พุทธมีหลากหลาย ทางปฏิบัติก็มีมากมาย แต่ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว

ดูสารคดีแล้วนึกถึงสมัยแรก ๆ หลังจากเข้าใจทางปฏิบัติ ก็มุ่งสืบหาว่ากลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่นมีวิธีอย่างที่ทำได้บ้างไหม?

อ่านหนังสือก็หลายเล่ม โลกกว้างมาก แต่ความกว้างเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งกว้าง ยิ่งไกล ยิ่งหลง ก็คงมีไว้เพื่อศึกษาความผิดพลาดเท่านั้น

ผมมีความเห็นว่า ถ้าคนเกิดความเข้าใจที่ถูกตรงจริง ๆ จะมั่นคงในกลุ่มที่ตนปฏิบัติได้ผล จะศรัทธาอย่างยิ่งในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะไม่วอกแว่ก ไขว้เขว ไม่เที่ยวไปกลุ่มที่มีความเห็นต่างออกไป

เพราะถ้าเจอทางพ้นทุกข์แล้วปฏิบัติเองจนเห็นผล มันจะไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาลัทธินั้นกลุ่มนี้ ที่ผมเคยตามหาไม่ใช่ว่าจะไปหากลุ่มเพิ่ม แต่ค้นหาและศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ …ที่มีทางเดียว

*จุดสำคัญ คือต้องปฏิบัติจนพ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยสัมมาอริยมรรค ที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๘ มิใช่เพียงเข้าใจและเลือกใช้มรรคใดมรรคหนึ่ง ดังสมการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสัมมาสมาธิจะเกิดได้จาก มรรคทั้ง ๗ ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ไม่ใช่การนั่งสมาธิแล้วเรียกสิ่งนั้น สัมมาสมาธิ …เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็เรียกว่าหาแทบไม่ได้แล้ว ว่าที่ไหนในประเทศไทยจะสอนสัมมาสมาธิอย่างถูกต้องอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากที่ผมศึกษาและเห็นมา ส่วนมากจะเป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

และมิจฉาสมาธินี่แหละ คือรูปแบบที่แตกตัวไปทั่วโลก เพราะมันไม่ถูกต้อง จึงทำได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากสัมมาสมาธิที่คาดเดาได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามไม่ได้ง่าย ๆ ลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สัตบุรุษ) เท่านั้น

ดังนั้นผมจึงไม่เอาเวลาไปเสียกับกลุ่มบุคคุลหรือคนที่ยังไม่เห็นทางพ้นทุกข์ ทฤษฎีหรือตรรกะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พูดกันไปได้ แต่สภาวธรรมเป็นสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้เข้าถึงธรรม และผู้ที่แจกแจงสภาวะได้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ผมเคยเจอคนที่อ้างตนว่ามีสภาวะ แต่พอถามเข้าหน่อย ให้แจกแจงเข้าหน่อย ก็นั่งนิ่ง ไปไม่เป็น บางทีคนก็หลงสภาวะกับสัญญา คือจำเขามา จำได้ นึกได้ ก็หลงไปว่าเข้าใจ แต่จริง ๆ มันเป็นแค่สัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

ดังเช่นว่าหลายคนที่ศึกษาธรรมะ ก็รู้นะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ของที่อยากได้ โดนพรากของรัก โดนด่า โดนดูถูก โดนทำร้าย ก็ไปโกรธเขา ชิงชังเขา สภาพแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นแค่ความจำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งดีอะไรให้จำเลย ก็ยังดีกว่าไม่มีเป้าหมาย

…อริยสัจ ๔ คือธรรม ๔ หัวข้อสั้น ๆ แต่ยากที่สุดในโลก เชื่อไหมว่าแม้จะมี 100 ลัทธิ เขาก็จะอธิบายและปฏิบัติไปได้มากกว่า 100 แบบ มันจะบิดเบี้ยวและเพี้ยนไปตามวิบากบาปของแต่ละคน หัวข้ออาจจะคล้ายกัน แต่พอขยายลงรายละเอียดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จะมีส่วนถูกบางส่วนปนอยู่ในเนื้อบ้าง แต่ถ้ามันไม่ 100% มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่ดีนั่นเอง

…สรุป ก็ลองสุ่มปฏิบัติตามกันไป ตามที่ศรัทธา ทำให้เต็มที่ อันไหนพ้นทุกข์ก็อันนั้นแหละ อันไหนไม่พ้นก็เลิก แต่ถ้าแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อันนั้นที อันนี้ที จากที่เห็นมา ส่วนใหญ่ไม่รอด กิเลสเอาไปกินหมด หลงเข้าป่าเข้าพงกันไปหมด

เข้าใจเรื่องกรรม ไม่ช้ำใจ

เรื่องกรรมและผลของกรรมนี่เป็นเรื่องเข้าใจยาก อธิบายยาก สอนยาก เพราะมันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ

นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ อันนี้ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทำใจให้เข้าใจเมื่อกระทบกับความจริงตรงหน้า (คิดเอาท่องเอา มันก็พอได้อยู่หรอก)

ดังเช่นว่า เพื่อนร่วมงานเป็นที่รักของเจ้านาย ส่วนเรานี่เป็นที่น่าชังเสียเหลือเกิน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรม มันจะโทษองค์ประกอบภายนอกหมดเลย เขาลำเอียงบ้างล่ะ เขาเลียเจ้านายบ้างล่ะ เขาไม่เข้าใจถึงคุณค่าของเราบ้างล่ะ

จิตที่มีกิเลสมันจะพุ่งไปเอาทันทีเลย มันจะโลภ อยากได้ของที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์จะได้ อยากได้ของที่ตัวเองไม่ได้ทำมา อยากได้สภาพดี ๆ ชังสภาวะหมาหัวเน่า อะไรแบบนี้ ถึงแม้พยายามเก็บอาการ แต่มันก็จะทำให้ขุ่นใจ ซึ่งอาจจะทำให้ออกหน้า ออกท่าทางโดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้ามาทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ดี ๆ ว่านั่นเขาก็มีกรรมของเขาเนาะ ที่เขาจะเข้ากันได้ เกื้อกูลกันดี ก็เขาอาจจะเข้าขากันมาหลายภพหลายชาติ จริตเขาตรงกัน เขาก็มีผลกรรมที่เขาควรได้รับอย่างนั้น

แล้วเราทำไมไม่ได้อย่างเขา ก็เราไม่ได้ทำมา เราอาจจะเข้าใจว่าเราทำดีมามาก แต่ดีแบบนี้เราไม่ได้ทำ เราไปทำดีแบบอื่นมุมอื่น หรือจริง ๆ ก็คือเรายังทำดีไม่มากพอ ที่จะส่งผลให้มันเกิดสิ่งดีขึ้นกับเรา

ซึ่งดีโดยมากมันก็รั่วออกไปเพราะกิเลสนั่นแหละ ทำดีแล้วเททิ้ง ทำดีเป็นคนดี แต่พอโดนคนเข้าใจผิด ดูถูก ใส่ร้าย หยาม ข่ม ฯลฯ แล้วดันไปโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา อันนี้ดีที่ทำมามันรั่วออกรูนี้

ยิ่งเราสำคัญตนว่าตนดีเท่าไหร่ ฟ้าจะส่งโจทย์มาพิสูจน์ความดีเสมอว่า กระทบกับสิ่งเหล่านี้แล้วยังดีได้จริงอย่างที่คิดหรือเปล่า หรือเอาดีไปเททิ้งหมดแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง นั่นหมายถึงเมื่อคนดีกระทบสิ่งใดแล้วก็จะไม่พาล ไม่ชิงชัง ไม่คิดร้าย ไม่เพ่งโทษ ไม่เห็นว่าสิ่งร้ายที่กระทบนั้นจะเป็นโทษใด ๆ แก่จิตอันเป็นกุศลของตนเอง และไม่สร้างความเห็นผิดให้ตนเองซ้ำ

เพราะมีความเห็นเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างถูกต้องว่า ก็ถูกแล้ว สิ่งร้ายและดีที่เราได้รับ นั้นเพราะเราทำมาเอง ได้รับก็ได้รู้ว่าทำมา ได้รู้ก็ได้ระลึกว่าตนทำดีทำชั่วมาแค่ไหน เจอร้าย ก็อ๋อ ทำชั่วมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ชั่วนี้แหละที่ทำ เจอดีก็ทำดีมามาก อย่างน้อย ๆ ก็ดีนี้แหละที่ทำมา

เรื่องราวมันก็วนอยู่ในตัวอยู่เท่านี้ อยู่กับเรื่องตัวเองอยู่กับกรรมและผลของกรรมของตัวเอง เมื่อใจไม่ได้สุขไม่ได้ทุกข์กับสิ่งที่กระทบ ความเห็น ความคิด การพูด การทำต่อจากนั้นเราก็ปรับปรุงให้เกิดดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดีใหม่ที่เราจะทำอย่างมีสติ ไม่ใช่ดีที่หลงไปเองว่าดี เพราะดีที่ทำมา อาจจะไม่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริงก็ได้

บทนำสู่กิจกรรม หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของการเดินทางไปเรียนรู้ในกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” โดยทีวีบูรพา ผมเองจะขอเล่าที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของผมกันก่อนเพื่อความเข้าใจในบทความต่อจากนี้ของผม

ก่อนที่จะมีกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวคุณธรรมมาหลายครั้งแล้ว ผมเองได้รับรู้ข่าวตลอดมาและตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่ของผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งตัวผมเองก็สนใจในกิจกรรมเหล่านั้น แต่ติดที่ต้องเรียนและยุ่งอยู่กับการเรียนในช่วงที่ผ่านมา

หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ
หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมได้รับทราบข่าวสารจากทางเฟสบุคของเครือข่ายฯ และได้รับการแนะนำจากคุณแม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อลองดูถึงความเหมาะสมของช่วงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบและการเริ่มโครงการงานใหม่ของผม ผมจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม “หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ” ในครั้งนี้

จุดประสงค์ของผม…

จุดประสงค์แรกของผมคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องจากการไป สวนลุงนิล ที่ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเกษตรเชิงผสมผสาน จากการที่ได้ไปสวนลุงนิล ผมได้เรียนรู้ทั้งวิถี และวิธีการ รวมถึงความรู้ต่างๆ จากลุงนิล และพี่ๆ น้าๆ ท่านอื่นที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่าการไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผมสามารถผสมความรู้ระหว่างเกษตรพอเพียงกับชาวนาคุณธรรมได้

สำหรับประเด็นที่สองคือ ไปศึกษาวิถีของชาวนาคุณธรรม ไปดูคำว่าคุณธรรม ที่ถูกนิยามในมุมมองของชาวนาคุณธรรมว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ สำหรับวิถีชีวิตนั้นผมคงไม่คาดหวังจะไปดูในเวลาเพียงแค่สามวันอย่างแน่นอน สิ่งที่เราจะสังเกตุคือวิธีคิด และวิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับเรื่องย่อยๆที่สนใจก็คือ การดำนา การหว่านข้าว อะไรประมาณนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ และต้องการจะทดลองมานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาส เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งจะมีที่ดินของตัวเองจะได้มีประสบการณ์ และมีที่ปรึกษาในวันหนึ่งที่น่าจะมาถึงสักวัน

สำหรับเรื่องอื่นๆเดี๋ยวก็ค่อยไปเก็บเกี่ยวเอาจากสถานที่จริงอีกที สำหรับบทสรุปสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมคงจะเขียนไว้ในบทความต่อไป

สวัสดี