สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

ปฏิบัติธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ใช้วิถีการไหน มีเคล็ดลับอะไร?

มีคำถามมานะครับ คิดว่าถ้าเอามาตอบกันในนี้น่าจะได้ประโยชน์เยอะขึ้น

1.ผมเริ่มศึกษาธรรมะมาตั้งแต่ก่อนปี 50 ก็ยังเป็นธรรมะทั่วไปที่กระจายอยู่ในสังคม จนเมื่อปี 56 ได้คำตอบของการปฏิบัติลงตัว จึงได้เริ่มปฏิบัติจริงจัง จนชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลได้ชัด

2.การปฏิบัติธรรม ของผมนั้นใช้หลักอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ผมเชื่อว่าพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีปัญญาในการคิด พูด ทำ ไม่ใช่หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ดังนั้นการปฏิบัติจะเกิดขึ้นในจิตเป็นหลัก ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการมุ่งเน้นไปที่การกำหนดรูปแบบทางร่างกาย

3.เคล็ดไม่ลับในการปฏิบัติของผมคือ มีอาจารย์ที่ถูกต้อง ถ้ามีอาจารย์ที่ถูกต้อง ทางที่ปฏิบัติมันก็ถูกต้อง

ตัวผมนั้นจะเอนเอียงไปในสายปัญญา ไม่ใช่สายศรัทธา ดังนั้น การที่ผมจะเชื่อหรือปฏิบัติตามใครได้นั้น เขาจะต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของผมได้ทั้งหมดโดยไม่แสดงอาการกิเลสใด ๆ เช่น โกรธ กลัว ตอแหล ฯลฯ หรือถามวัวตอบควาย คนจะเป็นอาจารย์ผมต้องชัด แม่นประเด็น รู้จริง มีปัญญาจำแนกธรรม เมตตาสั่งสอน และต้องทันความฉลาดของกิเลสผม ไม่งั้นก็เอาผมไม่อยู่เหมือนกัน

และไม่ใช่ว่าผมจะทดลองด้วยการถามลองเชิงกันครั้งสองครั้งแล้วจะรู้ มันต้องฟังเขามาก คุยกับเขามาก มันจะเริ่มรู้ว่าใครเป็นใคร โดยสัจจะมันจะรู้ของมันเอง เพราะกิเลสมันจะแพ้ธรรมะ ปัญญาน้อยกว่ามันจะแพ้ปัญญามากกว่า แล้วเราก็ไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเพื่ออวดดี เราปฏิบัติเพื่อเจริญ ดังนั้นอะไรที่ดีกว่าเราก็น้อมเข้ามาหาตัวเอง เราก็รับท่านที่เหนือกว่าเป็นอาจารย์เท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะปิดทางศึกษาของตนเอง หลังจากได้พบครูบาอาจารย์ที่เชื่อว่าถูกตรงแล้ว ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลที่น่าพอใจแล้ว ก็ได้ออกไปศึกษาค้นคว้าภายนอก ศึกษาสำนักต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทั้งไทยและต่างประเทศ ศึกษาคนที่แสดงตนว่ามีดี จนกระทั่งผมค้นพบความจริงว่า ไม่มีหรอก ที่เขาจะสอนอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกตรงเหมือนอาจารย์ผม ที่ผมรู้เพราะผมปฏิบัติได้ผล เมื่อได้ผลก็จะรู้ว่า วิธีไหนได้ผล วิธีไหนไม่ได้ผล วิธีไหนได้ผลเป็นมิจฉา วิธีไหนได้ผลเป็นสัมมา มันมีความแตกต่างในรายละเอียดของการปฏิบัติอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา ไม่ละเอียดลึกซึ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะอริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต คาดเดามั่วเอาไม่ได้ คนชัดก็จะชัด คนไม่ชัดก็ปฏิบัติมัว ๆ เมา ๆ กันไปตามวิบากของเขา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องพบกับสัตบุรุษก่อน คือได้พบกับอาจารย์ที่ถูกตรงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรมที่ถูกและพ้นทุกข์ได้ ถ้าพบอาจารย์มิจฉา มันก็มัวเมาหลงทางเข้าป่าเข้าพงกันไปใหญ่ อันนี้คือเคล็ดไม่ลับ แต่ถ้ามองในสังคมมันก็เหมือนป่าแห่งความลับยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันมีอยู่ มันยังแสดงตัวอยู่ มันเปิดเผยอยู่ แต่คนไม่เข้าใจ นี่แหละความไม่ลับที่ลึกลับ

เลี้ยงสัตว์ ฆ่าสัตว์ ขายเนื้อสัตว์ ทำไมรวย อยู่สบาย?

ก็อาจจะนึกสงสัยกันได้บ้างว่าทำไมคนที่ทำธุรกิจบาปพวกนี้ เขาถึงไม่ตกนรกให้เห็นกันกับตาสักที

ถ้าเขาทำบาปคนเดียวรับคนเดียว น้ำหนักมันก็มาก แต่นี่เขาเลี้ยงฆ่าขายให้กับคนจำนวนมาก ผลมันก็แบ่งไปตามสัดส่วนที่เกี่ยวเนื่องนั่นแหละ มันมีผลบาป มันสะสม มันส่งผลอยู่ แต่ทุกข์จากบาปใช่ว่าจะรู้ได้ง่าย ๆ ต่อให้ชี้นิ้วบอกก็ใช่ว่าจะเชื่อ เช่นไปบอกคนเป็นมะเร็งว่าเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะกินเนื้อสัตว์ เขาจะทำใจเชื่อได้ไหม

สรุปมันก็เป็นนรกแบบแบ่งปันไปตามสัดส่วนของความหลงติดหลงยึด และความเบียดเบียน อันนี้ไม่ใช่แบ่งผลกรรมกันนะ กรรมของใครของมัน ใครทำอะไรก็ได้รับผลของคนนั้น

ส่วนที่เขารวยเอารวยเอาก็เพราะคนไปซื้อเนื้อสัตว์ ถ้าไม่หลงติดก็ไม่ซื้อ ไม่ซื้อเขาก็ไม่รวย ไม่เห็นจะมีอะไร ธุรกิจบาปของเขา ก็ร่ำรวยได้จากการเพิ่มความหลงติดหลงยึดหลงรสหลงสัมผัส ของคนกินนั้นแหละ

ธุรกิจที่ดำเนินไปตามความหลงของคน มันก็จะดูรวยตามแบบโลก ๆ ส่วนธุรกิจที่ดำเนินไปตามปัญญา นับวันมันจะมีแต่จนลง เพราะมีปัญญา สละออก แบ่งปัน ไม่สะสม กินน้อยใช้น้อย ชีวิตมันจะเอามาแบกให้เยอะทำไมให้โง่

เพราะหลงยึดไป (การเมืองวันนี้)

ผมเห็นข่าวและผลกระทบจากการเมืองวันนี้ รู้สึกว่าทุกวันนี้สังคมช่างดูเกรี้ยวกราด เหมือนกับว่าเขาพร้อมที่จะทะลวงฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธทุกเมื่อที่เห็น

สมัยก่อนเห็นว่าคนคลั่งฟุตบอลตีกันก็ว่ามากแล้ว คนคลั่งศาสนาเถียงกันก็ว่าบ้าแล้ว นี่คนคลั่งการเมืองออกความเห็นกันนี่ขมคอยิ่งกว่า

เพราะศาสนานี่มันมีถูกมีผิดของมันอยู่ มีรูปแบบมีหลักการอยู่ มันมีจุดจบของมันอยู่ แต่การเมืองนี่มันเรื่องโลก เรื่องโลกีย์ ไม่มีอะไรถูกผิดชัดเจน มีแต่สมมุติ มีแต่ชอบหรือชัง มีแต่เรื่องที่ลวงให้ไปหลงติดหลงยึด หลงมีอารมณ์ร่วมไปกับเขาเท่านั้น ก็เหมือนละครฉากหนึ่งนั่นแหละ

ผมว่านะ ที่เสนอ ๆ กันมานะ ถ้าทำด้วยใจบริสุทธิ์ไม่หวังประโยชน์ตนเอง มันก็ดีหมดนั่นแหละ แต่ดีนั้นจะเหมาะกับบริบทสังคมในปัจจุบันไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องดูเอาตามที่เสนอได้ไม่ฝืดไม่ฝืนจนเกินไป คือไม่ทะเลาะกัน ไม่วิวาทกัน แต่ถ้าดื้อรั้นจะเอานี่ก็คงไม่บริสุทธิ์หรอก

ทีนี้คนเขาก็เลือกตั้ง เอาคนดีตามที่เขาคิดเข้าไป แต่เขาไม่ได้เลือกแค่คนเข้าไป เขายังใส่จิตวิญญาณเข้าไปด้วย ตามไปยึดมั่นถือมั่นเลยนะ ว่าคนคนนั้นเป็นของเรา เป็นเรา เป็นพวกเรา เป็นความคิดเดียวกัน แม้ตัวนั่งดูอยู่หน้าจอ แต่จิตเสมือนไปสิงร่างผู้แทนคนนั้น

ใครมาติคนที่เราชอบก็ไปโกรธเขา ชังเขา ใครเห็นด้วยกับคนที่เราชอบก็ปลื้มใจ นี่มันคือความหลงไปสิงร่างเขา เขาไม่ใช่เราแท้ ๆ ก็ยังไปโกรธไปเกลียดแทนเขา

มันก็สร้างตัวตนขึ้นมาอีกหนึ่ง คือกิเลสตัวเอง การยึดตัวเองก็หนักหนาอยู่แล้ว ก็ยังไปสร้างจุดยึดขึ้นมาเพิ่ม ยึดตัวบุคคลอื่น(โอฬาริกอัตตา) ยึดอุดมการณ์(อรูปอัตตา) ก็ทำให้เกิดความทุกข์แปรผันตามความยึดนั่นแหละ

คนเรานี่ก็แปลก ขยันสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพิ่ม ชีวิตทุกวันนี้มันไม่ทุกข์พอหรือไง ต้องไปหาเรื่องเสพสุขให้มันสะใจ สาแก่ใจอยู่นั่นแหละ

สังคมที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ฯลฯ

พูดในรายการที่ได้เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ ที่ว่าการจะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน และผาสุก* นั้น จำเป็นต้องมีหมู่มิตรดีเป็นองค์ประกอบ

ก็มีผู้สนใจถามมาว่า จะเริ่มต้นที่ไหน ในประสบการณ์ของผมมีความเห็นว่า น่าจะเริ่มที่ค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม เพราะมีองค์ประกอบครบพร้อมในการศึกษา ยิ่งเป็นค่าย 5 วันขึ้นไปแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้พบกับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง คือไม่กินเนื้อสัตว์ตั้งหลายวันก็ยังแข็งแรงมีกำลังอยู่ได้ ไม่ตาย และหลายคนเขาก็ทำได้ ไม่เห็นจะแปลกอะไร ซึ่งมันก็เป็นพลังที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้น

หรือถ้าไม่มีเวลามากนัก ผมคิดว่าชุมชนในเครือข่ายอโศกน่าจะตอบโจทย์ได้ดี เช่นที่สันติอโศก (ถ.นวมินทร์) เขาจะมีตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จริง ๆ แล้วย่านนั้นก็มีอาหารมังสวิรัติขายประจำนั่นแหละ แต่เสาร์อาทิตย์ก็จะค่อนข้างคึกคักกว่า

สิ่งที่จะได้รับจากที่นี่คืออาหารมังสวิรัติราคาถูกและอร่อยตามมาตราฐานคนไทย ซึ่งต่างจากค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมที่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

ร้านขายอาหารมังสวิรัติในย่านสันติอโศก มีหลายร้าน สามารถเลือกซื้อเลือกกินได้ตามที่สนใจ โดยจะมีร้านหลักของชุมชน ชื่อว่าชมรมมังสวิรัติฯ สันติอโศก อยู่ติดถนน ตอนนี้อยู่หน้าปากซอยนวมินทร์ 48

ส่วนผู้ที่สนใจหาความรู้สามารถสอบถามที่ชมรมมังสวิรัติชั้น 2 จะมีหนังสือเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์จำหน่ายอยู่ ซึ่งเป็นแนวทาง ความเห็น ที่หาศึกษาได้ยากในปัจจุบัน

ผมขอแนะนำเพียงแค่ 2 องค์กรนี้เท่านั้น เพราะเท่าที่ศึกษา ผมมั่นใจว่าถ้าใครได้เข้าไปคบคุ้น ศึกษา พากเพียรปฏิบัติตาม ก็จะนำความผาสุกที่ยั่งยืนมาให้

ตายสังเวยรัก ตายเพราะความยึดมั่นถือมั่น

ข่าวทำร้ายกันหรือฆ่ากันตายเพราะเหตุแห่งความรักที่เกินทนไหว ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นข่าวประจำวันกันเสียแล้ว

รักแล้วไม่ทุกข์นั้นไม่มี รักแล้วไม่ยึดเป็นไปได้ยาก เพราะความหลงจะหลอกให้ไปรัก ความยึดจะเกิดเมื่อรักไปแล้ว ความทุกข์จะปรากฏเมื่อพบเจอการพลัดพราก

คนมักหลอกตัวเองซ้อนเข้าไปว่า ถ้าเข้าไปรักแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่ทุกข์ แต่จะมีอะไรพิสูจน์ได้ว่าตนเองจะไม่ทุกข์หรือคู่จะไม่ทุกข์ ในภาคทฤษฎีมันก็คิดกันไปได้ แต่ใครล่ะจะลองพิสูจน์สัจจะนี้ด้วยภาคปฏิบัติ

เวลาคนเขารักกันนี่เขาจะไม่พรากกันเลยนะ ไม่หัดพราก ไม่ยินดีในการพราก ใช่ว่าเขารักกันแล้วเขาจะยอมเลิกกันง่าย ๆ ซะที่ไหน ต่อให้เอาสวรร์นิพพานมาล่อเขาก็ไม่เอาหรอกความโสด เขาก็เกาะคู่เขาไว้เป็นสรณะแบบนั้นแหละ

มันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็ตอนจับแยกกันนี่แหละ จะแยกด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่น มันจะมีทุกข์เกิดขึ้นไม่ฝ่ายเราก็ฝ่ายเขา

พรากด้วยความรักก็ทุกข์ พรากด้วยความชังก็ทุกข์ ยิ่งความชังนี่อันตราย ก็เป็นเหตุให้ทำร้ายกันฆ่ากันนี่แหละ พอเลิกกันแล้วไม่ได้ดังใจ ก็ฆ่าเสียเลย ฆ่าบูชาความรัก ฆ่าบูชาความหลง สังเวยให้กับความยึดมั่นถือมั่น

ถ้าเราไม่ได้รักใคร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใคร เราจะไม่ทุกข์เพราะเขาเลย เขาก็จะเป็นคนคนหนึ่งในสังคม ใช้ชีวิตไปในแบบของเขา เราไ่ม่มีจิตชอบใจจะไปยุ่งกับเขา มันก็จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวเขา

ในประเด็น รักแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือรักแล้วพากันทำดี นี่ผมคิดว่ามันเป็นกลกิเลสที่แนบเนียนมาก ในสังคมส่วนมากเขาก็สอนกันแบบนี้ จริง ๆ คือมันจะเป็นช่องเหตุผลอันงดงามให้คนเข้าไปยึดตามที่ถือมั่นไว้นั่นแหละ แต่คนที่หลงไปมีคู่แล้ว ก็คงต้องปฏิบัติตามหลักนั้นไปพลาง ๆ คือ หัดไม่ยึดมั่นถือมั่น ส่วนพากันทำดีนั้น ไม่ต้องให้น้ำหนักมาก ให้เป็นพาตัวเองทำดีให้เต็มที่จะดีกว่า ส่วนคู่เขาจะทำไม่ทำก็เรื่องของเขา เอาตัวเราให้รอดก่อน อย่าไปผูกกับใคร ว่ายน้ำยังไม่แข็งอย่าเพิ่งไปช่วยคนอื่น จะพาจมกันไปทั้งคู่

ไม่อย่างนั้นมันจะเวียนเกิดเวียนตายเพราะความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องคู่อีกหลายชาติ เรื่องนี้ยาก ต้องตั้งใจให้ดี ไม่ประมาท

สมการการกิน

เมื่อก่อนก็ยังหลงคิดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อศึกษาจนมาถึงตอนนี้ก็กลับพบว่ามันไม่ได้จำเป็นเลย

สมัยก่อน : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + เนื้อสัตว์
ตอนนี้ : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ

ผมค้นพบว่า แค่กินถั่วแทนเนื้อสัตว์ ชีวิตก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก มีแรง มีกำลังทำงานเป็นปกติ ดังนั้น เนื้อสัตว์จึงเป็นตัวแปรที่ชีวิตไม่จำเป็นต้องใช้

คนไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่กินถั่วและธัญพืช จะอิ่มได้ไม่นาน แรงน้อย แต่ถ้ากินแต่พวกถั่วอบถั่วทอด ถั่วขนมถุง ๆ ทั้งหลายก็อยู่ไม่รอดเหมือนกัน อันนั้นได้คุณค่าน้อย บวกกับพิษจากการผลิตและการปรุงแต่งที่เยอะ โดยค่ารวม ๆ คือมีประโยชน์บ้าง มีโทษปานกลาง แต่ถ้าเป็นพวกถั่วนึ่ง ถั่วต้มนี่จะอิ่มท้องมีกำลังอยู่ได้นาน ยิ่งกินแบบไม่ใส่น้ำตาลยิ่งดี ถั่วที่ดี คือถั่วที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ฯลฯ หรือถั่วท้องถิ่นทั้งหลาย

การเลือกกินถั่วหรือเนื้อสัตว์ในด้านความต้องการโปรตีนของร่างกาย มีเหตุและผลไม่เหมือนกัน การกินถั่วเกษตรกรต้องเสียเหงื่อเสียแรง ส่วนการกินเนื้อสัตว์ สัตว์ต้องกลัว เจ็บปวด และเสียชีวิต และส่งเสริมกิจกรรมที่ผิดศีลไปในตัว ดังนั้นผลที่ได้จึงต่างกัน แม้จะเป็นธาตุโปรตีนเหมือนกัน แต่ผลจะไม่เหมือนกัน กรรม(การกระทำ)ต่างกันวิบากกรรม(ผลของการกระทำ)ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

การใช้ชีวิตให้แข็งแรงผาสุกอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องศึกษาเหตุที่เกิดสืบเนื่องต่อกันมาและผลที่เกิดจากความแตกต่างของเหตุเหล่านั้น

กุศลหลอก กิเลสหลอน

ผมตั้งข้อสังเกตนี้มานาน เป็นเรื่องของการทำดี ทำกุศลกรรมทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่าจะดีในเบื้องต้น แต่จบลงที่ขาดทุนในเบื้องปลาย

คนเราถ้าไม่หมั่นทำดีมันก็มักจะมีชั่วอยู่ในการไม่ทำดีนั้นอยู่แล้ว พอพัฒนาตนเองมาหมั่นทำดี ก็ใช่ว่าชั่วที่มีจะหายไปหมด ส่วนหนึ่งมันก็เปลี่ยนรูปเป็นชั่วในดีนั่นแหละ

การจะเห็นชั่วในดี มันก็ต้องหมั่นทำดี มาทำกิจกรรมการงานที่ดีร่วมกันกับหมู่มิตรดี ถึงจะมีโอกาสเห็นได้มากขึ้น ทำคนเดียวมันเห็นยาก พอมาทำร่วมกับคนอื่นเดี๋ยวคนตาดีเขาก็เห็น จะแอบซ่อนยังไง มันก็จะทะลักออกมาให้เห็น ยิ่งถ้าตนเองมีญาณปัญญารับรู้ได้ดี ก็ยิ่งเห็นตนเองได้ชัดยิ่งขึ้น

ลีลาของชั่วในดีอันหนึ่งก็คือ การตั้งจิตผิด ไปเอาผลของงานมาเป็นตัวตั้งว่าทำดีแล้วมันต้องเกิดผลดี ต้องเกิดดีสำเร็จตามที่ตั้งใจ ต้องมีคนรับรู้ถึงดีนั้น ๆ จึงจะสุขใจ

โดยมากผู้ที่มีอาการเหล่านี้มักจะมองข้าม ไม่สนใจการพัฒนาของจิตใจหรือการเติบโตของกิเลสในตน เพราะเกิดจากการตั้งจิตไว้ผิด พอเอางานนำ การปฏิบัติใจมันจะพร่องไปเยอะ แต่ถ้าเอาเรื่องใจนำ งานก็ทำดีเต็มที่แล้วปล่อยวางให้เป็นไปตามวิบากกรรม มันก็จะได้ทั้งใจทั้งงานอย่างเต็มที่ที่สุด แม้มันจะขาดบ้างพร่องบ้าง ออกมาไม่สวยบ้าง แต่ถ้าใจไม่ทุกข์ กิเลสไม่กำเริบมันก็ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็น

เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะกิเลสมันหลอกให้มองไปนอกตัว ปิดบังไม่ให้ไปยุ่งกับมัน โดยเอากุศลหรือการทำดีนี่แหละ เป็นเป้าลวงให้คนพุ่งชน คนหลงตามกิเลสเขาก็พุ่งชนแต่เป้ากุศล เอาแต่เป้ากุศลเป็นหลักชัย ว่าดีทีทำนี้ งานการกุศลนี้ต้องสำเร็จเพื่อเป้าหมาย…ฯลฯ

นึกภาพไม่ออกก็นึกถึงวัวกับมาทาดอร์ ถ้าวิ่งชนถูกเป้ามันก็จบ แต่ถ้าโดนเขาล่อลวงไปเรื่อย ๆ มันก็วิ่งวนไปอยู่แบบนั้น

กิเลสนี่มันร้าย แม้จะมาทำดีแล้ว แต่มันจะลวงให้เราหลงแต่ในกุศล ไม่สนใจเรื่อง “บุญ” หรือการชำระกิเลส มันจะไม่ให้เราใส่ใจ ไม่ให้เราให้เวลา ไม่ให้เราให้น้ำหนัก ไม่ให้เราเห็นความสำคัญของการทำบุญ ขัดเกลากิเลส แต่จะลวงเราให้หลงกับการทำงานและผลของงานอย่างหน้ามืดตามัว มาทำงานกับคนหมู่มากก็จะเอาแต่กุศล จะเอาแต่งานนอกเสร็จ แต่งานใน คือเรื่องกิเลสในจิตใจ ไม่พากันทำ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ให้เวลา ไม่ช่วยกันทำ งานนอกเสร็จแล้วก็แยกย้าย สุดท้ายกิเลสงาบไปกินหมด

ซึ่งกิเลสมันก็เนียนมาก ๆ เพราะคนทำดี มันก็จะมีผลดีให้ได้กินได้ใช้เป็นธรรมดา ซึ่งบางทีไอ้ “ผลดี” ที่ว่านี่แหละ คือสิ่งที่เลี้ยงเราไว้ให้หลงในความเป็น “โลกีย์” ความขาดทุนของการยึดดีเป็นหลักชัยนั้นก็คือความวนอยู่ในโลกนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ

ทำดีทำกุศล มันก็มีดีไว้กินไว้ใช้ไว้ป้องกัน แต่มันก็ไม่ใช่ว่าทำดีที่สุดแล้วจะพ้นทุกข์ ถ้าจะพ้นทุกข์มันก็ต้องหัดทำบุญ หรือหัดชำระกิเลส ดีนั้นก็เอาไว้อาศัยทำประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะควรยึดมาเป็นตัวเป็นตน หรือยึดว่าเป็นผลที่น่าได้น่าเสพใด ๆ

สรุปจบตรงที่ว่า อย่าหลงกุศล จนลืมทำบุญ(การชำระกิเลสในสันดาน)

หนุ่มสาวเอย…

วันนี้ไปร่วมกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เห็นนักศึกษามากมาย ก็พลันคิดไปว่า…

เมื่อไหร่หนอที่เขาจะสุกงอม เมื่อไหร่ที่จะทุกข์จนเกินทน ชีวิตเกิดมาก็ต้องเล่นบทไปตามวิบาก ถ้าหมดวิบากกรรมแล้วอีกนานแค่ไหนจะได้เจอกับสัตบุรุษ(ผู้รู้ธรรม) ได้ฟังสัจธรรม ได้นำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ก็คงจะประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ได้ในวันใดวันหนึ่ง

ว่าแล้วก็กลับมาคิดถึงตัวเอง กว่าจะมาเจอธรรมะจริง ๆ ก็ 29 ปี แม้ก่อนหน้านั้นจะศึกษามาบ้าง แต่ก็ล้วนแต่เป็นมิจฉาธรรม หรือไม่ก็ธรรมที่ไม่ครบพร้อม ขาด ๆ พร่อง ๆ เอาไปใช้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ไม่แตกฉาน ไม่ชัดเจน

กว่าคนคนหนึ่งจะเติบโต กว่าจะเรียนจบมันใช้เวลานานมาก ประมาณ 20 กว่าปี ไหนจะต้องดิ้นรนแสวงหาอีก พอได้มาก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมากับลาภ ยศ อำนาจ อิสระ ฯลฯ ที่ได้มาจากความสามารถที่ตนมี เรียกว่าคงสนุกกับการหาเงิน หาความก้าวหน้า หรือไม่ก็วนเวียนอยู่กับการหาคู่อยู่หลายปีเลยล่ะ

แม้ว่าเราจะมีจิตที่เต็มใจจะช่วยเหลือคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเหลือใครได้ถ้าเขาไม่ทุกข์ การที่เขาไม่รู้สึกถึงทุกข์ ไม่ได้หมายความเขาไม่มีทุกข์ เขาอาจจะมีทุกข์ก็ได้ เพียงแต่เขาไม่มีปัญญารู้จักทุกข์นั้น ๆ เราก็คงต้องปล่อยให้ทุกข์งอม(สุกงอม)เสียก่อน

คือปล่อยให้เขาใช้ชีวิตของเขาให้ทุกข์ให้เต็มที่เลย ให้มันทุกข์จนรู้สึกทนไม่ไหว เขาถึงจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วถึงวันนั้นถ้าได้เจอกันก็ค่อยว่ากัน ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่เจอมันก็ไม่ใช่งานของเรา

เหมือนกับเรื่องคู่ ที่ผมค่อนข้างปล่อย อย่างเก่งก็แค่พิมพ์บทความออกไป สุดท้าย ใครเขาจะไปมีคู่ เพราะเขาเชื่อว่าไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยกว่าทนอยู่เป็นโสดมันก็เรื่องของเขา เขาก็ต้องรับทุกข์ของเขาในท้ายที่สุด เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้ไปทุกข์กับเขาด้วย ไม่ได้ยึดว่าเขาต้องได้ดีดังใจหมาย เพราะเขาก็เป็นของเขาไปแบบนั้นแหละ บางทีเราก็ได้แต่ดู ได้แต่ดูก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะถ้าการช่วยเขาคืองานของเรา เราก็จะได้ทำ แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็จะไม่ได้ทำนั่นเอง ง่ายจัง

ชีวิตหนึ่งเกิดมาเรียนรู้ และแม้ว่าสุดท้ายจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำความเจริญอะไรให้แก่ตน ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับผู้อื่น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า โมฆะบุรุษ คือคนที่เกิดมาเสียของ เบิกกุศลกรรมมากินใช้ไปวัน ๆ เป็นพวกกินของเก่า ไม่สร้างใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า พวกชิงหมาเกิด ซึ่งผมก็คิดว่าประมาณนั้นแหละ อ่านแล้วอาจจะว่าแรง แต่มันก็จริง เพราะเกิดมาแล้วขาดทุน ทำแต่เรื่องขาดทุน ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง ไม่เป็นประโยชน์กับใครอย่างแท้จริง เกิดมาใช้ทรัพยากรโลก แก่งแย่งมาเพื่อกิเลสตน สุดท้ายทั้งชีวิตก็เบียดเบียนชีวิตอื่นมาบำเรอตน เอาวิญญาณหมานิสัยดีเกิดมาแทนยังจะดีกว่า

กำลังศรัทธา สู่พลังใจ

กำลังศรัทธา สู่พลังใจ

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นเศษส่วนหนึ่งของบรรยากาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก นั่นคือความพร้อมใจกันของประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ จึงได้แนวคิดและเก็บมาสังเคราะห์ต่อในประเด็นของความศรัทธา

บ่ายวันที่ ๕ ผมเดินทางไปด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจากต้นทางก็ไม่ค่อยเห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่าไหร่ เท่าที่มองเห็นจะมีคนใส่เสื้อเหลืองราว ๆ 4 ใน 10 ส่วน แต่พอเริ่มเดินทางเข้าใกล้ที่หมายมากขึ้น ภาพรวมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป สีอื่นเริ่มหายไป เหลือแต่โทนสีเหลืองกับสีอื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่

เป็นเวลาบ่ายแก่ ๆ อีกวันหนึ่งที่อากาศร้อนมาก แต่ภาพที่เราเห็นคือมีคนจำนวนมากมาทนร้อนทนแดดกันกลางถนน ภาพเหล่านี้ก็ดูเหมือนภาพธรรมดา อาจจะคิดไปได้ว่า งานสำคัญเช่นนี้เขาก็ทนร้อนกันได้ แต่เมื่อพบคิดทบทวนไป ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องทำดีขนาดไหน ถึงจะมีบารมีขนาดที่ว่ามีคนจำนวนมากมายขนาดนี้ ยอมทนลำบาก ทนร้อน ทนหิว ทนความอึดอัด และอื่น ๆ อีกสารพัดที่ต้องใช้ความอดทน ถ้าเทียบกับตัวเราตอนนี้นี่จะให้คนสักคน เขาออกจากบ้านมาเจอเรายังทำไม่ได้เลย จะให้มาทนแดดทนลำบากอย่างนี้คงไม่ไหว พอระลึกทบทวนได้แบบนี้ก็รู้ซึ้งในบารมีของในหลวง ร.๑๐ มากขึ้น และพิจารณาต่อไปอีกว่า การที่คนจำนวนมากสามารถทนลำบากได้ขนาดนี้ ก็เพราะเขามีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ความร้อน ตลอดจนความไม่สบายต่าง ๆ กำลังใจที่มากผิดปกตินี้ เกิดจากความศรัทธาอย่างตั้งมั่น เชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ เชื่อมั่นในความเป็นไทย เป็นความแนบแน่นมั่นคงในจิตใจของประชาชนชาวไทยส่วนมาก

ถ้าให้แต่ละคนมาทนตากแดดรอคนที่เขาไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา เขาจะทำกันไม่ได้หรอก พอใจไม่ศรัทธา มันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีแรงจะพาร่างกายออกมา มันก็เป็นธรรมดาของคนที่ไม่ใส่ใจ จึงไม่มีพลังพิเศษ ไม่มีพลังใจที่เชื่อมถึงกัน แม้ในวันนั้นผมจะไม่สามารถเดินดูปริมาณผู้คนทั้งหมดได้ด้วยตา แต่ก็พอจะเห็นว่ามาก คือมากพอที่จะทำให้ผมเดินต่อเข้าไปยังส่วนที่ลึก ๆ ไม่ได้ คนมากมายมานั่งรอกันแน่นถนน ถึงแม้จะมีคนมาก ก็ยังมีการแสดงออกถึงน้ำใจที่มีให้กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลกันและกัน แบ่งปันน้ำ อาหาร ยา ที่นั่ง ที่หลบแดดแก่กันและกัน จะเห็นได้ว่างานพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นงานแห่งการแบ่งปัน ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปที่มารอรับเสด็จ จิตอาสา และเจ้าหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ

กลับมาที่เรื่องของศรัทธาในมุมมองของผม เมื่อผมได้เจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ผมก็มักจะนำมาวิเคราะห์ต่อ พอทบทวนดูแล้ว ศรัทธาเป็นธรรมที่ผมค่อนข้างจะมองข้ามไป ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ไม่ค่อยมีกลยุทธ์เรื่องศรัทธา แต่จะเน้นไปในด้านปัญญาเป็นหลัก เพราะมองว่า คนมีปัญญาก็คือคนที่ศรัทธานั่นแหละ แต่จากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ศรัทธานี่เขามีกำลังนะ มีกำลังขนาดนี้เลยนะ ขนาดที่ว่าเราไม่มีปัญญาจะทำได้นั่นแหละ ซึ่งในทางธรรม การใช้ศรัทธาในเบื้องต้นมันก็แน่นกว่า เพราะปัญญานี่มันฟุ้งพอสมควร แต่ศรัทธานี่จะไปทางแกร่ง แน่นใน ทำให้ภาพรวมชัดเจน ส่วนปัญญาคือความคม ความแม่นยำ ชัดเจน ฯลฯ กรณีเราช่วยคนในด้านเพิ่มศรัทธา เพิ่มกำลังใจ ก็จะทำให้เขาทรงตัวอยู่ได้นาน มีกำลังพอที่จะทนไปได้ระดับหนึ่ง  ส่วนการใช้ปัญญานี่มันก็เสี่ยงสูงเหมือนกัน เพราะถ้าไม่แม่นโอกาสพลาดก็เยอะกว่า ขาดก็ไม่ดี เกินก็ไม่ดี สำคัญคือต้องมีความรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งยากสุดยากในการประมาณการใช้ปัญญาในการช่วยคน แม้ผลจะเป็นที่น่าพอใจสุด ๆ ก็ตามที แต่บางครั้งกลยุทธ์เชิงปัญญามันไปไม่ได้ บางคนเขาเป็นสายศรัทธา เขาก็ไม่รับคลื่นฝั่งปัญญาเท่าไหร่ ถ้ามองในมุมของตัวเอง ผมจะใช้ปัญญาแก้ปัญหาเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ใช้ศรัทธาหรือกำลังใจในการผ่านปัญหาที่เข้ามาสักเท่าไรนัก

เรื่องตัวเองก็พอเอาตัวรอดไปได้ระดับหนึ่ง พอมันเป็นเรื่องตัวเองมันก็ง่ายกว่า เพราะมันรู้เห็นได้ชัด พอเป็นเรื่องคนอื่นนี่มันยากมาก แม้ในหลาย ๆ ครั้ง ฟังดูก็พอรู้นะว่าเขาติดอะไร แต่การจะลงดาบเลยทันทีในสภาพที่ศรัทธาไม่พอนี่มันเสียหายอยู่เยอะเหมือนกัน คือถ้าใช้ปัญญากับคนอินทรีย์พละสูงมันก็ง่าย แต่พอเจอคนอินทรีย์พละต่ำ ศรัทธาต่ำ กำลังใจน้อย ไม่เชื่อใจกัน มันก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเขาเปราะบางเกินไป ผมเคยเจอกรณีแบบนี้หลายครั้ง ส่วนมากจะพลาด ก็นึกว่าเขาแกร่ง แทงไปปุ๊ป!…เหลวเป็นเต้าหู้หลอดเลย หลัง ๆ เลยคิดเลยว่า พอ ๆ ถ้าไม่ศรัทธากันมากพอไม่เสี่ยงแล้ว ทีนี้พอมาเห็นปรากฏการณ์ในวันที่ ๕ ก็ตั้งใจใหม่ ว่าจริง ๆ เราไปพัฒนาด้านศรัทธาบ้างก็ได้ ไม่เห็นต้องใช้ด้านปัญญาทั้งหมดเลย ศรัทธามาก่อนมันก็แกร่งดี ทนแดด ทนร้อน ทนหอก ทนดาบได้ดี มันก็น่าจะพัฒนาได้ไกลกว่า

แม้กับตัวเราเองก็ตาม การฝึกในด้านศรัทธา หรือเพิ่มกำลังใจ ก็จะทำให้ใจแกร่งขึ้น ทนขึ้น หนักแน่นขึ้นอีก ก็ไม่ได้เอาความแกร่งของใจไปใช้กับอะไรหรอก ก็ใช้กับกิเลสเรานั่นแหละ ส่วนที่ทนแดด ทนฝน ทนลำบากได้ อันนั้นกำไรทางโลก