เหยียบเบรคก่อนจะพุ่งตกนรก

เขายังไม่พร้อม ก็ไม่ต้องไปผลักดัน
ให้พร้อมค่อยช่วย

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์
๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๘
สวนป่านาบุญ ๑

นรกคนดีอันหนึ่งที่สุดจะเผ็ดแสบร้อนก็คือ “การติดการช่วยคน” นี่แหละ และส่วนมากมันจะช่วยพลาด คือมีเจตนาจะช่วยให้มันดีขึ้น กลับกลายเป็นช่วยดึงกันลงนรก คนช่วยก็ลงนรก คนที่ถูกช่วยก็ลงนรก

หลักการประมาณอันหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้เอามาวัดเสมอ ว่าควรหรือยังไม่ควรลงมือช่วย คือความพร้อมของเขา แม้เราจะพร้อม แต่ถ้าเขายังไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องทำ มันยังไม่ถึงเวลา เขายังไม่พร้อมให้เราช่วย อย่าไปทำเกินหน้าที่

ธรรมะพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ อันนี้ เป็นกรรมฐานที่เป็นเหมือนกับติดเบรค ให้ตนเอง ไม่พลาดพุ่งเกินไปจนลงนรก

รับ …โดยไม่เฉไฉ แชเชือน บิดเบือน บดบัง

หนึ่งในกรรมฐานที่ผมระลึกได้เมื่อปีก่อนว่าควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง คือยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราฝึกไม่เบียดเบียนจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือปรับกลับไปมาระหว่างปล่อยวางกับลงมือได้ดีพอสมควร

หนึ่งในการยอมให้เบียดเบียน ก็คือการถูกติ ถูกวิจารณ์ ถูกด่า ถูกเข้าใจผิด ความเบียดเบียนเหล่านั้นคือสิ่งที่เข้ามาเบียดมาบี้ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ซึ่งสิ่งที่เข้ามาจะเป็นธรรมะก็ได้อธรรมก็ได้ ก็จะฝึกปฏิบัติไปเพื่อการยอมให้ถูกสิ่งอื่น เข้ามาขยี้ความยึดมั่นถือมั่น

ผมตั้งใจว่าถ้ามีสิ่งใด ๆ เข้ามาก็จะยินดีรับโดยไม่ปัดป้อง คือยินดีให้มันเข้ามาถึงจิตกันตรง ๆ เลย กำลังจิต(เจโต)ที่มีก็จะไม่เอามาปิดกั้นไว้ ให้มันได้เผชิญความจริงกันแบบใส ๆ เลยว่ากระทบแล้ว มันยังไง มันรู้สึกยังไง มันไปยึดอะไร

เมื่อกระทบกับเหตุการณ์แล้วจะไม่พยายามไปกดให้มันสงบในทันที แต่จะเน้นไปในการพิจารณาเหตุของความขุ่นมัวที่ฟุ้งขึ้นมาในจิต ว่ามันติดมันหลงยึดอะไร แต่ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ ถ้ามันจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น คงต้องกดแล้วเก็บไว้ก่อน

ผมเคยเห็นคนที่ถูกวิจารณ์แล้วเฉไฉ ปัดป้อง ติอย่างหนึ่งไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ติเรื่องหนึ่งไปยอมรับอีกเรื่องหนึ่ง ติปัจจุบันไปยอมรับอดีต ถ้าโดยส่วนตัวสมัยก่อนผมก็เคยเป็นอาการนั้น คือมันอยู่ภายใต้กิเลส เวลาโดนติ กิเลสมันจะพาเฉ ไม่พาซื่อ มันอาจจะเหมือนซื่อ แต่มันจะออกเป็นซื่อบื้อ คือติมาเสียของ ติมาไม่ได้ถูกนำไปแก้ปัญหา คือไม่ได้เอามาพิจารณาจนถึงเหตุเกิด ไม่ได้เอามาทำใจในใจไปถึงที่เกิด เพราะมันถูกบิดเบือนตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนการฟังแล้ว มันเพี้ยนไปตั้งแต่ฟังแล้ว เพราะไม่มีปรโตโฆษะ สิ่งที่ฟังมันเลยบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่เขาพูด เพราะมันไม่ฟัง หรือฟังเขา 1/2 ฟังกิเลส 1/2 รวมกันเป็น 1 คือฟัง แต่ไม่ได้ฟังเขาทั้งหมด

ผมรู้เลยว่าถ้าเรายังไม่ยินดีรับคำติ ไม่ยินดีฟังความเห็นที่แตกต่าง เราก็จะเสียโอกาสในการพัฒนา คำติที่เขาติมามันก็เสียของ

ซึ่งผมก็เอามาประยุกต์กับตัวเองเมื่อจำเป็นต้องติคนอื่นเหมือนกัน คือดูว่าติเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็เลิก เสียพลัง เสียเวลา กิเลสเขาครอบ อินทรีย์พละเขาอ่อน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตินี่มันไม่ง่าย มันต้องปรุงเยอะ ต้องประมาณมาก

บางคนบอกยอมให้ติได้ แต่พอติไปแล้วไม่เข้า เฉไฉ ผมก็เลิก เมื่อผมเข้าใจดังนั้นว่าการตินี่มันไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องทำดีมากพอ คนติเขาก็เสี่ยง และเสียพลัง จึงพยายามฝึกตัวเองให้กล้าหาญและแกร่งมากพอจะรับคำติโดยไม่เฉไฉ บิดเบือน ยอมรับความจริงในปัจจุบันเลยว่า เขาติเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุอะไรก็ต้องไปตรวจตัวเองดูว่าตัวเองพร่องหรือผิดพลาดอะไรแล้วก็เอาไปแก้ไข ถ้าเขาติถูกเราก็ได้แก้ไข ติผิดก็ไม่เป็นไร ก็เอามาตรวจใจทวนไปว่าเรายอมให้เขาติได้หรือไม่ แม้จะถูกจะผิดก็ตามที

เพราะสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับเรายอมให้คนอื่นเข้ามาเบียดเบียนบดขยี้ความยึดมั่นถือมั่นของเราหรือไม่ เท่านั้นเอง