พุทธมีหลากหลาย ทางปฏิบัติก็มีมากมาย แต่ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว

ดูสารคดีแล้วนึกถึงสมัยแรก ๆ หลังจากเข้าใจทางปฏิบัติ ก็มุ่งสืบหาว่ากลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่นมีวิธีอย่างที่ทำได้บ้างไหม?

อ่านหนังสือก็หลายเล่ม โลกกว้างมาก แต่ความกว้างเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งกว้าง ยิ่งไกล ยิ่งหลง ก็คงมีไว้เพื่อศึกษาความผิดพลาดเท่านั้น

ผมมีความเห็นว่า ถ้าคนเกิดความเข้าใจที่ถูกตรงจริง ๆ จะมั่นคงในกลุ่มที่ตนปฏิบัติได้ผล จะศรัทธาอย่างยิ่งในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะไม่วอกแว่ก ไขว้เขว ไม่เที่ยวไปกลุ่มที่มีความเห็นต่างออกไป

เพราะถ้าเจอทางพ้นทุกข์แล้วปฏิบัติเองจนเห็นผล มันจะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาลัทธินั้นกลุ่มนี้ ที่ผมเคยตามหาไม่ใช่ว่าจะไปหากลุ่มเพิ่ม แต่ค้นหาและศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ …ที่มีทางเดียว

*จุดสำคัญ คือต้องปฏิบัติจนพ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยสัมมาอริยมรรค ที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๘ มิใช่เพียงเข้าใจและเลือกใช้มรรคใดมรรคหนึ่ง ดังสมการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสัมมาสมาธิจะเกิดได้จาก มรรคทั้ง ๗ ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ไม่ใช่การนั่งสมาธิแล้วเรียกสิ่งนั้น สัมมาสมาธิ …เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็เรียกว่าหาแทบไม่ได้แล้ว ว่าที่ไหนในประเทศไทยจะสอนสัมมาสมาธิอย่างถูกต้องอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากที่ผมศึกษาและเห็นมา ส่วนมากจะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

และมิจฉาสมาธินี่แหละ คือรูปแบบที่แตกตัวไปทั่วโลก เพราะมันไม่ถูกต้อง จึงทำได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากสัมมาสมาธิที่คาดเดาได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามไม่ได้ง่าย ๆ ลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สัตบุรุษ) เท่านั้น

ดังนั้นผมจึงไม่เอาเวลาไปเสียกับกลุ่มบุคคุลหรือคนที่ยังไม่เห็นทางพ้นทุกข์ ทฤษฎีหรือตรรกะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พูดกันไปได้ แต่สภาวธรรมเป็นสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้เข้าถึงธรรม และผู้ที่แจกแจงสภาวะได้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ผมเคยเจอคนที่อ้างตนว่ามีสภาวะ แต่พอถามเข้าหน่อย ให้แจกแจงเข้าหน่อย ก็นั่งนิ่ง ไปไม่เป็น บางทีคนก็หลงสภาวะกับสัญญา คือจำเขามา จำได้ นึกได้ ก็หลงไปว่าเข้าใจ แต่จริง ๆ มันเป็นแค่สัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

ดังเช่นว่าหลายคนที่ศึกษาธรรมะ ก็รู้นะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ของที่อยากได้ โดนพรากของรัก โดนด่า โดนดูถูก โดนทำร้าย ก็ไปโกรธเขา ชิงชังเขา สภาพแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นแค่ความจำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งดีอะไรให้จำเลย ก็ยังดีกว่าไม่มีเป้าหมาย

…อริยสัจ ๔ คือธรรม ๔ หัวข้อสั้น ๆ แต่ยากที่สุดในโลก เชื่อไหมว่าแม้จะมี 100 ลัทธิ เขาก็จะอธิบายและปฏิบัติไปได้มากกว่า 100 แบบ มันจะบิดเบี้ยวและเพี้ยนไปตามวิบากบาปของแต่ละคน หัวข้ออาจจะคล้ายกัน แต่พอขยายลงรายละเอียดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จะมีส่วนถูกบางส่วนปนอยู่ในเนื้อบ้าง แต่ถ้ามันไม่ 100% มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่ดีนั่นเอง

…สรุป ก็ลองสุ่มปฏิบัติตามกันไป ตามที่ศรัทธา ทำให้เต็มที่ อันไหนพ้นทุกข์ก็อันนั้นแหละ อันไหนไม่พ้นก็เลิก แต่ถ้าแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อันนั้นที อันนี้ที จากที่เห็นมา ส่วนใหญ่ไม่รอด กิเลสเอาไปกินหมด หลงเข้าป่าเข้าพงกันไปหมด

พุทธ กลืนกิน พุทธ

ถ้าใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนามาบ้าง ก็คงจะพอรู้เค้าโครงว่า การทำลายพระพุทธศาสนานั้น มักจะไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอก หรือลัทธิอื่นเข้ามาโจมตีตรงๆ แต่เป็นความเสื่อมจากภายในนี่แหละ

ก็มีกรณีศึกษาของ ศังกราจารย์ ที่แฝงเข้ามาเป็นพุทธแล้วยัดไส้คำสอนของตัวเองลงไป คือโดยรูปแล้วก็คงจะเหมือนนักบวชพุทธ แต่เนื้อในนั้นก็ไม่ใช่แน่นอน

ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะพุทธในทุกวันนี้แทบไม่เหลือเชื้อแล้ว คนก็มักง่าย เอาง่ายเข้าว่า อาจารย์คนไหนพูดถูกหูก็ศรัทธาเลยไม่ตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วน รีบเชื่อ รีบปักใจ ทีนี้คนที่เขาอยากได้ลาภสักการะ เขาก็จะปลอมปนเข้ามาในพุทธนี่แหละ

แล้วเขาก็ใช้คำสอนของพุทธนี่เองเป็นตัวเผยแพร่ คำสอนทั่วๆไปนี่เหมือนกันเป๊ะๆ เหมือนลอกกันมาเลยนะ แต่ไส้ในจะไม่เหมือน พอเป็นเรื่องของสภาวะที่ปฏิบัติจริงๆ จะไม่เหมือน ไม่ตรง จะเบี้ยวๆ มั่วๆ ไม่ตรงกับสัมมาทิฏฐิ

จะมีลักษณะที่เบนออกไปเพื่อให้เสพสมใจตามกิเลสได้ ให้เบียดเบียนได้ ฯลฯ ซึ่งจะขัดกับลักษณะของพุทธ

แต่ปัญหาก็คือคนในยุคนี้ไม่ได้ศึกษาความเป็นพุทธ แม้ว่ามันจะยังมีอ้างอิงอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตาม ก็เลือกเชื่อเอาตามอาจารย์ที่ตนว่าดี ถูกใจตรงจริตตน ทั้งๆที่อาจารย์เหล่านั้นอาจจะเป็นคนนอกพุทธก็เป็นได้

เช่นเดียวกับ จุลศีล มัฌชิมศีล มหาศีล ในยุคนี้ก็แทบไม่มีใครปฏิบัติกันแล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีปรากฏในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นกันอยู่ว่านี่นะ เป็นนักบวชในศาสนาพุทธต้องปฏิบัติอย่างนี้นะ แต่ก็ไม่มีใครสนใจนำมาปฏิบัติกัน นั่นเพราะเหตุที่ว่าปฏิบัติตามกันมา เชื่อตามกันมา

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ในกาลามสูตร ว่าอย่าพึ่งรีบเชื่อใครแม้เขาจะปฏิบัติตามๆ กันมา เป็นครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง หรือแม้จะมีอ้างอิงอยู่ในตำราก็ตามที แต่ให้ลองปฏิบัติด้วยตนเองจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์สิ่งใดเป็นโทษ ถ้าเป็นประโยชน์ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้น เป็นโทษก็ควรจะออกห่าง

แต่ก็น้อยคนนักที่จะใช้สูตรนี้ในการพิจารณา ก็เลือกเอา ถือเอา อาจารย์ที่ยกวาทะน่าฟัง ยกที่อ้างน่าสนใจ ยกหลักฐานน่าเชื่อถือ ก็เชื่อไป ฟังไป พอศรัทธาไปแล้ว ยึดไปแล้ว ทีนี้เขาก็ค่อยๆ สอดไส้ความเห็นของเขา เช่นเดียวกับกรณี ศังกราจารย์

ดังนั้นคนที่เชื่อตามๆ กันโดยที่ไม่พิจารณาว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ไม่แยกแยะตรวจสอบให้ดี จึงเป็นผู้ร่วมมือทำลายพุทธจากไส้ใน คือไปศรัทธา เชื่อถือ เผยแพร่ลัทธิที่ตั้งชื่อว่าพุทธนี่ไม่มีความเป็นพุทธนั่นเอง

กรณีศึกษา : ศังกราจารย์…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในชมพูทวีป ธัมมชโย…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในสยามประเทศ??