หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

หลังจากที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนาคุณธรรมใน กิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา แล้วกลับมาก็อยากจะมาเล่าให้อ่านกันว่าผมได้พบเจออะไรมาบ้าง

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม
วิถีแห่งชาวนาคุณธรรม

ชาวนาคุณธรรมนั้นต่างจากชาวนาทั่วไปอย่างไร?

คำถามนี้อาจจะดูงงๆและไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเราลองปรับตัวโจทย์ดูสักนิดอาจจะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้มากขึ้นว่า ความแตกต่างระหว่างชาวนาคุณธรรมและชาวนาทั่วไปนั้นมีผลอย่างไรต่อสังคมและโลกบ้าง

ตัวอย่างเช่น…

บริษัท A ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยสารเคมีลงสู่ชุมชน พนักงานไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม รายได้ทั้งหมดหายไปกับนักลงทุน

บริษัท B ทำการผลิตอาหารทั้งส่งออกและขายในประเทศ มีกรรมวิธีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ใส่ใจและสร้างศีลธรรมให้กับพนักงาน ครอบครัว และชุมชนรอบข้าง รายได้ทั้งหมดนำมากระจายสู่ชุมชน

เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้อาจจะเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราจะกลับมาที่ภาพเล็กกันอีกครั้ง

บริษัท A หรือชาวนาเคมี ทำนาโดยใช้สารเคมีเป็นพิษทั้งคนทำและคนกิน รายได้ไปตกอยู่กับพ่อค้าปุ๋ย โรงสี พ่อค้าคนกลาง ฯลฯ ชีวิตเครียด จน กินเหล้า ติดพนันหวังพึ่งดวง

บริษัท B หรือชาวนาคุณธรรม ทำนาโดยใช้เกษตรอินทรีย์ มีวิถีแห่งชาวนาคุณธรรม รับผิดชอบสังคมไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการขายที่สูงกว่า แต่รายได้ทั้งหมดกลับมาจุนเจือตัวชาวนาและสังคมรอบๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างดังนี้ก็จะสามารถอธิบายได้ง่ายขึ้นว่าวิถีแห่งชาวนาคุณธรรมต่างจากชาวนาเคมี หรือชาวนาอินทรีย์อย่างไร ซึ่งเมื่อเรามองที่ปลายทาง ผลสุดท้ายเราก็จะพบว่าชาวนาที่ดำเนินวิถีที่ต่างกันย่อมได้รับผลต่างกัน

ซึ่งแล้วแต่เราจะเลือกว่าจะสนับสนุนเส้นทางไหน สังคมจะไปในทิศทางไหนนั้นน้อยคนนักจะเลือกด้วยตัวเองได้ ชาวนาก็เหมือนกัน บางครั้งหรือหลายครั้งทำไปเพราะความจำเป็น ทำไปเพราะไม่รุ้ ทำไปเพราะต้องดำรงอยู่ ทางเลือกมีไม่มากนัก หากสังคมช่วยกันชี้ช่องทางและเอื้อเฟื้อแก่ชาวนาที่ยังหลงทาง ก็อาจจะทำให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนมามุ่งสู่วิถีแห่งชาวนาคุณธรรมได้

เมื่อมีชาวนาคุณธรรมมาก สังคมรอบๆก็จะมีคุณธรรมเกิดขึ้นตามหลักการแพร่ของคนดี คนดีก็จะชวนกันให้ทำสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปเองโดยอัตโนมัติ อ่านมาจนถึงขนาดนี้คุณคิดว่าผมมีเหตุผลมากพอที่จะสนับสนุนชาวนาคุณธรรมหรือยัง?

สวัสดี

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

จากการไปเรียนรู้ที่ยโสธร ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็ได้พบกับผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ส่วนหนึ่งครับ

เกษตรอินทรีย์นั้นจะไม่ใช้สารเคมีเลย ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเร่งต่างๆ จากการสังเคราะห์ทางเคมีหรือแม้แต่ใช้พืชที่ตัดแต่งพันธุ์กรรม ทำให้เกษตรอินทรีย์นั้นเติบโตโดยพื้นฐานทางธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็จะใช้วัสดุและนวัตกรรมทางธรรมชาติแทนครับ เช่นน้ำหมัก ฮอโมนพืชต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ นั่นคือเอาธรรมชาติ ส่งเสริมธรรมชาติอีกที สรุปคือไม่ใช่สิ่งที่มีพิษมีภัยแน่นอนครับ

ทีนี้เกษตรกรหลายคนอาจจะคิดว่ามันได้ผลผลิตน้อยไม่พอขาย แต่จากที่ผมได้ไปศึกษาจากสวนลุงนิล จนถึงกิจกรรมในตอนนี้ผมก็ยังคิดว่ามันพอกินนะ สำหรับการพอขายเนี่ยมันแล้วแต่การวางแผนทางการค้า แต่ถ้าพอกินนี่มีแน่นอน เพราะพื้นที่ไม่มาก แต่ดูเหมือนจะให้ผลผลิตที่ดีทีเดียวเชียวล่ะ ลองมาดูกันนะ

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

มะเขือ
มะเขือ

มะเขือนี่อาจจะดูธรรมดาและพบเห็นได้ทั่วไปนะครับ ผลสุกนี่ถ้าเราเอามากินไม่ทันสุกจริงๆก็เก็บไปทำน้ำหมักชีวภาพได้ครับ เอามารดต้นไม้อีกทีงามนักล่ะ

บวบ
บวบ

บวบที่ไม่โดนปนเปื้อนด้วยสารเคมี สำคัญนะครับ บวบที่เราเอาไปขัดตัวขัดผิว หากมีการปนเปื้อนด้วยสารเคมีแล้วจะดีต่อผิวอันบอบบางของเราจริงหรือ หลายคนอาจจะบอกว่าเราแกะเปลือกใช้แต่ไส้ในของมัน แต่สารเคมีที่เกษตรเคมีใช้ส่วนใหญ่เป็นพวกดูดซึมครับ หมายความว่ามันก็ไปปนอยู่ในที่เราถูตัวนั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โดนฉีดโดยตรงแต่ถ้าในพื้นที่มีการฉีดพ่นก็มีความเสี่ยงอยู่ครับ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ควรจะมั่นใจกับแหล่งที่มาด้วยนะ

ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่
ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่

ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจนี่เขาปลูกไผ่ไว้หลายชนิดเลยครับ มีทั้งไผ่ใช้ไม้ ไผ่กินหน่อมากมาย มีเยอะขนาดนี้วันไหนอยากกินก็เดินไปหาๆดูก็น่าจะพบหน่อไม้ อิ่มสบายๆ แค่เดินรอบดงไผ่

มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่
มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่

มะละกอในแปลงสาธิตใหญ่ขนาดที่มือผมยังจับลำบาก ที่เห็นนี่ถือว่ายังเล็กนะครับ เมื่อเทียบกับมะละกอในสวนด้านหลังซึ่งไม่ได้ถ่่ายมาเพราะมัวแต่ไปถ่ายอย่างอื่น จะเห็นว่าผลผลิตที่ได้นั้นมีคุณภาพและความปลอดภัยมากทีเดียว

กล้วยพันธุ์พระราชทาน
กล้วยพันธุ์พระราชทาน

กล้วยพันธุ์พระราชทานครับ นี่เป็นกล้วยน้ำว้าลูกใหญ่ที่มีเปลือกบางครับ ซึ่งลองกินแล้วก็พบว่าหวานแต่พอดีครับ แต่ปัญหาคือกินลูกเดียวก็จะอิ่มแล้วครับ เลยไม่ได้ชิมลูกที่สองอยู่ คุณภาพคับหวีอีกเหมือนเดิมครับ

แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ
แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ

มาจบกันที่แตงโมครับ เคยได้ยินว่าแตงโมที่นี่ไม่ได้รดน้ำครับ ให้กินแต่น้ำค้างเอา ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่ขนาดของแตงโมที่ผมว่าก็ได้ เพราะที่เคยได้มามันใหญ่กว่านี้เยอะเลยครับ แต่ขนาดนี้ก็น่ารักดีครับ กินเป็นมื้อๆได้พอดีไม่ใหญ่มากขนาดพอเป็นของหวานประดับมื้อได้ ที่สำคัญปลอดภัยกับชีวิตครับ

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์นะครับ จริงๆแล้วก็มีอีกมากมายที่งอกงามในดินร่วนปนทรายผ่านกรรมวิธีบำรุงดินแบบเกษตรอินทรีย์ให้โตและงอกงามอย่างยั่งยืนครับ

สวัสดี