ความเห็นผิดแบบมหภาคของชาวไทยเลยก็คือ เห็นว่าบุญเป็นเหมือนโชค ทำบุญแล้วจะมีผลไปเพิ่มโชค คือทำบุญมากมีโชคมากอะไรแบบนั้น
เมื่อชีวิตพบกับความซวยซ้ำซวยซ้อนก็เข้าใจว่าตัวเองดวงตก วิธีการทั่วไปก็คือไปทำบุญแบบที่เขาเข้าใจนั่นแหละ ทำแล้วก็เข้าใจว่าตัวเองได้โชคเพิ่ม จะโชคดีขึ้น จะพ้นเคราะห์อะไรแบบนี้
จริง ๆ แล้วความซวย มันไม่ได้เกิดจากบุญหมดหรือโชคหมด แต่เกิดจากกรรมอันมีกิเลสเป็นตัวบงการ เมื่อกิเลสสั่ง สิ่งที่ทำนั่นก็ย่อมชั่ว จึงกลายเป็นกรรมชั่วให้ต้องมารับผลซวย ๆ อย่างที่เห็นกัน
ทีนี้ทำบุญล้างซวยมันกลายเป็นความเชื่อชนิดฝังหัวไปแล้วไง คนก็เอาแต่ไปทำบุญล้างซวย และซวยยิ่งกว่าคือล้างผิด เหมือนคนเหยียบขี้แต่ไม่ล้าง กลับพยายามเอาน้ำหอมมาฉีด
เพราะจะล้างซวยกันจริง ๆ ก็ต้องล้างเหตุแห่งความซวย ก็คือล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความซวยนี่แหละ มันถึงจะหายซวย มันถึงจะสะอาด ไปล้างผิดที่อีกกี่ชาติก็ไม่หายซวย
อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆแต่ผมเชื่อว่า 99.99 % หรือมากกว่าของชาวพุทธในประเทศไทยยังมีความเห็นผิดเช่นว่า ทำบุญล้างซวย
หรือถ้าเอาให้ถูกตามพยัญชนะแบบเดิม ก็คือ ทำบุญ(ล้างกิเลสเหตุแห่งความชั่ว) ล้างซวย( เมื่อไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องรับผลซวย ๆ ) แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็ถูก แต่ถ้าเข้าใจแบบอื่นก็ผิด … แต่จะเห็นว่าความเห็นแบบนี้ผิดก็ไม่มีปัญหา เพราะคนเห็นผิดก็ต้องเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกเป็นธรรมดา เอาเป็นว่าก็ทดลองศึกษากันไปว่าทำแบบไหนมันจะพ้นทุกข์ได้จริง