พิธีที่ทำแล้วมีผลเป็นสัมมาทิฏฐิ

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนเขาถึงกล้าเต้นแร้งเต้นกา เต้นรำกัน ทั้ง ๆ ที่ชีวิตปกติเขาเขาไม่ได้ทำแบบนั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ได้มีอาชีพแบบนั้น

จะยกตัวอย่างงานบวชนี่แหละ ภาพชัด ถ้าเป็นชุมชนต่างจังหวัด เมื่อมีงานบวชเราก็จะได้ยินเสียงเพลงดังลั่นหมู่บ้าน ดังไปตามถนน มีคนแห่ คนโห่ มีสิบล้อก็ขึ้นไปเต้นกันบนสิบล้อ เต้นโชว์คนที่ขับรถไปมาตามถนน

ถามว่าชีวิตปกติคนส่วนใหญ่เขากล้าทำอย่างนั้นกันไหม กล้าแสดงออกอย่างนั้นกันไหม ต่อให้เปิดเพลงปลุกใจให้เลย เขาจะแสดงท่าทีอย่างนั้นกันออกไหม?

มันไม่ได้หรอก มันเต้นไม่ออก มันแสดงไม่ออก มันต้องมีองค์ประกอบของกิเลสที่สุกงอม ท่ามันถึงจะออก

ในองค์ประกอบของสัมมาทิฎฐิ ถูกแยกย่อยเป็น ๑๐ ข้อ ในข้อ ๒ ว่าด้วย ยัญพิธีที่บูชาแล้วมีผล คำว่าบูชาแล้วก็คือทำแล้ว มีผลก็คือมีผลเพื่อการลด ละ เลิกการหลงมัวเมาในกิเลส ในความโลภ โกรธ หลง ในกามและอัตตา ถ้าปฏิบัติตามพิธีใด ๆ แล้วมีผลไปในทางนี้ถือว่าสัมมาทิฏฐิ

แต่งานบวชในปัจจุบันนั้นมีทิศทางไปตรงกันข้าม ถ้าพุทธะพาไปหาสุข หาสวรรค์ ทางที่ส่วนมากทำอยู่ในปัจจุบันก็คือทางไปนรก เพราะพิธีที่เขาทำนั้น ไม่ได้มีผลในการลดกิเลสของหมู่ชนเลย แถมยังเป็นงานพิธี ที่เพิ่มอัตราเร่งของกามและอัตตาคนที่ร่วมงานอีก

เริ่มต้นก็บ้องกัญชาแล้ว เหลาต่อไปมันก็ไม่กลับเป็นกระบอกไม้ไผ่หรอก เพราะสัมมาทิฏฐิ นั้นเป็นประธาน เมื่อเข้าใจผิด มีความเห็นผิด มรรคข้ออื่นก็จะปฏิบัติผิดทั้งหมด งานที่จัดขึ้นมา พาให้คนหลงผิด ผู้จัดก็ต้องรับวิบาก(ผล) นั้นด้วย นั่นคือตนเองก็ต้องหลงมัวเมาจากความผิดที่ตัวเองก่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะหยุดทำสิ่งที่ผิด

และที่สำคัญมันจะเห็นผิดจัดขนาดที่ว่ามันกลายเป็นแบบนั้นโดยสมบูรณ์โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ เพราะเชื่อแบบผิด ๆ ไปแล้วว่าสิ่งที่ตนหรือพวกตนได้ทำนั้นคือสิ่งที่ดี แม้มันจะเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ทนโท่ก็ตาม

เรียกว่าสภาพ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นั่นเอง