“เอาเป็นชิ้น ๆ” คำพูดของคน ๆ หนึ่งดังขึ้นมาหน้าร้านขายปลา แม่ค้าหยิบปลาดุกที่ยังเป็น ๆ ยังดิ้นไปดิ้นมา วางบนเขียง
ผมยืนมองชะตากรรมของปลาตัวนั้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป..
เมื่อปลาถูกจับวางลงบนเขียง มีดอีโต้เล่มหนาถูกยกขึ้นมาและสับ! ลงไปที่โคนหาง..เว้นต่อมาอีกประมาณ 1 นิ้วก็หั่นไปอีกที และหั่นต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงหัว แล้วก็หั่นหัวอีก 2 ที
(สมัยก่อนเขาประหารคนแบบตัดหัวนี่ก็ว่าโหดแล้ว ถ้าเขาตัดจากขาขึ้นไปทีละท่อน ทีละท่อนจนถึงหัว…คงจะโหดยิ่งกว่า)
…จบงานรับจ้างฆ่า รับเงินนายจ้าง แลกกับปลาที่ตนได้ฆ่า
เป็นการสั่งฆ่ารูปแบบหนึ่ง คือใช้ปากสั่ง มันก็ดูจะบาปชัด ๆ หน่อย แต่ถ้าไม่สั่งเขาก็ไม่ฆ่า ฆ่าทิ้งไว้เดี๋ยวมันไม่สด คนก็ไม่ซื้อ เก็บก็ยาก ตลาดชุมชนต่างจังหวัดก็แบบนี้แหละ
เทียบกับในเมืองหรือในห้างนี่ไม่ต้องใช้ปากสั่งแล้ว ส่วนมากเดินหยิบชิ้นส่วนที่ต้องการไปจ่ายเงินได้เลย ถือว่าลดขั้นตอนไปได้หนึ่งขั้น สะดวกกว่าเดิม แต่ก็บาปเหมือนเดิมนั่นแหละ เพราะเงินที่เราจ่ายไปนั่นแหละคือตัวแทนคำสั่งให้ฆ่าเขา
…เขาขายได้ เขาก็จับมา แล้วก็ฆ่ามาขายเรื่อย ๆ เขาก็ฆ่ามาเพื่อแลกกับความต้องการของคุณลูกค้า(นายจ้าง)ทั้งหลายนั้นแหละ