หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ หว่านข้าวดำนา

ยังอยู่กับวันที่สองแต่เป็นช่วงบ่ายครับ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา เมื่อเช้าเราไปปลูกป่ากันชนกันมาแล้ว ช่วงบ่ายถึงเย็นนี่กิจกรรมเยอะเลยครับ

หลังจากปลูกป่ากันแล้วกิจกรรมต่อไปก็คือการไปหว่านข้าวดำนาครับ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันต่อเราก็ต้องมากินข้าวเที่ยงกันก่อน

หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน
หลังจากปลุกป่ากันมาเสร็จก็ต้องมาต่อกันด้วยข้าวกลางวัน

กินข้าวเที่ยงกันแล้ว แต่ผมยังอิ่มข้าวเช้าอยู่เลย ที่กินไปนี่มันอยู่ท้องนานมาก อาจจะเพราะกินข้าวเที่ยงกันเร็วไปด้วย? แต่ก็ตามเวลาที่เหมาะสมนะ อาจจะเพราะผมกินมากไปในตอนที่ปลูกป่าหรือไม่ก็ผมใช้พลังงานน้อยไปละมั้ง

เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม
เตรียมตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับมาตราฐานเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรม

ก่อนจะไปหว่านข้าวก็มีตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของข้าวคุณธรรม หรือการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เชิงคุณธรรมกันเสียก่อน งานนี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตร มาด้วย บังเอิญสุดๆว่าผมดันไปนั่งกลางวงอาจารย์ก็เลยได้คุยกับท่านนิดหน่อยครับ

เมล็ดข้าวพระราชทาน
เมล็ดข้าวพระราชทาน

หลังจากแลกเปลี่ยนกันเสร็จแล้วเราก็จะมาหว่านข้าวกันครับ ข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ท่านเสด็จมามูลนิธิธรรมะร่วมใจแห่งนี้ครับ

เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว
เป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว

เมล็ดข้าวที่ได้มาเป็นเมล็ดข้าวที่คัดสรรมาแล้ว ผมถามแม่ชาวนาคุณธรรมที่เดินมาด้วยกันว่า เราจะคัดข้าวดีไม่ดีโดยมองจากข้าวเปลือกนี่อย่างไร สรุปได้ความว่าที่เห็นมันคล้ายๆกันเพราะเขาคัดกันมาแล้วนั่นเอง

ควายข้างทาง
ควายข้างทาง

ควายข้างทางครับ ควายเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมาก สายตาของควายนั้นดูซื่อบื้อจริงๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีพิษมีภัย เวลาที่มันหันมามองเราเป็นกลุ่มนี่เหมือนโดนอะไรดึงดูดจริงๆ อยากเข้าไปทักทายควายเหมือนกันแต่ไกลและไม่ค่อยคุ้น เอาไว้ก่อนแล้วกันนะ

ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว
ผืนนาที่เตรียมไว้ให้เกลอเมืองหว่านข้าว

ผืนนาที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจเตรียมไว้ให้ นี่คือสัมผัสแรกในชีวิตที่เดินเข้าผืนนาที่จะต้องหว่านเมล็ดข้าว ทะเลที่ว่าทรายนุ่มที่สุดที่เคยเจอมายังไม่นุ่มเท่านี้ ดินปนทรายที่นี่นุ่มเท้ามากที่สุดเป็นสัมผัสที่ยากจะจินตนาการถ้าไม่ได้มาลองดู

ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน
ก่อนจะหว่านก็ต้องมีการสาธิตกันก่อน

ก่อนจะหว่านข้าวก็ต้องสาธิตท่าเสียก่อน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะครับ ชาวนาเขามีท่าที่ฝึกและส่งต่อกันมาหลายพันปีแล้ว เป็นเหมือนการศึกษาการเคลื่อนไหว (Motion study) ตามธรรมชาติจนออกมาเป็นท่าหว่านข้าวอย่างที่เห็นครับ เกลอเมืองที่ไม่เคยหว่านควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ

สำหรับการหว่านข้าวนี่ผมได้คุณแม่จรัสพร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำในการหว่านครับ แรกๆก็หว่านแล้วเมล็ดข้าวออกไปเป็นกระจุกๆเลยครับ หลังๆก็พอทำได้ดีขึ้น ผมสังเกตุว่าชาวนามืออาชีพนั้นมีการขยับที่น้อยแต่ได้ผลมากทีเดียว ไม่ใช่ง่ายนะครับ

จังหวะวัชพืช
จังหวะวัชพืช

หลังจากหว่านข้าวเสร็จ เราก็จะเดินมาดำนาครับ ระหว่างทางก็มีแปลงข้าวที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มีวัชพืชขึ้น ผมมองวัชพืชแล้วนึกถึงแพทเทิร์น ของกระเป๋าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งครับ

กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน
กล้าข้าวสำหรับทำนาโยน

มาถึงนาแล้วครับ นาส่วนหนึ่งมาชาวนากำลังดำนาอยู่ครับ สำหรับรูปที่เห็นด้านบนจะเป็นกล้าสำหรับทำนาโยนครับ โดยเขาจะเพาะข้าวไว้ในแผงเพาะชำครับ

จับก้านแล้วก็โยนไปเลย
จับก้านแล้วก็โยนไปเลย

เวลาใช้ก็ดึงออกมาจากแผงเลยครับ หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ สามารถโยนไปได้เลย โดยใช้แรงเพียงนิดหน่อยครับ หลักการเดียวกับลูกแบตที่เราตีๆกันนั่นแหละครับ ตุ้มดินจะตกลงพื้น และฝังตัวลงในนาเองโดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงนิดหน่อย สำหรับนาโยนเราควรเตรียมน้ำในนาให้พอขลุกขลิกนะครับ ไม่สูงจนเกินไปไม่งั้นน้ำจะท่วมต้นหรือไม่ก็โยนไปแล้วกล้าก็ลอยน้ำครับ

เตรียมใจก่อนลงนา
เตรียมใจก่อนลงนา

มีคนลงไปก็เยอะแล้ว ผมเองแม้จะเป็นกางเกงขาสั้นแต่ก็ต้องใช้เวลาพับกันขึ้นอีกหน่อย ถอดรองเท้าแล้วก็ลุยลงไปเลยครับ

ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ
ยวบๆดี แต่นุ่มละมุนสุดๆ

นี่ก็อีกสัมผัสแรกในชีวิตครับ หนุ่มเมืองกรุงอย่างผมนี่โอกาสจะมาเดินในนานี่หายากครับ มีโอกาสแล้วมีหรือที่ผมจะพลาด เดินลงไปก็ยุบๆยวบๆ แต่ยังมีพื้นชั้นล่างที่แน่นอยู่ครับ มีแค่ชั้นโคลนบางส่วนเท่านั้นเอง สัมผัสที่ได้นั้น แว่บแรกที่เข้ามาในหัวรู้สึกเข้าใจสัตว์โลกอย่าง วัว ควาย หมูที่ชอบนอนจมปลักกันเลยทีเดียว มันสบายมาก นี่ถ้ามีนาส่วนตัวก็คงจะหาเวลาลงไปนอนเหมือนกัน ยิ่งเป็นนาอินทรีย์ด้วยแล้ว เลิกกังวลไปได้เลยสำหรับสารเคมี

กล้าข้าวสำหรับดำนา
กล้าข้าวสำหรับดำนา

นาโยนก็เพิ่งลองมาหมาดๆคราวนี้มาลองแบบท้องถิ่นบ้าง (Original style) งานนี้ยังได้แม่จรัสพรเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิมครับ แน่นอนว่าไม่ยาก แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องลองทำเองสักแปลงหนึ่งถึงจะรู้ได้ครับ อันนี้ผมลองได้ประมาณแค่ 1-2 ตารางเมตรเท่านั้นครับ จริงๆยังไม่หายอยาก เดี๋ยวค่อยหาเวลามาลองใหม่ คราวนี้ก็พอชิมๆไปก่อน

พอกโคลนแบบธรรมชาติ
พอกโคลนแบบธรรมชาติ

เดินขึ้นมาจากนา นี่ขาพอกโคลนมาเลยครับ พอกแบบนี้เลิกกังวลเรื่องยุงไปได้เลย เสียอย่างเดียวเข้าบ้าน เข้าชานไม่ได้แค่นั้นเอง

สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน
สภาพนาที่เราไปดำนา และ ทำนาโยนกัน

หันกลับมามองดูสิ่งที่ผมและชาวคณะทำทิ้งไว้ ดูไม่ค่อยเป็นนาสักเท่าไหร่ครับ  แต่ก็ได้เรียนรู้กันสนุกดีเหมือนกันครับ

กลับมาที่ศาลาไทวัตร
กลับมาที่ศาลาไทวัตร

กลับมาที่ศาลาไทวัตรเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวก่อนที่จะได้เวลากินข้าวครับ สำหรับผมก็ต้องขออาบน้ำกันสักหน่อย เพราะอบเหงื่อมาหนึ่งวันเต็มๆ

ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร
ทานมื้อค่ำกับแมว และเพลงประกอบอาหาร

ระหว่างกินข้าวก็มีแมวมาเล่นด้วย แล้วก็มีเพลงบรรเลงประกอบด้วยครับ เพลงระหว่างทานข้าวนี่บรรเลงโดยพี่โต้งครับ เป็นชาวนาคุณธรรมคนหนึ่งที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจทีเดียวจริงๆ แต่เสียดายเวลาคุยน้อยไปหน่อย

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ

ตอนกลางคืนหน่อยก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกันครับ หลังจากพิธีนี่ก็เขามีช่วงให้พูดความในใจกันนิดหน่อย ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสพูด แต่ได้รับเร็วไปหน่อยยังคิดไม่เสร็จว่าจะพูดอะไร ก็เลยพูดเท่าที่คิดได้ละนะ เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาของผม และมาในครั้งนี้แล้วได้อะไรกลับไป ซึ่งเล่าเรื่องคุณแม่ของผมที่เคยมาที่นี่และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง

หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปนอน ผมเองยังคุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้อีกนิดหน่อยกับพี่ทิดโส แกเป็นผู้มีความรู้ด้านต้นไม้ น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องเกษตรสวนผสมด้วย เจอแกได้ที่เว็บเกษตรพอเพียงและเว็บไซต์ทิดโส ซึ่งผมจะคุยเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก สำหรับข้าวนี่เดี๋ยวต้องรอมีที่ทางค่อยคุยกันอีกทีเพราะ ข้าวเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวกันเป็นรอบๆ แตกต่างจากต้นไม้ที่ลงทีเดียวแล้วยาวเลย ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน

แต่คุยไม่นานต้องบอกตรงๆว่าทนพลังของ ยุงป่า ไม่ไหวก็เลยต้องลาไปอาบน้ำนอน

สวัสดี

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

จากการไปเรียนรู้ที่ยโสธร ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็ได้พบกับผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ส่วนหนึ่งครับ

เกษตรอินทรีย์นั้นจะไม่ใช้สารเคมีเลย ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเร่งต่างๆ จากการสังเคราะห์ทางเคมีหรือแม้แต่ใช้พืชที่ตัดแต่งพันธุ์กรรม ทำให้เกษตรอินทรีย์นั้นเติบโตโดยพื้นฐานทางธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็จะใช้วัสดุและนวัตกรรมทางธรรมชาติแทนครับ เช่นน้ำหมัก ฮอโมนพืชต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ นั่นคือเอาธรรมชาติ ส่งเสริมธรรมชาติอีกที สรุปคือไม่ใช่สิ่งที่มีพิษมีภัยแน่นอนครับ

ทีนี้เกษตรกรหลายคนอาจจะคิดว่ามันได้ผลผลิตน้อยไม่พอขาย แต่จากที่ผมได้ไปศึกษาจากสวนลุงนิล จนถึงกิจกรรมในตอนนี้ผมก็ยังคิดว่ามันพอกินนะ สำหรับการพอขายเนี่ยมันแล้วแต่การวางแผนทางการค้า แต่ถ้าพอกินนี่มีแน่นอน เพราะพื้นที่ไม่มาก แต่ดูเหมือนจะให้ผลผลิตที่ดีทีเดียวเชียวล่ะ ลองมาดูกันนะ

ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

มะเขือ
มะเขือ

มะเขือนี่อาจจะดูธรรมดาและพบเห็นได้ทั่วไปนะครับ ผลสุกนี่ถ้าเราเอามากินไม่ทันสุกจริงๆก็เก็บไปทำน้ำหมักชีวภาพได้ครับ เอามารดต้นไม้อีกทีงามนักล่ะ

บวบ
บวบ

บวบที่ไม่โดนปนเปื้อนด้วยสารเคมี สำคัญนะครับ บวบที่เราเอาไปขัดตัวขัดผิว หากมีการปนเปื้อนด้วยสารเคมีแล้วจะดีต่อผิวอันบอบบางของเราจริงหรือ หลายคนอาจจะบอกว่าเราแกะเปลือกใช้แต่ไส้ในของมัน แต่สารเคมีที่เกษตรเคมีใช้ส่วนใหญ่เป็นพวกดูดซึมครับ หมายความว่ามันก็ไปปนอยู่ในที่เราถูตัวนั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โดนฉีดโดยตรงแต่ถ้าในพื้นที่มีการฉีดพ่นก็มีความเสี่ยงอยู่ครับ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ควรจะมั่นใจกับแหล่งที่มาด้วยนะ

ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่
ไผ่ปลูกไว้ ได้ใช้ไม้ ได้กินหน่อ ได้รักษาพันธุ์ไผ่

ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจนี่เขาปลูกไผ่ไว้หลายชนิดเลยครับ มีทั้งไผ่ใช้ไม้ ไผ่กินหน่อมากมาย มีเยอะขนาดนี้วันไหนอยากกินก็เดินไปหาๆดูก็น่าจะพบหน่อไม้ อิ่มสบายๆ แค่เดินรอบดงไผ่

มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่
มะละกอในแปลงสาธิตลูกดกและมีขนาดใหญ่

มะละกอในแปลงสาธิตใหญ่ขนาดที่มือผมยังจับลำบาก ที่เห็นนี่ถือว่ายังเล็กนะครับ เมื่อเทียบกับมะละกอในสวนด้านหลังซึ่งไม่ได้ถ่่ายมาเพราะมัวแต่ไปถ่ายอย่างอื่น จะเห็นว่าผลผลิตที่ได้นั้นมีคุณภาพและความปลอดภัยมากทีเดียว

กล้วยพันธุ์พระราชทาน
กล้วยพันธุ์พระราชทาน

กล้วยพันธุ์พระราชทานครับ นี่เป็นกล้วยน้ำว้าลูกใหญ่ที่มีเปลือกบางครับ ซึ่งลองกินแล้วก็พบว่าหวานแต่พอดีครับ แต่ปัญหาคือกินลูกเดียวก็จะอิ่มแล้วครับ เลยไม่ได้ชิมลูกที่สองอยู่ คุณภาพคับหวีอีกเหมือนเดิมครับ

แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ
แตงโมอินทรีย์ ลูกเล็กหน่อยแต่อร่อยแบบมั่นใจ

มาจบกันที่แตงโมครับ เคยได้ยินว่าแตงโมที่นี่ไม่ได้รดน้ำครับ ให้กินแต่น้ำค้างเอา ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่ขนาดของแตงโมที่ผมว่าก็ได้ เพราะที่เคยได้มามันใหญ่กว่านี้เยอะเลยครับ แต่ขนาดนี้ก็น่ารักดีครับ กินเป็นมื้อๆได้พอดีไม่ใหญ่มากขนาดพอเป็นของหวานประดับมื้อได้ ที่สำคัญปลอดภัยกับชีวิตครับ

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์นะครับ จริงๆแล้วก็มีอีกมากมายที่งอกงามในดินร่วนปนทรายผ่านกรรมวิธีบำรุงดินแบบเกษตรอินทรีย์ให้โตและงอกงามอย่างยั่งยืนครับ

สวัสดี

ของฝากจากยโสธร

หลังจากไปร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ที่จังหวัดยโสธร ก็ได้ของฝากมาด้วยมากมายครับ

มีทั้งของที่ทางมูลนิธิธรรมะร่วมใจให้มา ของที่พ่อๆแม่ๆ ร่วมกันให้มา และของที่ซื้อมาด้วยครับ สำหรับของส่วนใหญ่ก็จะเป็นของกินของใช้ละนะ ส่วนของที่ระลึกนั้นไม่มี

ของฝากจากยโสธร

หอม กระเทียม และข้าวอินทรีย์ ของฝากจากมูลนิธิธรรมะร่วมใจ
หอม กระเทียม และข้าวอินทรีย์ ของฝากจากมูลนิธิธรรมะร่วมใจ

อันนี้เป็นของฝากที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ ร่วมกันให้นะครับ มีหอมกระเทียม และข้าวด้วยครับ เยอะทีเดียว กินกันไปอีกนานเลยงานนี้

น้ำหมักชีวภาพ ซื้อมาจากห้างดินของมูลนิธิฯ
น้ำหมักชีวภาพ ซื้อมาจากห้างดินของมูลนิธิฯ

อันนี้เป็นน้ำหมักชีวภาพ ที่เป็นอาหารพืชครับ จริงๆแล้วหาซื้อที่ไหนก็ได้ครับ แต่ได้จังหวะเหมาะแถมราคาไม่แพงด้วยก็เลยซื้อกลับมาทีเดียวเลย เพราะยังไงก็คิดว่าต้องลองซื้อใช้อยู่แล้ว และคิดว่าในกรุงเทพฯ คงไม่ขายถูกกว่าราคาป้ายแน่นอน ซื้อมาสองแบบ แบบบำรุงต้นใบและบำรุงดอกผล

สารพัดเมล็ดผัก ถูกและได้เยอะกว่าที่ขายเป็นซองๆทั่วไป
สารพัดเมล็ดผัก ถูกและได้เยอะกว่าที่ขายเป็นซองๆทั่วไป

เมล็ดพันธุ์ผักครับ ปกติก็หาซื้อได้ทั่วไปเหมือนกัน แต่ถึงจะมีทั่วไปผมก็ไม่ซื้อครับ มาซื้อเอาที่นี่แหละ อยากลองเพาะผักอยู่พอดีก็เลยซื้อไปเลย ที่ซื้อไปก็มี พริกขี้หนู สลัดม่วง ผักกาดขาว คะน้ายอด ชีลาวครับ เมล็ดพันธุ์เยอะทีเดียว คิดว่าคงต้องทยอยปลูกนะครับ พื้นที่ที่บ้านไม่ค่อยจะพอ

สิบเซียนสมุนไพร ซื้อจากห้างดินเหมือนกัน
สิบเซียนสมุนไพร ซื้อจากห้างดินเหมือนกัน

สิบเซียนสมุนไพร น้ำหมักสมุนไพรหรืออะไรสักอย่างนี่แหละ เห็นน้องตากล้องเขาซื้อก็เลยซื้อบ้าง เห็นเขาลองแล้วคงจะดีเป็นแน่แท้ ไม่งั้นคงไม่เอามาขาย ส่วนดีจริงไม่จริง ชอบไม่ชอบ อย่างไร ลองแล้วค่อยมาว่ากันอีกทีแล้วกัน แต่ตอนนี้ขอซื้อติดมาก่อนไม่งั้นไม่ได้ลอง

จริงๆมีของฝากจากแม่หม่อน ที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจฝากให้คุณแม่ของผมด้วย แต่ก็ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะ โดนเอาไปจัดเก็บหมดแล้วเลยไม่อยากหยิบมาถ่าย ( แอบขี้เกียจ ) เลยเอาประมาณนี้แล้วกันนะ

สวัสดี

แมวระหว่างทาง

ในระหว่างการเดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีของชาวคุณธรรม ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ก็พบกับแมวหลายตัวด้วยกันครับ

พอพบแมวก็อดเข้าไปทักทายมันด้วยภาษาเราไม่ได้ ซึ่งก็จะถ่ายรูปติดมาด้วยและแมวส่วนใหญ่ก็มักจะเชื่องเพราะคุ้นชินกับคนครับ เรียกก็มา มาก็เดินตามอะไรประมาณนี้เลยครับ มาดูแมวที่เจอกันที่ละตัวตามลำดับกันเลย

แมวระหว่างทาง

แมวตัวแรกที่เจอที่ ทีวีบูรพา
แมวตัวแรกที่เจอที่ ทีวีบูรพา

แมวตัวแรกที่เจอ ก็เจอที่บริษัท ทีวีบูรพาเลยครับ ก็เป็นแมวสามสีละนะ น่าจะตัวเมียแน่นอน มันก็เดินไปมาแถวกระเป๋าของสมาชิกร่วมเดินทางผมไปเจอก็ลูบหัวนิดหน่อย ถ่ายรูปแล้วจากมา แมวมีปลอกคอด้วยครับ

แมวตัวที่สองเจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ
แมวตัวที่สองเจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

ตัวนี้เจอหลังจากถึงที่หมายแล้ว ประมาณว่าลงจากรถมายืดเส้นยืดสายก็เจอแมวตัวนี้เลย ก็เดินไปทักทายมันตามประสาคนทักทายแมวครับ ตัวนี้เชื่องมากเรียกก็มา แถมยังเดินตามอีก สุดท้ายต้องพาไปปล่อยให้เล่นกับคนอื่นแล้วเดินหนีมา

ลูกแมวตัวที่สาม เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจโดนจับมาปล่อยที่โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน
ลูกแมวตัวที่สาม เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจโดนจับมาปล่อยที่โครงการศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน

ลูกแมวตัวนี้มาเจอเอาตอนปลูกป่าครับ ฟังความได้ว่าทีมงานเอาติดมาด้วย สุดท้ายกลายเป็นแมวป่าเลย เพราะได้ยินว่าจะมีคนรับเลี้ยงที่นี่ต่อ ว่าแต่ตัวเล็กขนาดนี้ไม่รู้หย่านมรึยังนะ แต่ก็เชื่องดี ผมเดินไปไหนมันก็เดินตามเหมือนมันคุ้นและเชื่อใจคนมากทีเดียว

แมวตัวที่สี่ เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ
แมวตัวที่สี่ เจอที่มูลนิธิธรรมะร่วมใจ

แมวตัวสุดท้ายที่เจอครับ ตัวนี้เจอในดงข้าว ในแปลงนาสาธิต มันเดินชมธรรมชาติอยู่ก็เลยเรียกมันมา มันก็มา เชื่องอีกเหมือนกัน สรุปแมวทริปนี้เชื่องทุกตัวเลยครับ ตัวนี้เป็นแมวแม่ด้วย เห็นกำลังมีนมสงสัยจะเป็นแม่ของแมวตัวที่สามนั่นแหละนะ

เรื่องแมวๆ ก็คงจะมีแค่นี้ เหมือนเป็นความน่ารักของเพื่อนร่วมโลกที่แวะมาทักทายระหว่างช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ

สวัสดี