ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [2] วันที่สองภาคเช้า

เรื่องราวในวันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีเรื่องราวมากมาย เพราะเป็นวันที่เรามีเวลากันอย่างเต็มที่ นั่นคือทั้งวันทั้งคืน ซึ่งในวันนี้ผมจะแบ่งบทความเป็นสองช่วงคือภาคเช้ากับภาคบ่าย และนี่คือภาคเช้าครับ

10 พฤษจิกายน 2555

แสงยามเช้า
แสงยามเช้า

เช้าวันนี้อากาศดีมาก หมอกปกคลุมยามเช้าเหมือนเป็นปกติของต่างจังหวัด ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ให้ปลุกเวลา ตี5 เพื่อตื่นมาสูดอากาศยามเช้า สุดท้ายเมื่อถึงตี5 ก็ตัดสินใจนอนสูดอากาศยามเช้าต่อสักพักใหญ่ๆ อากาศยามเช้าที่นี่นั้นแตกต่างจากกรุงเทพมาก ซึ่งใครๆก็รู้ และนั่นก็ทำให้ผมนอนเก็บบรรยากาศแบบนี้ให้นานที่สุด ก่อนที่จะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมหลายๆอย่างต่อไป สำหรับเช้าวันนี้เป็นเช้าที่ไม่รีบเร่งมากนัก เพราะว่ากิจกรรมในครึ่งวันเช้าของวันนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งสมาชิกที่แยกกันไปพักบ้านแต่ละหลังก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีช่วงเวลาให้นำเรื่องราวมาแบ่งปันกันในคืนวันนี้

ทำบุญตักบาตร
ทำบุญตักบาตร

สำหรับเช้าวันนี้ อากาศดีแบบนี้คงจะไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการทำบุญตักบาตร ซึ่งในหมู่บ้านหรือชุมชมแห่งนี้ ก็จะมีพระออกมาบิณฑบาตทุกวัน เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าอยู่ในหมู่บ้าน และวัดในชุมชนก็มีไม่มากนัก แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชุนต่างจังหวัดแบบนี้ดูเหมือนจำนวนพระต่อชุมชนจะมีพอดีกันมาก จนมีโอกาสให้คนในชุมชนได้ทำบุญกันอย่างทั่วถึงนั่นเอง

 

 

 

โอ่งเก็บน้ำโอ่งที่มีทุกบ้านในละแวกบ้านแถวนี้ ผมเดินสำรวจไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่หลายๆบ้านมีเหมือนกันคือการเก็บน้ำไว้ใช้ โดยการเก็บไว้ในโอ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนจะมีจำนวนโอ่งมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชากรในบ้าน สำหรับบ้านต่างจังหวัดนั้น การหาพื้นที่วางโอ่งนั้นง่ายกว่าการใช้น้ำประปา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล

น้ำคลอโรฟิลล์
น้ำคลอโรฟิลล์

เช้านี้ก็มีน้ำคลอโรฟิลล์ จากแม่แต๋นเป็นน้ำคั้นสมุนไพรหลายชนิด เช่นใบย่านาง เบญจรงค์ ฯลฯ ตามสูตรของหมอเขียว เพราะแม่แต๋นแกเป็นผู้ป่วยในความดูแลของหมอเขียวรุ่นแรกๆเลย ซึ่งก็ปฏิบัติตามแนวทางของหมอเขียว มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับน้ำคลอโรฟิลล์นี่ ถ้าคนไม่เคยกินก็อาจจะยากหน่อย แต่สำหรับผมก็ถือว่าคุ้นเคยพอสมควร ถ้าจะให้ดื่มกันง่ายๆก็อาจจะผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำหญ้าหวาน ลงไปด้วยก็จะทำให้กลายเป็นน้ำสมุนไพรหวานๆที่ดื่มง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น

แปลงผักในครัวเรือน

ในชุมชนแห่งนี้ แต่ละบ้านก็จะมีมุมสวนผักของตัวเองไม่มากก็น้อย สำหรับสวนผักในภาพที่เห็น ก็จะเป็นสวนผักที่แม่แต๋นพาไปดู ซึ่งผักก็งอกงามน่าเด็ดดี ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษ และปุ๋ยเคมี ทำให้เรามั่นใจที่จะเด็ด ล้าง กิน ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารเคมีอะไรมาปนเปื้อน

เห็ดในโรงเพาะ
เห็ดในโรงเพาะ

นอกจากจะมีผักสารพัดชนิดให้เด็ดประกอบอาหารกันในประจำวันแล้ว ก็ยังมีโรงเพาะเห็ดที่สามารถทำให้มีเห็ดกินไปตลอด รวมถึงเป็นรายได้เพิ่มโดยการขายเห็ดอีกด้วย สำหรับในวันนี้ที่ผมมานี้เขาก็เก็บเกี่ยวเห็ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือเห็ดไว้ให้ชมอยู่บ้าง เห็นแล้วก็อยากเด็ดมาทำเห็ดชุบแป้งทอดหรือไม่ก็เอาไปทำต้มยำเห็ดจริงๆ ที่สำคัญอีกเหมือนเดิมคือเห็ดพวกนี้ปลอดสารพิษนะครับ ใครที่ไม่รู้ความต่างก็ต้องค้นหาข้อมูลกันเอาเอง หรือจะใช้ร่างกายของเราเป็นตัวทดลองก็ไม่ว่ากัน

แตงกวาจากต้น
แตงกวาจากต้น

นอกจากเห็ดแล้วก็ยังมี การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และห่าน? ห่านนี่ส่งเสียงดังทีเดียว แต่ก็เป็นที่ต้องการ เพราะห่านนั้นหายาก เขาว่าไข่ห่านที่นี่ก็ขายได้ดีเหมือนกันนะ ที่บ้านนี้เขาเลี้ยงอยู่หนึ่งคู่ครับ ส่วนวิธีเลี้ยงก็กั้นพื้นที่ให้มันอยู่ เดินไปเดินมา ก็เป็นเป็ดไก่ห่าน อารมณ์ดี คงจะดีกว่าไปขังเขาในช่องแล้วกดดันให้ออกไข่อย่างเดียวนะครับ ก่อนจะกลับก็มาลุยแปลงปลูกแตงกวา ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเด็ดไปกินเป็นมื้อค่ำของเมื่อวานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเด็ดแตงกวากินกันสดๆจากต้น อารมณ์นี้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้จริงๆ

 

 

กิจกรรมประจำวันกิจกรรมของชาวนามากมายที่สามารถลดต้นทุนได้ นี่เป็นการทำตอกไว้ผูกข้าวครับ ทำครั้งเดียวก็ใช้กันนานเลย สำหรับวิธีการทำนาของที่นี่ก็จะใช้วิธีดั้งเดิมครับ เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการลดต้นทุนก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกำไรเพิ่มครับ เป็นวิธีคิดของหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ต้นทุนอยู่ดี

ผักสวนครัวหลังจากที่ดูผักสวนครัวกันแล้ว เราก็จะย้ายไปอีกที่ซึ่งเป็นสวนปลูกผักและผลไม้ของแม่แต๋น ซึ่งจะปลูกผักเอาไว้หลายชนิด สำหรับในรูปนี้ก็มีคะน้าที่มีแมลงกัดกินนิดหน่อย เคยมีคนกล่าวว่าผักปลอดสารมักจะมีร่องรอยแมลงกัดกิน แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนที่ขายส่งผักที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพเล่าให้ฟังว่า ผักที่เห็นร่องรอยแมลงนั้นบางทีชาวสวนเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ก็กันแมลงไม่อยู่ สุดท้ายก็เกิดเป็นรอยแมลงกัดกินอยู่ดี แถมมีสารเคมีด้วย

ส้มโอผลโต
ส้มโอผลโต

สุดท้ายก็เลยไม่รู้จะใช้วิธีไหนในการเลือกผักที่ปลอดภัย ก็เลยใช้วิธีการอ้างอิงแหล่งผลิตกันเลย ถ้าเราสามารถได้ผักจากคนที่ไว้ใจได้เช่นชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็ปลูกผักกินกันเองเลยก็ได้ การปลูกผักในพื้นที่จำกัดในสมัยนี้ไม่ยากแล้วเพราะมีวิธีการและองค์ความรู้มากมายที่จะมาจัดการกับกระบวนการ การปลูกผักกินเองเหล่านั้น ทำให้เรามั่นใจว่าผักที่ปลูกนั้นปลอดภัยจริงๆ

สำหรับผักผลไม้ของที่นี่ก็จะเป็นการปลูกแบบสวนผสม ตรงไหนว่างก็ลงตรงนั้น ไม่ได้เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเหมือนสวนผลไม้ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะที่ใกล้เคียงธรรมชาติจริงๆ มีหญ้าก็ปล่อยหญ้าบ้างไม่ได้ฉีดยา มีผลไม้ก็ไม่ได้ปลูกให้ต้นติดกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแมลงและโรคก็เลยลดน้อยลงไป

สำหรับส้มโอต้นนี้ก็มีลูกมากมายให้เก็บกัน เพียงแค่เอื้อมมือหยิบก็เด็ดได้แล้ว และรสชาติก็ดีอีกด้วยหอมหวานทีเดียว ซึ่งสมาชิกบ้านแม่แต๋นก็ได้ช่วยกันเก็บและขนกลับไป

กระต่ายขูดมะพร้าวกระต่ายขูดมะพร้าวในตำนาน กระต่ายขูดมะำพร้าวชิ้นนี้มีอายุมากว่า 30 ปี โดยประวัติแล้วก็ผ่านมือชาวบ้านมามากมาย ซึ่งก็ได้ความว่า เวลาชาวบ้านมาทำขนมก็มักจะมีการหยิบยืมของกันและกันรวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าวชิ้นนี้ด้วย สะท้อนเรื่องราวในอดีตซึ่งมีความใกล้ชิดและการพึ่งพิงกันในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรีบเร่ง สะสม และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

บ่อปลานาข้าวไร้สารพิษบ่อปลา นาข้าวไร้สารพิษ สำหรับป้ายนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจหากไม่ได้เข้ามาสัมผัสเอง เพราะเพียงแค่ป้ายหรือคำโฆษณา ใครๆก็สามารถเขียนได้ อวดอ้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องมาพิสูจน์ความจริงถึงไกลถึงที่นี่ว่า วิถีแห่งชาวนาอินทรีย์ ที่ทำนาและใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาตัวช่วยอย่างสารเคมี และปุ๋ยเคมีนั้นเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะสามารถพบเห็นได้จากพฤติกรรมและแนวคิดเท่านั้น ส่วนจะไปมองหาว่าข้าวเมล็ดไหนมีสารพิษตกค้างเท่าไรนั้นคงจะทำได้ยาก…

เกี่ยวข้าวครั้งแรก
เกี่ยวข้าวครั้งแรก

หลังจากที่แม่แต๋นพาเดินดูสวนผัก เก็บผลไม้ และดื่มน้ำข้าวกล้องงอก รวมถึงข้าวต้มรองท้องกันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะพาเหล่าสมาชิกลงแปลงนาเพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวในเบื้องต้น เพื่อที่จะไปเกี่ยวข้าวกันรวมกันทุกบ้านอีกทีพรุ่งนี้

เราเดินลัดเลาะคันนาไปเรื่อยๆ ผมสังเกตุว่าคันนาแห่งนี้หญ้าสูงพอสมควรนั่นคงหมายถึงการที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนักสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ เราเดินมาจนถึงแปลงนาที่จะทำการเกี่ยวข้าว โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมคันนา ซึ่งเราก็จะเกี่ยวข้าวไปตามทาง ตามเงาของต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์

ผมเองได้รับประสบการณ์เกี่ยวข้าวจากที่นี่เป็นที่แรก แต่ก่อนก็เคยคิดว่าเคียวที่เห็นนั้นไม่น่าจะคมจนตัดข้าวขาดได้ เพราะดูแล้วมันไม่คมเหมือนมีด แต่พอใช้งานจริงกลับใช้งานได้ดีมากเพียงแค่ออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นเอง สำหรับข้าวในรูปก็เป็นข้าวที่ผมเกี่ยวด้วยมือเป็นครั้งแรก บอกตรงๆว่าเพิ่งรู้จักต้นข้าวจริงๆก็คราวนี้

แกะเปลือกกินข้าว
แกะเปลือกกินข้าว

นอกจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ยังหัดทำปี่จากต้นข้าวอีกด้วย ซึ่งกว่าจะจับหลักได้ก็ต้องทำอยู่นานทีเดียว สำหรับสมาชิกในบ้านผมก็มีอายุหลากหลายครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึง 60 กว่าเลยทีเดียว แต่เด็กน้อยไม่ได้มาเกี่ยวด้วยนะครับ

เมื่อถึงเวลาก็นั่งพักผ่อนในนาข้าวกัน เราจะเหยียบต้นข้าวให้ล้มไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่นั่งครับ ระหว่างนั่งพักก็ดื่มน้ำและได้ลองเก็บเมล็ดข้าวมากินเล่นดู ทดลองอยู่หลายเมล็ดเลยทีเดียว สำหรับเมล็ดข้าวนี่ถ้าไม่มั่นใจจริงๆก็ไม่กล้ากินนะครับ ไปกินนาทั่วไปนี่ก็ไม่ได้ เกิดเขาเพิ่งฉีดสารพัดเคมีก่อนเราไปกินก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็นนาที่นี่ก็มั่นใจได้เลยครับ

หนูนาหลังจากเกี่ยวข้าวรอบปฐมบทกันเสร็จแล้วก็กลับมานั่งพัก โดยระหว่างที่นั่งพักก็มีชาวนาท่านหนึ่งหยิบกรงดักหนูเดินมา และนำมาแขวนไว้ ได้ความว่าดักหนูนามาได้และคงจะเป็นมื้อค่ำของที่นี่ครับ เพราะที่นี่เขานิยมกินหนูกัน หนูนานี่จะต่างกับหนูบ้านนะครับ ทั้งความสะอาดและความก้าวร้าว หนูนาที่เห็นนี่มันนอนนิ่งมาก ขนก็ดูสะอาดตาดี ต่างจากหนูที่ผมเคยจับได้ที่บ้านลิบลับ

เป็ดริมนาระหว่างรออาหารกลางวัน เราก็จะมาดูเขาจับปลากันครับ การจับปลาก็แหว่งแหลงไปในบ่อปลา และดำลงไปจับปลาขึ้นมาครับ ดำขึ้นมาก็มีติดมือมาหนึ่งตัว และข้างๆบ่อปลาก็มีบ่อเป็ดครับ เป็ดนี่ก็อยู่ง่ายกินง่ายคุ้นๆว่าจะกินจอกแหนอะไรนี่แหละครับ ซึ่งก็เลี้ยงอยู่ที่บ่อข้างๆเหมือนกัน อยู่ง่ายกินง่ายทั้งคนและสัตว์เลย มีกินรอบบ้านไม่ต้องออกไปกินที่ไหนไกลๆให้เปลืองเวลาและทรัพยากรโลก

เชื้อเห็ด
เชื้อเห็ด

หลังจากดูปลาดูเป็ดก็มาช่วยเขาขยี้เชื้อเห็ดครับ เชื้อเห็ดก้อนๆ อย่างที่เราเห็นกันนำมาขยี้และนำมาเพาะอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการเพาะในถุงเพาะครับ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นโรงเพาะเห็ดครับ แต่มีเรื่องราวของเห็ดมาฝากกันเล็กน้อย เขารับก้อนเห็ดมาในราคาประมาณ 20 บาท รวม 54 ก้่อน สร้างผลผลิตได้ในระยะประมาณ 2-4 เดือน (จำไม่ค่อยได้ไม่แน่ใจ) แต่ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม ขายส่งกันประมาณ 60 บาท ก็ลองคำนวณกันดูนะครับ เป็นรายได้ในครัวเรือนที่น่าสนใจจริงๆครับ ทำให้ผมอยากศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีแล้วยังจะสามารถสร้างรายได้ ได้อีกด้วย สำหรับในมุมของผมก็คงจะเป็นการลดต้นทุนอาหารที่บ้านและรักษาสุขภาพในเบื้องต้นครับ

ระหว่างที่เราขยี้เชื้อเห็ดไป ก็จะมีเมนูทานเล่นอย่างกล้วยแขก ซึ่งก็เป็นกล้วยในสวนนำมาทำเป็นกล้วยแขกให้กินกัน  ซึ่งก็อร่อยมากทีเดียวจนแทบจะเอาพื้นที่ในท้องให้กับกล้วยแขกจนหมด

บ่อเก็บน้ำ

การจัดทำหรือสร้างแหล่งน้ำภายในไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการทำการเกษตร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช หากเกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จักการบริหารจัดการน้ำภายใน เอาแต่พึ่งน้ำจากภายนอกอย่างเดียวแล้ว พอถึงหน้าแล้งฤดูแล้งก็อาจจะมีปัญหาหลายๆอย่างตามที่เป็นข่าวกันก็ได้

แตงโมผลน้อย
แตงโมผลน้อย

สำหรับชาวนากลุ่มนี้ก็มีแหล่งน้ำในชุมชนของตัวเองและก็ยังเห็นได้ชัดว่า คำว่าแห้งแล้งนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงของที่นี่มากนัก แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ว่าพื้นที่แห่งนี้แล้ง แต่เมื่อมามองเป็นหน่วยย่อยก็จะพบว่าไม่ได้แล้งไปเสียหมดโดยเฉพาะชาวนาที่มีการบริหารจัดการน้ำภายในที่ดี รวมทั้งมีระบบบันทึกปริมาณการใช้น้ำกันอีกด้วย

ในพื้นที่ก็จะมีแปลงผัก ผลไม้ ปลูกอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีตั้งแต่ระยะต้นที่เพิ่งเพาะใหม่และผักผลไม้ต้นใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีปะปนกันอยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของสวนผสมหรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง

รวมถึงบ้านดินที่สร้างจากการขุดดินใกล้ๆบ้าน มาทำบ้านดินซึ่งดูแล้วทำได้ไม่ยาก และมีต้นทุนต่ำมาก สำหรับเรื่องราวของบ้านดินของผมเคยได้รับรู้มาบ้าง แต่มาสัมผัสจริงก็ที่นี่ ซึ่งก็น่าสนใจมากสำหรับการทำบ้านดิน คงจะได้เรียนรู้ต่อไปเร็วๆนี้

เมื่อถึงเวลาเที่ยง

เมื่อถึงเวลาที่ ก็เต็มไปด้วยอาหารมากมาย เรามีเมนูสัตว์อย่างเดียวก็คือปลาที่จับมาจากในบ่อ นอกนั้นเป็นผัก ผลไม้ ผมชอบหัวปลีทอด ให้นึกหน้าตาแบบเต้าหู้ทอดตามรถเข็นไว้ ประมาณนั้นเลย แต่ก็อร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ หัวปลีนี่เป็นอะไรที่ผมมองว่ามันไม่มีค่ามาตลอด เขาเอามาเป็นผักเคียงจานก็ไม่เคยสน แต่พอมาเจอเมนูหัวปลีทอดที่นี่ก็ติดใจทันที เมนูกลางวันอื่นๆก็มี ปลาทอด ปลาย่าง ป่นเห็ด ส้มตำต่างๆ ต้มจืดฟัก ฯลฯ มีให้กินเยอะเพราะมีทีมงานเดินทางมากินข้าวกลางวันด้วย ก็เลยมีวงข้าววงใหญ่หน่อย

ลานหิน

หลังจากที่กินข้าวกลางวันกันอิ่มแล้ว ก็ต้องกลับมายังที่พักและเตรียมอาบน้ำเก็บข้าวของ เดินทางไปรวมกับบ้านอื่นๆ ในจุดนัดพบต่อไป ซึ่งระหว่างทางกลับก็จะเห็นลานหินแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ภาพนี้ก็ยังถ่ายระหว่างนั่งรถตู้

ถ้ามีทุนและเวลาก็คงจะลองขับรถมาเที่ยวสุดเขตแดนไทยแห่งนี้ดูบ้าง คงจะมีเวลามาเก็บประสบการณ์หลายๆอย่าง อย่างละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวนี้ก็คงจะเป็นเหมือนการมาทดลองรับรู้อะไรหลายๆอย่างก่อนที่วันหนึ่งจะถึงเวลาที่ต้องลุยกันจริงๆ สำหรับครึ่งวันรอบเช้า หรือในภาคเช้านี้คงจบลงเท่านี้ ติดตามเรื่องราวในภาคบ่ายในบทความตอนต่อไป

วันที่สองภาคเช้าจบเพียงเท่านี้ อ่านภาคบ่ายหรือตอนอื่นๆต่อ…

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

วันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นที่สอง เป็นวันที่เรามีเวลาเต็มวันในการทำกิจกรรมต่างๆมากมาย

วันนี้เราเริ่มต้นวันตั้งแต่ตีสี่ด้วยธรรมะตามสาย เป็นการตื่นที่น่าจะเช้าที่สุดในรอบปี ถ้าเป็นปกติก็คงจะงงตัวเองไม่รู้จะตื่นมาทำอะไรตอนตีสี่

ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4
ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4

แต่ตีสี่วันนี้พิเศษออกไปเพราะมีธรรมะให้ฟัง เสียงนุ่มละมุนหูพร้อมด้วยข้อคิดสอนใจมากมาย ทำให้ต้องตื่นมานอนฟัง เพราะไหนๆก็อยู่ในวัดแล้ว การนอนฟังธรรมนี่คงหาโอกาสได้ไม่ยากนักสำหรับคนแบบผม ก็เลยใช้โอกาสนี้ฟังจนจบเสียเลย เมื่อจบแล้วก็ไปอาบน้ำเตรียมพร้อมกิจกรรมในวันนี้

กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง

เราพยายามจะออกเดินทางไปปลูกป่าแนวกันชนกันให้เร็วที่สุดเช้าที่สุดเพราะจะหลีกเลี่ยงแดดในช่วงสายถึงเที่ยง เพราะเจ้าถิ่นเขาว่าร้อนมาถึงขนาดว่าผิวอาจจะไหม้กันได้เลยทีเดียว และแน่นอนผมก็ใส่ชุดเตรียมพร้อมออกปลูกนั่นคือเสื้อแขนยาวพร้อมหมวกแก๊ปหนึ่งใบ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา
อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา

เราเดินทางกันเข้าไปในชุมชน ไปในถนนที่นานๆทีจะมีรถผ่านสวนมาสักคัน อาจจะเพราะเป็นเวลาเช้า เราบุกเข้าไปในที่ดินที่มีการปลูกพืชสลับกับป่า หนทางนั้นเหมือนจะทำขึ้นมาใหม่ได้ไม่นานนัก และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางทีมงานตัดสินใจใช้รถตู้ก็เพราะว่าจะทำให้เราเดินทางมาปลูกป่าได้สะดวกยิ่งขึ้น

ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

เมื่อเข้ามาด้านในพบว่าพื้นที่บางส่วนกำลังปรับปรุงอยู่ และส่วนที่ไถไปแล้วก็จะเห็นเป็นดินทรายครับ ที่นี่มีแต่ดินร่วนปนทรายโดยส่วนใหญ่จะเป็นทราย เดินไปก็นุ่มๆดี

น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้
น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้

น้ำข้าวกล้องงอก ต้อนรับเช้าวันใหม่ เป็นน้ำข้าวกล้องอินทรีย์ครับ ยกระดับขึ้นมาอีกนิดสบายใจขึ้นอีกหน่อย ขอบอกว่าแก้วนี้กินนานมากเพราะร้อน… แต่ก็ต้องขอเพิ่มอีกแก้วเพราะนอกจากจะอิ่มแล้วยังอร่อยอีกด้วย

โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ที่ที่เราจะมาปลูกป่ากันคือ โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน ครับ ป่าที่เราปลูกนอกจากเราจะได้ป่าแล้ว เรายังจะได้ประโยชน์อีกอย่างซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการปลูกป่าก็คือ การใช้ป่าเป็นกันชนต้านสารเคมีจากไร่อ้อยของชาวไร่อื่นๆอีกฝั่งหนึ่งครับ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมี ในข้าวคุณธรรมที่เราได้กินกันนั่นเอง เห็นไหมครับใส่ใจคุณภาพกันตั้งแต่ระดับเตรียมการผลิตเลยทีเดียว

ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ
ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ

ที่นี่ ชีวิตไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ไม่ต้องใช้เตาแก๊สที่จุดติดทันที เพียงแค่ใช้ถ่านที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่ ที่นี่มีไม้และเศษไม้มากพอจะเผาถ่านใช้ได้เป็นปีๆสำหรับหนึ่งครัวเรือน

หลุมแมงช้าง
หลุมแมงช้าง

เห็นหลุมแมงช้างผมก็นึกถึงตอนเด็กที่ชอบเอามดไปหย่อนหลุมแมงช้างครับ คืออยากเห็นแมงช้างก็เลยต้องใช้มดเป็นตัวล่อครับ ปัจจุปันได้ประสบการณ์พอแล้วก็เลยได้แค่คิดถึงก็พอ

ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก
ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก

มาถึงตอนที่เราต้องช่วยกันขนต้นไม้นะครับ ขนขึ้นรถเพื่อจะเอาไปปลูกต่ออีกมุมหนึ่งของพื้นที่ ที่เราจะปลูกป่ากันชนกันครับ

เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย
เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย

เราพากันเดินไปที่พื้นที่ที่จะปลูกป่ากันชนครับ ไม่ไกลเท่าไรนักแต่บรรยากาศนี่ดูคึกคักมากทีเดียว งานนี้มีเครือข่ายชาวนาจากอีกที่มาช่วยลงแรงกันด้วยครับ

มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า
มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า

หน้าตาของป่ากันชนน่าจะเป็นแบบนี้นะครับ ป่าจะช่วยป้องกันสารเคมีที่จะลอยมาตามลมได้ครับ ก็เหมือนกั้นฉากทำกำแพงธรรมชาติไว้ละนะ

ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน
ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน

ก่อนจะปลูกเราก็ต้องมีการสอนการปลูกป่าักันหน่อยนะครับ ว่าอะไรควรทำอย่างไรก่อนหลัง เพื่อการเติบโตของต้นไม้ที่ดีในอนาคตครับ

นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง
นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง

ต้นนี้น่าจะเป็นมะม่วงป่าครับ ต้นนี้ผมปลูกแต่ถ่ายตอนยังไม่ได้ยึดต้นไม้กับหลัก หลังจากปลูกเราก็จะปักหลักใกล้ๆแล้วหยิบฟางหรือเศษหญ้าข้างๆมาจับมัดต้นไม้กับหลักเพื่อยึดไว้ป้องกันลมพัดต้นหักนะครับ

สำหรับต้นไม้ที่ปลูกก็มีหลายชนิดเลยเช่น ยางนา ตะเคียน มะม่วงป่า สะเดาป่า ข่อย ขนุน อะไรก็ไม่รู้อีกเยอะแยะครับ จำไม่ได้จริงๆ

อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม
อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม

ด้วยความที่อากาศดี ไม่มีแดดเลย ทำให้เราปลูกกันได้ไวกว่าที่คาดกันเอาไว้ จึงได้มีการถางและไถดินเพื่อให้เหมาะกับการปลูกเพิ่มมากขึ้นครับ

ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?
ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?

ก็ช่วยกันปลูกกันไปตามมุมที่ชอบครับ ใครชอบมุมไหนก็ปลูกมุมนั้น ชอบต้นไหนก็ปลูกต้นนั้น โดยมีข้อกำหนดนิดหน่อยคือยางนา ต้องเว้นห่างกัน 2 ช่วงต้นที่ปลูก ก็ประมาณ 6 เมตรนะครับ

แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง
แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง

หลังจากปลูกต้นไม้กันไม่นานก็มีรถเสบียงยามเช้ามาถึงที่ครับ เรามีข้าวต้มเป็นมื้อเช้าในวันนี้ เป็นข้าวต้มฟักทองเสียด้วยงานนี้นอกจากได้ปลูกต้นไม้แล้วยังได้กินของดีอีกด้วยครับ

อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว
อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว

ข้าวต้มนี่กินกันกลางทุ่งได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ ชีวิตผมนั่งร้านอาหารมาก็เยอะแต่ไม่ค่อยประทับใจ เอาเป็นว่ามันชินแล้วกัน พอมาเจอความแตกต่างแบบนี้เลยต้องขอเติมข้าวต้มอีกชามเพื่อมาดื่มด่ำกับบรรยากาศข้าวต้มกลางทุ่งให้ยาวนานขึ้นครับ

ต่อจากข้าวต้มเขาก็มีกระเพาะปลามาซ้ำกันด้วยนะครับ เป็นกระเพาะปลาเจ ใช้พวกโปรตีนเกษตรน่ะครับ อร่อยดีทีเดียว แต่กินได้ไม่เยอะเพราะอิ่มข้าวต้ม…

วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน
วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน

เนื่องจากเราใช้การวัดพื้นที่ก่อนปลูกครับ ดังนั้นอะไรที่ขวางทางเรา เราก็จะพยายามย้ายมันออกไปครับ ท่อนไม้ท่อนนี้วางอยู่และอยู่ในเส้นทางปลูกต้นไม้ของเราครับ ดังนั้นก็เลยต้องช่วยกันย้าย ตอนแรกเราใช้แรงคนดันครับมันไม่ขยับเลยผมก็ว่า ผมออกแรงสุดแล้วนะ มันยังไม่ขยับเลย สรุปต้องใช้ไม้แถวนั้นใช้วิธีคาดงัดเอาครับถึงจะขยับได้

ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก
ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก

ไล่ปลูกกันจนสุดขอบที่มีครับ เหมือนตอนนี้ไฟมันติดแล้วการปลูกเลยดำเนินต่อไปแม้ว่าจะหมดเวลาที่กำหนดไว้แล้วเล็กน้อย สุดท้ายก็ได้ปลูกกันจนหมดครับ

ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน
ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน

ปลูกกันจนเสร็จก็ทยอยเดินกลับกันไปหลังจากถ่ายรูปหมู่กันเป็นที่ระลึกครับ งานนี้ต้องดูกันยาวๆครับเพราะการปลูกป่านี่ต้องหวังผลระยะนานมากๆกันเลยทีเดียว สำหรับป่านี้ผมเองก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอีกสัก 5 ปีหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป สรุปวันนี้จบกิจกรรมครึ่งวันเช้าด้วยการปลูกป่ากันชนเพียงเท่านี้ครับ

สวัสดี

มัน เป็ด มาก

บางครั้งในชีิวิตของเราก็จำเป็นต้องเลือกทางสักทางที่น่าจะดูดีที่สุด แต่ถ้าเกิดมันดีหรือเหมือนจะดี หรือดีพอๆกันทุกทางล่ะ จะเลือกยังไงดี…

คำตอบของผมอาจจะเป็น เลือกทั้งหมดนั่นแหละ…

การเลือกทำหรือเลือกเป็นหลายๆอย่างนั้น มักจะเป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน ไม่เฉพาะทาง ไม่เก่งไปสักอย่าง หรือที่เขาเรียกกันว่า เป็ด … เหมือนทำได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรได้ดีสักอย่าง แน่นอนว่าผมก็เป็นคนแบบเป็ดๆนั่นแหละ

มันเป็ดมากบทความตอนนี้คิดจะเขียนขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสสักที วันนี้โอกาสเหมาะ อากาศดี ก็เลยได้เขียนและบรรยายความเป็ดให้เป็นที่เข้าใจกัน ความเป็ดของแต่ละคนนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ตามสิ่งแวดล้อม แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้เด่นสักอย่าง ซึ่งผมเองก็เป็นเป็ดอีกตัวหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสังคมนี้

การเก่งเฉพาะทางหรือเฉพาะอย่าง คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก มันเข้าใจง่าย มันดำเนินชีวิตง่าย มันทำให้ชีวิตไปถึงเป้าหมายได้ง่ายเพราะมันชัดเจนในแนวทาง เว้นแต่ว่ามันน่าเบื่อเท่านั้นเอง…

ในบทความตอนนี้เราจะมาบรรยายความเป็ดกับการทำงานกัน

ถ้าจนถึงตอนนี้ยังนึกถึงความเป็ดไม่ออกก็ให้นึกถึงเครื่องถ่ายเอกสารมัลติฟังชั่น fax ,print ,scan ,phone อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แต่ก็ทำได้แค่พอถูไถ เหมาะกับสถานที่ที่อาจจะเล็กนิดหน่อย หรือบริษัทที่งบไม่เยอะต้องการประหยัดอะไรแบบนี้

งานก็เหมือนกัน สำหรับบริษัทที่เริ่มต้นใหม่หรือมีขนาดไม่ใหญ่ก็มักจะอยากได้คนที่ทำได้หลายอย่าง ซึ่งต่างกับ บริษัทใหญ่ๆที่แบ่งแผนกชัดเจนจึงต้องการคนเฉพาะทางนั่นเอง และนี่คือกลไกง่ายๆ จากมุมมองง่ายๆของผมที่มองสังคมการทำงาน แน่นอนว่ามันคือสังคมการทำงาน เราคือฟันเฟืองที่ทำให้กิจการขับเคลื่อนไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็ดหรือไม่เป็ด ก็ขอแค่ให้มันเหมาะกับสถานที่หรือองค์กรที่เป็นอยู่ก็พอ

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง

บางครั้งเมื่อองค์กรมีการปรับเปลี่ยนขนาด เป็ดบางตัวก็อาจจะเดือดร้อนก็ได้ เพราะความไม่ชัดเจนหรือไม่เฉพาะทางนั่น เป็ดบางตัวอาจจะได้ยกระดับเป็นผู้บริหารเพราะรู้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง ซึ่งนั่นแหละคือความเป็ด ผู้บริหารไม่ว่าจะเล็กกลางใหญ่จำเป็นต้องรู้ให้กว้าง แต่ไม่ต้องรู้ให้ลึก เพราะรู้ลึกก็ให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำไป

ดังนั้นเมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นเป็ด จึงจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการบริหารให้มากขึ้นนั่นเอง เพราะเราคงจะไปเก่งสู้คนที่เก่งเฉพาะทางได้ ซึ่งการเลือกเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในชีวิตมันก็ต้องใช้เวลา และเราจึงจำเป็นต้องรู้ตัวให้ชัดว่าเป็นเป็ดแบบไหน เป็ดบ้านๆที่รอถูกเชือด (เป็ดกินเงินเดือน) เป็ดป่าที่หากินเองตามธรรมชาติ (เป็ด freelance)  ลูกเป็ดขี้เหร่ ที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นหงส์ (เป็ดโดนดอง) ซึ่งเราอาจจะนิยามอะไรอย่างไรก็ได้เพื่อมองให้เห็นความเป็นตัวเราเอง และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในความเป็ด คือรู้ว่าตนนั้นเป็นเป็ดแบบไหนและขนาดไหน…

บทความแบบเป็ดๆ คงเกริ่นกันไว้เท่านี้ ซึ่งอาจจะมีบทความเพิ่มขึ้นเรื่อยในอนาคตตามแต่ที่ผมจะจินตนาการได้

สวัสดี

ทำบัญชีซื้อต้นไม้

หลังจากที่ซื้อต้นไม้มานานก็ไม่เคยนึกถึง เมื่อวานอากาศดี พาให้คิดไปไกลว่า…เราซื้อต้นไม้มาเท่่าไหร่กันนะ

หลายคนที่ปลูกเลี้ยงต้นไม้ผมเชื่อว่าไม่ค่อยได้จำกันหรอกครับ เพราะคงจะซื้อบ่อยเหมือนผมนั่นแหละ แต่ใครจะจดไว้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ สำหรับผม มีการจดบันทึกไว้โดยการพิมพ์บล็อกครับ เป็นอีกข้อดีของการเขียนบล็อกคือสามารถตามค้นหาอดีตของตัวเองได้ง่ายครับ สุดท้ายเราก็จะมาทำบัญชีย้อนหลังในการซื้อต้นไม้ และอุปกรณ์ต่างๆที่เีกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ของผมกันครับ

แต่อย่างน้อยการทำบัญชีย้อนหลังก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าเราทำอะไรไปบ้างในช่วงเวลาเหล่านั้นการลงบัญชีย้อนหลัง ที่ไม่มีหลักฐานครบถ้วนนั้น เป็นเรื่องยากมากๆ หลายรายการต้องนั่งนึกกันเอาเอง หลายรายการต้องลงไปดูว่ามีอะไรอยู่บ้างที่เคยซื้อมา เราควรทำบัญชีตั้งแต่แรกครับ เพราะการทำบัญชีย้อนหลังไม่ใช่เรื่องสนุกและไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนอีกต่างหาก แต่อย่างน้อยการทำบัญชีย้อนหลังก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าเราทำอะไรไปบ้างในช่วงเวลาเหล่านั้น

หลังจากทำบัญชีเสร็จผลที่ออกมาทำให้ ผมได้รับความรู้สึกว่า “นี่เราซื้อเยอะขนาดนี้เลยหรอ” แน่นอนครับ การซื้อไปเรื่อย ทีละน้อยๆนั้นให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย แต่การซื้ออะไรหนักๆทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่นี่มันน่าหนักใจจริงๆ จะเปรียบก็เหมือนซื้อเงินสดกับซื้อเงินผ่อนนั่นแหละครับ เมื่อเห็นผลดังนั้นผมเองก็คงจะต้องคิดประหยัด หรือคิดก่อนซื้อเสียบ้าง เพราะรายการซื้อในบัญชีจะแสดงจำนวนเงินที่เราจ่ายไปแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าเราได้ซื้ออะไรที่มันไม่น่าซื้อมาด้วยเหมือนกัน…

สวัสดี

วันแดดดีอย่างนี้ต้องตากผ้า~

วันนี้เป็นวันที่แดดดี อากาศดี ผิดกับหลายๆวันที่ผ่านมา ที่มีแต่ฝนตกฟ้าครึ้ม และบรรยากาศที่หมองหม่น…

วันสดใสแบบนี้ ภารกิจที่สำคัญของผมจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากว่าซักผ้าและตากผ้าให้ไวๆครับ เพราะแดดแรงๆแบบนี้ทำให้ผ้าแห้งไวปราศจากกลิ่นอับ ใส่แล้วรู้่สึกว่าสะอาดปลอดภัยจริงๆครับ และถ้าไม่ซักตากกันวันนี้ เดี๋ยวต่อไปจะไม่มีฟ้าสดใสมาให้ตากผ้ากันสักพักครับ เพราะดูพยากรณ์อากาศเมื่อวาน เขาบอกว่าลมฝน และฟ้าหม่นอาจจะกลับมาอีกครั้งเร็วๆนี้

ดังนั้น มีเวลาผ่านที่พอจะเก็บเกี่ยวช่วงเวลาแดดดีๆก็รีบตากผ้ากันไว้นะครับ

สวัสดี