เพราะหลงยึดไป (การเมืองวันนี้)

ผมเห็นข่าวและผลกระทบจากการเมืองวันนี้ รู้สึกว่าทุกวันนี้สังคมช่างดูเกรี้ยวกราด เหมือนกับว่าเขาพร้อมที่จะทะลวงฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธทุกเมื่อที่เห็น

สมัยก่อนเห็นว่าคนคลั่งฟุตบอลตีกันก็ว่ามากแล้ว คนคลั่งศาสนาเถียงกันก็ว่าบ้าแล้ว นี่คนคลั่งการเมืองออกความเห็นกันนี่ขมคอยิ่งกว่า

เพราะศาสนานี่มันมีถูกมีผิดของมันอยู่ มีรูปแบบมีหลักการอยู่ มันมีจุดจบของมันอยู่ แต่การเมืองนี่มันเรื่องโลก เรื่องโลกีย์ ไม่มีอะไรถูกผิดชัดเจน มีแต่สมมุติ มีแต่ชอบหรือชัง มีแต่เรื่องที่ลวงให้ไปหลงติดหลงยึด หลงมีอารมณ์ร่วมไปกับเขาเท่านั้น ก็เหมือนละครฉากหนึ่งนั่นแหละ

ผมว่านะ ที่เสนอ ๆ กันมานะ ถ้าทำด้วยใจบริสุทธิ์ไม่หวังประโยชน์ตนเอง มันก็ดีหมดนั่นแหละ แต่ดีนั้นจะเหมาะกับบริบทสังคมในปัจจุบันไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องดูเอาตามที่เสนอได้ไม่ฝืดไม่ฝืนจนเกินไป คือไม่ทะเลาะกัน ไม่วิวาทกัน แต่ถ้าดื้อรั้นจะเอานี่ก็คงไม่บริสุทธิ์หรอก

ทีนี้คนเขาก็เลือกตั้ง เอาคนดีตามที่เขาคิดเข้าไป แต่เขาไม่ได้เลือกแค่คนเข้าไป เขายังใส่จิตวิญญาณเข้าไปด้วย ตามไปยึดมั่นถือมั่นเลยนะ ว่าคนคนนั้นเป็นของเรา เป็นเรา เป็นพวกเรา เป็นความคิดเดียวกัน แม้ตัวนั่งดูอยู่หน้าจอ แต่จิตเสมือนไปสิงร่างผู้แทนคนนั้น

ใครมาติคนที่เราชอบก็ไปโกรธเขา ชังเขา ใครเห็นด้วยกับคนที่เราชอบก็ปลื้มใจ นี่มันคือความหลงไปสิงร่างเขา เขาไม่ใช่เราแท้ ๆ ก็ยังไปโกรธไปเกลียดแทนเขา

มันก็สร้างตัวตนขึ้นมาอีกหนึ่ง คือกิเลสตัวเอง การยึดตัวเองก็หนักหนาอยู่แล้ว ก็ยังไปสร้างจุดยึดขึ้นมาเพิ่ม ยึดตัวบุคคลอื่น(โอฬาริกอัตตา) ยึดอุดมการณ์(อรูปอัตตา) ก็ทำให้เกิดความทุกข์แปรผันตามความยึดนั่นแหละ

คนเรานี่ก็แปลก ขยันสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพิ่ม ชีวิตทุกวันนี้มันไม่ทุกข์พอหรือไง ต้องไปหาเรื่องเสพสุขให้มันสะใจ สาแก่ใจอยู่นั่นแหละ

การดูคน ที่ดูดี ไม่แน่ว่าจะดี (ดูจากมิตรสหาย)

บางครั้งเราจะได้พบ ได้เห็น ได้ยินได้ฟัง คนเขาพูด เล่า บอก เราก็อาจจะรู้สึกคล้อยตาม หรือเชื่อใจเขาก็เป็นได้ อุปาทานมันจะเริ่มตั้งแต่ตรงนี้ ตั้งแต่มีจิตยินดีนั่นแหละ

คนส่วนมากเมื่อได้เชื่ออะไร แล้วก็จะเริ่มเข้าไปยึดว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ โดยไม่ได้ตรวจสอบไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน เรียกว่าสติกระเจิงไปตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว

การไม่รีบปักใจเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งควรจะตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้น เป็นจริงตามสิ่งที่เขาพูดหรือไม่

เช่นมีคนบอกว่าหวังดีกับเรา จะช่วยเรา แต่ไปคบหากับคนที่เคยทำร้ายเรา โกงเงินเรา แล้วยังหนีเราไปอีก แล้วก็บอกว่าจะไม่คบกับเพื่อนของเรา ที่เขาก็ยังดีกับเราในปัจจุบัน

…ยกตัวอย่างมาแบบนี้นี่มันจะใช่คนดีจริงหรือ? แต่เขาก็วาทะศิลป์ดีนะ พูดจาโน้มน้าว ยกเหตุผล ดูน่าฟัง ฟังไปก็เออจริง ๆ ไปตามเขา ที่เขาว่ามามันก็ดี มันก็ถูกตามเนื้อหาที่เขายกมา

แต่พอดูองค์ประกอบอื่น ๆ แล้ว กลับไม่เข้ากัน เขาไปคบคนชั่ว คนที่นิสัยขี้โลภ หลอกลวง ตลบแตลง บ้าอำนาจ เขายินดีที่จะคบหาคนแบบนั้นด้วยนะ แล้วพอเรากลับมาตรวจสอบคนดีที่เราคบหามายาวนานและพิสูจน์ด้วยการกระทำที่เสียสละแบ่งปันด้วยใจที่ผาสุกแล้ว คนดีกลับไม่คบหากับคนคนนั้น ไม่ยินดี ไม่ส่งเสริม

คนชั่วคนดีไม่คบ เช่นเดียวกัน คนที่ดีคนชั่วเขาก็ไม่คบเหมือนกัน คนธาตุเดียวกันย่อมไหลไปรวมกัน

เราอาจจะเคยพลาดพลังเสียทีให้กับคนที่บอกว่าตนดี ตนจริงใจ แต่สุดท้ายก็หักหลังเราเหมือนเคย ๆ ซึ่งการไม่รีบปักใจเชื่อแล้ววางใจเพื่อศึกษากันนี่แหละ จะทำให้เราไม่ผิดหวัง ไม่ทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การจะรู้ว่าใครดีจริง ไม่ใช่รู้กันได้ง่าย ในเวลาสั้น ๆ เช่นเดือนสองเดือนนี่ไม่รู้กันหรอก มันต้องคบหาใกล้ชิดรู้จักกันเป็นเวลายาวนานนนนนน ถึงจะพอรู้ แต่กระนั้นก็ยังมีหมายเหตุด้วยว่า คนมีปัญญาจึงรู้ได้ คนไม่มีปัญญาไม่รู้

… ก็จบลงตามเวรตามกรรมกันไปอย่างนี้แหละ

สังคมต้องการคนดีที่กล้าหาญ

ธรรมจากอาจารย์หมอเขียวครับ ยากแสนยากเลย ท้าท้ายกิเลสทั้งสองด้าน จะแยกเป็น 5 มุมตามความเข้าใจนะครับ

1.ติเพราะชัง …เกลียดเขาก็ใส่ยับเลย บันดาลโทสะเต็มที่ กิเลสงอกงาม
2.ชมเพราะชอบ …เพราะเขาคิดเหมือนเรา เอามาเพิ่มพลังเรา เพิ่มอัตตากันให้เต็มบ้อง
3.ไม่ติเพราะกลัว …ไม่กล้าแตะ กลัวเขาสวน กลัวคนเกลียด
4.ไม่ชมเพราะกลัว …ไม่กล้าชม กลัวคนหาว่าโง่
5.ไม่ติไม่ชมเพราะโง่ …เข้าใจผิดว่า ผู้อยู่เหนือหรือผู้บรรลุคือผู้ไม่ติไม่ชม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสความประมาณว่า ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม …ส่วนพวกไม่ติไม่ชมนี่มิจฉาทิฏฐิ ฤๅษีชอบคิดแบบนั้น

ส่วนติชมที่ไม่เป็นไปตามกิเลสก็มี คือเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตนเองก็ได้แสดงสิ่งดี ผู้อื่นก็จะได้นำไปพิจารณา ที่เหลืออยู่ที่จิตของแต่ละคนแล้วแหละ ว่าข้างในคิดอะไร

มะเขือเทศที่ไม่เป็นสีแดง

มะเขือเทศที่ไม่เป็นสีแดง

มะเขือเทศที่ไม่เป็นสีแดง

อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่หลายคนก็คงรู้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ผมเพิ่งรู้ คือ “มะเขือเทศไม่จำเป็นต้องสุกเป็นสีแดง”

ผมก็เคยเห็นบ้างที่เขาเอามะเขือเทศมาขาย ลูกสีส้มบ้าง สีเขียวบ้าง ก็เข้าใจว่าเขาเก็บตอนที่มันยังไม่สุก ถ้าสุกมันก็คงเป็นสีแดงเหมือนกันหมด

จนกระทั่งผมลองปลูกมะเขือเทศเอง ก็ได้ผลสุกเป็นสีแดงทั้งหมด จนกระทั่งมาเจอกับมะเขือเทศต้นนี้ เป็นต้นที่ให้ลูกมาก ลูกใหญ่ ตอนที่ผมไปเจอมันอยู่ในพงหญ้าก็มี 8 ลูกโต ๆ แล้ว ทุกลูกเป็นสีเขียว

ต่อมาผมก็ถางหญ้า รดน้ำดูแลมัน หวังว่ามันจะสุก สุดท้ายแม้จะรอนานแค่ไหน มันก็ไม่สุกเสียที ก็อย่างที่เห็น มันก็สีเหลืองจนเหี่ยวไปนั่นแหละ ผมก็ลองเอาผลสีเหลืองมากินแล้ว มันก็รสเหมือนมะเขือเทศสุกทั่วไป

คือมันสุก แต่มันไม่เป็นสีแดง ผมไม่เคยซื้อมะเขือเทศสีอื่นมาเลย เลือกแต่ลูกแดง ๆ และมะเขือเทศต้นนี้ก็เป็นต้นที่เพาะเมล็ดมาจากผลสีแดงที่ซื้อจากตลาดนั่นแหละ

เหมือนกับที่เราคาดหวังว่าใครสักคนจะพัฒนา เราเฝ้าดูแล เอาใจใส่ สุดท้ายพบว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ วันเวลาเปลี่ยนแปลง ร่างกายของเขาแก่ก็จริง แต่ความคิดเขาไม่เปลี่ยน สุดท้ายเขาก็อาจจะตายไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจความผาสุกที่แท้จริงเลยก็ได้

แน่นอนว่าการดูแลของเราก็เป็นกรรมดีที่เราสมควรทำ แต่ความคาดหวังนั้นเป็นสิ่งที่จะทำร้ายตัวเรา เหมือนกับมะเขือเทศ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะสุกเป็นสีแดงหรือไม่ เป็นเพราะเราดูแลไม่ดีหรือเป็นเพราะพันธุ์มัน หรือเพราะเรายึดมั่นว่าผลสุกที่ดีต้องสีแดง ถ้ามันเป็นพันธุ์ที่ไม่มีวันจะเป็นสีแดงได้ เราไปพยายามให้มันเป็นมันก็ทุกข์เปล่า ๆ

คนก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า คนนั้นมีทั้งคนที่สอนได้ คนที่สอนไม่ได้ แม้คนที่สอนได้ยังมีระดับง่ายไปจนถึงสอนลำบาก ในช่วงเวลาที่มีอยู่จำกัด เราจะเลือกทำสิ่งใด ถ้ามะเขือเทศที่ตลาดต้องการต้องมีผลสดใหญ่สีแดง เรายังจะปลูกมะเขือเทศที่ไม่มีวันเป็นสีแดงนี้อยู่ไหม เหมือนกับที่โลกต้องการคนดีแท้ เราจะให้เวลากับการสร้างคนดีแท้ที่พอจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย

นี่คือเรื่องที่ผมได้จากมะเขือเทศต้นนี้ …แต่ผมอาจจะดูแลมันไม่ดีก็ได้นะ เดี๋ยวจะลองใส่ปุ๋ยแล้วมาดูผลชุดใหม่กันอีกที

เทวดาร้อนอาสน์

คือสภาพของคนดีที่ทุกข์ร้อนใจ ทนอยู่เฉยไม่ได้ต่อบางสิ่งบางอย่าง

ผมเคยได้ยินคำนี้มาจากครูบาอาจารย์ แต่ก็เพิ่งจะเคยได้เห็นสภาพนี้ในคนทั่วไป คือเมื่อวานไปสนามหลวง และช่วงค่ำจิตอาสาก็ยกทีมกันไปเปิดร้าน ตักถั่วเขียวต้มแจกหน้าเต็นท์รอคอย แบบว่าใครสนใจก็เดินออกมารับได้

ภาพที่จิตอาสามาเสียสละ มาแจกของก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ภาพที่เห็นเมื่อวานนี้คือคนที่เขามารอในเต็นท์รอคอยนี่แหละ เดินมาเสนอตัวว่าจะช่วยเอาถั่วเขียวต้มไปแจกในเต็นท์

…ก็คงจะเป็นสภาพของเทวดาร้อนอาสน์ คือ ไม่ได้ตั้งใจมาช่วยตั้งแต่แรกหรอก แต่เห็นแล้วมันอยากช่วย จะไม่ช่วยใจมันก็ไม่ยอม มันร้อนใจ อยากจะช่วยเขา อยากจะทำดี

จริง ๆ เขาจะนั่งรอคอยอยู่เฉย ๆ ก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร แต่นี่เขายินดีลุกขึ้นมาช่วยไง อันนี้จริง ๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งธรรมดาทั่วไปนะ ถ้าใครมีจิตแบบนี้ก็เข้าท่าเลย จิตเทวดานี่แหละ มีจิตที่อยากช่วยเหลือผู้อื่น แบบไม่ต้องมีใครสั่ง จิตมันจะสั่งให้ทำดีของมันเอง ไม่ให้อยู่เฉย

เพราะลึก ๆ แล้วมันเกิดจากปัญญารู้ว่า ทำดีแล้วมีประโยชน์ ถ้าไม่ทำดีจะเสียประโยชน์ ก็เป็นสภาพของจิตรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับจิตที่เป็นเดรัจฉาน อสูรกาย เปรต ฯลฯ จริง ๆ ก็เหมือนจิตเทวดานี่แหละ เป็นสภาพในจิต คือแม้ร่างเป็นคนแต่จิตข้างในต่างกัน

จิตเทวดาก็ตามที่เล่ากันไป ส่วนจิตที่เป็นเปรตก็คือความโลภ ร่างเป็นคนแต่จิตเป็นเปรตก็โลภมาก สะสมมาก ไม่รู้จักพอ ของที่เขาไม่ได้ให้ก็อยากได้ ของที่เขาจะให้ก็อยากได้มากกว่าที่เขายินดีให้

เมื่อมีคนมาให้ทานกันมาก ๆ เราก็อาจจะได้พบกับเปรต ทั้งเปรตข้างนอกและเปรตข้างใน เปรตคนอื่นเราก็ยกไว้ก่อน เอาแค่ดูไว้ ศึกษาไว้ ว่า…อ๋อ…นั่นเปรตเขาตัวขนาดนั้น ส่วนเปรตในจิตเรานี่ต้องขัดเกลากันให้หนัก จิตเปรตนี่ไม่ควรเอาไว้ เพราะมีแล้วตนเองก็ทุกข์ คนรอบข้างก็ทุกข์

วิธีปราบเปรตก็คือให้ทานนี่แหละ เห็นจิตอาสาเขามาแจกของ แม้เราไม่มีของเราก็ใช้แรงงานแทนได้ แจกเข้าไป ถ้าเราไม่หวง เราแจกได้ สละได้ ไม่สะสมได้เท่าไหร่ นั่นคือเราปราบเปรตในจิตเราได้เท่านั้นแล้ว

เมื่อปราบเปรตได้จิตก็จะสูงขึ้น วันหนึ่งก็จะสูงถึงขั้นเป็นเทวดา(คนใจสูง) แต่ไม่ต้องรอให้ร้อนอาสน์หรอก เพราะตอนนี้มีโอกาสมากมายให้ได้ทำความดี ก็ทำกันไปตามแต่จะมีกำลัง…

กาฝากโลกธรรม

ประเด็นการโหนคนดีเพื่อล่าลาภยศสรรเสริญสุขนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เคสคลาสสิกที่สุดคือพระเทวทัตที่บวชมาเพื่อแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากการสร้างสำนักใหม่ ใช้การกลืนกินจากภายใน ห่มผ้าเหลือง ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า สุดท้ายก็เสนอเงื่อนไขแข่งดีเอาชนะพระพุทธเจ้า

จนมีภิกษุผู้หลงผิดหลายรูปตามพระเทวทัตไปด้วย ลำบากพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปตามกลับ สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ …พระเทวทัตใช้การเกาะพระพุทธเจ้าดัง เพราะว่ามันง่าย มาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า จะพูดอะไรคนเขาก็ชอบ เขาก็ศรัทธา ถ้าไม่ใช่ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าหรือระดับอริยสาวก ไม่มีทางรู้หรอกว่าพระเทวทัตชั่วอย่างไร ปุถุชนก็หลงตามพระเทวทัตกันได้ทั้งนั้น เพราะพระเทวทัตพูดแต่สิ่งที่ดี!

เช่นเดียวกันในสมัยนี้ มีนักบวชที่บวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าหาโลกธรรม มันก็ทำได้ เพราะชาวไทยส่วนใหญ่ศรัทธาพระพุทธเจ้า พอห่มผ้าเหลืองปุ๊ป พอพูดตามพระพุทธเจ้าปั๊ปเขาก็ศรัทธา หลงว่านักบวชนั้นเป็นของจริง ก็แห่ไปเคารพบูชาโดยไม่ตรวจสอบ ไปหลงเคารพศรัทธาเพียงเพราะเขาพูดเรื่อง&พูดตามพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในอดีตเราก็มีบทเรียนกันมาตั้งหลายครั้งว่า นักบวชที่อาศัยผ้าเหลืองหาโลกธรรมก็มีเยอะ สุดท้ายก็ความแตก จับได้สึกไป ยังเสนอหน้าในสังคมก็มี ไอ้ที่เขาจับได้แต่ยังหน้าด้านอยู่ก็มี

นับประสาอะไรกับฆราวาสที่ใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหากิน เอามาสร้างสำนักแสวงหาโลกธรรมให้ตัวเอง ให้ได้ลาภสักการะบริวาร มันมีมากมายอยู่แล้ว ความจริงมันยังไม่เปิดเผยว่าชั่ว คนก็ดูกันไม่ออก ก็แอบเสพกันไป สะสมความชั่วกันไป วันหนึ่งคนเขาจับได้ก็พังกันไป แถกันไป หน้าด้านอยู่กันไป

เช่นเดียวกันกับการเอาความดีของคนอื่นไปหากิน ไม่ต้องถึงระดับพระพุทธเจ้าหรอก เอาแค่ระดับครูบาอาจารย์หรือคนดีที่น่าเคารพบูชาทั้งหลายในสังคม ก็มักจะโดนพวกกาฝากโลกธรรมเข้ามาหาผลประโยชน์ มีทุกกลุ่มคนดีนั่นแหละ ไปตรวจสอบกันดูได้ พวกที่เข้ามาเพื่อมาเอาคุณความดีบางอย่าง บ้างก็แอบเกาะกินไปอย่างนั้น บ้างก็อยากดังเองก็แยกวงออกไป สร้างสำนักของตัวเอง

ก็ดู ๆ กันไป ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ไปหลงชื่นชนคนพาลนี่ฉิบหายยาวเลยนะ ผูกภพผูกชาติไปกับเขาอีกนานเลย ส่วนตัวผมถ้าไม่แน่ใจว่าใครดีจริง ผมไม่รีบตัดสินใจตามนะ มันต้องคบคุ้น ใช้เวลาศึกษากันนาน ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าคนนี้แหละของจริง ผมถึงจะตาม

ไอ้ที่แบบทำดีเอาหน้าล่าโลกธรรมผมก็เห็นมาเยอะ สมัยศึกษาธรรมะแรก ๆ นี่เรียกว่าเมาเลย โอ้โห มีแต่คนดี คนเก่งเต็มไปหมด แต่พอศึกษาไปทำไมมันเริ่มเห็นความชั่ว อ้าวคนนั้นก็ดีไม่แท้ คนโน้นก็ดีไม่แท้ มีแต่ของปลอมทั้งนั้น เอาธรรมะมาหากิน เอามาหาลาภสักการะบริวารทั้งนั้น ดีนะที่ผมไม่หลงตามคนพวกนี้ไปเพียงเพราะเขาพูดธรรมะและสรรเสริญพระพุทธเจ้า …หลงตามพวกกาฝากศาสนาไปนี่ฉิบหายเลย

คนชั่วที่คิดว่าตนเองทำดีนี่แหละ ชั่วที่สุด

วันนี้คุยกับเพื่อนในประเด็นที่ว่าแบบไหนจะชั่วกว่ากัน คือคนชั่ว กับคนดีที่แอบชั่ว ก็สรุปกันออกมาได้ว่าคนดีที่แอบชั่วนี่แหละร้ายลึกชั่วช้าหนักนาน… เพราะคนชั่วทั่วไปนี่มันพอจะป้องกันได้ง่ายนะ แก้ไขได้ง่าย หรือคนที่รู้ว่าตัวเองชั่วก็สามารถที่จะเจริญได้เช่นกัน

แต่คนชั่วที่คิดว่าตัวเองดีนี่มันไม่มีทางไปเลยนะ มืดแปดด้าน มันจะเมาดีลวง ๆ ที่ตนเองทำอยู่นั่นแหละ แถมยังเอาดีสอดไส้ชั่วไปหลอกกันเองอีก ในวิบาก ๑๑ ประการที่เพ่งโทษพระอริยะมีอยู่ข้อหนึ่งคือ หลงว่าบรรลุธรรม เอาแบบโลก ๆ คือหลงว่าตัวเองดี ตัวเองมีดี ตัวเองกำลังทำดี คือเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด พูด ทำอยู่นั้นดี….ทั้งที่จริงมันชั่ว

แล้วจะแก้ได้ยังไง ก็ต้องอาศัยคำติจากคนดีนี่แหละ เขาติมาเราก็ฟังแล้วนำไปแก้ไขในส่วนที่ผิดพลาดไป แต่คนที่หลงว่าตนดีนั้นไม่ค่อยจะยอมฟังใครเขาติหรอก ก็ตัวเองคิดว่าตนดีตนถูก แล้วมันจะไปฟังใครอีกละ เขาติมาก็ว่าเขาผิดหมดนั่นแหละ ตัวเองถูกอยู่คนเดียว เพราะตนเองเป็นคนดี ดีไม่ดีไปด่าเขากลับอีก …เอาเข้าไปคนดี(ปลอม ๆ )

คนดีที่ดีแท้จะเห็นความชั่วในตนเองแล้วมุ่งล้างความชั่วนั้นให้หมด และจะเห็นชั่วที่ลึกและละเอียดขึ้นตามกำลังที่มี คือจะเห็นแบบที่คนอื่นไม่เห็น คนอื่นเขาไม่เห็นว่าชั่ว แต่เรารู้ชัด ๆ เลยว่าทำแบบนี้มันชั่ว มันเบียดเบียน มันไม่เป็นประโยชน์ตนเองและผู้อื่น

จะรู้ได้อย่างไร? ก็ตามระดับของศีลนั้นแหละ ถ้าศึกษาศีลตามลำดับจะรู้เองว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้หรอก เพราะเรื่องแบบนี้คิดเอาก็ไม่ได้ ฟังเอาก็ไม่เข้าใจ ทำหน้างง ไอ้ที่เขาพูดมานี่มันชั่วยังไงหนอ…

จึงสรุปว่าคนที่ยังเห็นว่าตนเองชั่วอยู่ ยังผิดพลาด ยังต้องแก้ไขอยู่ ก็ยังดีกว่าคนที่หลงว่าตนเองเป็นคนดี ดึงดันทำแต่ความดีแบบที่ตนเองเข้าใจโดยไม่ฟังคำติของใครเลย

การให้ที่เลว

เหตุต้นเรื่องจาก : “แจกอาหารคนไร้บ้าน” เมื่อความปรารถนาดีกลายเป็นความเดือดร้อน?

ขึ้นชื่อว่า “การให้” ใครได้ยินได้ฟังก็เหมือนจะดี ใครไปให้ทานมาก็ปลื้มอกปลื้มใจ จนถึงขั้นเสพติดในการให้ก็มีเหมือนกัน

ศาสนาพุทธนั้นก็ยินดีในการให้ ในการสละ แต่การให้นั้นต้องประกอบไปด้วยปัญญา คือให้ไปแล้วไม่เกิดโทษ เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ให้แล้วกิเลสลด ไม่ใช่ให้ไปแล้วกิเลสเพิ่ม ผลเสียเพิ่ม

ในอนุตตริยสูตรจำแนกการให้ที่ดีและการให้ที่เลวไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีตรงกลาง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะการให้ไปแล้วเขาเพิ่มกิเลส เช่นในกรณีตามเนื้อข่าวที่แนบมานี้ ให้แล้วเกิดโทษเพิ่มขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน นี้คือการให้ที่เลว เลวเพราะอะไร ?

เพราะให้ไปแล้ว ไม่เอาไปทำสิ่งที่ดี แต่กลับไปสั่งสมความขี้เกียจ อย่างกรณีคนไร้บ้านนี่เราไม่รู้หรอกเขาไม่มีบ้านเพราะอะไร แต่เรารู้แน่ถ้าเป็นคนไม่ขี้เกียจ ปัจจัยสี่ย่อมหาได้โดยไม่ยากนัก บางคนที่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีกิน ไม่ใช่เพราะบรรลุธรรมอะไรหรอกนะ แต่เพราะเขาขี้เกียจ ขี้เกียจนี่เป็นอบายมุขนะ

แต่ก่อนผมไม่เคยเข้าใจว่าขี้เกียจมันเป็นอบายมุขอย่างไร ตอนนี้ชัดแล้ว คือมันขี้เกียจหากิน ขี้เกียจพัฒนาตนเอง ขี้เกียจเอาภาระสังคม มันจะอยู่ไปวัน ๆ มันจะเอาสบายท่าเดียว ไม่ขวนขวายให้ชีวิตดีขึ้น ให้พึ่งตนมากขึ้น ให้เป็นภาระคนอื่นน้อยลง จึงกลายเป็นภาระของสังคม นี่คือความฉิบหายหนึ่งของความขี้เกียจ

ตอนนี้ถ้าผมจะให้ ผมจะประเมินก่อนเลยว่าเขาพึ่งตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเขาพึ่งได้ก็จะไม่ให้เขา ควรจะให้โอกาสเขาหาเลี้ยงชีพเอง ส่วนในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินอะไรนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถ้ายังมีชีวิตปกติ มีลมหายใจปกติ มันก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ทั้งคนทั้งสัตว์นั่นแหละ

ไปให้ทานเขามั่ว ๆ ซั่ว ๆ ทั้งคนทั้งสัตว์มันก็จะไม่ยอมหากินเอง มันจะรอแต่อาหาร สุดท้ายมันก็ขี้เกียจ ไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีอาหารมาให้ ถ้าไม่ได้ก็จะหาวิธีให้ได้มา แต่จะไม่พยายามสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจของตัวเอง

แน่นอนว่าทุกการให้มีผล คนที่คิดว่าการให้ไหน ๆ ก็ดีหมด ให้ศึกษาผลกระทบเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าต้องรับวิบากอะไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นั่นแหละคือผลจากการให้ของคนดี ที่ไม่คิดดี ๆ นั่นจึงเป็นการให้ที่เลว

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี

บทความนี้จะพามาไขความลับของนรกคนดี ทำไมคนดีจึงอยู่ไม่เป็นสุข กินมังสวิรัติได้ดีแล้วชีวิตน่าจะมีความสุข อายุยืน เจ็บป่วยน้อย แต่ทำไมชีวิตของเรายังไม่สุขเสียที เห็นคนนั้นคนนี้กินเนื้อสัตว์ก็ยังรู้สึกทุกข์ใจขุ่นใจอยู่เรื่อย อยากให้เกิดดีดังใจหมาย อยากให้ทุกคนหันมากินมังสวิรัติ อยากให้คนอื่นได้เลิกเบียดเบียน พอเขาทำไม่ได้ก็ทุกข์ใจ

นี่แหละคือพลังของอัตตาที่จะมาทำลายความสุขของเรา ถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องอัตตาไว้บ้างก็ยากที่จะพบกับความสุขแท้ เพราะอัตตานั้นเป็นกิเลสที่ละเอียด รู้ได้ยาก ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ชื่อแห่งความดี ความติดดี ติดสุข จนเราไม่สามารถที่จะล้างอัตตาได้ จนต้องทนทุกข์ไปอีกหลายต่อหลายชาติ นานตราบเท่าที่จะยินดีแบบอัตตานั้นไว้

อ่านต่อได้ที่บทความ : อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์
อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อ่านบทความอื่นๆ แนะนำ ติชม ทักทายกันได้ที่…

Facebook : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Blog : Minimal life : Dinh Airawanwat

คนค้นฅน อวอร์ดครั้งที่ 1

ครั้งนี้ผมไปร่วมงานกับทีวีบูรพาอีกแล้วครับ เป็นงานมอบรางวัลครับ งานนี้ผมเป็นผู้ติดตามแม่ผมไปอีกทีครับผม เล่าเรื่องพร้อมๆกับดูรูปกันไปเลยแล้วกัน

konkonkon_award1

ไปถึงก็ต้องไปลงทะเบียนกันก่อนเลยครับ เจอพี่ประวิทย์ที่เคยดูแลตอนไปสวนลุงนิลมาทักทายพร้อมอำนวยความสะดวกให้ และได้บัตรที่นั่งมา เป็นเบอ V5 ถ้านับดูในใจแล้ว V มันห่างจาก A มากเลยนะนั่น ไม่ป็นไรครับ ผมชอบนั่งหลังๆอยู่แล้ว

konkonkon_award2

บรรยากาศริมทางเดินนะครับ ผู้คนมากมาย ต่างพากันมาด้วยความปิติยินดี งานนี้รวมแต่คนดีๆมีคุณภาพจริง

konkonkon_award3

คนตรงกลางนี่แม่ผมเองครับ สำหรับคนซ้ายและขวาคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว

konkonkon_award4

ถ่ายกับคุณหมอที่แกไปผลิตยาช่วยผู้ป่วยที่แอฟริกาครับ ผมเองก็ไม่เคยรู้เรื่องของแกหรอกครับ เพิ่งมารู้เอางานนี้แหละ ปกติผมจะไม่ดูทีวีซักเท่าไหร่ ก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่องกับเขา ขวาก็แม่ผมเอง ซ้ายก็พี่ป้อมเป็นสมาชิกตนคอเดียวกันที่ไปสวนลุงนิลด้วยกันครับ

konkonkon_award5

แม่ผม หมอเกษตร หมอล๊อต และพี่ป้อม ก่อนจะมาถึงรูปนี้พี่ป้อมแกพูดถึงหมอล๊อตบ่อยๆครับว่าอยากได้รูปด้วย เห็นหมอแกเดินไปมาไม่ได้ถ่ายซักที ผมเองก็ไม่รูอีกเหมือนเดิมครับว่าหมอแกเป็นคนยังไง ได้ฟังที่แกทำก็นึกว่าเป็นหมอแก่ เห็นอีกทีนี่หนุ่มขนาดเรียกพี่กันทีเดียว ขออภัยในความไม่รู้ของผมด้วย

konkonkon_award6

เข้ามานั่งกันในงานแล้วครับ ผมได้นั่งอยู่ด้านขวาด้านบน ซึ่งมองเห็นเวทีได้ชัดเจนครับ แต่เก้าอี้แอบเมื่อยก้นนิดหน่อย

konkonkon_award7

พีธีกรคุณประสานและคุณแก้วตาทำหน้าที่ดำเนินการในครั้งนี้ครับ

konkonkon_award8

ศิลปินที่มาร้องเพลงเปิดรางวัลหนึ่งครับ เขาคือ จุ๋ย จุ๋ยส์ ผมเองก็ไม่เคยฟังเพลงเขาอยู่เหมือนกัน แต่พอเริ่มต้นนั้น การจะไม่สนใจเขาคงเป็นไปไม่ได้เลย การแสดงของเขาดึงดูดให้คนสนใจ ในทันทีตั้งแต่ยังไม่เริ่มแสดงเลยก็ว่าได้ เพราะ แกเล่นใช้ไมค์ตั้ง 3 ตัวซึ่งดูยังไงก็ไม่ใช่ทั่วไป นี่คงเป็นจุดขายของเขา และด้วยเสน่ห์แนวเพลงของเขาช่างแปลกจริงๆ จะเปรียบก็คงเหมือน..อาหารในบาตรพระ ละมั้ง

konkonkon_award9

ส่งท้ายด้วยปฏิญาณตน ความหมายโดยรวมประมาณว่า เราจะเป็นคนดีครับ

จบงานดูแล้วดีทีเดียว ผมค่อนข้างประทับใจที่อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ว่ามีคนเก่งและมีคุณค่าต่อสังคมอีกมากมาย ทำให้คิดว่าตัวเองทำอย่างไรที่จะเป็นถึงจุดนั้น…คิดไปคิดมาก็คิดได้ว่าเป็นตัวเองให้ดีที่สุดนี่แหละ เพราะแต่ละคนก็มีคุณค่าในตัวเองต่างกันไป..

หลังจากนี้ผมคงต้องหยิบหนังสือเกี่ยวกับผู้คนเหล่านี้มาอ่านมากขึ้นซะแล้ว…..

สวัสดีครับ