ยอมก่อนชนะ กอดชัยชนะ=แพ้

ความโหดในสมรภูมิคนดีไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าความยึดมั่นถือมั่น

การเอาตัวรอดในหมู่ผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แค่รักษาตนเองไม่ให้ไปเพ่งโทษ ดูถูก ปรามาสใครก็ยากแล้ว เรียกว่าพิงเชือกรอหมดยกต่อเวลาไปได้ก็แทบจะหืดขึ้นคอ

เพราะในความเป็นจริงนั้นไม่ง่าย อัตตามันจะผลักดันให้ออกไปชกอยู่เรื่อย แน่นอนว่าถ้าชกก็มีแพ้มีชนะ

เมื่อคนดีเจอกัน มันจะมีความเห็นที่ดีทั้งสองฝั่ง อาจจะต่างองค์ประกอบบ้างในบางประเด็น ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่จะยึดดีรึเปล่า

เหมือนกับการเล่นเกม ที่พลัดกันวางไพ่ คนหนึ่งยื่นความคิดเห็นมา อีกคนก็ยื่นความคิดเห็นกลับ จะวางไพ่ทบกันไปกันมากี่ชั้นก็ได้ แต่ถ้าสุดท้ายไม่ถอย ก็แบกวิบากทั้งหมดเท่าความเห็นที่ได้เสนอกัน

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. คุยกับนาย ข. เรื่องหนึ่ง ให้ความเห็นกันไปกันมา ว่าความเห็นของตนดี และทั้งคู่ไม่วางดี สุดท้ายไม่มีใครยอมใคร จบลงด้วยความโง่เท่าเดิม และโกยวิบากบาปในการไม่ฟังอีกฝ่ายเข้าตัว ซึ่งอาจจะเจอโจทย์เดิมอีกหลายชาติ คือเจอคนแบบเดิม ๆ เถียงกันแบบเดิม ๆ วนเวียนไปจนกว่าจะฉลาดขึ้นกว่าเดิม จึงจะพ้นได้

อีกตัวอย่างเช่น นาย ก. บอกนาย ข. ว่าสิ่งที่นาย ข. ทำนั้นไม่ดี ไม่ถูกตรง แม้นาย ข. จะรู้ว่านาย ก. ยังไม่เข้าใจเหตุผลทั้งหมดที่นาย ข. ทำ แต่เมื่อ ข. เห็น ก. ให้ความเห็นมาในลักษณะฟันธง เป็นเชิงแนะนำ ไม่ใช่คำถาม ข. จึงรับฟังและปล่อยวาง

ผลคืออะไร? ผลคือ ข. เลิกจองเวร แต่ ก.นี่ไม่แน่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ก. โง่เท่าเดิม เพราะไม่ได้ฟังข้อมูลจาก ข. และมีโอกาสเข้าใจผิด จนเป็นเหตุให้เกิดการดูถูก เพ่งโทษ ฯลฯ

ตัวผมเองจะใช้ลักษณะของนาย ข. วัดภูมิของคนในเบื้องต้น เพราะถ้าเป็นคนยอมก่อนนี่ก็ถือว่าน่าสนใจแล้ว แต่ในการยอมมันก็มีรายละเอียดซึ่งต้องศึกษากันต่อไป

ส่วนลักษณะแบบ ก. ผมก็ใช้วัดภูมิเหมือนกัน ก็แล้วแต่ว่าจะวัดในขั้นไหน ถ้าเจอแบบ ก. ถ้าไปไม่ได้ก็อุเบกขาไป แต่ถ้าพอจะอธิบายได้ก็อธิบาย แต่นั่นก็หมายถึงการวางไพ่เพิ่มขึ้นไป การเสนอความเห็นกลับไปไม่ได้หมายความว่าเขาจะรับได้ บางทีจากที่เขาจะได้วิบากบาป 1 หน่วย เราเพิ่มข้อมูลให้เขา สุดท้ายตอนจบเขาวางใจไม่ได้ กลายเป็นเขาได้วิบากบาปเพิ่มอีกหลายหน่วย ตามข้อมูลที่เราให้ได้ไป เขาทำใจในใจไม่ได้ สิ่งที่เราให้กลายเป็นโทษกับเขาก็มี

ดังนั้น เราจึงควรยอมก่อน เพราะรู้เรานี่มันรู้ง่ายกว่า รู้เขานี่มันยาก มันประเมินไม่ได้หรอกว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ บางทีเขาถามเราก็จริง แม้สุดท้ายเขาฟังเรา เขาก็อาจจะไม่พอใจในเหตุผลของเรา แล้วแย้งมา เราก็ต้องประมาณให้อัตตาเขาไม่ขึ้นมาก ไม่ต้องไปบอกหมด ถ้าพูดอธิบายแล้วกิเลสเขาขึ้นก็ไม่ต้องพูด กำไรนิดเดียว แต่ขาดทุนย่อยยับมันไม่คุ้ม

เช่นเดียวกันตอนที่เราเสนอความเห็นเพิ่มให้เขาไป แล้วเขาเห็นแย้งมา เราจะทำใจในใจตามได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นของเราได้ไหม เราวางไม่ได้ เราก็รับวิบากบาปหมดกองก่อนหน้านี้โกยเข้าตัว เพราะมันไม่แน่หรอกว่าที่เขาเห็นแย้งมันจะไม่ดีเสียทีเดียว และถึงมันจะดีหรือไม่ดีมันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคืออัตตาเราขึ้นรึเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่ยึด อัตตาเราก็ไม่ขึ้น ถึงเขาจะแนะนำมาผิด เราก็จะมีปัญญาใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ จะเอามาปรับใช้ หรือจะวางไพ่กลับไป เพื่อช่วยเขาก็แล้วแต่จะประมาณให้เป็นกุศล ส่วนที่เขาแนะนำถูกนี่มันไม่ยาก ถ้าคนทำใจในใจตามเป็นจะรู้ว่าเขาแนะนำถูก คือถูกกิเลสเรา พอเรารู้ เราก็แก้ไข เป็นกำไรทั้งคู่ ไม่ต้องประมาณอะไร แค่ฟังแล้วนำมาปฏิบัติตาม

ผมว่าเรื่องนี้เข้าใจยากนะ อธิบายก็ยาก แต่ก็อยากบันทึกและนำเสนอไว้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่ต้องเผชิญการกระทบกับผู้คน