การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าและคนบาป ทำไมจึงไม่เลิกกินเสียล่ะ?

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม 25 สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ข้อ 112)

อ่านเจอพระสูตรนี้คิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนทำใจในใจได้ ถ้าอยากเจริญ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลก … ต่อให้ไม่อยากก็ได้ แค่ใช้ชีวิตไม่ให้ไม่เป็นโทษภัยต่อสัตว์อื่นก็พอ

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราละเว้นบาป เหมือนคนมีปัญญา รู้เห็นอยู่ว่าสิ่งที่กำลังจะกินอยู่นั้น มันก่อบาป ก่อโรค เป็นทั้งห่วงโซ่อุปทานในวงจรบาป เป็นทั้งอาหารก่อโรคภัยในตนเอง บัณฑิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไปทำอย่างนั้นให้มันลำบากหรอก ก็เหมือนมันมีทางให้เลือกเดิน ทางรกกับทางเรียบ ๆ เราก็ไปทางเรียบสิ จะไปทางรกทำไมให้มันลำบาก

ทางอื่นในการดำรงชีวิตนอกจากกินเนื้อสัตว์ยังมีอยู่ แล้วจะไปกินทำไมให้มันลำบากตัวเอง เบียดเบียนสัตว์อื่น

บัณฑิตหรือผู้รู้นี่เขาเห็นแล้วว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ เขาก็เลิกไปเท่านั้นเอง เพราะไอ้บาป เวร ภัย นี่มันชัด ๆ อยู่แล้ว เป็นการเบียดเบียนหยาบ ๆ ที่แม้แต่คนทั่วไป ศาสนาใดเขาก็รับรู้ได้ จริง ๆ ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่น่าจะมั่นใจว่าตนเป็นพุทธนะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ไม่ใช่ศาสนาไม่รู้ มั่ว ๆ เดา ๆ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมใดเบียดเบียน กรรมใดไม่เบียดเบียน อันนี้มันก็หาศึกษาไม่ได้ยากในยุคอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแบบนี้นะ

คนที่เห็นทางที่ดีกว่า สบายกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า แล้วยังไม่ไป ก็ไม่แปลก ก็เขาไม่ใช่บัณฑิตไง …ตรงข้ามกับบัณฑิตก็มีแต่คนพาลเท่านั้นแหละ

ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม…

เจอประโยคนี้ระหว่างอ่านพระไตรปิฎก คนพูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พระพุทธเจ้านั่นแหละ ถึงเวลาท่านจะข่มคนโง่ ท่านก็อัดตรง ๆ เลย

มายุคนี้จะไปพูดกับใครเขาแบบนี้ไม่ได้นะ เขาเอาตายเลย บารมีเราไม่พอด้วย จะไปใช้ภาษาระดับพระพุทธเจ้ามันก็ไม่ไหว

ไอ้การที่จะไปปะทะกับคนพาล คนโง่ คนชั่ว นี่มันยาก ในมงคล 38 ประการท่านก็ว่าให้ห่างไกลคนพาลไว้ก่อน

ในพระไตรปิฎกบทหนึ่งท่านก็กล่าวไว้ว่า คนต่ำกว่าไม่ต้องไปคบ ถ้าจะคบก็คบไว้เพื่อไว้ช่วยเขา ดังนั้นถ้าจะหาความเจริญก็ต้องมุ่งไปหาคนที่เจริญ ไปคลุกคลีอยู่กับคนที่เจริญกว่า เก่งกว่า เก๋ากว่า

ผมนี่ไม่ค่อยอยากจะเสียเวลากับคนมากเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ จะว่าไปก็ไม่มีปัญญาไปช่วยเขาหรอก เหตุหนึ่งเพราะเขาก็ไม่ได้ให้เราช่วย คือไม่ได้ศรัทธากันขนาดนั้น มันก็ช่วยไม่ไหว ทำไปมันก็เสียเปล่า สู้เอาเวลาไปสนับสนุนคนดีจะดีกว่า เสียเวลาเท่ากันได้ประโยชน์กว่าเยอะ

ช่วยคนที่ไม่ศรัทธา ให้ตายก็ช่วยไม่สำเร็จ ดีไม่ดีมีการเพ่งโทษกลับไปอีก ลงนรกลึกเข้าไปอีก จากอยู่ขุมที่มันไม่ทุกข์มาก พอเพ่งโทษแล้วไม่รู้จะลงไปอยู่ขุมไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นคนพาลก็ปิดประตูบรรลุธรรมแล้ว ดังนั้นไปยุ่งกับคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาขนาดนั้น มันก็มีแต่เสียเป็นส่วนใหญ่

ครูบาอาจารย์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ศรัทธาประมาณไหน ท่านถึงจะลงมือ ท่านก็บอกว่าระดับ full house คือเปรียบเทียบกับการได้ไพ่รูปแบบหนึ่งใน poker ซึ่งมีอัตราส่วนที่เขาประเมินมาก็ประมาณ 0.1% นั่นหมายความว่า เจอพันคน ก็จะช่วยได้จริง ๆ ก็หนึ่งคนนั่นแหละ พอเห็นอัตราส่วน มันก็สบายใจเลย โล่งเลย แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รอให้เต็มรอบค่อยลงมือก็ได้ พวกไม่จริงจังก็ปล่อยเขาไปตามที่ชอบ ๆ ของเขา ก็ win win เราก็ไม่ต้องเสียเวลา เขาก็ไม่ต้องมาเพ่งโทษเรา

สัตบุรุษของฉัน

ก็มีคำถามเข้ามาว่าสัตบุรุษหรือผู้รู้ธรรมในความเห็นของผมคือใคร ก็จะเล่ากันถึงที่มาที่ไปด้วยนะครับ เผื่อจะได้เห็นภาพขึ้น

ช่วงปี 56 ผมค่อนข้างอิ่มตัวกับธรรมะโลก ๆ ที่ส่วนมากพากันทำแต่สมถะ กำหนดรู้ ตั้งสติ อะไรทำนองนั้น คือผมก็ทำได้อย่างเขานั่นแหละ แต่จะให้บอกว่ามันเต็มรอบของมันไหม ผมมองว่ามันไม่ใช่ พุทธมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องดีกว่านี้ ไอ้การทำจิตแบบนี้มันกินพลังมากไป เสียเวลามากไป อันนี้ลัทธิอื่น ๆ ทั่วไปเขาก็ทำได้ ในจิตวิญญาณของผมมันมีคำถามมากมายกับการปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ทำได้แล้วไงต่อ? ทำได้แล้วต้องทำยังไงต่อ? มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ดีพอจะเห็นผลที่มากขึ้น

พยายามหาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบในโลกมากกว่านี้แล้ว เหมือนติดเพดานบิน มันก็คาไว้แบบนั้น แม้คนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านั้น คือก็มีคนอธิบาย แต่มันตื้น มันพื้น ๆ ผมต้องการรายละเอียดของการปฏิบัติมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ตรรกะคิดเอาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

…จนไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ได้ฟังอาจารย์หมอเขียวบรรยาย ซึ่งก็ประหลาดใจมาก จนคิดว่า นี่มันค่ายธรรมะนี่หว่า! แต่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องนำเฉย ๆ แกนคือธรรมะ และธรรมะสายปัญญาด้วย จากที่ฟังในค่าย จิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่มันหาไม่เจอ มันก็ถูกแปะลงจนเต็ม เห็นเป็นภาพรวมของการปฏิบัติว่า แท้จริงแล้วพุทธปฏิบัติอย่างไร สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร

พอเริ่มสนใจก็เริ่มนำมาฟังทบทวน รวมถึงเข้าไปซักถามปัญหาต่าง ๆ ก็ทำให้มั่นใจเลยล่ะว่า คนนี้แหละ ที่จะสอนเราให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้ สรุป อาจารย์หมอเขียวนี่แหละ ที่ผมเห็นว่าเป็นสัตบุรุษคนแรก

พอฟังอาจารย์หมอเขียวไป เวลาท่านพูดในค่าย ท่านก็แนะนำให้รู้จักสมณะโพธิรักษ์ เราก็ฟังตาม ก็พบว่าท่านนี้แหละ เฉียบขาด รวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้า อีกทั้งยังแม่นยำยิ่งกว่าจับวาง ลองเข้าเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ รู้เลยว่าแม่นยำ จากการแจกแจงธรรมของท่าน เพราะเราเอามาเทียบกับสภาวะที่เราทำได้มันก็ใช่ แล้วมันก็ละเอียดกว่า เป็นลำดับกว่า ลึกซึ้งกว่า

เรียกว่าตรงจริตผมเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ค่อยถูกกับการแสดงธรรมช้า ๆ เนิบ ๆ เป็นรูปแบบสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเร็ว แรง พลิกไปพลิกมาแบบรู้ทันโลกีย์นี่มันสนุก น่าสนใจ กิเลสมันไม่ได้ช้าขนาดนั้น สมัยนี้กิเลสมันแรง จัดจ้าน หน้าด้าน อดทน ถ้าหาธรรมะที่แรงพอกันไม่ได้ เอามันไม่ลงหรอก

ทั้งสองท่านนี้ ผมศึกษามายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 5 ปี ก็ใช่ว่าจะเชื่อกันง่าย ๆ เพราะผมก็เปิดพระไตรปิฎกศึกษาอยู่เหมือนกัน หลักฐานมันก็ฟ้องว่าท่านกล่าวตรง และทั้งสองท่านนี้ยิ่งศึกษาตามยิ่งศรัทธา เพราะท่านจะทำให้ดู เราก็ดู พอเราดูเราก็รู้ว่าอันไหนเรายังทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เราก็พยายามทำตามท่านเท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันยาก แต่วิธีทำก็รู้กระบวนการหมดแล้ว เหลือแต่กำลังและความเพียรล่ะทีนี้

ก็เป็นสองท่านที่อยู่นอกพุทธกระแสหลัก แต่อยู่ในหลักกระแสพุทธ และพุทธเข้ม ๆ เลยด้วย อันนี้เป็นความเห็นความเข้าใจของผม ที่เกิดจากการได้พบ ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้ผลที่น่าพอใจไปเป็นลำดับ ๆ ไป ใครสนใจก็ลองศึกษากันดู ไม่สนใจก็ถือว่าอ่านผ่าน ๆ ไปครับ

ผู้สมควรบวชให้ผู้อื่น ต้องเป็นพระอรหันต์

ภิกษุพึงเป็นพระอรหันต์ จึงให้กุลบุตรบวชได้!!

ไปอ่านเจอมาในพระไตรปิฎก เรียกว่าโหดมากทีเดียว แต่ก็เป็นส่ิงที่สมควรที่สุด ในการบวช ในการให้นิสัย รวมทั้งให้มีสามเณรคอยดูแล… ควรเป็นพระอรหันต์

จะยกพระสูตรนึงมาให้อ่านนะครับ ( เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๕๑-๒๕๓)

“[๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ พึงให้
กุลบุตรอุปสมบทได้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็น
ของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุติญาณทัศนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้ ฯ”

ในข้ออื่นๆ ก็มีความไปในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างคำว่า ศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ คำว่า “อเสขะ” คือไม่ต้องศึกษาแล้ว มีตำแหน่งเดียวคือพระอรหันต์นั่นแหละ สรุปคือต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ในระดับของพระอรหันต์นั่นเอง แม้เป็นพระอริยะระดับอื่นๆ ก็ยังไม่สมควร

สรุปคือถ้าไม่เป็นอรหันต์นี่บวชให้ใครไม่ได้นะครับ จะฝืนบวชก็ได้ แต่ไม่เจริญหรอก

ซึ่งสูตรที่ยกมานี้เข้ากับคำตรัสที่ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงจะไปสอนใครก็ทำตัวเองให้ได้ก่อน การบวชนี่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นตนเองต้องทำให้ได้ก่อน

ถ้าสาวกพระพุทธเจ้ามาอ่านสูตรนี้ผมว่าสะดุ้งเลยนะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันจะรู้สึกเองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร สมมุติถ้าผมเป็นนักบวชนี่ ผมก็คงไม่กล้าบวชให้ใคร หรือถึงเคยทำไปโดยไม่รู้ ก็เลิกทำล่ะงานนี้ ฝืนทำต่อก็นรกกินหัวเปล่าๆ

ส่วนจะมีสูตรไหนอนุโลมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ผมว่ายึดสูตรนี้ไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณนักบวชหรอก เน้นคุณภาพก็พอ ศาสนาพุทธนี่ไม่ได้เน้นปริมาณนะ เอาปริมาณเข้าว่าไม่ได้ เพราะคนเห็นผิดเท่าดินทั้งแผ่นดิน คนเห็นถูกเท่าฝุ่นที่ติดปลายเล็บ ดังนั้นจึงควรจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก