ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา [3] วันที่สองภาคบ่าย

วันที่สองของการเดินทาง สำหรับในบทความนี้เป็นบทความในช่วงบ่ายของวันที่สอง หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมตามแต่ละบ้านมาแล้ว เรื่องราวของตอนนี้เราก็จะมาแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ

10 พฤษจิกายน 2555 เวลา บ่าย 3 โมง

จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง
จุดนัดหมาย ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง

เราเดินทางจากบ้านของแม่แต๋นมายัง ศูนย์ข้าวคุณธรรม สาขาโนนค้อทุ่ง จังหวัดอำนาจเจริญนะครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานเท่าไรนัก สำหรับบ้านผมนั้นมาถึงเป็นกลุ่มแรกเลย ก็เลยได้มีเวลาเดินเล่นชมสถานที่ได้มากหน่อย ตากล้องทีวีบูรพาแดดในวันนี้ก็แรงดีทีเดียวครับ แดดดีแบบนี้เหมาะแก่ฤดูการเกี่ยวข้าวมากครับ เพราะถ้าฝนตกในช่วงข้าวสุกแบบนี้จะทำให้ข้าวเสียหาย ทำให้เกี่ยวยาก ซึ่งก็ให้ผลเสียมากมายตามมาครับ การป้องกันก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากเกี่ยวให้ไวหรือภาวนาเท่านั้นเอง

สำหรับการมากับทีวีบูีรพา ก็จะมีการเก็บภาพเป็นระยะๆ นะครับ เพราะเป็นรายการทีวีละนะ ก็จะมีกล้องผ่านเรามาเป็นระยะๆเหมือนกันดังนั้นกล้องผ่านมาก็ต้องทำตัวธรรมชาติแบบกึ่งดูดีกันหน่อย เผื่อเขาจะได้เก็บภาพไปใช้ได้ครับ เห็นตากล้องแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ต้องไปรอไปเตรียมถ่ายก่อนตลอดไม่งั้นก็เก็บภาพไม่ได้ทั้งร้อนทั้งหนัก แต่ก็เป็นงานละนะ

เห็ดฟางใหญ่ๆ

อาหารที่เรากินแต่ละมื้อนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้นครับ ทั้งคุณภาพ ปริมาณและความปลอดภัยนั้น ถ้าเอาราคาไปเทียบกับราคาในกรุงเทพ การเดินทางมาในครั้งนี้คงได้กำไรตั้งแต่อาหารที่กินแล้วครับ อย่างเห็ดในรูปด้านบนนี่ก็มีแต่ขนาดใหญ่ๆ

น้ำข้าวกล้องงอก
น้ำข้าวกล้องงอก

แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่ปลูก ขนาดของเห็ดจะเป็นตัวกำหนดราคาครับ สำหรับที่เคยเห็นในตลาดยังไม่ค่อยเห็นมีขนาดใหญ่เท่าที่นี่เลยครับ

บ่ายๆแบบนี้หลายคนคงจะยังอิ่มกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงก็มีน้ำข้าวกล้องงอกให้ดื่มกันให้สบายท้องมากยิ่งขึ้นครับ น้ำข้าวกล้องงอกสดใหม่นี่หากินในกรุงเทพยากมากครับ เดินไปตามตลาดเช้าทั่วไปนี่ไม่เคยเห็นนะ เห็นแต่หมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้อะไรประมาณนี้เท่านั้นเอง นี่ถ้าได้ดื่มทุกเช้าคงจะดีมาก เพราะได้ทั้งคุณค่าและพลังงานช่วยทำให้หิวช้ากว่าเดิมได้ดีมาก จากเดิมที่ก่อนเวลาพักก็จะอยู่ต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ
เรื่องราวและต้นกำเนิดของเครือข่ายฯ

หลังจากหลายๆบ้านมาถึงที่หมายกันจนครบแล้ว ก็เข้าถึงกิจกรรมต่อไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ไปที่มาของข้าวคุณธรรม ชาวนาคุณธรรม เครือข่ายตนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา การเริ่มต้นต่างๆถูกเล่าผ่านชาวนาคุณธรรม คุณอดุลย์ พาณิชย์ (ฉายารึเปล่าไม่แน่ใจ) ร่วมกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ที่มาเล่าเรื่องราวให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้เรื่องราวและต้นกำเนิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบัลดาลใจ รวมถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้น ผมได้ฟังแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเนื้อหาผมแนะนำให้ตามไปอ่านในนิตยสาร ฅ ฅน นะครับ พี่เช็คบอกว่าเขียนไว้ด้วย ซึ่งอาจจะลองสอบถามกับทางทีวีบูรพาก็ได้

เหตุผลที่ผมไม่อยากเล่าในบล็อกแห่งนี้เพราะเนื้อหามันค่อนข้างจะแน่น และผมเองก็จำได้บ้างไม่ได้บ้างอาจจะปะติดปะต่อขาดๆเกินๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงประเด็นกันไปได้ครับ ยังไงถ้าอยากรู้ต้องถามจากแหล่งที่มาที่แนะนำไปข้างต้นครับ

ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง
ฟ้ายามเย็นที่โนนค้อทุ่ง

หลังจากที่ทราบที่มาและความเป็นไปรวมถึงอนาคตที่คาดหวังร่วมกันแล้ว ก็ได้พากลุ่มสมาชิกเดินชมพื้นที่ครับ ก็มีโรงสี โรงบรรจุ วิถีชีวิตรอบๆ ครับ เป็นการแนะนำกระบวนการผลิตในเบื้องต้นให้กลุ่มสมาชิกได้รับรู้ในเบื้องต้น หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปตามบ้านสมาชิกชาวนาคุณธรรมเพื่อ อาบน้ำอาบท่า จัดการธุระส่วนตัวก่อนจะมาทานข้าวเย็นครับ สำหรับค่ำนี้ผมได้พักกายในบ้านของพ่อประมวลครับ เมื่อถึงที่พักก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากอาบน้ำคุยกับสมาชิกใหม่ในบ้าน

ลืมบอกไปว่าการพักในแต่ละวันจะเปลี่ยนสมาชิกในบ้าน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้นครับ สำหรับผมก็เป็นคนอยากรู้ก็เลยชอบถามอะไรเยอะแยะตามประสาครับ แบบว่าคิดไปเองในสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัวจะพลาดถามกันง่ายๆเลยจะดีกว่า

แบ่งปันความรู้สึกหลังจากอาบน้ำอาบท่าเราก็จะมารวมกินข้าวเย็นร่วมกันครับ มื้อนี้อร่อยเหมือนเคยครับ การเดินทางครั้งนี้ไม่มีคำว่าท้องหิวครับ มีแต่คำว่า “กินอีกแล้วหรอ” , “ยังอิ่มอยู่เลย” อะไรประมาณนี้ เขาเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดีตามวิถีของชาวนาคุณธรรมครับ

หลังจากทานข้าวกันเสร็จแล้วก็จะมาไหว้พระฟังธรรมกันครับ โดยหลวงพ่อจากวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ(ถ้าจำผิดพลาดขออภัยครับ) การฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสายวัดป่านั้นเป็นธรรมที่เป็นธรรมดา เป็นการพูดกันธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธเจ้านั่นคือหากไปเทศน์ที่ไหน ให้เทศน์ภาษาของที่นั่น ให้คนได้เข้าใจ ประมาณนี้ครับผิดพลาดประการใดรบกวนชี้แนะผมด้วยนะ และก็มีกิจกรรมแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละบ้าน ประกอบภาพกันครับ หลายๆบ้านก็ออกมาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ จะมีความต่างก็นิดหน่อยตามสภาพพื้นที่ของแต่ละบ้านครับ สำหรับบ้านผมก็เ้ป็นบ้านสุดท้ายก็ออกไปเล่าแบบงงๆ ครับ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องปะติดปะต่อกับเพื่อนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ความแตกต่างที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ข้าวหลามเผาสดใหม่
ข้าวหลามเผาสดใหม่

ต่อจากเล่าประสบการณ์ในแต่ละบ้านกันแล้วก็จะมีพิธีเทียนและผูกข้อมือโดยพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมครับ ซึ่งก็เป็นพิธีที่ค่อนข้างมีผลทางใจมากทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายๆท่านได้พูดสิ่งที่คิดหรือความในใจออกมาให้เพื่อนๆได้รับฟังกันถือเป็นการแบ่งปันความรู้สึกที่ดีครับ และพรจากพ่อแม่ชาวนาคุณธรรมก็ถือเป็นพรที่ดีด้วยเก็บกลับบ้านไปเป็นแรงผลักดันและกำลังใจกันได้มากมายเลยทีเดียว

หลังจากแบ่งปันกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลากลับบ้านครับ สำหรับใครที่อยากคุยต่อก็จะมีข้าวหลามเป็นมื้อค่ำครับ สำหรับผมก็รอกินข้าวหลามกับเขาอยู่เหมือนว่าแตกต่างกับที่เคยกินมากขนาดไหน ผลก็คือข้าวเหนียวนิ่มมากครับ เป็นข้าวหลามที่กินร้อนๆ จากกองไฟกันเลยทีเดียว

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ในมุมมองของผมนั้นทีเด็ดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ กลางวงสนทนาเกลอเมืองเกลอทุ่งครับ วงนี้บอกตรงๆว่ามีแต่ประสบการณ์ ความรู้ ปรัชญา แนวคิด อัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ บอกตรงๆว่าผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆมากมายจากวงนี้เหมือนกัน

แต่เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราครับ ยังไงเราก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อกิจกรรมสำคัญในวันพรุ่งนี้อีกวันนั่นคือการลงแขกเกี่ยวข้าวครับ ติดตามอ่านบทความต่อไปกันได้เลย

วันที่สองก็จบเพียงเท่านี้ อ่านวันสุดท้ายต่อได้ที่…

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ ปลูกป่า

วันที่สองของการเดินทางมาเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา วันนี้เป็นที่สอง เป็นวันที่เรามีเวลาเต็มวันในการทำกิจกรรมต่างๆมากมาย

วันนี้เราเริ่มต้นวันตั้งแต่ตีสี่ด้วยธรรมะตามสาย เป็นการตื่นที่น่าจะเช้าที่สุดในรอบปี ถ้าเป็นปกติก็คงจะงงตัวเองไม่รู้จะตื่นมาทำอะไรตอนตีสี่

ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4
ตื่นตั้งแต่ตี 4 ลืมตาเปิดหูมาฟังธรรมะตามสายตอนตี 4

แต่ตีสี่วันนี้พิเศษออกไปเพราะมีธรรมะให้ฟัง เสียงนุ่มละมุนหูพร้อมด้วยข้อคิดสอนใจมากมาย ทำให้ต้องตื่นมานอนฟัง เพราะไหนๆก็อยู่ในวัดแล้ว การนอนฟังธรรมนี่คงหาโอกาสได้ไม่ยากนักสำหรับคนแบบผม ก็เลยใช้โอกาสนี้ฟังจนจบเสียเลย เมื่อจบแล้วก็ไปอาบน้ำเตรียมพร้อมกิจกรรมในวันนี้

กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
กบที่มาเกาะกางเกงที่ตากไว้
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง
6 โมงเช้าเตรียมตัวออกเดินทาง

เราพยายามจะออกเดินทางไปปลูกป่าแนวกันชนกันให้เร็วที่สุดเช้าที่สุดเพราะจะหลีกเลี่ยงแดดในช่วงสายถึงเที่ยง เพราะเจ้าถิ่นเขาว่าร้อนมาถึงขนาดว่าผิวอาจจะไหม้กันได้เลยทีเดียว และแน่นอนผมก็ใส่ชุดเตรียมพร้อมออกปลูกนั่นคือเสื้อแขนยาวพร้อมหมวกแก๊ปหนึ่งใบ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา
อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่เอารสบัสมา

เราเดินทางกันเข้าไปในชุมชน ไปในถนนที่นานๆทีจะมีรถผ่านสวนมาสักคัน อาจจะเพราะเป็นเวลาเช้า เราบุกเข้าไปในที่ดินที่มีการปลูกพืชสลับกับป่า หนทางนั้นเหมือนจะทำขึ้นมาใหม่ได้ไม่นานนัก และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางทีมงานตัดสินใจใช้รถตู้ก็เพราะว่าจะทำให้เราเดินทางมาปลูกป่าได้สะดวกยิ่งขึ้น

ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ผืนดินที่ไถเตรียมไว้
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
ดินร่วนปนทราย ดินแถวนี้เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

เมื่อเข้ามาด้านในพบว่าพื้นที่บางส่วนกำลังปรับปรุงอยู่ และส่วนที่ไถไปแล้วก็จะเห็นเป็นดินทรายครับ ที่นี่มีแต่ดินร่วนปนทรายโดยส่วนใหญ่จะเป็นทราย เดินไปก็นุ่มๆดี

น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้
น้ำข้าวกล้องงอกแหล่งพลังงานแรกของเช้าวันนี้

น้ำข้าวกล้องงอก ต้อนรับเช้าวันใหม่ เป็นน้ำข้าวกล้องอินทรีย์ครับ ยกระดับขึ้นมาอีกนิดสบายใจขึ้นอีกหน่อย ขอบอกว่าแก้วนี้กินนานมากเพราะร้อน… แต่ก็ต้องขอเพิ่มอีกแก้วเพราะนอกจากจะอิ่มแล้วยังอร่อยอีกด้วย

โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ที่ที่เราจะมาปลูกป่ากันคือ โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน ครับ ป่าที่เราปลูกนอกจากเราจะได้ป่าแล้ว เรายังจะได้ประโยชน์อีกอย่างซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการปลูกป่าก็คือ การใช้ป่าเป็นกันชนต้านสารเคมีจากไร่อ้อยของชาวไร่อื่นๆอีกฝั่งหนึ่งครับ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมี ในข้าวคุณธรรมที่เราได้กินกันนั่นเอง เห็นไหมครับใส่ใจคุณภาพกันตั้งแต่ระดับเตรียมการผลิตเลยทีเดียว

ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ
ใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ต้องรีบ

ที่นี่ ชีวิตไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ไม่ต้องใช้เตาแก๊สที่จุดติดทันที เพียงแค่ใช้ถ่านที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่ ที่นี่มีไม้และเศษไม้มากพอจะเผาถ่านใช้ได้เป็นปีๆสำหรับหนึ่งครัวเรือน

หลุมแมงช้าง
หลุมแมงช้าง

เห็นหลุมแมงช้างผมก็นึกถึงตอนเด็กที่ชอบเอามดไปหย่อนหลุมแมงช้างครับ คืออยากเห็นแมงช้างก็เลยต้องใช้มดเป็นตัวล่อครับ ปัจจุปันได้ประสบการณ์พอแล้วก็เลยได้แค่คิดถึงก็พอ

ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก
ช่วยกันขนต้นไม้ไปปลูก

มาถึงตอนที่เราต้องช่วยกันขนต้นไม้นะครับ ขนขึ้นรถเพื่อจะเอาไปปลูกต่ออีกมุมหนึ่งของพื้นที่ ที่เราจะปลูกป่ากันชนกันครับ

เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย
เกลอเมือง เกลอทุ่งมุ่งสู่จุดหมาย

เราพากันเดินไปที่พื้นที่ที่จะปลูกป่ากันชนครับ ไม่ไกลเท่าไรนักแต่บรรยากาศนี่ดูคึกคักมากทีเดียว งานนี้มีเครือข่ายชาวนาจากอีกที่มาช่วยลงแรงกันด้วยครับ

มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า
มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า

หน้าตาของป่ากันชนน่าจะเป็นแบบนี้นะครับ ป่าจะช่วยป้องกันสารเคมีที่จะลอยมาตามลมได้ครับ ก็เหมือนกั้นฉากทำกำแพงธรรมชาติไว้ละนะ

ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน
ก่อนปลูกนี่ต้องตกลงเรื่องวิธีการให้ไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน

ก่อนจะปลูกเราก็ต้องมีการสอนการปลูกป่าักันหน่อยนะครับ ว่าอะไรควรทำอย่างไรก่อนหลัง เพื่อการเติบโตของต้นไม้ที่ดีในอนาคตครับ

นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง
นี่ต้นมะม่วงป่าครับ ผมปลูกเอง

ต้นนี้น่าจะเป็นมะม่วงป่าครับ ต้นนี้ผมปลูกแต่ถ่ายตอนยังไม่ได้ยึดต้นไม้กับหลัก หลังจากปลูกเราก็จะปักหลักใกล้ๆแล้วหยิบฟางหรือเศษหญ้าข้างๆมาจับมัดต้นไม้กับหลักเพื่อยึดไว้ป้องกันลมพัดต้นหักนะครับ

สำหรับต้นไม้ที่ปลูกก็มีหลายชนิดเลยเช่น ยางนา ตะเคียน มะม่วงป่า สะเดาป่า ข่อย ขนุน อะไรก็ไม่รู้อีกเยอะแยะครับ จำไม่ได้จริงๆ

อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม
อากาศมันเป็นใจปลูกได้เยอะกว่าที่คิดเลยต้องไถที่เพิ่ม

ด้วยความที่อากาศดี ไม่มีแดดเลย ทำให้เราปลูกกันได้ไวกว่าที่คาดกันเอาไว้ จึงได้มีการถางและไถดินเพื่อให้เหมาะกับการปลูกเพิ่มมากขึ้นครับ

ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?
ช่วยกันวัด ช่วยกันขุด ช่วยกันปลูก แต่ใครรดน้ำ?

ก็ช่วยกันปลูกกันไปตามมุมที่ชอบครับ ใครชอบมุมไหนก็ปลูกมุมนั้น ชอบต้นไหนก็ปลูกต้นนั้น โดยมีข้อกำหนดนิดหน่อยคือยางนา ต้องเว้นห่างกัน 2 ช่วงต้นที่ปลูก ก็ประมาณ 6 เมตรนะครับ

แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง
แหล่งพลังงานที่สองของวัน ข้าวต้มฟักทอง

หลังจากปลูกต้นไม้กันไม่นานก็มีรถเสบียงยามเช้ามาถึงที่ครับ เรามีข้าวต้มเป็นมื้อเช้าในวันนี้ เป็นข้าวต้มฟักทองเสียด้วยงานนี้นอกจากได้ปลูกต้นไม้แล้วยังได้กินของดีอีกด้วยครับ

อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว
อร่อยกลางทุ่งเลยทีเดียว

ข้าวต้มนี่กินกันกลางทุ่งได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ ชีวิตผมนั่งร้านอาหารมาก็เยอะแต่ไม่ค่อยประทับใจ เอาเป็นว่ามันชินแล้วกัน พอมาเจอความแตกต่างแบบนี้เลยต้องขอเติมข้าวต้มอีกชามเพื่อมาดื่มด่ำกับบรรยากาศข้าวต้มกลางทุ่งให้ยาวนานขึ้นครับ

ต่อจากข้าวต้มเขาก็มีกระเพาะปลามาซ้ำกันด้วยนะครับ เป็นกระเพาะปลาเจ ใช้พวกโปรตีนเกษตรน่ะครับ อร่อยดีทีเดียว แต่กินได้ไม่เยอะเพราะอิ่มข้าวต้ม…

วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน
วัดแล้วขอนไม้อยู่ในเส้นทางปลูกก็ย้ายขอนไม้กัน

เนื่องจากเราใช้การวัดพื้นที่ก่อนปลูกครับ ดังนั้นอะไรที่ขวางทางเรา เราก็จะพยายามย้ายมันออกไปครับ ท่อนไม้ท่อนนี้วางอยู่และอยู่ในเส้นทางปลูกต้นไม้ของเราครับ ดังนั้นก็เลยต้องช่วยกันย้าย ตอนแรกเราใช้แรงคนดันครับมันไม่ขยับเลยผมก็ว่า ผมออกแรงสุดแล้วนะ มันยังไม่ขยับเลย สรุปต้องใช้ไม้แถวนั้นใช้วิธีคาดงัดเอาครับถึงจะขยับได้

ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก
ปลูกกันจนแทบไม่มีที่จะปลูก

ไล่ปลูกกันจนสุดขอบที่มีครับ เหมือนตอนนี้ไฟมันติดแล้วการปลูกเลยดำเนินต่อไปแม้ว่าจะหมดเวลาที่กำหนดไว้แล้วเล็กน้อย สุดท้ายก็ได้ปลูกกันจนหมดครับ

ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน
ปลูกเสร็จเราก็กลับ อีก 5 ปีมาดูกัน

ปลูกกันจนเสร็จก็ทยอยเดินกลับกันไปหลังจากถ่ายรูปหมู่กันเป็นที่ระลึกครับ งานนี้ต้องดูกันยาวๆครับเพราะการปลูกป่านี่ต้องหวังผลระยะนานมากๆกันเลยทีเดียว สำหรับป่านี้ผมเองก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอีกสัก 5 ปีหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป สรุปวันนี้จบกิจกรรมครึ่งวันเช้าด้วยการปลูกป่ากันชนเพียงเท่านี้ครับ

สวัสดี