วัดคนกันก็ตอน “ติ” นี่แหละ

correct
ภาพจากเพจ IdeaSpot (facebook)

ผมมีวิธีแยกคนโดยพื้นฐานนะ คือถ้าได้คบหากันมาประมาณหนึ่งแล้ว บางครั้งเราจะลองประมาณคำพูดกับเขา ซึ่งคำที่ประมาณนี่คือคำติ คำชมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาหรอก อย่างมากชมไปเขาก็ลอย เดี๋ยวเขาก็ไปแก้ของเขาเอง แก้ไม่ได้ก็ติดโลกธรรมต่อไป แต่มันไม่มีวิบากร้ายต่อกันมากเท่าคำติ เพราะติมากไปเขาก็จะโกรธ ดีไม่ดีเขาดูถูกเรากลับอีก

ตอนตินี่มันจะวัดเลยว่าเขาแข็งแกร่งพอที่จะรับความเห็นที่แตกต่างไหม? เพราะคำตินี่มันต่างจากที่เขาคิดและทำอยู่แล้ว ถ้าผ่านก็ขึ้น ถ้าไม่ผ่านก็ลง ตรงกลางไม่มีหรอก มันมีกระบวนการสั้น ๆ อยู่ คือ ๑.เราติไปเขายินดีรับฟังไหม ๒.เขาฟังแล้วทำใจในใจลงไปถึงที่เกิดในสิ่งที่เราติไหม (เหตุแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒)

ถ้าติแล้วมีอาการ ไม่ยินดีฟัง เฉไฉ แถ ข่มกลับ ฯลฯ ผมจะไม่ต่อแล้ว เพราะทำต่อไปไม่มีประโยชน์ เราแหย่แล้วเขาไม่เอา ก็เว้นวรรคไว้สักพักเลย จะเดือนหรือปีหรือชาติหน้า ค่อยประมาณกันใหม่อีกทีตามเหตุปัจจัย

หรือพวกฟังแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา คือตอนฟังน่ะดูดีเชียว แต่ไม่เข้าถึงใจ คือไม่เข้าใจว่าต้องไปแก้ไขตรงไหน ตรงไหนที่เป็นปัญหาที่เขาติ พวกนี้ก็จะดูอาการไปสักระยะ ถ้าไม่ไหวก็ปล่อย

จริง ๆ ผมเป็นคนติหนัก ติแรง ติตรงนะ ไม่ค่อยชอบอ้อม ชอบตรงประเด็นชัด ๆ ทีเดียว ถ้าไม่แก้ก็ตายไปเลยแล้วกัน แต่จะไปทำอย่างนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปก็ตายเปล่า ก็เลยไม่เคยติใครขนาดนั้นสักที อีกอย่างคือทำไปมันมีวิบากนะ ไม่ใช่ไม่มี เราก็ต้องประมาณด้วยว่าจะได้วิบากเป็น + หรือ – ถ้าเสี่ยงไปเราก็ไม่ติ ปล่อยไปก่อน ตามเวรตามกรรม ถ้ารู้สึกพอไหวก็ลองติ แต่ถ้าติแล้วไม่ไหวก็ถอย

การที่ผมติเนี่ย ถือว่าผมเคารพคนที่ผมกำลังติอยู่นะ เพราะผมประเมินว่าเขารับไหว แต่ถ้าคนถูกติจะประเมินผมต่ำ ไม่ฟังคำติผม หรือข่มผมกลับ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ผมรู้ตัวเดี๋ยวผมก็เลิกติเอง ผมไม่กล้าติคนที่ไม่อยากฟังหรอก