เป็นที่มาของบทความนี้ ผมคิดอยู่นานมากว่าจะพิมพ์เรื่องนี้ดีไหม เพราะถ้าตีความตามพระสูตรนี้ จะเรียกว่าแทบจะกวาดทิ้งคนที่เขาว่าตนเองเป็นคนดีทั้งแผนดินทิ้งเลยทีเดียว
ผมเคยศึกษาธรรมะของหลายสำนักด้วยการอ่านและพิจารณาสาวกของสำนักเหล่านั้นว่ามีลักษณะอย่างไร หลายท่านดูเหมือนจะพยากรตัวเองว่าเป็นพระอริยะกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่ผ่านข้อกำหนดบางอย่างที่เจ้าสำนักกำหนดมา ซึ่งถ้าเจอกับ “อหิริกมูลกสูตร” ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านทั้งหลายที่กำลังประมาณตนผิด
พระสูตรนี้ใช้การเทียบหิริต่อหิริ โอตตัปปะต่อโอตตัปปะ ปัญญาต่อปัญญา เป็นตัวเชคว่าเราเจริญจริงไหม เราหลุดพ้นจริงไหม ถ้าเราเจริญจริง เราจะไม่คบค้าสมาคมกับคนที่ผิดศีลแน่ๆ
เป็นพระสูตรที่ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์โดยตรง แต่สามารถเอามาเทียบได้กับทุกกิจกรรมในชีวิต
ลึก ๆ แล้วผมก็รู้สึกลำบากใจเหมือนกันที่จะสรุปอย่างในบทความ แต่สัจจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น เราก็ต้องน้อมเข้ามาทำใจในใจว่าจริงไหมที่เรายังทำสิ่งที่ไม่สมควรอยู่
ที่หนักกว่าเรื่องการกินเนื้อสัตว์ คือคนที่ยังคบค้าสมาคมกับคนที่เห็นผิด ซึ่งจะไปตรงกับ อนุตตริยสูตร ที่ว่าการพบเห็นที่ผิด คือการได้พบครูบาอาจารย์ที่ผิด ฟังธรรมที่ผิด เป็นของเลว มันเลยทำให้ความเห็นผิดเพี้ยนตามไปด้วย
ปัจจุบันผมเลือกคบคนมาก จะให้ผมไปร่วมกิจกรรม หรือจะเรียกว่าสังฆกรรมอะไรมั่วๆ ผมไม่อยากไป เพราะไม่ต้องการคบคุ้น ไม่ต้องการเสียเวลา แถมยังมีโอกาสทำให้คนเข้าใจผิดว่าเราไปคบหาคนผิดอีก
ในเบื้องต้นผมก็ดูคนด้วยศีลนี่แหละ คัดกันตรงนี้ก่อน แล้วค่อยพิจารณาความเห็นของเขา ว่าเขาพูดให้คนลดกิเลสหรือพูดให้คนเพิ่มกิเลส แล้วก็ค่อยศึกษาไป ไม่รีบปักใจเชื่อ จนกว่าจะได้ลองทำตามแล้วเกิดผลคือกิเลสลดอย่างที่เขาว่าจริง จึงจะเชื่อ เพราะทำได้จริงนั่นเอง