ต้นมะเขือเทศสุดอึด

ต้นมะเขือเทศสุดอึด

ต้นมะเขือเทศสุดอึด

มะเขือเทศนี่เป็นพืชที่ผมค่อนข้างประทับใจกับความอึดของมันตั้งแต่ครั้งก่อนที่ลงว่า ปลูกไว้ตั้งแต่ต้นโตแค่ 4-5 นิ้ว แต่ทิ้งไว้ กับฟ้ากับฝน 3 เดือน กลับมา ยังรอดอยู่ได้ แถมให้ผลอีก

แล้วตอนนี้มันไม่ใช่แค่รอดนะ มันยังงามด้วย คือให้ผลได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่เรารดน้ำ บำรุงมันให้ดีหน่อย มันก็กลับฟื้นและออกดอกออกผล

อย่างในรูปนี้ กิ่งนี้กิ่งเดียว ก็ออกผล 5 ลูก ยังมีกิ่งอื่นอีก แต่มีลูกไม่เยอะ 2-3 ลูก ต้นนี้มี 3 กิ่ง คิดว่าคงโตและให้ผลไปได้อีกสักพักก่อนที่มันจะต้องตายไปตามอายุขัยของมัน อย่างน้อยก็มีมะเขือเทศไร้สารพิษให้ผมได้กินเสริมวิตามินไปได้อีกสักพัก

[27] ถางหญ้า ตัดหญ้า ซอยหญ้า

diary-0027-ตัดหญ้า

27. ถางหญ้า ตัดหญ้า ซอยหญ้า

ที่นี่เป็นไร่เก่า มีหญ้าเป็นปกติ ถ้าปล่อยไว้นาน หญ้าจะโต ยาวมากกว่า 1 เมตร แม้จะเห็นว่ามันแห้ง แต่มันยังไม่ตาย ถ้าเราไม่ตัด มันก็จะไม่สลาย มันจะอยู่ของมันแบบนั้นไปอีกนานพอสมควร

แต่ถ้าเราตัด มันก็จะแตกใบใหม่ ถึงตอนนั้นค่อยขุดต้นมันออกอีกทีหนึ่ง เมื่อเราตัดหญ้าเราก็จะได้หญ้า จะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่สะดวก

แต่ก่อนผมใช้คลุมต้นไม้บ้าง คลุมแปลงผักบ้าง ไอ้คลุมต้นไม้นี่มันก็ดีอยู่หรอก ไม่นานก็ย่อย แถมรักษาความชื้นใต้ต้นได้อีก แต่คลุมแปลงผักนี่ไม่ไหว หญ้ายาวกว่าหนึ่งเมตร จัดลงแปลงผักเล็ก ๆ ของเรา ยังไงมันก็ขาด ๆ เกิน ๆ ล้นออกมาบ้าง ไม่สม่ำเสมอกันบ้าง

สุดท้ายก็เลยลองเอาหญ้ามาตัด ก็ลองตัดตั้งแต่ 2 นิ้ว ไปจนถึง 6 7 8… ก็แล้วแต่จะไปใช้กับที่แบบไหน ถ้าเอาไปคลุมพื้นที่เพาะเมล็ด ซอยสั้น ๆ มันก็ดี แต่ถ้าเอาไปลงแปลงผัก ซอยสั้น ๆ ก็จะเสียแรงเสียเวลาเยอะไปหน่อย

ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ดี ที่เอาไว้ทำตอนเที่ยง ๆ จนถึงบ่าย เป็นกิจกรรมที่ทำได้ในร่ม ไม่ต้องออกแดด ตัดหญ้าไป ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ไป เพลินดีนักเชียว

ตำลึง

ตำลึง

ตำลึง

เพิ่งจะปลูกตำลึงจริงจังได้ไม่นาน จริงจังขนาดว่าทำค้างให้มันเลื้อยด้วย แต่มันไม่ยอมเลื้อยไปตามค้าง มันจะเลื้อยไปตามผิวดินท่าเดียว ก็เลยต้องเอาเชือกผูกกับค้าง แล้วเอามาพัน ๆ เถาตำลึง

ตำลึงที่หามานั้นก็เอามาจากแถว ๆ นั้นที่มันขึ้นของมันเองบ้าง เอามาจากที่บ้านกรุงเทพฯ บ้าง ( มันก็ขึ้นของมันเองเหมือนกัน) ก็เอามาปลูกรวม ๆ กัน จะได้มีมวลหน่อย ตอนนี้เพิ่งจะคุ้นกับดินใหม่ เพิ่งจะแตกยอด ยังไม่คลุมค้าง อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก แต่คิดว่าตำลึงจะกลายเป็นผักกันตายอีกชนิด รองจากไชยา คิดอะไรไม่ออก ไม่มีอะไรกิน ก็กินตำลึงนี่แหละ ดูเลี้ยงง่ายตายยากดี มีให้กินเรื่อย ๆ ก็เลี้ยงดูขยายพันธุ์กันต่อไป ถ้างามแล้วจะเอามาให้ดู ตอนนี้ก็งามเท่าที่เห็นนี่แหละ ดีที่สุดแล้ว

ลูกหนูสีชมพู

ลูกหนูสีชมพู

ลูกหนูสีชมพู

วันก่อนก็โพสเรื่องของลูกหนูชุดก่อน มาตอนนี้ก็เป็นเรื่องของลูกหนูชุดใหม่ ที่ยังแบเบาะ ขนยังไม่ขึ้น ตัวยังอ่อน ๆ ชมพู ๆ อยู่เลย

ในช่วงต้นปี พระอาทิตย์จะส่องมาทางหน้าบ้าน ซึ่งตอนเย็น ๆ จะค่อนข้างร้อน ผมก็ว่าจะเอาซาแลนที่ม้วนห้อยไว้ ลงมาบังแดดอยู่หลายวันแล้ว แต่เหมือนได้ยินเสียงสัตว์ก็เลยไม่เอาลงมา ตอนแรกนึกว่าเสียงลูกนก แต่ก็ไม่เห็นมีแม่นกมาวนเวียนสักตัว พอวันหนึ่งมั่นใจว่าน่าจะเป็นลูกหนู ก็เลยค่อย ๆ คลี่ซาแลนออกมาดู

พอคลี่ออกมาเท่านั้น ก็เห็นลูกหนู เด็กกว่าที่คิด ตอนแรกคิดว่าคงจะโตพอเอาตัวรอดกันได้แล้ว แต่นี่ยังเป็นหนูทารกกันอยู่เลย พอคลี่ออกแล้วก็ปล่อยไว้แบบนั้นสักพัก แม่หนูก็ค่อย ๆ มาคาบลูกไปทีละตัว พอคาบไปสองตัวแม่มันก็หายไปเลย ผมก็เลยเอาลูกหนูที่เหลือใส่ถาดไปวางไว้ในห้องเก็บของ ไม่กี่ชั่วโมงแม่มันก็มาเอาลูกไปหมด แต่ไม่รู้ว่าเอาไปเลี้ยงที่ไหนแล้วตอนนี้ ไม่ได้ยินเสียงลูกหนูแล้ว แต่แม่มันชอบเข้ามาหาวัสดุไปทำรังในห้องเก็บของทุกคืน ทำเสียงดังกุกกัก นี่ก็ว่าจะทำที่กันสัตว์แล้วมาแล้ว เดี๋ยวจัดของเรียบร้อยก็คงจะทำให้พอกันหนู กันงูหรือสัตว์อื่น ๆ ได้

เมล็ดฟักทองคั่ว

เมล็ดฟักทองคั่ว

เมล็ดฟักทองคั่ว

หลังจากที่เรากินเนื้อฟักทองแล้ว ก็แยกเมล็ดไว้ ล้างแล้วตากให้แห้ง แห้งแล้วก็เอาไปคั่วไฟอ่อน ๆ ก็จะได้เมล็ดฟักทองคั่วที่กินได้ทั้งเปลือก

ถ้าใช้ไฟแรงไป หรือเมล็ดถึงระยะที่สุกดี เมล็ดจะพองออกแล้วแตกคล้าย ๆ ข้าวโพดคั่ว คือ อาจจะมีเด้งออกจากกระทะบ้าง ก็หาอะไรมาปิดกันไป คั่วได้สักระยะหนึ่งเอาพอสีเปลี่ยน ไม่ถึงกับไหม้ ก็เลิกได้ เอามาพักไว้ให้เย็นก็กินได้แล้ว กรอบ ๆ กินได้ทั้งเปลือก เก็บไว้กินได้หลายวัน

ส่วนใหญ่แล้วจะเหลือเมล็ดฟักทองมาคั่วเสมอ เพราะเมล็ดที่เก็บไว้ปลูกต่อ ก็ไม่ได้เก็บทุกลูก เก็บเฉพาะลูกที่ดูดีตามที่เราต้องการ เช่น ขนาดพอเหมาะ ผิวสวย เมล็ดโตแข็งแรง เป็นต้น

เมล็ดที่เก็บไว้ทำพันธุ์นี่ไม่ต้องใช้เยอะ อย่างในรูปนี่ปลูกได้เยอะเลย สำหรับตอนนี้ผมปลูกแค่ 10 – 20 ต้นก็พอแล้ว ดังนั้นตอนนี้ก็เลยเก็บเมล็ดไว้ปลูกนิดหน่อยเท่านั้น ส่วนที่เหลือเอามาคั่วกิน

[26] ถังน้ำหยด

diary-0026-ถังน้ำหยด

26. ถังน้ำหยด

พอดีว่ามีถังเปล่าเหลือ จากที่เคยเอาไว้หมักเศษอาหาร ตอนนี้ชีวิตในปัจจุบันแทบจะไม่มีเศษอาหารเหลือทิ้งเลย ก็เลยไม่มีอะไรให้หมัก สุดท้ายก็เคลียถังเอามาทดลองทำถังน้ำหยด

ที่คิดจะทำถังน้ำหยดนั้น เพราะคิดว่าน่าจะมีอุปกรณ์ช่วยให้น้ำที่ไม่ต้องผูกติดกับท่อประปาและให้น้ำได้นานพอสมควร เหมาะกับการพยุงไม้ลงใหม่ ให้มันไม่เหี่ยวเฉาเกินไป

ก็ทดลองเจาะถัง ใส่ท่อ ต่อหัวน้ำหยด ถังหนึ่งน่าจะเก็บน้ำได้ประมาณ 50 กว่าลิตร จากที่ทดลองดูใช้หัวน้ำหยด 2 ลิตรต่อชั่วโมง ถังอยู่จะอยู่ได้ราว ๆ 3 วัน เพราะวันท้าย ๆ น้ำจะเริ่มหมด แรงดันน้ำจะลด ทำให้น้ำหยดช้าลง

ก็เอาไปตั้งกลางแดด แต่จะไปตั้งเปล่า ๆ มันก็จะพังเร็วก็เลยหาอะไรไปคลุมแดดไว้หน่อย ก็เอาถุงปูนที่ใช้แล้วนั่นแหละ ผ่าตามยาว แล้วเอาไปกันตามทิศทางของดวงอาทิตย์

ผลออกมาก็พอใจระดับหนึ่ง แต่อาจจะประยุกต์เพิ่มอีกหน่อย เพราะน้ำหนึ่งถังได้ 2 วันกว่า ๆ นี่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ก็พอจะช่วยต้นไม้ต้นสำคัญ ที่อยู่ในระยะห่างที่ดูแลยากให้อยู่รอดได้ดี

ในส่วนถ้าเป็นการลงทุนก็คิดว่าไม่คุ้ม ลากท่อ pe เอาจะดีกว่า เพราะในระยะยาวจะดูแลน้อยกว่า ถังนี้มันเอาไว้ใช้ชั่วคราวจริง ๆ นั่นแหละ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

ผลการเพาะมะเขือเทศ

เป็นมะเขือเทศที่เพาะไว้ตั้งแต่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ก็ราว ๆ 20 กว่าวัน ได้ต้นกล้ามะเขือเทศที่ดูแข็งแรง จริง ๆ แล้วถ้ามันขึ้นง่ายขนาดนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเพาะเยอะแบบนี้ก็ได้ เพราะว่าเพาะเยอะไปก็โตช้า แย่งอาหารกัน ต้องจับแยกปลูก

คราวหน้าว่าจะลองเพาะให้มันปราณีตกว่านี้ดู เพื่อเปรียบเทียบกันว่าแบบไหนจะสะดวกต่อการทำงานมากกว่า บางครั้งเน้นคุณภาพก็ดี บางครั้งเน้นปริมาณก็ดี ก็แล้วแต่องค์ประกอบ ณ เวลานั้น ๆ

ผมค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงมะเขือเทศในระดับทดลอง เพราะสามารถทำจนเกิดวงจรแล้ว คือได้ผล>เก็บเมล็ด>เพาะเมล็ด>ดูแลให้เติบโต>ให้ผล

พอได้ผลแบบนี้แล้วก็ค่อยขยายผลต่อไป จากแปลงเล็ก ๆ ก็ค่อยขยายและเพิ่มปริมาณขึ้น ทดลองดูว่าจะจัดการอย่างไรกับต้นมะเขือเทศ อย่างตอนนี้ที่เลี้ยงอยู่นี่ต้นยาวกว่า 2 เมตร เอามาขึ้นเสา ก็สูงกว่า 2 เมตรเลยทีเดียว

ต้นมันจะสูงจะเลื้อยจะยาวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็อยู่ที่ว่าเราจะจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้มันได้ผล และดูแลได้ง่าย จะปล่อยให้ยาว หรือจะตัดให้สั้นก็ค่อยทดลองกันไปอีกที

ตุ๊กแก

ตุ๊กแก

ตุ๊กแก

ผมค่อนข้างชินกับภาพของตุ๊กแก เพราะมากี่ทีก็เห็นมันทุกที มันชอบแอบอยู่ในมุมมืด ๆ ตามของที่พิงกำแพงไว้ เช่น โต๊ะพับ แผงโซล่าเซลล์

ตุ๊กแกที่นี่ไม่ได้สร้างปัญหามากนัก อยู่มาสามปี ก็ไม่ส่งเสียงร้องรบกวนอะไร เคยมีครั้งหนึ่งมันพยายามร้อง แต่เหมือนร้องแล้วสำลักเลยหยุดไป จากนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงมันอีกเลย เห็นแต่ตัว

มีครั้งหนึ่งมันโดนงูกัด ก็น่าจะตายละนะ ตัวแข็งเลย งูก็พยายามกินซากตุ๊กแก แต่มันกินไม่ได้ไง ตุ๊กแกมันตัวใหญ่แถมยังงับขาตัวเองไว้อีก ก็เลยจับแยกเพราะจะปล่อยให้มันกินก็ใช่เรื่อง เพราะสถานที่กินมันคือหน้าห้องนอนเรานั่นเอง

ตอนนี้จากสองตัวในรูปก็น่าจะเหลือหนึ่งตัว ยังไม่เห็นมีเพิ่มมานะ หรืออาจจะมีมากกว่าหนึ่งก็ได้ แต่จำหน้าตามันไม่ได้เท่านั้นเอง

ยามเย็น

diary-0025-ยามเย็น

ยามเย็น

พอมองบรรยากาศตอนเย็นแล้วก็คิดถึงความแตกต่างจากบ้านที่กรุงเทพฯ ที่นี่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ทุ่งหญ้า ไร่นา ภูเขา ต้นไม้… แสงยามเย็นจึงไม่มีอะไรบังมากนัก เต็มที่ก็ภูเขาบัง แต่กรุงเทพฯ นี่ตึกบัง บ้านบัง ป้ายบัง ก็เป็นความแตกต่างของเมืองกับชนบท มันก็เป็นของมันอย่างนั้น

ในตอนที่แสงแดดอ่อน ๆ ยามเย็นกำลังจะหมดไป ลมหนาวก็พัดมา ช่วงก่อนหน้านี้จะหนาวแค่ตอนเช้ากับตอนหัวค่ำ แต่ตอนนี้เหมือนจะมีลมหนาวพัดมาทั้งวัน แต่ยังไม่ถึงกับหนาวมาก แค่ยืนขุดดินตากแดดตอนเช้า 8.00 น ก็ยังหนาวจนอยากใส่ชุดกันหนาวทั้งตัวทีเดียว

ถ้าเป็นสมัยก่อนผมก็คงจะอยากไปเที่ยวประเทศที่เขาหนาวสุด ๆ มีหิมะ มีธารน้ำแข็ง แต่ตอนนี้ไม่เอาแล้ว อยู่ที่นี่ แค่หนาวเท่านี้บางทีก็ลำบากร่างกายแล้ว เลยไม่รู้จะไปหาหนาวกว่านี้ทำไม

หน้าหนาวนี่ก็ดีอย่าง ทำงานเหงื่อแห้งไว ไม่เลอะเทอะนัก ส่วนหน้าฝนนี่ลำบากสุด คือเหงื่อออกมาก ยุงเยอะ เลอะเทอะ แต่ให้ผลผลิตดีสุด ผักโตไวดี ส่วนหน้าร้อนนี่เสียน้ำเยอะ คนก็ต้องกินน้ำบ่อย ต้นไม้ก็เช่นกัน

ยุง

ยุง

ยุง

อยู่ที่ต่างจังหวัดนี่โดนยุงกัดน้อยกว่าที่บ้านกรุงเทพฯ อีก แม้บ้านนี้จะมีต้นไม้มาก แถมยังติดคลอง แต่ก็ไม่ได้มียุงมากมายเท่าไหร่

แต่ถ้าเราเผลอไม่จัดการให้ดี ๆ ปล่อยภาชนะหรือปล่อยให้มีแหล่งน้ำนิ่ง ยุงจะมาไข่ไว้ สุดท้ายก็จะโดนยุงกัดเพิ่มขึ้น เพราะยุงที่โตมามันก็ไม่ได้ไปหากินที่ไหนหรอก มันก็หากินแถวบ้านเรานั่นแหละ

ที่นี่ผมไม่เลี้ยงสัตว์ แม้ยุงก็ไม่เลี้ยงเหมือนกัน แต่บางคนก็ชอบเลี้ยงยุง กัดทั้งตนเอง กัดทั้งคนในบ้าน กัดทั้งเพื่อนบ้าน ไม่รู้จะเลี้ยงยุงกันไปทำไม แต่เขาอาจจะชอบก็ได้เจ็บ ๆ คัน ๆ ดี