พระพุทธเจ้าผู้ประกาศตนอย่างห้าวหาญต่อโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด

การประกาศตนเองว่าเป็นพระอรหันต์นั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบุคคลที่ประกาศตนเป็นคนแรกก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์สาวกกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาระหว่างที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดปัญจวคีย์

ซึ่งก็เรียกว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญมาก เป็นอัตราส่วน 1 ต่อคนทั้งโลก เป็นสัมมาทิฏฐิผู้เดียวในโลกที่กล้าประกาศธรรมโลกุตระที่ทวนกระแสโลกีย์อย่างรุนแรงอย่างไม่หวั่นเกรงใคร

จะเล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ศึกษามาโดยย่อนะครับ…

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ากำลังเดินทาง ได้พบอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาเห็นพระพุทธเจ้าก็รู้สึกสนใจ ถามว่าใครคืออาจารย์ของท่าน ท่านยินดีในธรรมเช่นไร?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เราเป็นผู้รู้แจ้งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมทั้งปวง ไม่มีตัณหาในธรรมทั้งปวง ยินดีในธรรมที่พาให้สิ้นตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครดีเหมือนเรา ไม่มีใครเสมอเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาปรากฎเพียงผู้เดียวในยุคนี้ เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว

อุปกาได้ยินดังนั้น จึงถามต่อว่า ทำไมท่านจึงได้แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เล่า?

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าผู้ที่หมดกิเลสเช่นเรา ย่อมเรียกได้ว่าพระอรหันต์ เพราะชนะบาปปราบธรรมลามกได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่ออุปกาได้ฟังคำตอบดังนั้น ก็กล่าวออกมาประมาณว่า อยากเป็นอะไรก็เชิญเป็นตามใจท่านเถอะ …ว่าแล้วก็เดินส่ายหัว จากไป

จบบทนี้ อุปกาชีวกก็เดินต่อไปตามทางผิดของตนต่อไป เนื้อหานี้เป็นฉบับที่ผมแปลงภาษาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ใครสนใจอ่านบทเต็มก็จะลงไว้ให้ในส่วนของความคิดเห็นครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้หมายความจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนได้ทุกคนเสมอไป และไม่ได้หมายความว่าการประกาศอรหันต์แล้วเขาจะศรัทธาเสมอไป คนโง่ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ คนมีปัญญาจึงจะเข้าใจ อุปกาชีวกไม่ได้ยินดีฟัง จึงไม่ได้ฟังสิ่งที่สมควรได้ฟัง เพราะยึดว่าแต่ความเห็นตนว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นสิ่งไม่น่าพอใจ จึงจากไปด้วยความหลง

ก็มีเหมือนกันที่มีคนเห็นผิดว่าคนบรรลุจริงไม่ประกาศ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นผิดของเขาซึ่งไม่จริง เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรก ก็ประกาศบอกไปตามที่เขาถาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

และยิ่งถ้าศึกษาโลหิจจสูตรด้วยแล้ว จะรู้ได้เลยว่าการไม่ยินดีประกาศธรรมที่ได้บรรลุออกไปแล้วต่างหาก คือความเห็นแก่ตัว คือมิจฉาธรรม อันมีนรกและเดรัจฉานเป็นที่ไป

ยุคนี้ยังดีที่ยังมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอยู่ แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อ ตาม ๆ ที่ฟังกันมาโดยไม่ได้พิสูจน์หลักฐานว่าจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาและการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจะสามารถทำให้เกิดปัญญามากขึ้น

และที่สำคัญคือการศึกษาจากสัตบุรุษ หรือผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริง รู้ทางพ้นทุกข์จริง ไม่มัว ไม่เดา ไม่เมาอยู่กับความไม่ชัดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าพบสัตบุรุษจึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม ส่วนผู้ที่เอาอสัตบุรุษ (ผู้เห็นผิด) เป็นอาจารย์ เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็คงจะมีแต่ทุกข์เป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ตั้ง มีเดรัจฉานเป็นที่เกิด มีอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตาเป็นที่อาศัยเท่านั้นเอง

การประกาศอรหันต์ในยุคปัจจุบัน

มีความคิดเห็นถามเข้ามาว่า กรณีที่สมณะโพธิรักษ์ประกาศความเป็นอรหันต์ในตนนั้น ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากครับสำหรับประเด็นนี้ เพราะในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ไม่มีใครที่ประกาศอย่างมั่นใจเท่ากับนักบวชท่านนี้อีกแล้ว

ในความเห็นของผมซึ่งไม่ได้ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดนัก แต่ก็ได้ศึกษาภาพรวมของศาสนาจนคิดว่าสามารถใช้ความรู้มาเทียบเคียงได้

วินัยสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่นักบวชควรปฏิบัติ เป็นเสมือนวินัยในอาชีพ การปฏิบัติก็คล้ายวินัยของทหาร ซึ่งโดยค่ารวม ๆ เท่าที่ได้ศึกษามา สมณะโพธิ์รักษ์นี่แหละคือผู้นำวินัยสงฆ์ ในยุคที่พระวินัยนั้นตกต่ำติดตมสุด ๆ แล้ว ทั้งการพานักบวชไม่รับเงินรับทอง ไม่สวดมนต์ผิดวินัย ไม่ทำเดรัจฉานวิชา ไม่ส่งเสริมสิ่งที่ผิดไปจากจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ผมคิดว่าการที่ท่านได้แสดงออกถึงความถูกต้องอย่างตรงไปตรงมาในยุคนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียกท่านว่าผู้ทรงวินัย

แล้วที่นี้การประกาศความเป็นอรหันต์ผิดวินัยไหม? ผมก็มีความเห็นว่าไม่ผิด เพราะพระพุทธเจ้าก็ประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์ สาวกในสมัยพุทธกาลก็ยังมีที่ประกาศความเป็นอรหันต์ในตน ผมให้ความเห็นว่าการประกาศตัวเองว่าเป็นอรหันต์เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิด และเป็นประโยชน์ด้วย

ดังเช่นว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประกาศอย่างกล้าหาญว่า เราคือพระพุทธเจ้า เราคือพระอรหันต์ เราตรัสรู้เอง เราไม่มีอาจารย์ ก็จะไม่สามารถสร้างศาสนาได้ ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งการศึกษา ตรวจสอบ พิสูจน์ ดังที่เราคุ้นเคยกับคำว่า เอหิปัสสิโก คือเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้ ก็คือพิสูจน์ความเป็นอรหันต์นี่แหละว่าทำได้จริงไหม

ส่วนวิธีพิสูจน์ก็ใช่ว่าจะเอาตรรกะมาวัด เอาทฤษฎีความรู้ความเข้าใจที่เคยได้เรียนมา มาวัด มันต้องใช้การปฏิบัติวัด คือถ้าทำตามแล้วพ้นทุกข์ ก็ใช่ ถ้าทำตามแล้วไม่พ้นทุกข์ เกิดอกุศล เกิดชั่วก็ไม่ใช่ แล้วก็ใช่ว่าจะได้ผลได้ง่าย ๆ คนโง่ย่อมไม่รู้ คนมีปัญญาจึงรู้

ดังนั้นการประกาศความเป็นอรหันต์ออกไปนั้น คือการเอื้อให้ผู้มีปัญญาได้เข้ามาศึกษาความจริง คือจะจริงเท่าไหร่นั้น ก็ว่ากันไปตามที่ทำได้จริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เปิดเผยแล้วเจริญคือธรรมะในพระพุทธศาสนา ความเป็นอรหันต์นั้นคือค่าสูงสุด คือจุดสุูงสุดของธรรมะ คือเป้าหมายสูงสุด เรียกว่าเป็นธรรมะที่เลิศยอด ถ้าเปิดเผยก็จะเจริญ ปิดไว้ไม่เจริญ ในขณะเดียวกันท่านก็ตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่แสดงจึงเจริญ แสดงออกไม่เจริญ

ในอดีตก็เคยมีนักบวชประกาศอรหันต์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าท่านที่ไม่ประกาศจะเป็นพระอรหันต์ ความเป็นอรหันต์ไม่ได้การันตีจากการประกาศหรือไม่ประกาศว่าตนเองเป็นอรหันต์

แต่อยู่ที่ว่าท่านนั้นพ้นทุกข์พ้นโง่ได้จริงรึเปล่าเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีการจะรู้ได้อย่างหนึ่งก็คือการที่ประกาศออกไป พอประกาศออกไปแล้ว คนมีปัญญาเขาจะเข้ามาพิสูจน์เอง มันก็จะได้ทั้งตรวจสอบตนเองและก็จะได้ประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่นเต็ม ๆ ถ้าไม่ใช่ก็จะได้สังวรระวังตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่แล้วยังหลงว่าตนเป็นอยู่ สมัยพุทธกาลก็มี อันนี้มันเรื่องธรรมดา หมู่สงฆ์ท่านก็แก้ไขกันไป แต่ทุกวันนี้การแก้ไขตรวจสอบก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ถ้าท่านใดประกาศล่ะก็ขึ้นหิ้งเลย ใครจะไปวิจารณ์ก็เหมือนจะหาเรื่องตายเปล่า ๆ กลายเป็นเทวดาอำนาจมหาศาลเลยล่ะ แบบนี้จะไปพิสูจน์มันก็พาลจะไม่รอดเอา

แต่ถ้าใครจะพิสูจน์สมณะโพธิรักษ์ ผมว่าทำได้ง่าย ๆ เลยนะ เพราะท่านเข้าถึงได้ง่ายมาก แถมท่านยังแสดงความจริงโดยการเอา sms หรือความเห็นที่พิมพ์เข้ามาด่าท่านนั่นแหละ เอามาอ่านออกอากาศเลย ผมว่านี่แหละคือความเก๋า คือความแกร่งที่แท้จริง เป็นยอดนักเลงโลกุตระที่ไม่กลัวกิเลส โชว์กันให้เห็น ๆ เลยว่า ต่อให้เขามาด่า มาดูถูก ก็ไม่โกรธเขา ไม่แสดงอาการขุ่นใจ แถมยังดูสดใสได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประกาศอรหันต์แล้วห้าวหาญขนาดนี้เลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเกิดไม่ทัน แต่เท่าที่รับรู้ส่วนมากก็ขึ้นหิ้ง สูงเกินไป จับต้องไม่ได้ ไม่มีโอกาสพิสูจน์

แต่สมณะโพธิรักษ์ นี่ท่านไม่เป็นแบบนั้น ผมเห็นว่าท่านเข้าถึงได้ง่าย พิสูจน์ได้ง่าย ไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากมายนัก เป็นความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่ ที่จะรอการพิสูจน์

ผมคิดว่าประเด็นที่ว่าการประกาศอรหันต์ผิดวินัยหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจ แต่การที่มีผู้ที่ประกาศความเป็นอรหันต์ยังปรากฎอยู่ในยุคสมัยที่กิเลสโอมล้อมโลกด้วยมิจฉาธรรมอันหนักหนาอยู่นี่แหละ คือสิ่งที่น่าสนใจ

ผมคิดอย่างนี้นะ ใครสนใจก็ตามศึกษาตามพิสูจน์เถอะ แต่อย่าได้มีจิตไปเพ่งโทษเลย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายความว่า หากผู้ที่สนใจศึกษาศาสนามัวแต่มุ่งเพ่งโทษ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เพราะมันมุ่งแต่ไปสนใจโทษ แม้มันจะเป็นจุดดำจุดเล็ก ๆ ในผ้าผืนใหญ่สีขาว แทนที่จะมุ่งสนใจว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร กลับมุ่งสนใจในสิ่งที่พร่อง ที่มันไม่สวยดั่งใจ มันก็จะเสียประโยชน์ไปกับการสนใจสิ่งที่ไม่มีสาระ

แม้ตอนนี้ใครจะประกาศความเป็นอรหันต์ออกมา ผมก็พร้อมเสมอนะ ที่จะศึกษาตาม ที่จะพิสูจน์ และพร้อมที่จะวิจารณ์กันอย่างเต็มที่

ลาภลอย ภัยมืดที่พาทุกข์พาหลง

การที่คนเราได้ลาภ สักการะ ชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ บริวาร ฯลฯ ใด ๆ มาก็ตามมันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามโลกธรรม แต่แม้มันจะเป็นไปอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก

เราย่อมกล่าวถึงลาภสักการะและชื่อเสียงว่า เป็นอันตรายแม้แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ“(ภิกขุสูตร,16/580)

ดูกรภิกษุทั้งหลายลาภสักการะและชื่อเสียง เกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฯ” (ปักกันตสูตร,16/586)

ที่ยกมานั้นเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องลาภสักการะ แม้เกิดในคนดีที่สุดอย่างพระอรหันต์ก็เป็นภัยได้ แล้วเกิดในคนชั่วที่สุดไฉนจะไม่เกิดภัย

นั่นหมายความว่าลาภสักการะมันเป็นภัยสำหรับทุกคนนั่นแหละ จะดีจะเลวก็เป็นภัย โดยเฉพาะลาภลอย พวกก้อนที่มาใหญ่ ๆ แบบไม่คิดไม่ฝัน ได้มาแบบไม่มีเหตุ แบบงง ๆ ลาภพวกนี้ยิ่งจะทำให้คนประมาท

เหมือนคนถูกหวย เขาได้มาเพราะเขาเชื่อว่าเขาโชคดี แต่ความจริงแล้วเขาก็เบิกบัญชีกุศลกรรมของเขามาเอง แต่ภาพมันออกมาเป็นลาภลอย เขาไม่ต้องพยายาม เขาคิดว่าเขาแค่ใช้ “โชค?” เขาเลยเกิดความประมาทในเรื่องของกรรม ถ้าคนเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับคือสิ่งที่ทำมา เขาจะไม่ประมาท แต่มันไม่ง่ายที่จะเข้าใจแบบนั้น วิบากจะลวงให้หลง ให้ประบาท ให้เข้าใจผิด ให้ไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ดังนั้นคนที่ปฏิบัติธรรมจึงไม่เล่นหวย เพราะมันก็แค่เบิกของที่เคยทำ เอามาใช้เท่านั้นเอง แถมไปเบิกโดยไม่ลงทุน มันก็เท่ากับกรรมดีหมดไปเรื่อย ๆ

เกริ่นมาพอสมควร มาเข้าเรื่องกัน ผมติดตามข่าวช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำมาสักระยะ รู้สึกเห็นใจกับสภาพที่เกิดขึ้น ในส่วนของการช่วยเหลือกันนั้นก็ดี ก็ยกไว้ก่อน แต่ในส่วนที่จะให้ข้อสังเกตคือมันเกิดสภาพของดีที่ล้นทะลัก ดีที่เยอะเกินพอดี ดีที่เกิดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

คือลาภสักการะที่ทีมหมูป่าได้ตอนนี้นี่เรียกว่ามหาศาล ได้มายังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่จะขอลองวิจารณ์ว่าหมู่ป่านี่เป็นจำเลยสังคม เมื่อสังคมมันต่ำมันเสื่อม พอมันเกิดเหตุแบบนี้มันก็เกิดภาพที่มันน่าชมคือทุกคนช่วยเหลือกัน คนในสังคมทุกคนเขาก็อยากให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในชีวิตนั่นแหละ แล้วนี่เป็นสิ่งดีสิ่งเดียวที่มันเกิด เขาก็พยายามทุ่มเทดีลงไป ยัดดีลงไปมหาศาล ยัดไปตั้งแต่ยังไม่เจอทีมหมูป่าเลยด้วยซ้ำ ว่าจะให้อย่างนั้นอย่างนี้ เจ้าตัวเขายังไม่รู้เรื่องเลยว่าลาภนี้มันมารออยู่ที่ปากถ้ำแล้ว ผมมองว่านี่คือตัวอย่างหนึ่งของสภาพดีที่ล้น

ผมมานั่งระรึกเพิ่ม บ้านไหนเมืองไหนเขาก็ไม่เห็นจะมีเลยที่จะเอื้อเฟื้อผู้ประสบภัยแบบนี้ อย่างดีก็ให้ที่อยู่ให้การรักษาก็เยียวยากันไป แต่จะให้กันจนเรียกว่าผลิกชีวิตกันแบบนี้มันไม่มีนะ

นี่คือสภาพลาภลอยที่ทีมหมูป่ากำลังได้รับอยู่ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันหนักมาก เยอะมาก อันนี้ก็ต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นผลกรรมที่เขาควรได้ แต่เขาก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้เช่นกัน

ที่น่าเป็นห่วงคือสังคมตอนนี้มีสภาพของการเสพดีอย่างหมกมุ่น ผมขอวิจารณ์เช่นนี้ตรง ๆ จริง ๆ ก็เรียกได้ว่ารอมานานกว่ากระแสมันจะลงบ้าง คลื่นกิเลสนี่มันไม่ธรรมดานะ จะไปแตะไม่ได้ ความติดดีคนมีมากนี่แตะไม่ได้ คิดต่างไม่ได้เลย มันจะทะเลาะกันไปหมด จะอวยมันก็ยิ่งจะลอย มันจะฟูไปกันใหญ่ อัตตามันก็โตขึ้นอีก เป็นสถานการณ์ที่ได้แต่ดูเงียบ ๆ ไป

ส่วนตัวผมนี่เข้าใจมาก ๆ เลยเวลาลาภเยอะ ๆ แล้วมันเลี่ยงไม่ออกนี่มันทุกข์ยังไง คือมันมากเกินความจำเป็น เราไม่อยากได้ มันเป็นภาระ มันหนัก นี่ขนาดไม่อยากได้ลาภนั้นยังทุกข์ยังลำบากเลย

แล้วเกิดคนอยากได้ลาภลอยนี่มันยิ่งไปกันใหญ่ คือลาภลอยมาแล้วอยากได้ เข้าไปคว้า มันก็จะพาหลงเลยทีนี้ มันจะพลาดเสียคนกันก็ตรงนี้นี่แหละ (คือได้ลาภ แต่ไม่รู้เหตุเกิดของลาภ คือได้สิ่งดี แต่ไม่รู้ว่าทำดีอะไรถึงได้ลาภนี้ อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่าสิ่งที่ทำหรือเคยทำนั้นเป็นเหตุ)

ตอนนี้มีกระแสคืนความปกติสุขให้ทีมหมูป่า คือให้เขากลับเป็นเด็กธรรมดาตามวิถีของเขา ซึ่งตามแนวคิดผมก็เห็นด้วยนั่นแหละ แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นไปได้ยาก กระแสมันติดลมบนไปแล้ว นี่ขนาดช่วยออกมาได้แล้วยังมีข่าวทุกวัน มันจะเสพอะไรกันนักกันหนา ช่วยออกมาแล้วก็จบแล้วนี่ แต่คนเขาไม่จบไง เหมือนดูละครก็ไม่อยากให้จบ วนเสพสุขอยู่นั่นแหละ เสพดีที่จบไปแล้ว มันดีก็จริงที่คนช่วยกันแต่มันก็จบไปแล้วไง

ผมมองว่าตอนนี้สังคมกำลังกระหายความดีอยู่ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จึงเกิดดีที่ไม่ประมาณ ล้นทะลักเกินอย่างเห็นได้ชัด ความซวยจึงตกอยู่ที่จำเลยสังคมอย่างทีมหมูป่า

ติดถ้ำก็ว่าซวยแล้ว ติดโลกธรรมนี่ซวยกว่าติดถ้ำอีกนะ…

ผู้สมควรบวชให้ผู้อื่น ต้องเป็นพระอรหันต์

ภิกษุพึงเป็นพระอรหันต์ จึงให้กุลบุตรบวชได้!!

ไปอ่านเจอมาในพระไตรปิฎก เรียกว่าโหดมากทีเดียว แต่ก็เป็นส่ิงที่สมควรที่สุด ในการบวช ในการให้นิสัย รวมทั้งให้มีสามเณรคอยดูแล… ควรเป็นพระอรหันต์

จะยกพระสูตรนึงมาให้อ่านนะครับ ( เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๕๑-๒๕๓)

“[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ พึงให้
กุลบุตรอุปสมบทได้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็น
ของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัศนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ฯ”

ในข้ออื่นๆ ก็มีความไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างคำว่า ศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ คำว่า “อเสขะ” คือไม่ต้องศึกษาแล้ว มีตำแหน่งเดียวคือพระอรหันต์นั่นแหละ สรุปคือต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ในระดับของพระอรหันต์นั่นเอง แม้เป็นพระอริยะระดับอื่นๆ ก็ยังไม่สมควร

สรุปคือถ้าไม่เป็นอรหันต์นี่บวชให้ใครไม่ได้นะครับ จะฝืนบวชก็ได้ แต่ไม่เจริญหรอก

ซึ่งสูตรที่ยกมานี้เข้ากับคำตรัสที่ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงจะไปสอนใครก็ทำตัวเองให้ได้ก่อน การบวชนี่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นตนเองต้องทำให้ได้ก่อน

ถ้าสาวกพระพุทธเจ้ามาอ่านสูตรนี้ผมว่าสะดุ้งเลยนะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันจะรู้สึกเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร สมมุติถ้าผมเป็นนักบวชนี่ ผมก็คงไม่กล้าบวชให้ใคร หรือถึงเคยทำไปโดยไม่รู้ ก็เลิกทำล่ะงานนี้ ฝืนทำต่อก็นรกกินหัวเปล่าๆ

ส่วนจะมีสูตรไหนอนุโลมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ผมว่ายึดสูตรนี้ไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณนักบวชหรอก เน้นคุณภาพก็พอ ศาสนาพุทธนี่ไม่ได้เน้นปริมาณนะ เอาปริมาณเข้าว่าไม่ได้ เพราะคนเห็นผิดเท่าดินทั้งแผ่นดิน คนเห็นถูกเท่าฝุ่นที่ติดปลายเล็บ ดังนั้นจึงควรจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก

อรหันต์ในรูปของฆราวาส

อรหันต์ในรูปของฆราวาส

จากตอนก่อนที่ผมยกเรื่องจิตตคฤหบดีน่าจะเป็นอรหันต์มาด้วยหลักฐาน ๒ สูตรนั่นคือ อเจลสูตร (เล่ม ๑๘ ข้อ ๕๘๐)และปุตตสูตร (เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐) นั้น ต่อมาได้มีเพื่อนได้แสดงความเห็นต่างว่า จิตตคฤหบดีน่าจะเป็นพระอนาคามีตามที่เขาได้ศึกษามา และได้เสนอความเห็นมาดังนี้

(1) พระอนาคามีจะไม่ต้องมาเกิดในกามวจรภูมิอีก แม้บรรลุธรรมขั้นต่ำๆ จะเกิดในพรหมโลกเท่านั้น และบางท่านก็จะสามารถบรรลุนิพพานได้ในพรหมโลกเลย ตามแต่กรรมและความเพียรที่ทำมา

(2) หากฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้ว จะต้องบวชทันที โดยวิสัยของพระอรหันต์ หรือไม่ก็จะสิ้นอายุทันที

ผมจะยืนยันในสิ่งที่ผมพบตามหลักฐานในพระไตรปิฎกดังนี้ครับ จากนี้ก็ขอให้ท่านพิจารณาข้อความที่ยกมาโดยแยบคาย โดยยกสัญญาหรือสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาวางไว้ก่อน แล้วเรียนรู้กันตามหลักฐานที่ปรากฏกัน

(ตอบ 1) ในข้อนี้เขาให้ความเห็นฟันธงลงไปแล้วว่าจิตตคฤหบดีน่าจะเป็นพระอนาคามี จากนั้นจึงได้บรรยายองค์ประกอบของพระอนาคามีตามสมมุติสัจจะที่ได้เรียนรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งผมมีความเห็นต่าง ตรงที่ผมประเมินว่าจิตตคฤหบดีเป็นพระอรหันต์จากเหตุปัจจัย ในอเจลสูตร และปุตตสูตรดังนี้

ในอเจลสูตร จิตตคฤหบดี ได้ตอบเพื่อนที่ถามถึงมรรคผลว่าปฏิบัติแล้วได้อะไรบ้าง ดังนี้ “จิตต. ท่านผู้เจริญ แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม” มาวิเคราะห์ท่อนนี้กันก่อน

แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้” จากประโยคนี้ก็บอกอยู่แล้วว่า แม้ฆราวาสก็มีธรรมเช่นนั้นได้ คือนักบวชเขาเป็นอรหันต์กันได้ เราก็เป็นกันได้เช่นกัน

เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า” ประโยคนี้สื่อว่า ท่านทำสิ่งนั้นได้จริง หวังได้คือมันเป็นไปได้ ถ้าคนปฏิบัติยังไม่ถึงผลจริงๆ นี่มันยังหวังไม่ได้ชัดเจนนะ มันจะมัวๆ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึง เรียกว่าแค่ “ได้หวัง” แต่ที่ท่านย่อมหวังได้เพราะท่านทำได้จริง

“เราสงัดจากกาม” ความที่ว่าสงัดจากกามนั้น ต่างจากไม่เสพกาม การไม่เสพกามนั้นอาจจะเป็นเพียงผู้ที่กดข่ม หรือผู้ที่ข้ามกามภพ แต่สงัดจากกามหรือสงบจากกามนี่ หมายถึงผู้ที่ข้ามกามทั้งหมด ถ้าเราเอาสังโยชน์ มาอธิบาย กามจะมีอยู่ทั้งในสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ และสังโยชน์เบื้องสูง ๕ กามฉันทะจะอยู่ในสังโยชน์เบื้องต่ำ ส่วนรูปราคะ และอรูปราคะอยู่ในสังโยชน์เบื้องสูง พระอนาคามีนั้นดับกามภพหรือกามฉันทะได้หมดสิ้นเกลี้ยงแล้ว นั่นจึงไม่กลับไปเกิดในภามภูมิอีก ไม่ไปเสพกามอีก แต่ทีนี้มันจะเหลือรูปราคะ และอรูปราคะ คือความติดใจในรูปเป็นอารมณ์ ก็คืออยากเสพนั่นแหละ แล้วคำว่ากามในพุทธนี่กินความกว้างมาก หมายถึงความอยากเสพทั้งหมด รวมทั้งรูปและอรูปเลย นั่นหมายถึงผู้ที่สงัดจากกามอย่างแท้จริงนั้น จะต้องดับ รูปราคะและอรูปราคะด้วย และผู้ที่ดับสังโยชน์เบื้องสูงทั้งสองนั้นได้ ก็มีแต่พระอรหันต์ เพราะพระอนาคามีนั้นยังมีสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ อยู่ นั่นคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

“สงัดจากอกุศลธรรม” คำนี้ยิ่งย้ำยืนยันความเป็นอรหันต์ ถ้าคนไม่หมดกิเลสนี่พูดคำนี้ไม่ได้นะ ผิดสัจจะ เพราะการที่ยังมีกิเลสอยู่นั้นหมายถึงยังมีอกุศลธรรมอยู่ แม้จะเหลือแค่อวิชชา อวิชชานั้นก็ยังเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งดีงามเลย คนจะหมดอกุศลธรรมได้อย่างแท้จริงก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น

จากนั้นท่านก็บอกว่าท่านเข้าฌาน ๑ ๒ ๒ ๔ เป็นอันหวังได้สำหรับท่าน ก็คือท่านทำได้ทั้งหมดนั่นเอง จบประโยคชุดนี้ด้วย “ก็แหละข้าพเจ้าพึงพยากรณ์ก่อนพระผู้มีพระภาคไซร้ ก็จะไม่เป็นการน่าอัศจรรย์ สำหรับข้อที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์ ข้าพเจ้าว่า ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว)จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ”

จากสูตรนี้ผมสังเกตว่า จิตตคฤหบดี เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน มีปัญญามาก รู้ประมาณว่าสิ่งใดควรไม่ควร ท่านรู้นะว่าตัวท่านเองบรรลุธรรม แต่จะบอกคนอื่นก่อนมันก็ไม่งาม นี่ท่านรู้ในตนอยู่แล้ว ท่านก็เลยให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกว่าท่านบรรลุธรรม

ประโยคที่พระพุทธเจ้าพยากรว่า” ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว)จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ” สำหรับประโยคนี้จะยกปฏิจสมุปปบาทมา ดังที่เรารู้กันดีว่าอวิชชานั้นเป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ … ดังนั้นหากไม่ดับอวิชชา ก็ถือว่าไม่ดับเหตุแห่งการเกิด มันจะต้องมีเหตุให้เกิดได้ในวันใดก็วันหนึ่ง เพราะการดับอวิชชาเท่านั้นจึงเป็นการดับที่สิ้นเกลี้ยง ไม่เวียนกลับ ไม่ถดถอย แต่ถ้าดับไม่ถึงขั้นนั้น ก็จะเวียนกลับมาตกต่ำได้ ดังนั้นถ้าไม่ดับอวิชชา การกลับมาสู่โลกนี้ ก็เป็นอันหวังได้ เพราะพระอนาคามีนั้นยังมี รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาอยู่ แม้จะไม่เสพกามแล้ว แต่ลาภ ยศ สรรเสริญทั้งหลายนั้นยังเป็นภัยต่อพระอนาคามี ยังเป็นสิ่งที่ฉุดพระอนาคามีให้ลงมาเสพได้ ดังจะขยายในสูตรต่อไป

ปุตตสูตร สูตรนี้กล่าวถึงอันตรายอันเผ็ดร้อนของลาภสักการะ เนื้อความเต็มของสูตรนี้มีดังนี้ [๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อวิงวอนบุตรคนเดียวซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ พึงวิงวอนอย่างนี้ว่า ขอพ่อจงเป็นเช่นจิตตคฤหบดี แลหัตถกอาฬวกอุบาสกเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จิตตคฤหบดีและหัตถกอาฬวกอุบาสก เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้ ถ้าพ่อออกบวช ก็ขอจงเป็นเช่นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเถิดดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้ ขอพ่อจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล ถูกลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำ ถ้าลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำภิกษุผู้เป็นพระเสขะไม่บรรลุอรหัตผลไซร้ ก็ย่อมเป็นอันตรายแก่เธอ ลาภสักการะแลชื่อเสียง ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

สูตรนี้กล่าวถึงหญิงชาวพุทธวิงวอนลูกชายคนเดียวที่เธอรัก ว่าให้ลูกจงเป็นอย่าง จิตตคฤหบดี* แต่ถ้าจะบวชก็ขอให้เป็นอย่างอัครสาวกทั้งสอง ขอให้ลูกอย่าได้เป็นเพียงพระอริยะที่ยังไม่บรรลุอรหัตผลเลย เพราะลากสักการะจะเป็นอันตรายแก่พระอริยะที่ต่ำกว่าพระอรหันต์ (ในพระสูตรอื่น กล่าวว่า แม้ลาภสักการะ ก็ยังเป็นอันตรายแก่พระอรหันต์เช่นกัน แต่ก็ถือว่าอันตรายน้อยที่สุด)

นี่แม่สมัยก่อนเขาไม่ได้อยากให้ลูกดัง มีชื่อเสียง ร่ำรวย หรือเป็น ซีอีโอ อะไรแบบนั้นนะ เขาอยากให้ลูกเป็นพระอรหันต์ ลูกจะได้ไม่ต้องประสบภัยจากลากสักการะทั้งหลาย พระอริยะขั้นอื่นๆ นี่แม่เขาไม่เอาเลยนะ แม้จะสูงส่งกว่าปุถุชนแม่ก็ไม่เอา จะให้ลูกเป็นอรหันต์อย่างเดียว

ทีนี้แม่ที่หวังจะให้ลูกเป็นอรหันต์จะแนะนำให้ลูกเป็น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีหรือไม่? ก็ต้องไม่ใช่ไหม ดังนั้นการที่แม่จะแนะนำให้ลูกเป็นอย่างจิตตคฤหบดี นั่นหมายความว่า ถ้าจะดำรงอยู่ในรูปฆราวาสก็ต้องเป็นอรหันต์ พระสูตรนี้มีสมการที่ค่อนข้างลงตัวอย่างนี้

๐. แม่อยากให้ลูกเป็นอรหันต์

๐. แม่ไม่ยินดีให้ลูกเป็นอริยะที่ต่ำกว่าพระอรหันต์

๐. แม่แนะนำให้ลูกเป็นอย่างจิตตคฤหบดี

๐. ดังนั้นจิตตคฤหบดี ต้องเป็นพระอรหันต์

จบการตอบข้อคิดเห็นข้อแรกเพียงเท่านี้ครับ นี้เป็นหลักฐานที่ผมได้จากสองสูตรนี้ ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณากันดู ซึ่งอ่านแล้วจะเห็นต่างก็เป็นสิทธิของแต่ละท่าน เพียงแต่ผมชี้ให้เห็นว่า ผมเข้าใจว่าจิตตคฤหบดีเป็นอรหันต์ด้วยเหตุดังนี้

(ตอบ 2.) จากโจทย์ (2) หากฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้ว จะต้องบวชทันที โดยวิสัยของพระอรหันต์ หรือไม่ก็จะสิ้นอายุทันที

ผมเข้าใจว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อตามๆ กันมา เพราะปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดเป็นข้อกำหนดว่าฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้วถ้าไม่บวชจะสิ้นอายุภายในวันนั้นวันนี้ แม้ในสมัยพุทธกาล ฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์จะสิ้นอายุก็เพราะกรรมของท่านเหล่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นพระอรหันต์เลย

ในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสบอกว่า อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพราะเหตุหลายๆ ประการเช่น เขาเล่าสืบต่อกันมา เขาเชื่อกันโดยมาก มีครูบาอาจารย์บอกมา มีหลักฐานตามตำราหรือหนังสือ ทั้งหมดนั้นจะไปรีบเชื่อก็ไม่ควร เพราะอาจจะเป็นเรื่องหลอกก็ได้ วิธีพิสูจน์คือทำตัวเองให้เข้าถึงภาวะนั้นๆ แล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเชื่อแล้วดี สิ่งใดเชื่อแล้วไม่ดี

ความเชื่อว่า ฆราวาสเป็นอรหันต์ถ้าไม่บวชจะตายภายใน ๗ วันนั้นมีมานานแล้วในเมืองไทย แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องดำมืด เป็นเรื่องของคนไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ทำเหมือนเป็นเรื่องลี้ลับ ทำให้เหมือนเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งๆที่ หลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นเรื่องของความรู้แจ้ง ชัดเจน พิสูจน์ได้

ผมยังให้ข้อสังเกตเพิ่มว่า อาจจะเป็นการแบ่งชั้นวรรณะของคน ว่านี่พระนะ ถ้าจะเป็นอรหันต์ต้องเป็นพระ นี่ฆราวาสนะ ไม่มีทางสูงกว่าพระได้หรอก จากที่ผมศึกษามาหลายๆครั้ง แนวโน้มของความเห็นคนจะไปในแนวทางนี้เป็นส่วนมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตรัสไว้อย่างนี้นะ หาอ่านที่ไหนก็ไม่เจอ หลักฐานก็ไม่มี มีแต่เรื่องแต่ง เรื่องเล่า เป็นนิทาน เป็นนิยายกันมาทั้งนั้น

เรื่องนี้จึงเป็นอุปทานหมู่ที่ฝังใจคนไทยมานานแสนนาน เป็นเรื่องลี้ลับที่ไร้การพิสูจน์ เพราะไม่รู้จะไปหาพระอรหันต์มาจากไหน ถึงมีก็ไม่รู้อีกว่าอรหันต์จริงอรหันต์เก๊ หรือถึงจะยืนอยู่ตรงหน้า คนไม่มีปัญญาก็ไม่รู้อยู่ดีว่านั่นเป็นพระอรหันต์ ดังที่มีพราหมณ์เคยแลบลิ้นใส่พระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อว่าท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เองโดยไม่ต้องมีอาจารย์

ดังนั้นผมจึงให้ความเห็นในเรื่อง ความเชื่อที่ว่า ถ้าฆราวาสเป็นพระอรหันต์แล้วไม่บวชภายในวันนั้นวันนี้ก็จะตาย เป็นความเชื่อที่เบาหวิว ไม่มีหลักฐานที่อ้างใดๆ และถ้าเอาจริงๆ จะฟันว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่แรงเกินไปนัก เพราะความเชื่อนี้ขัดกับหลักของกรรมและผลของกรรมอย่างรุนแรง เพราะการเป็นพระอรหันต์นี่มันดีนะ ดีที่สุดในโลกเลย เป็นมหากุศล แต่ทีนี้มีคนไปบอกว่าเป็นแล้วต้องตาย อ้าวนี่มันขัดกันนะ ทำไมดีที่สุดในโลกกลับต้องรับผลกรรมที่ทำให้ต้องตาย มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย กรรมดีก็ต้องให้ผลดีเป็นอยู่ผาสุกสิ กรรมชั่วก็ต้องให้ผลเป็นทุกข์ อันนี้สิถึงจะตรง เอาเรื่องกรรมมาวิเคราะห์กันประเด็นนี้ก็ตกเป็นมิจฉาทิฏฐิไปแล้ว เว้นแต่เขามีความเห็นอุปทานไปในเชิงไสยศาสตร์นั่นแหละ เขาเลยเข้าใจแบบนั้น แต่ถ้าทางพุทธศาสตร์ที่สัมมาทิฏฐินี่ไปเข้าใจแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะมันจะขัดสัจจะไปหมดเลย

สรุปข้อสองนี้ ผมให้ความเห็นว่าท่านลองพิสูจน์กันเองเลยดีกว่า ทำตัวให้เป็นอรหันต์แล้วลองไม่บวชดู จะตายไม่ตายมันไม่ใช่ปัญหาของพระอรหันต์อยู่แล้ว ถ้าตายก็ตายพิสูจน์สัจจะไปว่า เออที่เขาว่ามันจริง แต่ถ้าไม่ตายก็อยู่ช่วยโลกไป ก็ไม่มีใครเสียประโยชน์ แถมได้ความรู้อีกต่างหาก

อเจลสูตร

อเจลสูตร

ผมกำลังศึกษาเกี่ยวกับจิตตคฤหบดี และมีสมมติฐานว่าท่านน่าจะเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่พระอนาคามีอย่างที่เขาว่ากัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามีฆราวาสเป็นพระอรหันต์ ซึ่งในส่วนตัวผมก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะเป้าหมายของพุทธนั้นเป็นเรื่องของการหลุดพ้นจากกิเลส ใครก็หลุดพ้นได้ถ้าปฏิบัติจนถึงผล

กลับมาในอเจลสูตร เป็นสูตรที่ผมประทับใจเมื่อได้อ่าน อเจลกัสสปซึ่งเป็นสหายเก่าของจิตตคฤหบดี ที่ไม่ได้เจอกันนาน ไปแสวงหาปฏิบัติธรรมตามที่ตนเข้าใจ

เมื่อจิตตคฤหบดีได้พบก็ทักทายกันทั่วไป สักพักก็เปิดบทสนทนาด้วย เนื้อความประมาณว่า ที่ท่านไปปฏิบัติกว่า 30 ปี นั้นได้มรรคผลอะไรบ้างล่ะ

อเจลกัสสปก็ตอบว่า ไม่ได้อะไรนอกจากเป็นชีเปลือย หัวโล้น สลัดฝุ่น…

ว่าแล้วอเจลกัสสปก็ถามกลับไปว่าแล้วท่านล่ะ จิตตคฤหบดี ก็ตอบไปว่า เราไม่มีกามแล้ว ไม่มีอกุศลแล้ว บรรลุฌาน ๔ พระพุทธเจ้าพยากรว่าท่านไม่มีสังโยชน์ใดที่จะเป็นเหตุให้กลับมายังโลก (โลกียะ) อีกแล้ว (ในส่วนตัวผม แค่เนื้อความตอนนี้ก็มากพอที่จะยืนยันว่าเป็นอรหันต์แล้ว)

ฟังแล้วอเจลกัสสปก็ประทับใจ เกิดอยากบวชขึ้นมาทันที จิตตคฤหบดีก็เลยพาไปพบกับหมู่สงฆ์จนได้บวชและปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ในที่สุด… จบสูตรนี้

…..ชอบสูตรนี้ตรงที่ว่า ๑. เป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันแล้วพากันไปเจริญ ในสูตรนี้ไม่ได้มีการพูดข่มใดๆ เลย เพียงแค่รับฟังกันตามความเป็นจริง
๒. ถามกันตรงๆ ว่าปฏิบัติธรรมมานานแล้วมีมรรคผลอะไรนี่แหละ …. ในปัจจุบันยอมรับเลยว่า การจะไปถามใครแบบนี้เขาจะโกรธเอา แต่ในสูตรนี้นี่เพื่อนเก่าไม่ได้เจอกันมานานมาก เรียกว่าห่างไปนาน มาเจอกันก็ยังถามได้ ผมว่ามันดีนะ จริงๆก็อยากถามเหมือนกันว่า แบบที่คุณๆ ปฏิบัติกันอยู่มันมีมรรคผล มีความวิเศษ มีอะไรดีๆ เกิดขึ้น ในชีวิตบ้าง… บางทีก็อยากจะถามไปเหมือนกันว่า ไอ้ที่ปฏิบัติอยู่เนี่ย มันลด โลภ โกรธ หลงอย่างไร? ….แต่ก็คงยาก ไปถามใคร เขาก็คงไม่ชอบใจ 555 (เพราะจะถามเจาะไปเรื่อยๆ) สมัยนี้ก็คงยกไว้แค่คนที่ถือวิสาสะกันจริงๆ เท่านั้น มิตรสหายทั่วๆไป นี่ผมไม่กล้า…

อีกสูตรหนึ่งที่มีน้ำหนักคือ ปุตตสูตร มีเนื้อความประมาณว่า หญิงชาวพุทธวิงวอนขอให้ลูกตัวเองเป็นอย่างจิตตคฤหบดีและหัตถกอาฬวกอุบาสก แต่ถ้าจะบวชก็ให้เป็นอย่างพระโมคคัลลานะ,พระสารีบุตร *ขอให้ลูกจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล …. นั่นหมายถึงที่ยกมาก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นอรหันต์ทั้งหมด