เรียนรู้การสอนจากอาจารย์

การที่เราได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้ฟังความคิดเห็นของท่าน ได้พูดคุย ได้ซักถาม ได้ทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เลิศยอดที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะพึงมีได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในอนุตริยสูตร

ผมเคยได้เห็นหลายลีลาการสอนของอาจารย์ทั้งแบบปกติ จริงจัง ดุ ปล่อยวาง ทำเฉย ฯลฯ แต่ละครั้งก็เป็นสิ่งที่ประทับไว้ในใจ เพื่อการเรียนรู้และประโยชน์ของศิษย์

ครั้งนี้ไปค่ายพระไตรปิฎก สิ่งพื้นฐานที่ได้เรียนก็คือภาคทฤษฎี แต่ค่ายนี้จะมีภาคปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นมา คือกิจกรรมการทำบาราย ซึ่งต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการทำ

ภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้แสดงให้ได้เห็นและเรียนรู้อยู่เสมอ ผมไม่แปลกใจที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาและมาร่วมเสียสละเช่นนี้

ระหว่างที่ร่วมพูดคุยงานในส่วนวิชาการและสื่อ อาจารย์ได้เดินมาทักทาย และพูดคุย มีเนื้อความตอนหนึ่งประมาณว่า “การสอนงานคนนี่แหละจะทำให้บรรลุธรรมเร็วที่สุด” เนื้อหาขยายหลังจากนั้นคือการสอนนี่จะได้พบกับความไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เพ่งโทษกันไปกันมาระหว่างนักเรียนกับคนสอน ก็จะมีโจทย์ให้ได้ฝึกล้างใจกันไป

มาถึงตอนเย็น ผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนาม ทำบาราย ขนอิฐและเศษวัสดุ ลงในร่องน้ำ

ซึ่งตรงนั้นก็มีท่อน้ำที่เชื่อมระหว่างถนนสองฝั่ง อาจารย์ก็บอกให้เอาหินก้อนใหญ่ไปกันปากท่อไม่ให้มีเศษหินเล็ก ๆ หล่นเข้าไป

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าวางหินอย่างไร เพื่อที่จะได้ผลนั้น อาจารย์ก็มาวางให้ดู เราก็ทำตาม…

ผ่านไปสักครู่เล็ก ๆ ระหว่างลำเลียงหินและเศษวัสดุมาถม ผมก็ลืมไปเลยว่าเคยเอาหินไปวางบังปากท่อ ว่าแล้วก็เอาพวกเศษปูนที่รับมาทุ่มลงไป หมายจะให้เศษแผ่นปูนแตกละเอียด เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาตามทุบกันทีหลัง …อาจารย์เห็นดังนั้นก็ทักอย่างปกติประมาณว่า ค่อย ๆ วางก็ได้นะ เพราะแผ่นหินที่วางกันปากท่อไว้แตกหมดแล้ว

พอได้ยินดังนั้น เราก็นึกได้ ลืมสนิทว่าเคยทำไว้ ว่าแล้วก็ค่อย ๆ รื้อมาทำใหม่ วางให้ดีกว่าเดิม

… ดูเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม แต่ผมได้เรียนรู้อย่างมากมาย เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า การสอนคนต้องทำอย่างไร

นี่ขนาดผมทำลายสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ท่านก็ยังเฉย ๆ ยังเบิกบานได้อย่างปกติ แล้วก็ยังสามารถบอกสิ่งดีกับผมได้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยวางให้มันพังไปอย่างนั้น เป็นความสงบเย็นที่จะรับรู้ได้เมื่อได้ทำงานร่วมด้วย

ตอนที่จัดหินใหม่ให้เข้าที่ ผมก็ระลึกว่า เราก็ต้องใจเย็นแบบอาจารย์นี่แหละ ทำให้ได้แบบอาจารย์นี่แหละ แม้เราจะบอกจะสอนเขาไปแล้ว เขาทำไม่ได้ เขาทำผิด เขาทำพัง เราก็ต้องวางใจ แล้วก็ทำดีบอกสิ่งดีกับเขาไปเรื่อย ๆ ส่วนความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สอน มีเพียงการนำเสนอสิ่งดีเท่านั้นที่เป็นหน้าที่

สรุปก็ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี คือได้ฟังคำสั่งสอน และภาคปฏิบัติ คือทำให้ดู ให้เห็นเลยว่า ความดีนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะดีจริง ดีแท้ ดีไม่มัวหมอง (ความดีที่มัวหมอง คือดีที่มีอัตตา หรือมีความชอบ ความชังไปปน)

บัณฑิต บนเส้นทางธรรม

การที่เราจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกนั้นได้นั้น จะต้องดำรงชีวิตอย่างบัณฑิต(ผู้รู้ทันกิเลส จนชำระได้โดยลำดับ) แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยินดีเป็น…บัณฑิต

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ ย่อมเศร้าหมอง

ถ้าผมจะเอาเกณนี้มาวัด ผมเชื่อว่าน้อยคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมจะเป็นบัณฑิต แน่นอนว่ามีอยู่ส่วนหนึ่งที่เขายินดีประพฤติตนเป็นโสด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

พวกที่ตั้งใจชัดเจนมันก็ชัดดี ส่วนพวกที่เลือกไปมีคู่เลยมันก็ไปทางนรกชัดเจนดี พวกลูกผีลูกคนนี่ดูยาก เหมือนจะตั้งใจ เหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะจริงใจ เหมือนจะเอาธรรมะ เอานิพพานเป็นตัวตั้ง แต่สุดท้ายมักจะ…”เละเทะ” กว่าจำพวกที่เลือกไปมีคู่แต่แรกอีก

มีนักปฏิบัติธรรมหลายคนอยู่เป็นโสด แต่หลายคนก็ไม่ใช่จะเป็นโสดเพราะธรรมะ นั่นเพราะเขาหาที่ถูกใจไม่ได้สักที เขาไม่ได้เข้าใจโทษของกิเลส ไม่ได้เข้าใจวิบากกรรม ไม่ได้เห็นวัฏสงสารที่วนเวียนหลงสุข หลงทุกข์ หลงชอบ หลงชัง มายาวนาน

เป็นการเสแสร้งแกล้งทำ เป็นมารยาของกิเลสที่กดอาการไว้ แสร้งว่าเป็นบัณฑิต เพราะเป็นโสดแล้วเพื่อนนักปฏิบัติธรรมต่างยินดี แล้วทีนี้ปฏิบัติธรรมไปแต่ไม่ได้ลดกิเลส ปฏิบัติธรรมไม่สัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติมิจฉาธรรม ไม่คบสัตบุรุต คบคนพาล กามมันก็โต ความอยากมันจัด สุดท้ายมันไม่เอาแล้วโสดเสิด.. เอาคู่นี่แหละสุขกว่า มันกว่า…

วิบากกรรมของคนที่ศึกษาและปฏิบัติแล้วไปมีคู่จะหนักกว่าคนทั่วไปที่เขายังไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นนักบวชในพุทธศาสนาก็ปาราชิก เปรียบได้กับชาตินี้เกิดมาเป็นโมฆะ เกิดแล้วตายไปเปล่า ๆ ฟรี ๆ เหมือนคนหาเงินหลายร้อยล้านมาแล้วเอาไปเผาเล่น เพื่อเสพสุขจากความอบอุ่นของไฟนั้น

ในมุมของฆารวาสแม้จะไม่มีโทษทางวินัยระบุไว้ แต่โดยสัจจะก็เรียกว่าร่วงกันไปยาว ๆ ชาตินี้คงไม่หวังจะมาเจอกันอีก เพราะรู้แล้วว่าบัณฑิตควรปฏิบัติตนให้เป็นไปเพื่อความโสด แต่จะไปเอาอีกทาง ไปเอาทางตรงข้าม ไปเอาคู่ครอง ไปเอาอย่างคนโง่ มันก็คือการดูถูกธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

ดูถูกอย่างไร? ก็ดูถูกว่าการมีคู่นั้นสุขกว่าการอยู่เป็นโสดยังไงล่ะ… เพราะความจริง พระพุทธเจ้าตรัสสอนแต่เรื่องทำให้พ้นทุกข์ ให้เป็นอยู่ผาสุก ให้เกิดปัญญา ท่านชี้ให้ว่าถ้าจะเจริญ ให้ทำตนเป็นดั่งบัณฑิต ต้องดำเนินไปแบบนี้ แล้วคนที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม รู้ธรรมแล้ว แล้วยังจะไปเอาทางตรงข้าม สรุปก็คือเห็นการมีคู่ดีกว่าธรรมะพระพุทธเจ้านั่นแหละ มันก็ห่างไกลความผาสุก ห่างไกลนิพพานไปเรื่อย ๆ

ผมจะตัดขีดพวกที่รู้ว่าดีแล้ว ทางนี้ดีที่สุดแล้ว แต่ไม่เอา ไปเอาอีกทาง ว่าเป็นพวกทำกรรมที่หนัก ถึงจะวนกลับมาก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก วิบากกรรมของการดูถูกธรรมมันหนัก ขนาดตอนแรกเขายังอยู่เป็นโสด ยังมีโอกาสได้ศึกษาสิ่งที่ดี เขายังเอาตัวให้รอดไม่ได้ แล้วตอนหลังจะมาเอาดี ยาก!! สภาพเหมือนไปตกบ่อขี้มา ขนาดยืนบนพื้นดินธรรมดายังเดินต่อไม่ได้ อยู่ในบ่อขี้บ่อกามมันยิ่งขึ้นยาก จะให้พ้นทุกข์ พ้นชั่ว พ้นโง่ มันไม่ง่าย

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้ห่างไกลคนพาล (คนที่เอาแต่เสพตามกิเลส) คบหาบัณฑิต … ผมว่านะ จากประสบการณ์ ถ้าจะเอาให้ชีวิตเจริญและมีเรื่องปวดหัวน้อย ผมคบแต่บัณฑิตดีกว่า พวกอยากมีคู่ หมกมุ่นกับเรื่องหาคู่มาบำบัดอาการอยากนี่ไม่ไหวล่ะ ให้เขาทุกข์กับความกระสันใคร่อยากของเขาให้พอเถอะ

เหยียบเบรคก่อนจะพุ่งตกนรก

เขายังไม่พร้อม ก็ไม่ต้องไปผลักดัน
ให้พร้อมค่อยช่วย

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์
๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๘
สวนป่านาบุญ ๑

นรกคนดีอันหนึ่งที่สุดจะเผ็ดแสบร้อนก็คือ “การติดการช่วยคน” นี่แหละ และส่วนมากมันจะช่วยพลาด คือมีเจตนาจะช่วยให้มันดีขึ้น กลับกลายเป็นช่วยดึงกันลงนรก คนช่วยก็ลงนรก คนที่ถูกช่วยก็ลงนรก

หลักการประมาณอันหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้เอามาวัดเสมอ ว่าควรหรือยังไม่ควรลงมือช่วย คือความพร้อมของเขา แม้เราจะพร้อม แต่ถ้าเขายังไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องทำ มันยังไม่ถึงเวลา เขายังไม่พร้อมให้เราช่วย อย่าไปทำเกินหน้าที่

ธรรมะพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ อันนี้ เป็นกรรมฐานที่เป็นเหมือนกับติดเบรค ให้ตนเอง ไม่พลาดพุ่งเกินไปจนลงนรก

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าและคนบาป ทำไมจึงไม่เลิกกินเสียล่ะ?

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม 25 สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ข้อ 112)

อ่านเจอพระสูตรนี้คิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนทำใจในใจได้ ถ้าอยากเจริญ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลก … ต่อให้ไม่อยากก็ได้ แค่ใช้ชีวิตไม่ให้ไม่เป็นโทษภัยต่อสัตว์อื่นก็พอ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราละเว้นบาป เหมือนคนมีปัญญา รู้เห็นอยู่ว่าสิ่งที่กำลังจะกินอยู่นั้น มันก่อบาป ก่อโรค เป็นทั้งห่วงโซ่อุปทานในวงจรบาป เป็นทั้งอาหารก่อโรคภัยในตนเอง บัณฑิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไปทำอย่างนั้นให้มันลำบากหรอก ก็เหมือนมันมีทางให้เลือกเดิน ทางรกกับทางเรียบ ๆ เราก็ไปทางเรียบสิ จะไปทางรกทำไมให้มันลำบาก

ทางอื่นในการดำรงชีวิตนอกจากกินเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แล้วจะไปกินทำไมให้มันลำบากตัวเอง เบียดเบียนสัตว์อื่น

บัณฑิตหรือผู้รู้นี่เขาเห็นแล้วว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ เขาก็เลิกไปเท่านั้นเอง เพราะไอ้บาป เวร ภัย นี่มันชัด ๆ อยู่แล้ว เป็นการเบียดเบียนหยาบ ๆ ที่แม้แต่คนทั่วไป ศาสนาใดเขาก็รับรู้ได้ จริง ๆ ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่น่าจะมั่นใจว่าตนเป็นพุทธนะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ไม่ใช่ศาสนาไม่รู้ มั่ว ๆ เดา ๆ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมใดเบียดเบียน กรรมใดไม่เบียดเบียน อันนี้มันก็หาศึกษาไม่ได้ยากในยุคอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแบบนี้นะ

คนที่เห็นทางที่ดีกว่า สบายกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า แล้วยังไม่ไป ก็ไม่แปลก ก็เขาไม่ใช่บัณฑิตไง …ตรงข้ามกับบัณฑิตก็มีแต่คนพาลเท่านั้นแหละ

ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม…

เจอประโยคนี้ระหว่างอ่านพระไตรปิฎก คนพูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พระพุทธเจ้านั่นแหละ ถึงเวลาท่านจะข่มคนโง่ ท่านก็อัดตรง ๆ เลย

มายุคนี้จะไปพูดกับใครเขาแบบนี้ไม่ได้นะ เขาเอาตายเลย บารมีเราไม่พอด้วย จะไปใช้ภาษาระดับพระพุทธเจ้ามันก็ไม่ไหว

ไอ้การที่จะไปปะทะกับคนพาล คนโง่ คนชั่ว นี่มันยาก ในมงคล 38 ประการท่านก็ว่าให้ห่างไกลคนพาลไว้ก่อน

ในพระไตรปิฎกบทหนึ่งท่านก็กล่าวไว้ว่า คนต่ำกว่าไม่ต้องไปคบ ถ้าจะคบก็คบไว้เพื่อไว้ช่วยเขา ดังนั้นถ้าจะหาความเจริญก็ต้องมุ่งไปหาคนที่เจริญ ไปคลุกคลีอยู่กับคนที่เจริญกว่า เก่งกว่า เก๋ากว่า

ผมนี่ไม่ค่อยอยากจะเสียเวลากับคนมากเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ จะว่าไปก็ไม่มีปัญญาไปช่วยเขาหรอก เหตุหนึ่งเพราะเขาก็ไม่ได้ให้เราช่วย คือไม่ได้ศรัทธากันขนาดนั้น มันก็ช่วยไม่ไหว ทำไปมันก็เสียเปล่า สู้เอาเวลาไปสนับสนุนคนดีจะดีกว่า เสียเวลาเท่ากันได้ประโยชน์กว่าเยอะ

ช่วยคนที่ไม่ศรัทธา ให้ตายก็ช่วยไม่สำเร็จ ดีไม่ดีมีการเพ่งโทษกลับไปอีก ลงนรกลึกเข้าไปอีก จากอยู่ขุมที่มันไม่ทุกข์มาก พอเพ่งโทษแล้วไม่รู้จะลงไปอยู่ขุมไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นคนพาลก็ปิดประตูบรรลุธรรมแล้ว ดังนั้นไปยุ่งกับคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาขนาดนั้น มันก็มีแต่เสียเป็นส่วนใหญ่

ครูบาอาจารย์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ศรัทธาประมาณไหน ท่านถึงจะลงมือ ท่านก็บอกว่าระดับ full house คือเปรียบเทียบกับการได้ไพ่รูปแบบหนึ่งใน poker ซึ่งมีอัตราส่วนที่เขาประเมินมาก็ประมาณ 0.1% นั่นหมายความว่า เจอพันคน ก็จะช่วยได้จริง ๆ ก็หนึ่งคนนั่นแหละ พอเห็นอัตราส่วน มันก็สบายใจเลย โล่งเลย แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รอให้เต็มรอบค่อยลงมือก็ได้ พวกไม่จริงจังก็ปล่อยเขาไปตามที่ชอบ ๆ ของเขา ก็ win win เราก็ไม่ต้องเสียเวลา เขาก็ไม่ต้องมาเพ่งโทษเรา

บารายคาลเจอร์

ตอนนี้ความรู้กสิกรรมของแพทย์วิถีธรรม กำลังศึกษากันเกี่ยวกับบารายคาลเจอร์ เป็นความรู้ที่นำหลักของบาราย(ธนาคารน้ำแบบปิด) และเพอร์มาคัลเจอร์ (permaculture) มาผสมรวมกัน เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งในเวลาเดียวกัน

ภาพแสดงโครงสร้างของ บารายคัลเจอร์

หลักการที่ผมเห็นกว้าง ๆ ในด้านการแก้น้ำท่วม คือ สร้างช่องทางระบายน้ำ ให้ไหลไปในจุดที่ต้องการ และการแก้ปัญหาน้ำแล้งก็คือ น้ำที่ไหลไปในจุดที่ต้องการนั่นแหละ ก็รวมกันลงไปใต้ดินตามจุดที่กำหนดไว้ แล้วเวลาจะใช้ก็จะมีให้สูบขึ้นมา

ตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้ลองทำตามหรอก แต่ก็พอจะเห็นภาพว่ามันจะได้ผลอย่างไร เพราะเคยได้ทดลองระบบที่คล้าย ๆ กับธนาคารน้ำใต้ดินอยู่ เหตุก็คือฝนตก แต่น้ำไม่ได้ไหลไปในจุดที่ต้องการ และมีน้ำที่สูบขึ้นมาได้จำนวนมาก จากปั๊มน้ำที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่มีจุดที่เราจะทิ้งน้ำให้ไหลไปเรื่อย ๆ ได้

จึงทดลองขุดหลุมปากกว้างประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ลึกประมาณ 1 ฟุตครึ่ง หรือมากกว่า โดยหลักการก็ตั้งใจให้น้ำไปขังในจุดที่ขุดไว้ พอขุดเสร็จก็เอาขี้วัวใส่สลับชั้นกับดิน จนมาถึงชั้นบน ๆ ก็ใส่ดินเยอะหน่อย เพื่อไม่ให้รากพืชไปถูกขี้วัวโดยตรง สภาพพื้นที่ตอนจบงาน ก็จะเห็นเป็นหลุม ๆ ที่ต่ำกว่าระดับพื้นดินนิดหน่อย เพราะต้องการให้น้ำที่สูบขึ้นมาไปขังในพื้นที่นั้น

หลังจากทดลองและปล่อยทิ้งไว้ พบว่าได้ผลดีมาก แม้จะไม่ได้รดน้ำอีกเกือบเดือน แต่พื้นที่ตรงหลุมที่ขุดไว้ก็ยังชุ่มชื้นอยู่ ฟักทองที่หยอดเมล็ดไว้ก็เติบโต ได้ผลดีจนน่าประหลาดใจ เพราะขุดเสร็จ รดน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่กี่วันก็ต้องทิ้งพื้นที่ไปทำกิจกรรมอื่นเป็นเดือน ๆ กลับมาพบว่าต้นฟักทองงามดี และได้ผลดีกว่าที่คาดไว้ ได้ผลดีกว่าแบบที่เคยปลูกปกติเสียอีก

สรุปจากความรู้ที่เคยได้ทดลองมา แม้จะไม่ตรงกันเสียทีเดียว แต่ก็มีความคล้ายกันในหลายส่วน ผู้ที่สนใจทดลองศึกษาบารายคาลเจอร์ เพื่อกสิกรรมยั่งยืน ในแบบฉบับของแพทย์วิถีธรรม ก็สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ใน บทความ บารายคาลเจอร์

link : บารายคาลเจอร์ (http://misc.morkeaw.net/)

พุทธมีหลากหลาย ทางปฏิบัติก็มีมากมาย แต่ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว

ดูสารคดีแล้วนึกถึงสมัยแรก ๆ หลังจากเข้าใจทางปฏิบัติ ก็มุ่งสืบหาว่ากลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่นมีวิธีอย่างที่ทำได้บ้างไหม?

อ่านหนังสือก็หลายเล่ม โลกกว้างมาก แต่ความกว้างเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งกว้าง ยิ่งไกล ยิ่งหลง ก็คงมีไว้เพื่อศึกษาความผิดพลาดเท่านั้น

ผมมีความเห็นว่า ถ้าคนเกิดความเข้าใจที่ถูกตรงจริง ๆ จะมั่นคงในกลุ่มที่ตนปฏิบัติได้ผล จะศรัทธาอย่างยิ่งในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะไม่วอกแว่ก ไขว้เขว ไม่เที่ยวไปกลุ่มที่มีความเห็นต่างออกไป

เพราะถ้าเจอทางพ้นทุกข์แล้วปฏิบัติเองจนเห็นผล มันจะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาลัทธินั้นกลุ่มนี้ ที่ผมเคยตามหาไม่ใช่ว่าจะไปหากลุ่มเพิ่ม แต่ค้นหาและศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ …ที่มีทางเดียว

*จุดสำคัญ คือต้องปฏิบัติจนพ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยสัมมาอริยมรรค ที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๘ มิใช่เพียงเข้าใจและเลือกใช้มรรคใดมรรคหนึ่ง ดังสมการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสัมมาสมาธิจะเกิดได้จาก มรรคทั้ง ๗ ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ไม่ใช่การนั่งสมาธิแล้วเรียกสิ่งนั้น สัมมาสมาธิ …เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็เรียกว่าหาแทบไม่ได้แล้ว ว่าที่ไหนในประเทศไทยจะสอนสัมมาสมาธิอย่างถูกต้องอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากที่ผมศึกษาและเห็นมา ส่วนมากจะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

และมิจฉาสมาธินี่แหละ คือรูปแบบที่แตกตัวไปทั่วโลก เพราะมันไม่ถูกต้อง จึงทำได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากสัมมาสมาธิที่คาดเดาได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามไม่ได้ง่าย ๆ ลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สัตบุรุษ) เท่านั้น

ดังนั้นผมจึงไม่เอาเวลาไปเสียกับกลุ่มบุคคุลหรือคนที่ยังไม่เห็นทางพ้นทุกข์ ทฤษฎีหรือตรรกะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พูดกันไปได้ แต่สภาวธรรมเป็นสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้เข้าถึงธรรม และผู้ที่แจกแจงสภาวะได้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ผมเคยเจอคนที่อ้างตนว่ามีสภาวะ แต่พอถามเข้าหน่อย ให้แจกแจงเข้าหน่อย ก็นั่งนิ่ง ไปไม่เป็น บางทีคนก็หลงสภาวะกับสัญญา คือจำเขามา จำได้ นึกได้ ก็หลงไปว่าเข้าใจ แต่จริง ๆ มันเป็นแค่สัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

ดังเช่นว่าหลายคนที่ศึกษาธรรมะ ก็รู้นะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ของที่อยากได้ โดนพรากของรัก โดนด่า โดนดูถูก โดนทำร้าย ก็ไปโกรธเขา ชิงชังเขา สภาพแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นแค่ความจำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งดีอะไรให้จำเลย ก็ยังดีกว่าไม่มีเป้าหมาย

…อริยสัจ ๔ คือธรรม ๔ หัวข้อสั้น ๆ แต่ยากที่สุดในโลก เชื่อไหมว่าแม้จะมี 100 ลัทธิ เขาก็จะอธิบายและปฏิบัติไปได้มากกว่า 100 แบบ มันจะบิดเบี้ยวและเพี้ยนไปตามวิบากบาปของแต่ละคน หัวข้ออาจจะคล้ายกัน แต่พอขยายลงรายละเอียดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จะมีส่วนถูกบางส่วนปนอยู่ในเนื้อบ้าง แต่ถ้ามันไม่ 100% มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่ดีนั่นเอง

…สรุป ก็ลองสุ่มปฏิบัติตามกันไป ตามที่ศรัทธา ทำให้เต็มที่ อันไหนพ้นทุกข์ก็อันนั้นแหละ อันไหนไม่พ้นก็เลิก แต่ถ้าแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อันนั้นที อันนี้ที จากที่เห็นมา ส่วนใหญ่ไม่รอด กิเลสเอาไปกินหมด หลงเข้าป่าเข้าพงกันไปหมด

พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

บรรลุธรรมแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น คือความเห็นลามกที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ในสังคมพุทธส่วนใหญ่จากในอดีตที่ผ่านมา มักมีความเห็นหนึ่งที่ต่อต้านการแสดงตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เขาจะอ้างเหตุว่าเป็นการอวดตัวอวดตนบ้างล่ะ คนบรรลุธรรมจริงไม่บอกบ้างล่ะ บอกว่าบรรลุแล้วผิดวินัยบ้างล่ะ อันนี้ก็เป็นความเห็นที่จำ ๆ กันมาเพื่อที่จะยึดว่าสิ่งเหล่านั้นถูก ตามที่เขาถูกใจ

ในองค์ประกอบของความเห็นผิดเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์โลกีย์อยู่คือ ผู้ที่ยังมัว ๆ เมา ๆ ปฏิบัติหลง ๆ ไม่บอกใคร พอตนเองปฏิบัติได้ประมาณหนึ่ง มีผู้ศรัทธา เขาก็หลงคิดไปว่าอาจารย์ตนบรรลุธรรม แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ก็เดา ๆ กันไป แล้วก็งง ๆ กันอยู่แบบนั้น กลายเป็นสภาพตาบอดจูงตาบอดชวนกันไปดูหนังใบ้ คือตนเองก็ไม่ได้บรรลุอะไรแล้วศิษย์ก็หลงไปว่าอาจารย์บรรลุ แล้วก็ไม่ได้เปิดเผยความจริง สุดท้ายก็เลยเป็นความมัว ที่ถูกต้องในสังคมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุด แต่ภาพรวมในปัจจุบันกลับกลายเป็นศาสนา ๆ ที่มัว ๆ เดา ๆ เอา คนนั้นเป็นอย่างนั้น ท่านนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เดาเอากันตามที่เขาว่ามา

ทีนี้มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องบรรลุธรรมแล้วไม่บอกนี้ว่าอย่างไร

ในโลหิจจสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 351) มีพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือมีความคิดลามกคนหนึ่ง มีความเห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะเห็นว่าตัดกิเลสไปแล้ว จะไปสร้างเครื่องผูกขึ้นใหม่ทำไม ซ้ำยังบอกอีกว่าการบอกผู้อื่นเป็นความโลภ เพราะคนอื่นเขาจะมาสรรเสริญ จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พราหมณ์สรุปว่าการที่ผู้บรรลุธรรมนั้นบอกผู้อื่นคือความลามก

จะสังเกตได้ว่า ความเห็นของคนส่วนมากจะตรงกับพราหมณ์ลามกท่านนี้ แต่สุดท้ายจะจบไม่เหมือนกัน เพราะยังดีที่พราหมณ์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับอาหารของพราหมณ์

หลังพระพุทธเจ้าจากเสวยอาหารเสร็จ ท่านก็ถามพราหมณ์ว่า จริงหรือที่ท่านมีความเห็นลามกเช่นนั้น พราหมณ์ ก็ตอบว่าจริง และเชื่ออย่างนั้นอย่างเต็มใจ มั่นใจ

ได้ยินเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนโดยการเปรียบเทียบ เพื่อน้อมใจให้พราหมณ์ทำใจในใจตาม ความโดยสรุปว่า ถ้าเจ้าเมืองผู้มีสมบัติมาก ไม่แบ่งปันทรัพยากร ไม่บริหารทรัพยากรไปเพื่อสังคม ครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองนั้นถือเป็นคนที่เป็นภัยต่อชาวเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าเป็นภัย และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร

แล้วท่านก็ถามต่อว่าทำอย่างนั้นจะเรียกว่าเมตตาหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าไม่ มีจิตเป็นศัตรูหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่ มีจิตเป็นศัตรูนี่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ พราหมณ์ก็ตอบว่าใช่

พระพุทธเจ้าก็สรุปความว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดดังนั้น จะมีที่ไปสองอย่าง คือ 1. ไปนรก คือเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ 2.เกิดความเป็นเดรัจฉานในตน คือ เกิดความโง่ดั่งสัตว์เดรัจฉาน

หลังจากนั้นท่านก็สอนธรรมแก่พราหมณ์อีกหลายบท สุดท้ายพราหมณ์ก็ยอม และขอมอบตนเป็นสาวกในพระพุทธศาสนา

…จะสรุปความและยกตัวอย่างให้ตรงยุค ก็คงต้องเทียบกับผู้นำประเทศที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แจกจ่ายหรือบริหารทรัพยากรให้ผู้อื่น เก็บไว้บำเรอตน เก็บไว้เพื่อตนผู้เดียว ไม่ให้ใคร ภาพที่ออกมาก็คงจะเป็นคนผู้เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดแน่นอน มีของดีแท้ ๆ แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ไม่แจกแจงให้ผู้อื่น

กลับมาในบริบทนักปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน เขาก็เห็นผิดไปตามวิบากของเขา ดีไม่ดีก็ไม่มีธรรมในตนจริงหรอก ไปตีกินเอา ไม่พูดก็ไม่ผิด ไม่มีใครมาตรวจสอบ สมัยนี้แม้ไม่บอกว่าตนบรรลุอะไร เขาก็เอาของมาบำเรออยู่ดี สู้อยู่เงียบ ๆ กินอยู่ไปเรื่อย รักษาตัวรอดไปจะดีกว่า บอกไปเดี๋ยวเขามาตรวจสอบเอา เหนื่อยอีก แถมไม่มีจริงอีก จะยิ่งลำบาก

แล้วจะเห็นว่าตอนแรกที่พราหมณ์มีความเห็นลามก เพราะไม่ได้อยู่ในพุทธ แต่ทุกวันนี้ความเห็นลามกเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อพุทธนี่เอง ดังนั้น มันจึงมีการบิดเบี้ยว ปัดป้อง เลี่ยงบาลี กันจนหลง จนงงกันไปหมด จริง ๆ แล้วความเห็นและการปฏิบัติส่วนมากในปัจจุบันนั้นนอกขอบเขตพุทธไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อเท่านั้นที่ใช่ แต่ความเห็นความเข้าใจไม่ใช่

โลหิจจพราหมณ์ เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ในเบื้องต้นจะมีความเห็นผิด แต่ก็สามารถทำใจในใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านน้อมนำได้เป็นอย่างดี จนละความลามกได้ในที่สุด

อย่าคิดว่าคนที่มีปัญญาอย่างโลหิจจพราหมณ์จะหากันได้ง่าย ๆ ในยุคนี้นะ ดีไม่ดีอ่านพระสูตรนี้ไปก็ยังเมาอยู่เลย ยังเบี้ยวไปตามความเห็นลามกของตนอยู่เลย ยังไม่เปลี่ยนทิศไปจากมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แบบนี้แหละ อย่าไปหวังมาก ใกล้กลียุคแบบนี้คงต้องทำใจ

การประกาศอรหันต์ในยุคปัจจุบัน

มีความคิดเห็นถามเข้ามาว่า กรณีที่สมณะโพธิรักษ์ประกาศความเป็นอรหันต์ในตนนั้น ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากครับสำหรับประเด็นนี้ เพราะในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ไม่มีใครที่ประกาศอย่างมั่นใจเท่ากับนักบวชท่านนี้อีกแล้ว

ในความเห็นของผมซึ่งไม่ได้ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดนัก แต่ก็ได้ศึกษาภาพรวมของศาสนาจนคิดว่าสามารถใช้ความรู้มาเทียบเคียงได้

วินัยสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่นักบวชควรปฏิบัติ เป็นเสมือนวินัยในอาชีพ การปฏิบัติก็คล้ายวินัยของทหาร ซึ่งโดยค่ารวม ๆ เท่าที่ได้ศึกษามา สมณะโพธิ์รักษ์นี่แหละคือผู้นำวินัยสงฆ์ ในยุคที่พระวินัยนั้นตกต่ำติดตมสุด ๆ แล้ว ทั้งการพานักบวชไม่รับเงินรับทอง ไม่สวดมนต์ผิดวินัย ไม่ทำเดรัจฉานวิชา ไม่ส่งเสริมสิ่งที่ผิดไปจากจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ผมคิดว่าการที่ท่านได้แสดงออกถึงความถูกต้องอย่างตรงไปตรงมาในยุคนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียกท่านว่าผู้ทรงวินัย

แล้วที่นี้การประกาศความเป็นอรหันต์ผิดวินัยไหม? ผมก็มีความเห็นว่าไม่ผิด เพราะพระพุทธเจ้าก็ประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์ สาวกในสมัยพุทธกาลก็ยังมีที่ประกาศความเป็นอรหันต์ในตน ผมให้ความเห็นว่าการประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิด และเป็นประโยชน์ด้วย

ดังเช่นว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประกาศอย่างกล้าหาญว่า เราคือพระพุทธเจ้า เราคือพระอรหันต์ เราตรัสรู้เอง เราไม่มีอาจารย์ ก็จะไม่สามารถสร้างศาสนาได้ ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งการศึกษา ตรวจสอบ พิสูจน์ ดังที่เราคุ้นเคยกับคำว่า เอหิปัสสิโก คือเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้ ก็คือพิสูจน์ความเป็นอรหันต์นี่แหละว่าทำได้จริงไหม

ส่วนวิธีพิสูจน์ก็ใช่ว่าจะเอาตรรกะมาวัด เอาทฤษฎีความรู้ความเข้าใจที่เคยได้เรียนมา มาวัด มันต้องใช้การปฏิบัติวัด คือถ้าทำตามแล้วพ้นทุกข์ ก็ใช่ ถ้าทำตามแล้วไม่พ้นทุกข์ เกิดอกุศล เกิดชั่วก็ไม่ใช่ แล้วก็ใช่ว่าจะได้ผลได้ง่าย ๆ คนโง่ย่อมไม่รู้ คนมีปัญญาจึงรู้

ดังนั้นการประกาศความเป็นอรหันต์ออกไปนั้น คือการเอื้อให้ผู้มีปัญญาได้เข้ามาศึกษาความจริง คือจะจริงเท่าไหร่นั้น ก็ว่ากันไปตามที่ทำได้จริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เปิดเผยแล้วเจริญคือธรรมะในพระพุทธศาสนา ความเป็นอรหันต์นั้นคือค่าสูงสุด คือจุดสุูงสุดของธรรมะ คือเป้าหมายสูงสุด เรียกว่าเป็นธรรมะที่เลิศยอด ถ้าเปิดเผยก็จะเจริญ ปิดไว้ไม่เจริญ ในขณะเดียวกันท่านก็ตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่แสดงจึงเจริญ แสดงออกไม่เจริญ

ในอดีตก็เคยมีนักบวชประกาศอรหันต์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าท่านที่ไม่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ ความเป็นอรหันต์ไม่ได้การันตีจากการประกาศหรือไม่ประกาศว่าตนเองเป็นอรหันต์

แต่อยู่ที่ว่าท่านนั้นพ้นทุกข์พ้นโง่ได้จริงรึเปล่าเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีการจะรู้ได้อย่างหนึ่งก็คือการที่ประกาศออกไป พอประกาศออกไปแล้ว คนมีปัญญาเขาจะเข้ามาพิสูจน์เอง มันก็จะได้ทั้งตรวจสอบตนเองและก็จะได้ประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่นเต็ม ๆ ถ้าไม่ใช่ก็จะได้สังวรระวังตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่แล้วยังหลงว่าตนเป็นอยู่ สมัยพุทธกาลก็มี อันนี้มันเรื่องธรรมดา หมู่สงฆ์ท่านก็แก้ไขกันไป แต่ทุกวันนี้การแก้ไขตรวจสอบก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ถ้าท่านใดประกาศล่ะก็ขึ้นหิ้งเลย ใครจะไปวิจารณ์ก็เหมือนจะหาเรื่องตายเปล่า ๆ กลายเป็นเทวดาอำนาจมหาศาลเลยล่ะ แบบนี้จะไปพิสูจน์มันก็พาลจะไม่รอดเอา

แต่ถ้าใครจะพิสูจน์สมณะโพธิรักษ์ ผมว่าทำได้ง่าย ๆ เลยนะ เพราะท่านเข้าถึงได้ง่ายมาก แถมท่านยังแสดงความจริงโดยการเอา sms หรือความเห็นที่พิมพ์เข้ามาด่าท่านนั่นแหละ เอามาอ่านออกอากาศเลย ผมว่านี่แหละคือความเก๋า คือความแกร่งที่แท้จริง เป็นยอดนักเลงโลกุตระที่ไม่กลัวกิเลส โชว์กันให้เห็น ๆ เลยว่า ต่อให้เขามาด่า มาดูถูก ก็ไม่โกรธเขา ไม่แสดงอาการขุ่นใจ แถมยังดูสดใสได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประกาศอรหันต์แล้วห้าวหาญขนาดนี้เลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเกิดไม่ทัน แต่เท่าที่รับรู้ส่วนมากก็ขึ้นหิ้ง สูงเกินไป จับต้องไม่ได้ ไม่มีโอกาสพิสูจน์

แต่สมณะโพธิรักษ์ นี่ท่านไม่เป็นแบบนั้น ผมเห็นว่าท่านเข้าถึงได้ง่าย พิสูจน์ได้ง่าย ไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากมายนัก เป็นความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่ ที่จะรอการพิสูจน์

ผมคิดว่าประเด็นที่ว่าการประกาศอรหันต์ผิดวินัยหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจ แต่การที่มีผู้ที่ประกาศความเป็นอรหันต์ยังปรากฎอยู่ในยุคสมัยที่กิเลสโอมล้อมโลกด้วยมิจฉาธรรมอันหนักหนาอยู่นี่แหละ คือสิ่งที่น่าสนใจ

ผมคิดอย่างนี้นะ ใครสนใจก็ตามศึกษาตามพิสูจน์เถอะ แต่อย่าได้มีจิตไปเพ่งโทษเลย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายความว่า หากผู้ที่สนใจศึกษาศาสนามัวแต่มุ่งเพ่งโทษ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เพราะมันมุ่งแต่ไปสนใจโทษ แม้มันจะเป็นจุดดำจุดเล็ก ๆ ในผ้าผืนใหญ่สีขาว แทนที่จะมุ่งสนใจว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร กลับมุ่งสนใจในสิ่งที่พร่อง ที่มันไม่สวยดั่งใจ มันก็จะเสียประโยชน์ไปกับการสนใจสิ่งที่ไม่มีสาระ

แม้ตอนนี้ใครจะประกาศความเป็นอรหันต์ออกมา ผมก็พร้อมเสมอนะ ที่จะศึกษาตาม ที่จะพิสูจน์ และพร้อมที่จะวิจารณ์กันอย่างเต็มที่