การดูคน ที่ดูดี ไม่แน่ว่าจะดี (ดูจากมิตรสหาย)

บางครั้งเราจะได้พบ ได้เห็น ได้ยินได้ฟัง คนเขาพูด เล่า บอก เราก็อาจจะรู้สึกคล้อยตาม หรือเชื่อใจเขาก็เป็นได้ อุปาทานมันจะเริ่มตั้งแต่ตรงนี้ ตั้งแต่มีจิตยินดีนั่นแหละ

คนส่วนมากเมื่อได้เชื่ออะไร แล้วก็จะเริ่มเข้าไปยึดว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ โดยไม่ได้ตรวจสอบไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน เรียกว่าสติกระเจิงไปตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว

การไม่รีบปักใจเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งควรจะตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้น เป็นจริงตามสิ่งที่เขาพูดหรือไม่

เช่นมีคนบอกว่าหวังดีกับเรา จะช่วยเรา แต่ไปคบหากับคนที่เคยทำร้ายเรา โกงเงินเรา แล้วยังหนีเราไปอีก แล้วก็บอกว่าจะไม่คบกับเพื่อนของเรา ที่เขาก็ยังดีกับเราในปัจจุบัน

…ยกตัวอย่างมาแบบนี้นี่มันจะใช่คนดีจริงหรือ? แต่เขาก็วาทะศิลป์ดีนะ พูดจาโน้มน้าว ยกเหตุผล ดูน่าฟัง ฟังไปก็เออจริง ๆ ไปตามเขา ที่เขาว่ามามันก็ดี มันก็ถูกตามเนื้อหาที่เขายกมา

แต่พอดูองค์ประกอบอื่น ๆ แล้ว กลับไม่เข้ากัน เขาไปคบคนชั่ว คนที่นิสัยขี้โลภ หลอกลวง ตลบแตลง บ้าอำนาจ เขายินดีที่จะคบหาคนแบบนั้นด้วยนะ แล้วพอเรากลับมาตรวจสอบคนดีที่เราคบหามายาวนานและพิสูจน์ด้วยการกระทำที่เสียสละแบ่งปันด้วยใจที่ผาสุกแล้ว คนดีกลับไม่คบหากับคนคนนั้น ไม่ยินดี ไม่ส่งเสริม

คนชั่วคนดีไม่คบ เช่นเดียวกัน คนที่ดีคนชั่วเขาก็ไม่คบเหมือนกัน คนธาตุเดียวกันย่อมไหลไปรวมกัน

เราอาจจะเคยพลาดพลังเสียทีให้กับคนที่บอกว่าตนดี ตนจริงใจ แต่สุดท้ายก็หักหลังเราเหมือนเคย ๆ ซึ่งการไม่รีบปักใจเชื่อแล้ววางใจเพื่อศึกษากันนี่แหละ จะทำให้เราไม่ผิดหวัง ไม่ทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การจะรู้ว่าใครดีจริง ไม่ใช่รู้กันได้ง่าย ในเวลาสั้น ๆ เช่นเดือนสองเดือนนี่ไม่รู้กันหรอก มันต้องคบหาใกล้ชิดรู้จักกันเป็นเวลายาวนานนนนนน ถึงจะพอรู้ แต่กระนั้นก็ยังมีหมายเหตุด้วยว่า คนมีปัญญาจึงรู้ได้ คนไม่มีปัญญาไม่รู้

… ก็จบลงตามเวรตามกรรมกันไปอย่างนี้แหละ

สังคมต้องการคนดีที่กล้าหาญ

ธรรมจากอาจารย์หมอเขียวครับ ยากแสนยากเลย ท้าท้ายกิเลสทั้งสองด้าน จะแยกเป็น 5 มุมตามความเข้าใจนะครับ

1.ติเพราะชัง …เกลียดเขาก็ใส่ยับเลย บันดาลโทสะเต็มที่ กิเลสงอกงาม
2.ชมเพราะชอบ …เพราะเขาคิดเหมือนเรา เอามาเพิ่มพลังเรา เพิ่มอัตตากันให้เต็มบ้อง
3.ไม่ติเพราะกลัว …ไม่กล้าแตะ กลัวเขาสวน กลัวคนเกลียด
4.ไม่ชมเพราะกลัว …ไม่กล้าชม กลัวคนหาว่าโง่
5.ไม่ติไม่ชมเพราะโง่ …เข้าใจผิดว่า ผู้อยู่เหนือหรือผู้บรรลุคือผู้ไม่ติไม่ชม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสความประมาณว่า ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม …ส่วนพวกไม่ติไม่ชมนี่มิจฉาทิฏฐิ ฤๅษีชอบคิดแบบนั้น

ส่วนติชมที่ไม่เป็นไปตามกิเลสก็มี คือเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตนเองก็ได้แสดงสิ่งดี ผู้อื่นก็จะได้นำไปพิจารณา ที่เหลืออยู่ที่จิตของแต่ละคนแล้วแหละ ว่าข้างในคิดอะไร

การเมืองรสจัด

แก้เลี่ยนกันหน่อย อะไรที่มันอ้อม ๆ บางทีมันก็ไม่ทันใจวัยรุ่นสักเท่าไหร่นัก

ผมศึกษาการเมืองยุคนี้มาไม่มาก แต่ก็พอจะเห็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่ คือระดับพลิกประเทศจากสวรรค์เป็นนรกได้เลย

เพราะมีพรรคหนึ่งเขาไม่เอาเลยนะ ชาติ ศาสนา กษัตริย์ เขาไม่เอาสักอย่าง คือธงไทยนี่เขาไม่เอาเลย เขาจะเอาแบบของเขา เขามีความเห็นกันไปอย่างนั้น

ทหาร กองทัพ กองกำลังภาครัฐนี่เขาไม่เอา เขาจะฝึกกองกำลังประชาชนของเขาเอง นี่มันอะไรกัน ช่างย้อนแย้งเสียจริง ไม่เอาอำนาจทหาร แต่กลับสร้างอำนาจทหารในอีกชื่อ

ศาสนานี่เขาตีทิ้งเลย เขาไม่ใยดีเลย ให้สลายทิ้ง โอโห้!? คิดแล้วสยอง ประเทศที่ไม่มีหลักธรรมนำสังคม มันจะไปทางไหน มันก็ไปทางตัวใครตัวมัน ดีของข้า ดีของเอ็ง สุดท้ายมันก็ตีกันด้วยความเชื่ออยู่ดีนั่นแหละ

กษัตริย์นี่เขายิ่งไม่เอาใหญ่ ถ้อยคำที่แสดงออกมานี่นอกจากจะไม่เคารพแล้วยังออกไปทางชัง ๆ อีกด้วย อันนี้ก็ลบหลู่คุณท่านเกินไป มาเล่นกับศรัทธาคนส่วนมากที่เขารักและฝังใจไว้แล้วระวังคุณจะเจ็บหนัก แต่เอาแค่วิบากกรรมที่เพ่งโทษก็นรกกินหัวแล้ว ไม่ต้องไปแช่งอะไรเขาให้เกิดชั่วในตนเองหรอก เพราะที่เขาไม่เคารพบุคคลที่ควรเคารพ ไม่บูชาบุคคลที่ควรบูชา ก็แสดงถึงภูมิปัญญาของเขามากพออยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงควรเห็นใจเขา เมตตาเขา ให้อภัยเขา กับความไม่รู้ดีรู้ชั่วของเขา

จริง ๆ แนวความคิดนี้มันมีมานานแล้ว แต่มันไม่ออกรูปชัด เพราะพรรครุ่นพี่เขาก็แนวนี้ทั้งนั้นแหละ แต่นี่รุ่นใหม่ เด่นกว่า แซ่บกว่า รสจัดกว่า นรกกว่า คือตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ไม่แอบ ไม่ละเมียดละไม แต่ก็ถูกใจคนไม่น้อย

ก็ไม่ต้องกังวลไป สุดท้ายพวกเขาก็ไปที่เดียวกันนั่นแหละ ถ้ามันดีจริงก็เป็นสุข ถ้าชั่วก็ไปนรก พระเทวทัตยังมีบริวารของพระเทวทัตเลย มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะมีคนชอบอะไรแปลก ๆ

สุดท้ายถ้าประเทศไทยมันไปอย่างนั้นจริง ๆ ก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องทุกข์อะไร เพราะถ้าได้ทำดีที่สุดแล้ว ผลจะเป็นยังไงก็เป็นไปอย่างนั้น

ก็เหมือนกับศาสนาพุทธในไทยทุกวันนี้ เนื้อแท้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่เปลือกปลอม ๆ ให้คนหลงมัวเมากันต่อไป ประเทศไทยมันจะเปลี่ยนไปสู่อนาคตใหม่ ๆ แบบนั้น มันจะต้องทุกข์อะไร มันก็เหมือนพุทธทุกวันนี้นั่นแหละ สุดท้ายคนก็อยู่แบบหลง ๆ งง ๆ กันต่อไป

ชอบไหม?

อนาคตใหม่วนไปที่เก่า

ผู้คนแสวงหาอนาคตใหม่ ๆ ทางเลือกใหม่ ๆ เผื่อว่าอะไรมันจะดีกว่าเดิม ก็จริงอยู่ที่ว่าอนาคตนั้นมีอยู่ ความแปลกใหม่นั้นมีอยู่ แต่ความดีนั้นอาจจะไม่มีจริง

ซึ่งทางเลือกใหม่ อนาคตใหม่ อาจจะเป็นเหวแห่งทุกข์เดิม ๆ ที่เคยตกมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็เป็นได้

ความวนเวียนกลับไปที่เก่า หมายถึงความไม่เจริญ ความเสื่อม แต่ความวนเวียนนี้คืออะไร ในเมื่อใครต่อใครก็อ้างบอกกล่าวกู่ร้องก้องตะโกน ว่าข้าของใหม่ ข้าจะมาเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

ความวนเวียนคือความไร้ศีลธรรม ไร้ความเคารพ ไร้ศรัทธา เมื่อคนสิ้นศรัทธาแก่ผู้ที่ควรเคารพบูชา ถือเอาตนเป็นที่ตั้ง ถือเอาตนเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ดูถูกคุณความดีของผู้อื่น(มักขะ) ถือเอาความเห็นตนเป็นใหญ่(มานะ)

ความวนเวียนคือความเสื่อมในศรัทธาต่อสิ่งที่ดีงาม บางคนมีความเห็นว่าศาสนาไม่จำเป็น ผู้นำทางจิตวิญญาณไม่จำเป็น นั่นก็เพราะเขาไม่มีศรัทธา

ซึ่งในศาสนาพุทธเรียกว่าอินทรีย์พละ ผู้ที่จะเจริญ หรือเป็นคนดีที่ดีแท้ในศาสนาพุทธอันดับแรกคือมีศรัทธา นั่นคือเบื้องต้นในนิยามคนดีของพระพุทธศาสนา

การที่เขาไม่มีความศรัทธาในบุคคลที่ควรศรัทธา ไม่ศรัทธาในธรรมที่ควรศรัทธา นั่นเพราะเขายังไม่มีปัญญาเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นดีอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เป็นสิ่งล้ำค่าอย่างไร จึงตีทิ้งคุณค่าเหล่านั้นไป เปรียบเหมือนไก่ได้พลอย กิ้งก่าได้ทอง

ซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับยุคสมัยที่ใกล้กลียุคเข้าไปทุกที ความชั่วมีมาก ความดีมีน้อย คนส่วนมากที่เกิดในยุคนี้คือคนที่ไม่มีธรรมะติดตัวมาเลย มีแต่สัญชาติญาณ กิเลส ความยึดมั่นถือมั่น อัตตาตัวตนทั้งหลายแหล่ …ถึงจะเก่ง ถึงจะโดดเด่นขึ้นมาได้ แต่ก็อาจจะเป็นเพียงแค่คนฉลาดในเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส คือ โกง หลอกลวง ตลบแตลง เล่นละครต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จของตน

นั่นหมายถึงถ้าเราเลือกคบคนไม่มีศีลธรรม เราก็จะวนกลับไปสู่ยุคที่ไม่มีความดี ยุคที่ไม่มีความเจริญทางจิตวิญญาณ หรือสรุปสั้น ๆ ว่าจะเข้าไปสู่กลียุคได้ไวขึ้น

เพราะถ้าเรามีผู้นำที่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีความศรัทธาในศาสนา ไม่เคารพบุคคลที่ควรเคารพบูชา เขาย่อมไม่มีหลักยึด จะมีให้ยึดก็เพียงแต่ตัวตนของเขา ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน

ความเก่ง ความมั่นใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะในการพูด วาทะที่โน้มน้าวน่าฟัง ฯลฯ ไม่ได้เป็นตัวตัดสินได้เลยว่าคนจะเป็นคนดี หรือจะเป็นผู้นำที่นำพาผองชนไปสู่ความผาสุกได้

ศีลธรรมต่างหากที่จะเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องนำความเจริญและความผาสุกมาให้ผองชน

เพราะถ้าไม่มีศีลธรรม ก็จะต้องพบกับความวนเวียนไม่รู้จบ เกิดมาเป็นคน ไม่ทำสิ่งดี ทำแต่สิ่งชั่ว ก็วนกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ใช้วิบากกรรมวนเวียนไป จนได้เกิดมาเป็นคนอีก ก็ยังไม่สำนึก ยังแสวงหา เบียดเบียน บ้าอำนาจ สุดท้ายก็ใช้กุศลกรรมที่ทำมาจนหมดไปกับกิเลส ก็วนกลับไปเป็นสัตว์ วนเวียนไปเช่นนี้ไม่รู้จบ

ดังนั้นอนาคตที่ว่าใหม่ อาจจะเป็นนรกขุมเดิม ๆ ก็เป็นได้ … ไม่เหนื่อยกันบ้างหรอ

เลือกตั้งปี 62 ในมุมมองของผม

บ้านเมืองก็สงบสุขกันมาพักใหญ่ ๆ ช่วงโค้งสุดท้ายนี้ก็ดูจะชุลมุนวุ่นวายกันเล็กน้อย แต่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป

คนที่มีสิทธิ์หรือยังไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะยินดีในการกระทำใด ๆ ของใครก็ตามที่ตนเห็นว่าดี

แต่สิ่งที่ตนคิดตนเห็นนั้นดีจริงหรือเปล่า จะใช้อะไรมายืนยัน? จะเชื่อได้อย่างไรว่าเราเห็นควร เห็นถูก กระทำถูกจริง?

ในมุมมองของผม ซึ่งจะไม่เด่นไปทางถนนสายการเมือง ไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้สักเท่าไรนัก จะรู้ก็เผิน ๆ ตามข้อมูลที่ได้รับ ตามภูมิธรรมที่มี ว่าคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร

แต่โดยส่วนตัวผมก็เลือกไว้แล้ว แต่จะให้บรรยายเหตุผลหรือข้อดีอย่างกระจ่างแจ้ง ผมทำไม่ได้หรอก ความสามารถไม่ถึงปัญญาไม่พอ

ซึ่งคนที่ผมเลือกก็ยังตรงกับครูบาอาจารย์ การเลือกของครูบาอาจารย์เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าโอกาสผิดพลาดน่าจะน้อยกว่าเชื่อตัวเอง เพราะครูบาอาจารย์ท่านคิดดี ทำดี พูดดีมากกว่า อินทรีย์พละสูงกว่า ประสบการณ์มากกว่า และแน่นอนที่สุดคือปัญญามากกว่า เมื่อท่านเลือกใครท่านก็ต้องแบกรับวิบากไว้ ซึ่งจำนวนก็มหาศาลกว่าคนทั่วไป เพราะการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณก็ต้องมีส่วนเหนี่ยวนำให้คนอื่นทำตาม

ผมเชื่อว่าท่านต้องเลือกทางที่ดีที่สุดให้ตนเองและสังคมแน่นอน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านก็เสียสละ ทำดี ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างเสมอต้นเสมอปลายและเสมอมาตั้งแต่ท่านเข้ามาทำงานศาสนานี้

ผมเชื่อว่าจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีอะไรดีกว่าเราลดอัตตาตัวตน ตัวยึดดีถือดีทั้งหลาย เข้าไปรวมพลังกับครูบาอาจารย์หรอกครับ ถ้ามันจะถูก ก็ให้เจริญไปด้วยกัน ถ้ามันจะผิดก็จะได้ช่วยกันแก้

และสุดท้าย ผมขอย้ำว่า ผมไม่เชื่อว่าตัวเองจะฉลาดหรือมีปัญญามากกว่าครูบาอาจารย์

…สมณะโพธิรักษ์และอาจารย์หมอเขียว เลือกที่จะเทคะแนนให้ลุงตู่ ตัวผมก็เช่นเดียวกัน

ท่องเที่ยว ท้าทาย อบายมุข

การท่องเที่ยวนี่ยิ่งท้าท้าย ยิ่งเบียดเบียนมาก อ่านข่าวแล้วเจอเนื้อหาที่ว่าน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ละลายแล้วเจอศพแช่แข็งกว่า 300 ศพ

เขาก็ไปท้าทายกัน ท้าทายไปก็ไม่ได้อะไร ภูเขามันก็อยู่ของมันแบบนั้น การที่จะมีคนไปเหยียบหรือไม่มี ไม่มีผลอะไรกับมันเลย

แต่เขาก็เอาชีวิตไปทิ้งกัน เสี่ยงไหมก็เสี่ยงมาก เขาก็เอาไปเสี่ยงกัน ไปท้าทาย เพราะหลงว่ามันจะดี มันจะสุข มันจะเลิศยอด สุดท้ายก็ตายหายสาปสูญกันไป

เบียดเบียนตัวเองและญาติมิตรไปแล้วยังไม่พอ ยังลำบากคนอื่นอีก เพราะค่ากู้ศพแต่ละศพนั้นมีต้นทุนเป็นหลักล้านในการดำเนินงาน

ก็อย่าไปหลงตามโลกกันนักเลยว่าที่นั่นดี ที่นี่ดี ที่นั่นท้าทาย อร่อย สนุก ฯลฯ มันลองไม่หมดโลกหรอก ทำจนตายก็ลองไม่หมด เหลือทิ้งไว้แต่ปัญหาและตัณหาเท่านั้นแหละ

ท่องเที่ยวทั่วไปก็พอกันนั่นแหละ ไปก็มีแต่กิเลส บำเรอกาม ผ่านการกิน ดู ชม ฟัง ฯลฯ คือทำแล้วกิเลสเพิ่มอย่าไปเลย

แต่ถ้าไปทำอะไรแล้วกิเลสลด อันนี้มันก็น่าลอง แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่สนใจหรอก ใครจะไปล่ะ ไม่สนองกิเลส ไปขัดเกลาอัตตา ใครจะไป … ก็มีแต่คนต้องการพ้นทุกข์นั่นแหละ

วารสารวิชาการวิชชาราม ฉบับที่ 2

หลังจากฉบับแรกก็ออกกันมาก่อนหน้านี้สักพักใหญ่ ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา วารสารวิชาการ วิชชารามฉบับที่สองก็ได้พิมพ์ออกมาจำหน่ายแล้ว ซึ่งจนถึงป่านนี้หลายคนที่เป็นแฟนคลับแพทย์วิถีธรรมก็คงมีกันไว้ในครอบครองแล้ว

ปัจจุบันมีการทำเว็บไซต์ สถาบันวิชชาราม (vijjaram.org) ซึ่งจะใช้เพื่ออัพเดทเนื้อหาในส่วนงานวิชาการของเครือข่ายแพทย์วิถีธรรม รวมถึงงานส่วนสถาบันวิชชารามอีกด้วย ซึ่งวารสารวิชาการวิชชารามเล่ม 2 นี้ก็เปิดให้ดาวน์โหลดกันฟรี ในเว็บไซต์ สามารถติดตามเข้าไปดูรายละเอียดได้ ซึ่งสามารถชมได้ทั้งแบบ pdf และอ่านบทความออนไลน์

วารสารวิชชาการ วิชชาราม ฉบับที่ 2วารสารวิชาการ วิชาราม ฉบับที่ 2

ปฏิบัติธรรมกับการกิน

ถ้าใครสนใจทดลองดู ก็ลองดูวีดีโออันนี้กันก่อน จะเห็นหมาตัวสุดท้าย อดทนไม่กินเนื้อ น้ำลายยืด

คนก็เหมือนกัน ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ น้ำลายก็ออกเหมือนกัน ลองไปนั่งกินอาหาร เรากินผัก เขากินเนื้อสัตว์ เขาสั่งเนื้อสัตว์แพง ๆ มา อาการจะเป็นอย่างไร มองอยู่นั่น น้ำลายยืด ฯลฯ นี่แหละเขาเรียกกิเลส เรียกว่าอาการของกาม คือความอยากกิน อยากได้ อยากเสพ ทดลองกันดูก็ได้ 7 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ มีกิเลสอยู่อาการออกทั้งนั้น

ที่กายสังขาร คืออาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่ปรากฏเพราะจิตยังสังขารอยู่ สรุปคือกิเลสยังมีอยู่ ไม่งั้นอาการมันไม่เกิดหรอก ของอื่น ๆ ก็เช่นกัน อาการอยากบุหรี่ เหล้า ฯลฯ อาการทั้งหลายที่ปรากฏ อาการหลอกของกิเลสทั้งนั้น มันเกิดจริง แต่มันไม่จริง มันปรุงมันปั้นขึ้นมาจากจิตอวิชชา

(สังขาร 3 ได้แก่ จิตสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร)

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติให้เลิกกินเนื้อสัตว์

มีบางท่านก็ยังเห็นและสงสัย ส่วนบางท่านปักมั่นไปแล้วก็ลองพิจารณากันดู

ครั้งที่พระเทวทัตมาขอให้บัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ยินดีตามพระเทวทัต

!? แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ และท่านก็ไม่ได้ห้าม ถ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ครั้งที่มีพราหมณ์มากล่าวหาว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ท่านก็ยังปฏิเสธว่า เราถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง

*ทำไม่ท่านจึงไม่บัญญัติ เพราะท่านบัญญัติไว้แล้วในศีลข้อ ๑ เนื้อความว่า “เธอละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่”

นั่นหมายความว่าเมื่อปฏิบัติตามศีลไป จะละเว้นเนื้อสัตว์ได้เอง เพราะการที่ยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ก็ยังไม่เต็มในเมตตา ยังไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความกรุณา ไม่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ …ก็อาจจะเถียงไปได้ ว่าหวังประโยชน์แก่คนฆ่า คนขาย คนเลี้ยง เดี๋ยวธุรกิจบาปเขาจะพัง

ในการปฏิบัติศีลนี้ไม่มีบทลงโทษ นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติก็จะทำไปตามลำดับได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละ คนอ่อนแอ ยังอยากมากก็ต้องหามาเสพ แต่ถ้าตั้งจิตถูกว่าจะพยายามลด ละ เลิกก็ไม่ได้ผิดในทางปฏิบัติอะไร เพราะท่านเข้าใจว่ากิเลสมันร้าย มันต้องค่อย ๆ ปฏิบัติลด ละ เลิกไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วการไม่กินเนื้อสัตว์ นั้นเป็นระดับเบสิคของพุทธที่เรียกว่าได้กันโดยสามัญ เพราะใช้ปัญญาเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้ในปัจจุบัน ผู้คนไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธ เขาก็ยังมีปัญญาลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนชีวิตอื่นมาก

ดังจะสอดคล้องกับหลักพุทธอีกหลายข้อ คือการเอาสัตว์มาฆ่ากินนี่บาปตั้งแต่ สั่ง ฉุด ลาก ดึงมันมา ทำร้ายมัน ฆ่ามัน สุดท้ายทำให้คนยินดีในเนื้อที่ฆ่ามานั้น บาปทุกขั้นตอน หรือการค้าขายที่ผิด พระพุทธเจ้าไม่ให้ขายชีวิตสัตว์ ไม่ให้ขายซากหรือเนื้อสัตว์ เพราะท่านรู้ว่ามันจะเป็นเหตุให้คนไปหาผลประโยชน์จากสัตว์ ไปเบียดเบียนสัตว์ ท่านก็ปิดประตูนี้

แค่เอาจากจุลศีลข้อ ๑ ,มิจฉาวณิชชา ๕ ,ทำบุญได้บาป ๕(ชีวกสูตร) เอาแค่นี้ก็ไม่ต้องบัญญัติว่าควรกินหรือไม่ควรกินแล้ว เพราะสาวกผู้มีปัญญา ปฏิบัติตามครรลองคลองธรรมไปโดยลำดับแล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดควรละ สิ่งใดควรยึดอาศัย

เชื่อไหม ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ นี่มันไม่ต้องเถียงกันเลยนะ มันจะสอดคล้องกับข้อธรรมทั้งหมดเลย มันจะไม่ขัด ไม่แย้งกันเลย แต่ถ้ากินเนี่ยนะ มันจะขัด จะแย้งไปหมด ยังมีอีกหลายบทที่ยกมาแล้วจะยิ่งล็อกไปใหญ่ แต่มันยาว ก็ยกไว้ก่อน

แต่ก็เอาเถอะ ถ้าเขาปฏิบัติจนเจริญจริง ภาวนาได้จริง เมตตามีจริง เขาก็หาทางเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงทางอ้อมนั่นแหละ ไม่ปฏิบัติอะไรหรือปฏิบัติผิด มันก็ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร มันก็เถียงกินอยู่นั่นแหละ เอ้อ จะมีปัญญาเพิ่มก็ปัญญากิเลสนี่แหละ สามารถเถียงกิน เถียงเพื่อที่จะทำชั่ว เถียงเพื่อที่จะเบียดเบียนได้เก่งขึ้น

…ก็เอานะ ถ้าเข้าใจว่าพ้นทุกข์ก็ทำกันไป แต่ผมว่าไม่พ้นหรอก เพราะสุดท้ายก็ต้องคอยเถียงกินกันทุกชาติ ผมว่ามันทุกข์นะ ไม่เหมือนคนที่เผยแพร่สิ่งดี เอ้ามาลด ละ เลิกการเบียดเบียนกันเถอะ นี่เขาทำไปมันก็เป็นกรรมดี คนจะเห็นต่างบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกับใคร ไม่ต้องมาปกป้องกิเลสหรือความเห็นผิดของตัวเองกับใคร ก็เผยแพร่ไปตามโอกาสของตัวเองนี่แหละ สบาย ๆ นึกออกก็บอก นึกไม่ออกก็วางไป ไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องบอกสิ่งดี แต่ก็อาศัยสิ่งดีให้ดีเกิด

สัจจะมันไม่ได้ถูกหรือผิดเพราะเชื่อหรือคนกำหนดนะ มันถูกมันผิดของมันโดยธรรม คุณกินสิ่งที่มันเป็นโทษ มันเบียดเบียน มันก็เป็นโทษ เบียดเบียนของมันอยู่อย่างนั้น มันหนีความจริงนี้ไม่พ้นหรอก สุดท้ายก็ต้องได้รับผลกรรมตามที่ทำ และผลของการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็แตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยของมัน

ธรรมในดงกาม

การศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนถึงความรู้ความเข้าใจในทุกวันนี้ มีสภาพที่ลักลั่น กลับหน้าเป็นหลัง กลับเบื้องปลายเป็นต้น กลับหัวกลับหางไปหมดแล้ว

ในมุมความเข้าใจ เช่น การบวช เขาก็เอากามมาใส่ บ้างก็บอกงานบวชต้องครื้นเครง จริง ๆ พระพุทธเจ้าให้ละอบายมุข ให้เว้นจากมหรสพและการบันเทิงที่ไม่เป็นกุศล ที่เพิ่มกิเลส สนองกิเลส นั่นกามในระดับอบายมุขเขายังเอามาใส่ในงานบวชได้หน้าตาเฉย แล้วหลงว่าเป็นของดีด้วย วัดก็เช่นกัน เอางานรื่นเริงงานกิเลสมาใส่ในวัด เป็นส่วนหนึ่งของวัด กลายเป็นกามกับกับการปฏิบัติธรรมเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก ความเห็นนี่มันเพี้ยนไปหมดแล้ว

ในมุมการศึกษาและปฏิบัติยิ่งแล้วใหญ่ สมัยนี้เขาไม่พูดถึงกามกันนะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เขาไม่ลด ละ เลิกกันเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นธรรมเบื้องต้นที่ควรละ เขาไปปฏิบัติกันอัตตานู่น จะมาละอัตตา ไม่เป็นตัวกูของกู สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่มันลักลั่น ไม่เป็นไปตามลำดับ ไม่เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็เลยตีกินเสพกาม คือละอัตตามาเสพกาม หรือจะเรียกว่าฉันจะเสพ แกอย่ามายึดมั่นถือมั่น

กลายเป็นคนกามจัด และศึกษาธรรมไว้ป้องกันตัวเอง เอาไว้กันคนด่า มีเห็นต่างก็สวนด้วยบทอัตตา แต่กลิ่นกามตัวเองนี่เหม็นโฉ่เลย แบบนี้ก็เคยเจอมาแล้ว

ปฏิบัติธรรมในมุมอัตตามันเหมือนจะดูเท่ แต่จริง ๆ ถ้าเอาอัตตามาก่อน มันจะไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย เพราะดันชิงวางไปหมด สิ่งที่ดีสิ่งที่ควรละก็ดันวางหน้าที่ไป เช่น กามควรละก่อน ก็เพิกเฉย ก็ปล่อยผ่านไป ทำเหมือนกามไม่เป็นภัย ฉันไม่มีอัตตาฉันก็จบกิจได้แล้ว อันนี้มันก็ผิดเพี้ยนไป

ในกามก็ยังมีมิติของความเบียดเบียนที่แตกต่างกัน กามที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นมาก เช่น การกินเนื้อสัตว์ ที่มีความอยากในรูป รส กลิ่น สัมผัส ถึงขนาดที่จะต้องเอามาบำเรอตน ต้องเอามาเสพ ไม่หยุด ไม่ละ ไม่พราก อันนี้คนเขาก็ไม่ปฏิบัติกัน ไม่ศึกษากัน เขาจึงไม่รู้ว่าความอยากกินนี่แหละกิเลส กามที่หนาขนาดนี้นี่แหละควรจะละ ควรจะกำจัดก่อน เพราะมันเบียดเบียนรุนแรงมาก ถึงขนาดจะต้องเอาชีวิตเขามา

ถ้าคนศึกษาอธิศีลข้อ ๑ จนเจริญขึ้น มีปัญญาขึ้นจะสามารถลดละกามในระดับนี้ได้เอง แต่ก็จะมาติดกามในระดับต่อไปเช่น เนื้อเทียม อาหารมังสวิรัติปรุงอร่อย กามหรือความอยากในระดับนี้ไม่ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นโดยตรง แต่ก็ยังเบียดเบียนทำร้ายชีวิตตัวเองด้วยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ความเป็นพิษเป็นภัยของอาหารรสจัดและปรุงแต่งมากอยู่ ดังนั้นเมื่อปฏิบัติต่อไปก็ลดกามในระดับนี้ไปตามลำดับ

ดังที่ยกตัวอย่างมา จะสอดคล้องกับสังโยชน์ ๑๐ ในเบื้องต่ำ ๕ ข้อ ก็ต้องละกามราคะให้ได้ก่อน ซึ่งกามมันก็อยู่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ มันก็เรื่องกิน แต่งหน้าแต่งตัว ฯลฯ แต่คนเขาไม่ปฏิบัติกันนะ เขาลัดไปปฏิบัติอะไรก็ไม่รู้ตามที่เขาว่าดี แต่มันไม่เป็นไปตามลำดับที่พระพุทธเจ้าตรัสไง คือมันก็ดูเท่ดีอะ ละอัตตา ดูไร้ตัวตน ไร้ความยึดมันถือมั่น แต่ลำดับมันผิด มันก็ผิดหมดแหละ เหมือนเด็กที่ร้อนวิชาอยากบรรลุธรรมไว ๆ เลยไปเอาวิทยานิพนธ์ของ ปริญญาเอกมาอ่าน มันก็เข้าใจนั่นแหละ แต่เข้าใจแบบเด็กอนุบาล แล้วก็เอามาสอนและปฏิบัติกันผิด ๆ มานานแล้ว

บางคนนี่ยิ่งแล้วใหญ่ อ้างว่าศึกษาปฏิบัติธรรม ลดกิเลสนะ อวดใหญ่เลย แต่อบายมุขนี่เต็มบ้องเลย อบายมุขนี่หยาบกว่ากาม เน่ากว่ากาม เขายังลดไม่ได้เลย จะมีปัญญาเห็นว่ากามเป็นโทษนี่เป็นไปไม่ได้หรอก

อบายมุขเช่นอะไร? เช่นเสพของมึนเมา เมาในอะไรก็ตามแต่ วัตถุหยาบ ๆ ก็ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ เมาดารา เมาของสะสมก็เมาในระดับอบายมุขเหมือนกัน แต่มันติดรูปติดวัดถุกันคนละอย่าง

๒.ก็เที่ยวกลางคืน คือเร่ร่อนหากามเสพในตอนกลางคืนนั่นแหละ จะกิน เที่ยว ดู ชม ฟัง อะไรก็แล้วแต่ กลางคืนไม่ใช่เวลาที่ควรจะเสพแล้ว แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ไม่เลิกรา

๓.ดูการละเล่น ดูหนังดูละครที่มันเพิ่มกิเลส เอาสนุก เอามัน เอาสะใจ ดูกีฬา กายกรรม คอนเสริต ฯลฯ นี่ระดับอบายมุขทั้งนั้น คือมันไม่จำเป็นกับชีวิต ก็ต้องเอามาเสพให้เสียเวลา

๔.เล่นการพนัน ก็พนัน หวย หุ้น พวกนี้เข้าเกณอบายมุขหมด

๕.คบคนชั่วเป็นมิตร มงคลชีวิตคือห่างไกลคนชั่ว คนชั่วพาไปทำชั่วได้สารพัด พาไปผิดศีลเมาอบายมุขข้ออื่น ๆ

๖.ขี้เกียจ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อ้างนู่นอ้างนี่อยู่นั่น (แต่ขยันในสิ่งที่เป็นโทษ ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดี)

นี่อบายมุข ๖ โดยย่อ นี่กิเลสหยาบ ๆ เลย คนปฏิบัติธรรมสมัยนี้เขาไม่ละไม่ทำให้ลดกันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงกามเลย ไม่มีปัญญารู้หรอก มันจะไม่รู้ว่ากามเป็นโทษอย่างไร ไม่มีปัญญารู้ว่าเสพแล้วให้ผลอย่างไร กรรมที่เสพกับกรรมที่ไม่เสพต่างกันอย่างไร ไม่มีปัญหารู้ มันจะทื่อ ๆ งง ๆ ตีทิ้งไปเลย

สุดท้ายพอศึกษาและปฏิบัติธรรมลักลั่น มันก็เลยผิดเพี้ยน ได้ความเท่เฉย ๆ แล้วก็เอากามไปหมกไว้ใต้อัตตา เอาไปซ่อนไว้ใต้คำคมธรรม คือพูดน่ะดูดี แต่กามยังเสพอยู่ เหมือนพูดธรรมชั้นสูง แต่ปากยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ อันนี้หลักฐานมันก็คาปากอยู่ ไอ้ที่หยาบ ไอ้ที่ว่าง่ายคุณยังเลิกไม่ได้ ไม่ต้องไปหวังอะไรมากกว่านั้นหรอก เพราะมันจะไม่มีปัญญาเข้าใจแล้ว ถึงเข้าใจไปก็เฉโก ก็ตีกินไปตามกิเลสนั่นแหละ