ไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร?

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วชีวิตมันจะดีขึ้นอย่างไร ในเมื่อความรู้เดิม ๆ ที่เคยได้รับมาเนื้อสัตว์ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งดีเสียด้วยซ้ำ แล้วการเลิกเสพสิ่งที่สังคมเข้าใจว่าดีนั้น มันจะดีได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ที่ผมเคยพิมพ์ผ่านหลาย ๆ บทความมา ก็แจกแจงข้อดีในการเลิกกินเนื้อสัตว์ ข้อเสียในการกินเนื้อสัตว์มาก็มากก็มาย มาวันนี้เรามีเนื้อหาโดยสรุปจากอาจารย์หมอเขียว ให้เข้าใจได้ง่าย กับข้อดีของการเลิกกินเนื้อสัตว์ ที่ดีอย่างยิ่ง 3 ประการ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ลองรับชมกันดูเลย

อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าและคนบาป ทำไมจึงไม่เลิกกินเสียล่ะ?

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม 25 สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ข้อ 112)

อ่านเจอพระสูตรนี้คิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนทำใจในใจได้ ถ้าอยากเจริญ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลก … ต่อให้ไม่อยากก็ได้ แค่ใช้ชีวิตไม่ให้ไม่เป็นโทษภัยต่อสัตว์อื่นก็พอ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราละเว้นบาป เหมือนคนมีปัญญา รู้เห็นอยู่ว่าสิ่งที่กำลังจะกินอยู่นั้น มันก่อบาป ก่อโรค เป็นทั้งห่วงโซ่อุปทานในวงจรบาป เป็นทั้งอาหารก่อโรคภัยในตนเอง บัณฑิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไปทำอย่างนั้นให้มันลำบากหรอก ก็เหมือนมันมีทางให้เลือกเดิน ทางรกกับทางเรียบ ๆ เราก็ไปทางเรียบสิ จะไปทางรกทำไมให้มันลำบาก

ทางอื่นในการดำรงชีวิตนอกจากกินเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แล้วจะไปกินทำไมให้มันลำบากตัวเอง เบียดเบียนสัตว์อื่น

บัณฑิตหรือผู้รู้นี่เขาเห็นแล้วว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ เขาก็เลิกไปเท่านั้นเอง เพราะไอ้บาป เวร ภัย นี่มันชัด ๆ อยู่แล้ว เป็นการเบียดเบียนหยาบ ๆ ที่แม้แต่คนทั่วไป ศาสนาใดเขาก็รับรู้ได้ จริง ๆ ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่น่าจะมั่นใจว่าตนเป็นพุทธนะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ไม่ใช่ศาสนาไม่รู้ มั่ว ๆ เดา ๆ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมใดเบียดเบียน กรรมใดไม่เบียดเบียน อันนี้มันก็หาศึกษาไม่ได้ยากในยุคอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแบบนี้นะ

คนที่เห็นทางที่ดีกว่า สบายกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า แล้วยังไม่ไป ก็ไม่แปลก ก็เขาไม่ใช่บัณฑิตไง …ตรงข้ามกับบัณฑิตก็มีแต่คนพาลเท่านั้นแหละ

สมการการกิน

เมื่อก่อนก็ยังหลงคิดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อศึกษาจนมาถึงตอนนี้ก็กลับพบว่ามันไม่ได้จำเป็นเลย

สมัยก่อน : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + เนื้อสัตว์
ตอนนี้ : อาหารเพื่อชีวิตที่แข็งแรง = ข้าว + ผัก + ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ

ผมค้นพบว่า แค่กินถั่วแทนเนื้อสัตว์ ชีวิตก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก มีแรง มีกำลังทำงานเป็นปกติ ดังนั้น เนื้อสัตว์จึงเป็นตัวแปรที่ชีวิตไม่จำเป็นต้องใช้

คนไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่กินถั่วและธัญพืช จะอิ่มได้ไม่นาน แรงน้อย แต่ถ้ากินแต่พวกถั่วอบถั่วทอด ถั่วขนมถุง ๆ ทั้งหลายก็อยู่ไม่รอดเหมือนกัน อันนั้นได้คุณค่าน้อย บวกกับพิษจากการผลิตและการปรุงแต่งที่เยอะ โดยค่ารวม ๆ คือมีประโยชน์บ้าง มีโทษปานกลาง แต่ถ้าเป็นพวกถั่วนึ่ง ถั่วต้มนี่จะอิ่มท้องมีกำลังอยู่ได้นาน ยิ่งกินแบบไม่ใส่น้ำตาลยิ่งดี ถั่วที่ดี คือถั่วที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ฯลฯ หรือถั่วท้องถิ่นทั้งหลาย

การเลือกกินถั่วหรือเนื้อสัตว์ในด้านความต้องการโปรตีนของร่างกาย มีเหตุและผลไม่เหมือนกัน การกินถั่วเกษตรกรต้องเสียเหงื่อเสียแรง ส่วนการกินเนื้อสัตว์ สัตว์ต้องกลัว เจ็บปวด และเสียชีวิต และส่งเสริมกิจกรรมที่ผิดศีลไปในตัว ดังนั้นผลที่ได้จึงต่างกัน แม้จะเป็นธาตุโปรตีนเหมือนกัน แต่ผลจะไม่เหมือนกัน กรรม(การกระทำ)ต่างกันวิบากกรรม(ผลของการกระทำ)ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

การใช้ชีวิตให้แข็งแรงผาสุกอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องศึกษาเหตุที่เกิดสืบเนื่องต่อกันมาและผลที่เกิดจากความแตกต่างของเหตุเหล่านั้น

ถ้าไม่เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ จะให้ทำอะไร?

ผมก็คิดทบทวนนะ ว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี่จะทำให้ลดการกักขัง,ทำร้าย,ฆ่า ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์ของสัตว์และเป็นประโยชน์ของตนเองด้วย คือเราไม่มีกรรมไปเกี่ยวข้องกับการเบียดเบียน สรุปคือเป็นทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

แล้วเรามีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ จะให้เก็บไว้เปล่า ๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ก็ใช่ว่าจะผลักดันให้เกิดผลในอุดมคติ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ความรู้มันก็ช่วยได้แค่คนที่ต้องการรู้เท่านั้น คนน้ำเต็มแก้วก็ต้องปล่อยเขาไป

เพราะสุดท้ายทำยังไงมันก็ไม่ทันหรอก โลก(โลกีย์/กิเลส) มันกลืนกินคนได้เร็วกว่า ดูสิ ทุกวันนี้เขารีวิวอาหาร อร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไปกินเนื้อแบบนั้นแบบนี้ เคยมีไหมที่จะเห็นคนไปแย้ง ว่านั่นกิเลส นั่นกาม ไม่มีหรอก เขาก็ไหล ๆ ไปรวมกันนั่นแหละ

แต่ถ้าเราเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์นี่ เขามาฮึ่ม ๆ ใส่เลยนะ กับกิเลสโลก ๆ ทั่ว ๆ ไป เขาไม่ค่อยสู้กันนะ เขามาสู้กับคนที่เผยแพร่ธรรมที่พาให้ไม่เบียดเบียน นี่มันยังไง แต่ก็ไม่สงสัยหรอก ก็มันหน้าที่เขา เขาก็ทำตามหน้าที่เขา

ส่วนเราก็ทำตามหน้าที่เรา เผยแพร่ไป นึกมุกใหม่ได้ก็เผยแพร่กันไป ถ้ามุกตันก็ทบทวนธรรมศึกษาโลกไปเดี๋ยวก็นึกออกสักวัน

ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรดีเท่าเราเผยแพร่สิ่งดีออกไปหรอก ก็ประมาณให้เหมาะก็พอ ก็ต้องติกันให้กระทบถึงอัตตา แต่ก็ไม่ถึงขั้นทะเลาะบาดหมางกัน เพราะคนสมัยนี้ด้าน หนา มารยาเยอะ ถ้าลงน้ำหนักไม่มาก ประนีประนอม มันไม่เข้า ไม่สะเทือนผิวเขาเลย

คิดดูสิ ทุกข์ ดิ้นรน แสวงหา เพราะความหลง ความอยากกินของตนแท้ ๆ แต่ต้องไปเบียดเบียนเขามา ถึงขนาดต้องให้คนไปฆ่าเขามากิน ก็ยังกินกันหน้าตาเฉย กิเลสมันจะหนาขนาดไหน ตื้น ๆ แค่นี้เขายังไม่รู้กันเลย

นี่ขนาดว่ามีคนเขาขยันเผยแพร่กันขนาดนี้ยังไม่เห็นผลเลย แล้วถ้าไม่ทำอะไรเลยมันจะแย่ลงขนาดไหนเนี่ย

พระพุทธเจ้าตรัสในโอวาทปาฏิโมกข์ว่าทำความดีให้ถึงพร้อม ไม่ใช่ให้ปล่อยวางความดี คือดีน่ะทำไป ถ้าจะปล่อยวางค่อยไปปล่อยตอนเขาจะฆ่า ถ้าเผยแพร่เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเขาจะฆ่า ก็คงจะปล่อยวางตอนนั้น ไม่ใช่ว่ากลัวตายหรอกนะ ก็แค่สงสารเขาว่าเขาต้องทำบาปด้วยเรื่องแบบนี้

และนี่เองคือรูปแบบเดียวกับที่คนดีในกลียุคต้องหนีเข้าป่า 7 วัน 7 คืน ให้คนชั่วเขาฆ่ากันให้หมดโลก แล้วค่อยออกมาใหม่ มันจะปล่อยวางดีกันตรงนี้นี่แหละ คือจุดที่ทำดีแล้วเบียดเบียน ทำร้ายกัน เราก็เลิกยึดดีนั้น แล้วหนีออกจากคนพาลไปหาดีใหม่ทำเท่านั้นเอง

กินอย่างรู้ที่มา

เห็นร้านอาหารบางร้านเขาชูเรื่องผัก ก็มีแปลงผักในพื้นที่ บางที่ก็เก็บผัก เก็บผลผลิตได้ คนก็ชอบกัน ชื่นชมกับกระบวนการเก็บเกี่ยวกัน

พอมานึกถึงเนื้อสัตว์ ไม่เห็นจะมีสักร้านที่เขาเอาสัตว์มาเลี้ยง ฆ่าสัตว์โชว์ ให้ลูกค้าฆ่าเอง สัตว์ที่หมายถึงก็พวกหมู วัว ไก่ เป็ด ขาประจำโรงเชือดทั้งหลาย

คงเพราะภาพมันไม่น่าชม เสียงร้องมันไม่น่าฟัง กลิ่นเลือดมันไม่น่าดม เขาก็เลยไม่นิยมกัน ไม่ใช่คุณธรรมอะไรหรอก ก็แค่ไม่สมกาม ไม่สมใจที่อยากเสพ มันไม่ใช่ภาพที่ชอบ ไม่ใช่เสียงที่อยากได้ยิน ไม่ใช่กลิ่นที่อยากดม เขาก็ไม่เอากัน

แต่ที่เขาเอาก็มี พวกสัตว์เล็กที่มันร้องไม่ได้ เลือดไม่นอง กลิ่นไม่แรง ก็พวกกุ้งหอยปูปลาทั้งหลาย พวกนี้บางร้านเขาก็ฆ่ากันสด ๆ เลย จับมันมาใส่บ่อ พอจะกินมันก็จับมันปิ้งกันสด ๆ เลย ถ้าแบบนี้คนชอบ ฆ่ากันแบบสดใหม่เขาก็ยินดีกินกัน

ผมเคยคิดว่าถ้าคนเขากินอย่างรู้ที่มาจริง ๆ เขาอาจจะหยุดกินเนื้อสัตว์ได้ แต่พอมาทบทวนอีกที มันก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะถ้ากามมันจัด มันก็เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเองได้หมดนั่นแหละ

คือรู้ทั้งรู้ว่าสัตว์ต้องตายเมื่อตนเองกิน การกินสัตว์ของตนเองนั้นคือแรงขับเคลื่อนในกระบวนการเลี้ยงล่าค้าขาย เขาก็ไม่หยุด ไม่คิดจะหยุด ไม่ยินดีในการหยุด ปกป้องตนเองเพื่อจะได้ไม่มีวันหยุด

คงเหมือนกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ในลำดับของจิตที่จะพัฒนาได้ จะต้องมีศีลเสียก่อน ไม่มีศีลก็ไม่มีหิริโอตัปปะ ทุกวันนี้พุทธไม่มีศีลเป็นเบื้องต้นแล้ว จะหวังอะไรกับหิริโอตัปปะหรือธรรมที่สูงกว่านั้น

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติให้เลิกกินเนื้อสัตว์

มีบางท่านก็ยังเห็นและสงสัย ส่วนบางท่านปักมั่นไปแล้วก็ลองพิจารณากันดู

ครั้งที่พระเทวทัตมาขอให้บัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ยินดีตามพระเทวทัต

!? แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ และท่านก็ไม่ได้ห้าม ถ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์ แม้ครั้งที่มีพราหมณ์มากล่าวหาว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ท่านก็ยังปฏิเสธว่า เราถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง

*ทำไม่ท่านจึงไม่บัญญัติ เพราะท่านบัญญัติไว้แล้วในศีลข้อ ๑ เนื้อความว่า “เธอละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่”

นั่นหมายความว่าเมื่อปฏิบัติตามศีลไป จะละเว้นเนื้อสัตว์ได้เอง เพราะการที่ยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ก็ยังไม่เต็มในเมตตา ยังไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความกรุณา ไม่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ …ก็อาจจะเถียงไปได้ ว่าหวังประโยชน์แก่คนฆ่า คนขาย คนเลี้ยง เดี๋ยวธุรกิจบาปเขาจะพัง

ในการปฏิบัติศีลนี้ไม่มีบทลงโทษ นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติก็จะทำไปตามลำดับได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละ คนอ่อนแอ ยังอยากมากก็ต้องหามาเสพ แต่ถ้าตั้งจิตถูกว่าจะพยายามลด ละ เลิกก็ไม่ได้ผิดในทางปฏิบัติอะไร เพราะท่านเข้าใจว่ากิเลสมันร้าย มันต้องค่อย ๆ ปฏิบัติลด ละ เลิกไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วการไม่กินเนื้อสัตว์ นั้นเป็นระดับเบสิคของพุทธที่เรียกว่าได้กันโดยสามัญ เพราะใช้ปัญญาเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้ในปัจจุบัน ผู้คนไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธ เขาก็ยังมีปัญญาลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนชีวิตอื่นมาก

ดังจะสอดคล้องกับหลักพุทธอีกหลายข้อ คือการเอาสัตว์มาฆ่ากินนี่บาปตั้งแต่ สั่ง ฉุด ลาก ดึงมันมา ทำร้ายมัน ฆ่ามัน สุดท้ายทำให้คนยินดีในเนื้อที่ฆ่ามานั้น บาปทุกขั้นตอน หรือการค้าขายที่ผิด พระพุทธเจ้าไม่ให้ขายชีวิตสัตว์ ไม่ให้ขายซากหรือเนื้อสัตว์ เพราะท่านรู้ว่ามันจะเป็นเหตุให้คนไปหาผลประโยชน์จากสัตว์ ไปเบียดเบียนสัตว์ ท่านก็ปิดประตูนี้

แค่เอาจากจุลศีลข้อ ๑ ,มิจฉาวณิชชา ๕ ,ทำบุญได้บาป ๕(ชีวกสูตร) เอาแค่นี้ก็ไม่ต้องบัญญัติว่าควรกินหรือไม่ควรกินแล้ว เพราะสาวกผู้มีปัญญา ปฏิบัติตามครรลองคลองธรรมไปโดยลำดับแล้วจะรู้เองว่าสิ่งใดควรละ สิ่งใดควรยึดอาศัย

เชื่อไหม ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ นี่มันไม่ต้องเถียงกันเลยนะ มันจะสอดคล้องกับข้อธรรมทั้งหมดเลย มันจะไม่ขัด ไม่แย้งกันเลย แต่ถ้ากินเนี่ยนะ มันจะขัด จะแย้งไปหมด ยังมีอีกหลายบทที่ยกมาแล้วจะยิ่งล็อกไปใหญ่ แต่มันยาว ก็ยกไว้ก่อน

แต่ก็เอาเถอะ ถ้าเขาปฏิบัติจนเจริญจริง ภาวนาได้จริง เมตตามีจริง เขาก็หาทางเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงทางอ้อมนั่นแหละ ไม่ปฏิบัติอะไรหรือปฏิบัติผิด มันก็ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร มันก็เถียงกินอยู่นั่นแหละ เอ้อ จะมีปัญญาเพิ่มก็ปัญญากิเลสนี่แหละ สามารถเถียงกิน เถียงเพื่อที่จะทำชั่ว เถียงเพื่อที่จะเบียดเบียนได้เก่งขึ้น

…ก็เอานะ ถ้าเข้าใจว่าพ้นทุกข์ก็ทำกันไป แต่ผมว่าไม่พ้นหรอก เพราะสุดท้ายก็ต้องคอยเถียงกินกันทุกชาติ ผมว่ามันทุกข์นะ ไม่เหมือนคนที่เผยแพร่สิ่งดี เอ้ามาลด ละ เลิกการเบียดเบียนกันเถอะ นี่เขาทำไปมันก็เป็นกรรมดี คนจะเห็นต่างบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกับใคร ไม่ต้องมาปกป้องกิเลสหรือความเห็นผิดของตัวเองกับใคร ก็เผยแพร่ไปตามโอกาสของตัวเองนี่แหละ สบาย ๆ นึกออกก็บอก นึกไม่ออกก็วางไป ไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องบอกสิ่งดี แต่ก็อาศัยสิ่งดีให้ดีเกิด

สัจจะมันไม่ได้ถูกหรือผิดเพราะเชื่อหรือคนกำหนดนะ มันถูกมันผิดของมันโดยธรรม คุณกินสิ่งที่มันเป็นโทษ มันเบียดเบียน มันก็เป็นโทษ เบียดเบียนของมันอยู่อย่างนั้น มันหนีความจริงนี้ไม่พ้นหรอก สุดท้ายก็ต้องได้รับผลกรรมตามที่ทำ และผลของการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็แตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยของมัน

ความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ได้ตัดกันง่ายๆ

ผมมีความเห็นว่าจะตัดความอยากกินเนื้อกันด้วยปัญญานี่มันยากนะ มันต้องตัดด้วย “อัตตา” คือยึดดี ไปก่อนนี่แหละ มันถึงจะเลิกกิน(ยึดชั่ว) ได้

คือการไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันก็มีอะไรดี ๆ มากมายให้ยึดอยู่เหมือนกัน จะเมตตา จะสุขภาพ จะประหยัด จะ…ฯลฯ ก็ต้องหาจุดยึดไปก่อน ไม่งั้นมันไหลไปตามน้ำ ไหลไปตามกระแสโลกหมด

แล้วถ้าพัฒนาตัวเองจนโตขึ้นได้แล้ว ว่ายน้ำได้แล้ว ขาถึงพื้นแล้ว ก็ค่อยเลิกยึดหลัก เลิกยึดดี (อัตตา) นั้นอีกทีหนึ่ง ปฏิบัติไปเป็นลำดับ ล้างกาม ล้างอัตตา มันก็จะดูเป็นไปได้หน่อย

จะไปล้างอัตตาก่อนนี่มันจะไปไม่ได้ มันจะมั่วเลย ชิงวางก่อนเลย ทำดียังไม่ได้ทำเลย วางไปแล้ว ก็เรียกว่ามันยังไม่ได้ทำอะไรนั่นแหละ ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย ยังไม่มีดีให้วางเลย จะวางดีได้ยังไง ถ้าจะเรียกว่า “วาง” ได้จริง มันต้องมี “สิ่ง” ให้วางด้วย ไม่ใช่ไม่มีอะไรดีเลย จะวาง มันก็ไม่ใช่ มันก็เล่นตลกเท่านั้นแหละ

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้จริง วางได้จริง จิตมันจะสบาย ทางโลกที่แสดงออกจะมีลักษณะ 3 อย่างคือ ตัวเองก็ไม่กินเนื้อสัตว์, ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์, ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนและผู้อื่น …แล้วก็ไม่ทุกข์ใด ๆ ในองค์ประกอบ 3 อย่างนี้

1.ไม่กินก็ไม่ทุกข์ร้อน ไม่กินทั้งชีวิตก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องอดไม่ต้องทน การไม่กินเนื้อสัตว์ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

2.ส่งเสริมการไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ ไม่ต้องยึดดี ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรถ้าคนอื่นจะเห็นแย้งหรือไม่เอาด้วย อธิบายบอกตามเหตุปัจจัยที่เหมาะแก่ความเจริญ แล้วก็วางดีเหล่านั้นไป ไม่ต้องทะเลาะกับใครให้ปวดหัว

3.ยินดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งตนเองและผู้อื่น ตนเองก็ยินดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แม้จะกินแค่ข้าวเปล่าจิตก็ยังยินดี ไม่มีน้อยใจ ขุ่นใจ เห็นคนอื่นเขาไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยินดี เขาลดได้แม้เล็กแม้น้อยก็ยินดีกับเขา

…แค่เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ชีวิตก็ยกระดับขึ้นอีกขั้นแล้ว ไม่ใช่ความโก้หรูดูดีมีศีลเคร่งอะไรหรอก มันยกระดับขึ้นจากทุกข์นั่นแหละ คือจากที่เคยลอยคอ มันก็สูงขึ้น ไม่ต้องสำลักน้ำบ่อย ๆ

จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางคนมีกำลังจิตดี มีปัญญามากก็ตัดได้ไว แต่ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ทำกันหรอก เพราะเขาไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเขา หรือไม่ก็เห็นว่ามี แต่มันไม่มีแรงต้าน ดังนั้น มันจึงต้องเพิ่มความยึดดีเป็นแรงต้าน ความอยากกินเนื้อสัตว์ (กาม) นั้นก่อน

stop one stop them all

stop-one-stop-them-all

การไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเขาหยุดฆ่าสัตว์นี่มันเข้าใจได้ไม่ยาก มันก็ demand&supply ธรรมดา ๆ ปฏิจจสมุปบาทยังเข้าใจยากกว่าอีก น่าแปลกที่คนปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่พยายามทำความเข้าใจ ไอ้ที่ง่าย ๆ ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วอันยาก ๆ จะเข้าใจถูกไหมนี่ คิดแล้วก็หวั่นใจ

แต่ถ้าผมทำภาพนี้ผมจะเอาคนกินไว้ล่างสุดแล้วแบกคนขายคนฆ่าคนล่าไว้ข้างบนนะ ประมาณปิรามิดกลับหัวนั่นแหละ ภาพมันจะชัดมาก ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นแบกอะไรเอาไว้ และทำให้เห็นความจริงว่าคนกินเนื้อสัตว์ก็มันก็ไม่ได้ดูยิ่งใหญ่ หรูหราอะไรนักหรอก

เขาก็ว่ากันว่าไอ้ตับห่าน ไข่ปลา เนื้อนุ่ม ฯลฯ ทั้งหลายที่มันแพง ๆ กินแล้วชอบมาอวดกัน ว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ จริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรอย่างที่เขาว่าหรอก รสอุปาทานทั้งนั้น แต่กินผักใครเขาจะมานั่งอวดกัน ผักนี่มันถูก ถึงจะกินผักที่แพง มันก็แพงไม่มากอยู่ดี แต่พอไปกินเนื้อสัตว์นี่อวดได้ นี่ฉันได้กินตั้งขนาดนี้เชียวนะ

อย่ายึดมั่นถือมั่น

อย่ายึดมั่นถือมั่น…

ผมได้อ่านประโยคเหล่านี้บ่อย เมื่อได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับความเห็นจากการศึกษาศาสนาพุทธต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ คนเขาก็ว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, การเลือกกินมันยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ

ผมมาเห็นรูปนี้แล้วก็นึกได้ … เออเนาะ คนเรานี่ก็หลอกตัวเองได้เยอะเลย ยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่ามันเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามใจตน เช่น สิ่งนี้คือแกะ แกะกินได้ แกะอร่อย ฯลฯ

ไอ้ “สิ่งนี้คือแกะ” นี่ก็สมมุติทั่วไป คือการตั้งสัญญาให้ตรงกัน ไม่ได้เบียดเบียนอะไรแกะ ถึงมันจะถูกเรียกว่า แกะ แอะ แมะ ฯลฯ ก็ไม่ได้กระทบอะไรมัน แต่ที่ไปกำหนดว่ามันกินได้นี่สิ มันเริ่มจะไปเบียดเบียนมันแล้ว ส่วนที่ไปฆ่าเขาแล้วซื้อมากินกันนี่เบียดเบียนเต็มๆ

ทีนี้คนที่ยึดมั่นถือมั่นนี่เขาจะไม่ปล่อยไม่คลายเลยนะ เขาว่าแกะกินได้ หมูกินได้ เขาก็จะกินอยู่นั่นแหละ เขาจะไม่ยอมคลายออกเลย เขาจะยึดอยู่แบบนั้น นี่แหละคือความยึดมั่นถือมั่นในสัญญาของคนที่ติดเนื้อสัตว์

กลายเป็นเอาเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน (อัตตา) เหมาเอาว่าเนื้อแกะชิ้นนี้ เป็นของฉัน ฉันซื้อมา อันนี้มันเมาสมมุติทั้งนั้น เหมือนเด็กเล่นขายของแล้วจริงจัง จริงๆ แกะมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการซื้อขายของเราหรอกนะ เราสมมุติขึ้นมาเอง แล้วยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นความดีความชอบของเรา

อย่ายึดมั่นถือมั่น…ในสิ่งที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นเลย วางเสียทีเถิด ยึดถือสิ่งที่เบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อประโยชน์ตนอยู่นั่นแหละ(เห็นแก่ตัว) ไม่รู้จักวางเสียที


ผู้ที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า “สัญญาไม่เที่ยง” จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย แต่จะเหลือเพียงหลักพิจารณาประโยชน์และโทษให้เป็นไปตามจริง (ตามข้อมูลและความรู้ที่มี ณ ขณะนั้นๆ)

เช่นความรู้เดิมคือเนื้อสัตว์กินได้ แต่พอได้ความรู้ใหม่ว่า เขาต้องฆ่ามาถึงจะได้เนื้อมากินนะ ก็จะพิจารณาเอาประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเลือกไม่กินเนื้อสัตว์เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบียดเบียนผู้อื่นและไม่สร้างบ่วงกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยเวรนั้นทับถมให้เป็นทุกข์แก่ตน

การไม่กินเนื้อสัตว์ตั้งแต่เด็ก

จากกระทู้ : ลูก 11 เดือน ให้กินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดเลย ดีไหม?

ถ้าเป็นไปได้ ในส่วนตัวของผมนี่ถ้าให้กินมาตั้งแต่เกิดเลยก็ดี ถ้าผมพูดกับพ่อแม่ได้ตอนนั้นผมก็จะบอกเช่นนั้นละนะ 55

แต่ตามสัจจะมันเป็นแบบนั้นได้ยากในยุคนี้ละนะ เพราะสังคมและโลกเขาก็มอมเมาว่าเนื้อสัตว์นั้นดี ยึดเนื้อสัตว์เป็นตัวตนกันจนกลืนไปกับวิถีชีวิตแล้ว เป็นอุปาทานที่ยึดแน่นมั่นจนยากจะแยกออก

ครูบาอาจารย์เคยบอกว่า เด็กบางคนจะสังเคราะห์มาตั้งแต่อยู่ในท้องเลย คือแม่จะไม่สามารถกินเนื้อสัตว์ได้ หรือมีอาการแพ้ กินได้แต่พืช ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ออกมาก็เมาไปตามโลกกว่า 30 ปีแน่ะ พอได้ความรู้ก็จบ แต่ก่อนไม่มีคนให้ความรู้เรา เราก็หลงไปนานเหมือนกัน

แต่ก็น่าจะเคยได้ยินว่าตอนแม่บางคนแพ้ท้องก็อยากกินเนื้อสด ลาบเลือดอะไรแบบนี้ ก็ตามนั้นแหละครับ วิบากของเขาก็สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นอาการเช่นนั้น กรณีในสมัยพุทธกาลก็มีพระนางเวเทหิ ตอนท้องพระเจ้าอชาตศัตรูก็อยากกินเลือดสามี สุดท้ายลูกก็ฆ่าพ่อ บางอย่างมันมีสัญญาณมาก่อน

ก็เล่ากันไปไกล … ในความเห็นส่วนตัวของผมกับเรื่องเด็กกินมังฯ นี่ ก็กินไปเถอะ ถ้าเขาทรมานมากเดี๋ยวเขาก็หนีหรือแอบไปกินเนื้อสัตว์เอง จริงๆถามเขาก็ได้ว่าไหวไหม ชอบไหม เป็นสุขดีไหม ถ้าเขามีปัญญาถึง เขาจะไม่ทุกข์ แต่ถ้าเขาไม่ไหวเราก็อนุโลมไป ทั้งนี้การกินมังฯทั้งชีวิตไม่ได้มีผลเสียอะไรเลย นอกจากจะทำให้อายุยืนและมีโรคน้อย อย่างเช่นเผ่าฮันซาเป็นต้น ที่เขาอายุ 90 กว่าแล้วยังเต้นรำกันได้อยู่เลย แถมยังแก่ตายกันตามธรรมชาติอีกด้วย

ปล. การที่เราหยิบยื่นสิ่งที่เราคิดว่าดีให้คนที่เรารักมันไม่ได้ผิดอะไรมากมายหรอก มันก็เป็นไปตามความรู้ของเรา เรารู้แค่ไหนเราก็ให้สิ่งดีได้เท่านั้น เช่นพ่อแม่ที่เห็นว่าอาหารขยะเช่นเบอร์เกอร์ มันทอดเป็นของมีคุณค่า เขาก็ซื้อให้ลูกกิน เช่นเดียวกับคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือคุณค่า เขาก็ให้ลูกกินมังฯตาม มันก็เป็นคุณค่าตามที่แต่ละคนเข้าใจ เป็นไปตามความรู้ของแต่ละคนไป สุดท้ายถ้ามันเกิดทุกข์กับร่างกายมันก็แค่ความรู้นั้นผิดเท่านั้นเอง ก็เรียนรู้กันไป