เวลาที่เราเริ่มมีความเก่งหรือชำนาญด้านใดขึ้นมาเป็นพิเศษ ก็จะเริ่มมีโอกาสที่จะใช้ความรู้นั้นช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้พอดี
จากประสบการณ์ ผมก็เจอมาแล้วทั้งสภาพกลัว และสภาพเกิน
กลัวคือ ไม่กล้าจะบอกสิ่งดีออกไป แม้จะมีโอกาสเหตุปัจจัยที่เหมาะสม อาจจะด้วยเหตุที่ว่ากลัวเสียหน้า เสียมิตร เสีย…ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที ก็จะทำให้เสียโอกาสในการทำดีไป
ความเกิน คือสภาพล้น ส่วนมากเกิดจากความล้นของอัตตา บางส่วนเป็นการประมาณที่ผิด เป็นสภาพที่เห็นได้ง่ายและเห็นได้บ่อย เพราะถ้าคนทั่วไปเขากลัวนี่เขาก็ไม่พูด ไม่พูดก็ไม่รู้ ก็เลยดูเหมือนไม่มี แต่ความเกินนี่มันแสดงตัวตนของมันออกมาอยู่แล้ว เลยเห็นได้ง่าย แต่ก็รู้ไม่ได้ง่าย ๆ เพราะความยึดดีมันมักจะบัง และทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ฉันทำอยู่นั้นดี นี่ฉันแสดงสิ่งดีให้เธอ เธอจงฟังฉัน เธอจงน้อมใจมาในธรรมของฉัน ถ้าอัตตามันจะมีอารมณ์มั่นใจแบบเกิน ๆ ปนอยู่
แต่สภาพพอดีนั้นเป็นไปได้ยาก แม้เราจะประเมินตัวเราได้ 100% แต่ฝั่งเขาเราประเมินไม่ได้ทั้งหมด ได้แค่ประมาณเอาตามข้อมูลที่ได้รับ และใน 100% ที่เราเข้าใจ อาจจะเป็นความจริงเพียงแค่ 50% ตามที่เขาแสดงออกมาก็เป็นได้
สภาพพอดี 100% ทั้งผู้ให้และผู้รับ คือสภาพของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก ผู้ให้ต้องมีองค์ประกอบของปัญญาและสัปปุริสธรรม(หลักการประมาณ) ที่แม่นยำ ผู้รับต้องมีศรัทธาที่มากพอ คือมีอินทรีย์พละที่มากพอที่จะสามารถทำใจในใจตามธรรมนั้นได้
ในชีวิตจริง ใครล่ะที่จะทำได้ขนาดนั้น แล้วทำได้ทุกครั้งหรือไม่ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เอาจริง ๆ ก็ยากเสียจนนึกไม่ออกเลยล่ะ ดังนั้นเมื่อไม่ใช่เรื่องง่ายมันก็ต้องฝึก ก็ฝึกไปทั้งที่มันเกิน ๆ นี่แหละ แต่ให้เกินให้น้อยที่สุด
คือเสนอดีแล้ววางดีให้ได้ ถ้ากลัวไม่กล้าเสนอมันก็ไม่ต้องวางอะไร เพราะมันชิงวางไปก่อนหน้านั้นแล้ว วางทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำดีอะไร กุศลมันก็ไม่เกิด แต่วางหลังจากทำดีไปแล้ว แม้ไม่เกิดดีก็มีกุศล และยังมีโอกาสที่จะเกิดบุญจากการละวางตัวตน วางความเห็น วางความยึดดี ถือดี หลงดี ที่จะหลงยึดมั่นถือมั่นให้เขามาเอาตามที่เราหวังอีกด้วย
แต่การเสนอดี หรือบอกสิ่งดีก็ต้องมีศิลปะ อาจจะไม่ได้พูดทั้งหมด มี 100 อาจจะพูด 1 ถ้าเขาสนใจก็ค่อยเพิ่ม เขาไม่สนก็ค่อยเลิก ไม่ใช่ มี 100 ใส่ 100 อันนี้บางทีมันจะกดดัน พากันแตกร้าว แถมทุ่มหมดตัวก็อาจจะทำให้วางดีนั้นได้ยากตามไปด้วยเช่นกัน