรี ๆ นั่นแหละ สมัยนั้น ศีลข้อ ๒ ยังไม่แน่นเท่าตอนนี้ ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงไม่รับเพราะมันมีอาการสะดุดอยู่ ไม่ลื่น มัน 50/50 ไม่ 100%
ตอนนั้นผมคิดว่ามันก็คงจะดีถ้าเรารับมาฟรี คนให้ทานได้เสียสละ 100% ดีกว่าคนให้ทานแล้วมาหวังสิ่งตอบแทน เช่นการบริจาคตามกำลังศรัทธา ถ้าอย่างนั้นคนรวยบริจาคมากก็ศรัทธามาก คนจนมีน้อยบริจาคน้อยก็ศรัทธาน้อยอย่างนั้นหรือ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งกล่องบริจาคใด ๆ โดยเฉพาะคนที่อ้างตนเป็นพุทธ เพราะมันผิดหลักการพ้นทุกข์ของพุทธ คือมาทำดีแล้วยังหวังผล ยังเอาลาภแลกลาภอยู่ อันนี้ก็ไม่ดี หลังจากนั้นสักพักใหญ่ ๆ ผมก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้อยู่ในร้านหนังสือ ราคา 60 บาท ผมก็รู้สึกว่า นี่ถ้าเรามาซื้อในร้านหนังสือคงจะดีกว่า ไม่น่าไปเอาของเขามาเลย
จะสรุปก่อนเลยว่าการตั้งกล่องบริจาคไม่ควรมีในลัทธิพุทธ ถ้าเขาจะให้เดี๋ยวเขาก็ให้เอง ไม่ต้องไปเอื้อจนมันจะกลายเป็นการวัดใจหรือมารยาทขนาดนั้น คือจะขายราคาไหนก็ขายไปเลย ราคาทุนก็ระบุว่าราคาทุน ก็ขายไปเท่านั้นอย่าไปมีกิเลสหวังเศษเงินจากการทำดี เช่นขาย 9 บาท จะหวังให้เขาให้ 10 บาทมันก็ไม่ดี เหมือนนั่งแท็กซี่แล้วคนขับทำฟอร์มไม่มีเศษเหรียญทอนในตอนท้าย
ในเรื่องที่เล่ามาสองตัวอย่างนี้เป็นบทเรียนให้ผมเรียนรู้ความผิดพลาด ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ เราไม่ควรไปอยากได้อะไรเลย ถ้าจำเป็นก็ซื้อไป แต่การจะไปเอาของใครนี่ต้องระวัง ในตอนนี้ ถ้าเขาไม่ใส่พานมาให้ ผมก็ไม่เอาหรอก หรือถ้าปกติหน่อยก็เช่น เขาเปิดโอกาสให้เราเข้าไปเอา อันนี้เราก็พิจารณาอีกทีว่าเหมาะไหม เช่น กรณีเขาแจกหนังสือ ๙๙ พระบรมราโชวาทฯ เราก็พิจารณาก่อนว่า อันนี้เขาให้แล้วหรือยัง ถ้าเขาให้แล้วจำเป็นกับเราไหม เราไม่จำเป็นต้องรับทุกอย่างที่เขาให้ แต่ของที่รับมานั้นควรจะเป็นของที่เขายินดีให้
การเรียนรู้และขัดเกลาเรื่องการรับทำให้ชีวิตผมปลอดภัยและผาสุกขึ้น เพราะถ้าเราไปรับอะไรมั่ว ๆ ภัยก็จะเกิดกับเราได้ ดังที่พระพุทธเจ้าว่าแม้ลาภสักการะยังเป็นภัยต่อพระอรหันต์ แล้วกระจอก ๆ อย่างผมจะไปเหลืออะไร…
ตอนนี้การที่ผมจะรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะยากขึ้น แม้เขาจะยินดีให้ก็ใช่ว่าผมจะต้องรับ ในกรณีบางคนผมอาจจะรับไว้เพื่อรักษาน้ำใจ หรืออาจจะไม่รับเพื่อรักษาความสัมพันธ์ก็ได้ เรื่องทานนี่มันลึกซึ้ง เพราะยากทั้งการให้และการรับ ต้องประมาณให้เกิดกุศล อย่าทำให้เป็นอกุศล นี่ยังไม่รวมเรื่องบาปบุญนะ แต่ก็จบเท่านี้ก่อนแล้วกัน