ส้มตำ กับวัตถุดิบที่ปลูกเอง

ส้มตำ

ส้มตำ กับวัตถุดิบที่ปลูกเอง

วันก่อนลองทำส้มตำอีก เป็นสูตรแบบที่เขาใส่ทั่วไป เพื่อทดลองและเรียนรู้อะไรบางอย่าง

พอทำเมนูหนึ่งก็จำเป็นต้องกินหลายวัน เพราะวัตถุดิบมันเยอะ แต่พอหลายวันก็มีเน่าเสียไปบ้างก็มี เช่น มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว

ก็เลยไปหาวัตถุดิบในสวนว่าพอจะมีอะไรบ้าง ก็มีมะเขือเทศสองลูก ลูกหนึ่งสุกอีกลูกเขียว ลูกหม่อน ถั่วพุ่ม ก็เอามาใส่ส้มตำ

แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ส้มตำนี่จริง ๆ เป็นเมนูจากของใกล้ตัวทั้งนั้นเลยนะ ตอนนี้ยังขาดมะละกอ มะนาว พริก กระเทียม ที่ยังไม่โตบ้าง ยังไม่ได้ปลูกบ้าง แต่ถ้าปลูกครบก็ไม่ต้องวิ่งออกไปหาที่ไหน เก็บกินเอาได้ในสวนนั่นแหละ

หลังจากใส่หม่อนไป ผมเพิ่งจะสังเกตว่าคนเราต้องการเสพรสที่หลากหลาย อย่างรสเปรี้ยวนี้เขาไม่ได้ต้องการเปรี้ยวเดียว ส้มตำนี้มีสามเปรี้ยว คือเปรี้ยวจากมะขามเปียก เปรี้ยวจากมะเขือเทศ เปรี้ยวจากมะนาว และที่ผมใส่ยังไปได้เปรี้ยวจากลูกหม่อนอีก

มันต้องหลากหลายไปไหน เปรี้ยวเดียวไม่ได้หรอ? เดี๋ยววันหลังจะลองเปรี้ยวเดียว ส่วนเค็มหวาน เผ็ดในส้มตำนี่ไม่ค่อยหลากหลายอยู่แล้ว แต่อาจจะมีบางที่เขาทำหลากหลายนะ อย่างในบางเมนูอาหารพริกแห้งก็ต้องมี พริกสดก็ต้องใส่ ความหลากหลายเหล่านี้คนเขาก็เรียกว่าอร่อย แต่ผมว่ามันเป็นความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนะ

[33] การใช้ประโยชน์จากกระถิน

diary-0033-การใช้ประโยชน์จากกระถิน

33. การใช้ประโยชน์จากกระถิน

ที่นี่มีต้นกระถินเยอะมาก เยอะมากจนเป็นปัญหา และปัญหานั่นแหละทำให้เราต้องใช้ปัญญา

เนื่องจากกระถินเยอะเกิน ก็ต้องขยันตัดมันออก ทั้งตัดแบบถอนรากถอนโคน ตัดเล็มกิ่ง ทำอย่างไรจึงจะมีพลังในการทำงาน เมื่อปริมาณของงานนั้นเยอะจนท้อเลยทีเดียว

ผมก็ใช้วิธีหาประโยชน์จากกระถินนี่แหละ กระถินนี่เป็นพืชที่มีพลังงานมาก สัตว์ชอบกิน คนเลี้ยงวัวจะเอากระถินไปให้วัวกิน แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นปุ๋ยคอกมาใส่ต้นไม้

เราก็ลดขั้นตอนจากการเอากระถินใส่ไปในวัว มาใส่ในดิน ใส่ในต้นไม้เลย แน่นอนว่าไม่สมบูรณ์เท่าวัวย่อยหรอก แต่มันจะดีกว่าในหลาย ๆ ด้าน และในระยะยาวด้วย

ใบกระถินถ้าแดดดี ผมก็ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วเอามาผสมดินปลูก หรือไม่ก็ผสมในแปลงผักเลย จะรูดใบออกทั้ง ๆ ที่ยังเขียวหรือวางตากแดดทิ้งไว้ให้แห้งแล้วค่อยรูดใบออกก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของสภาพอากาศในเวลานั้น ๆ

ส่วนกิ่งและต้น สมัยก่อนมองมันแล้วเป็นภาระมาก เดี๋ยวนี้คิดอะไรไม่ออกก็เอาไปเผาถ่าน เอาไปทำฟืน เอาไปทำเสาบ้าง ตอนนี้ก็สามารถใช้ประโยชน์และกำจัดกระถินส่วนเกินได้อย่างเต็มใจแล้ว ที่เหลือก็มีแค่ใช้แรงกายไปทำเท่านั้น

เป้าหมายของผมคือจะทำให้กระถินหายไปจากพื้นที่ โดยมีต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้มาทดแทน เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากกระถินถึงขนาดจะต้องมีมัน แต่ในเมื่อมีมันแล้ว ก็ต้องรู้จักหาประโยชน์จากมัน

[32] ฝนที่ไม่ได้อยู่ในแผน

diary-0032-ฝนที่ไม่ได้อยู่ในแผน

32. ฝนที่ไม่ได้อยู่ในแผน

ปกติแล้วเวลาจะทำงานอะไร ผมจะตั้งโครงขึ้นมา ว่าจะทำสิ่งนี้สิ่งนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ

ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อากาศร้อนมาก เราก็วางแผนไว้แบบหนึ่งว่าจะทำงานแบบนี้นะ จะผสมปูน เทปูน ก็เลยซื้อปูนมารอ

แต่พอซื้อมาเสร็จ ฝนก็มาด้วย ทีนี้งานปูนกับฝนมันไปด้วยกันไม่ได้ ไอ้ที่ว่าจะไปเร่งงานก่อนฝนตกบางทีมันก็ไม่แน่เสมอไป เพราะที่เราเห็นฟ้าใส คิดว่าฝนมันจะไม่ตกแน่ ๆ ภายใน ครึ่งวัน บางทีผ่านไปแค่ครึ่งชั่วโมงฟ้าก็มืดมาพร้อมเมฆฝนเลยก็เป็นได้

ก็ต้องวางแผนเดิมกันไป วางงาน นั่งดูฝนตก เปลี่ยนเป็นกิจกรรมรองน้ำฝนไว้กินแทน ปูนไว้ทีหลังแล้วกัน ตารางงานมันจะเลื่อน มันจะโยกย้ายอะไรไปมันก็เป็นธรรมดา

ส่วนตัวผมว่า ฝนตกนี่เป็นช่วงที่อยู่ยากที่สุดแล้ว เพราะไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรให้ทำ หรือจะทำกิจกรรมอะไรหลังจากนั้นก็ลำบาก จะขุดดิน ดินก็ติดจอบติดเสียมกันจนต้องลำบากแงะ จะมีก็แค่งานเบา ๆ เช่น ถอนวัชพืชไปเรื่อย ๆ

จริง ๆ ฝนตกก็มีข้อดีมาก คือไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ อัตราการรอดของต้นไม้ที่ลงไว้มีสูง อัตราการเติบโตของพืชผักที่ปลูกไว้ค่อนข้างดี ซึ่งมันจะดีมากหากสถานที่นี้ลงตัวดีแล้ว แต่หากยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา ก็ถือว่าเป็นอุปสรรครูปแบบหนึ่ง

[31] ใช้ฟืน ได้ไฟ ได้ถ่าน

diary-0031-ใช้ฟืน-ได้ไฟ-ได้ถ่าน

31. ใช้ฟืน ได้ไฟ ได้ถ่าน

หลังจากที่ผมใช้ฟืนมาได้สักพัก ก็ได้รับประโยชน์จากฟืนมากมาย ได้มากกว่าถ่านเสียอีก เลยเก็บมาบันทึกกันหน่อย

การได้ฟืนมานั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะต้องถางป่าที่รกอยู่แล้ว ไหนจะกระถิน ไหนจะปอกระสา มันเยอะจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เอามาทำเป็นเชื้อเพลิงนี่แหละ สุดท้ายก็จะได้ถ่าน เอาไปใช้ปลูกต้นไม้ได้อีก

ถ้าซื้อถ่านที่เขาเผานี่มันไม่ง่ายนะ มันต้องเอารถไปขนมา ฟืนจึงเป็นความเรียบง่ายและพอเพียงชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับชีวิตบ้านไร่

ฟืนคือความไม่แน่นอน จะวางใจเหมือนใช้เตาแก๊สหรือกะทะไฟฟ้าไม่ได้ เพราะความร้อนที่ได้มันไม่แน่ แม้จะมีฟืนปริมาณเท่ากัน แต่ถ้าไม้ต่างชนิดก็ให้ความร้อนต่างกัน ไหนจะขนาด รูปทรง อีกที่มีผลต่อความร้อน ดังนั้นการทำอาหารด้วยฟืนจะต้องคอยสังเกตมากกว่า ต้องคอยเติมเชื้อเพลิงหรือลดมันลงบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าการปรับอุณหภูมิขึ้นลงของเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก

การใช้ฟืนในหน้าฝนนั้น คงไม่เหมือนหน้าร้อน เพราะอากาศมีความชื้นสูง ต้องจัดเตรียมฟืน เก็บฟืนไว้ในที่แห้ง หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่ให้โดนน้ำค้างหรือน้ำฝน

การใช้ฟืนนั้นยังสามารถจุดไฟให้ติดได้ง่ายกว่าใช้ถ่าน เพราะก่อกองไฟด้วยเศษไม้และฟืนนี่แทบจะไม่ต้องใช้พัด แต่ก่อเตาถ่านต้องใช้ ก็เลยเป็นอีกหนึ่งความสะดวกของการใช้ฟืน

[29] ฝน และ แมลงเม่า

diary-0029-ฝนและแมลงเม่า

29. ฝน และ แมลงเม่า

หลังจากหนาวมาหลายวัน อากาศก็เปลี่ยนเป็นร้อน เพียงแค่ลมพัดผ่านวันเดียว ฤดูกาลก็เปลี่ยนได้

หลังจากร้อนมาสักพักจนอบอ้าว ฝนก็ตกลงมา ตกมาไม่เยอะหรอก แต่เม็ดใหญ่ ตกได้ไม่นานก็หยุด พอให้ชุ่มฉ่ำ เย็นสบาย อุณหภูมิก็ลดลงมาเป็นสบาย ๆ อีกครั้ง

หลังจากร้อนแล้วมาฝน สิ่งที่มักจะเจอคือแมลงเม่า หลังจากพระอาทิตย์ตก ตอนเปิดไฟเข้าห้องน้ำก็เห็นแมลงเม่า และรู้ทันทีว่าคงต้องปิดไฟนอนเลย เพราะแมลงเม่านี่มันมุดมุ้งได้ เปิดไฟนิดหน่อย เพียงแค่แสงหน้าจอมือถือมันก็มาแล้ว

ก็เลยวางงานสรุปในวันนั้นทังหมดแล้วนอน ก็นอนคิดอะไรเพลิน ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วก็หลับ ตื่นมาอีกทีดึก ๆ ค่อยมาสรุปงาน วางแผนงานวันต่อไป เพราะแมลงเม่านี่มันมีเวลาของมัน มันจะมาเยอะช่วงหัวค่ำ และลดลงไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้น

วันต่อมาฝนก็ตกเหมือนเดิม แต่ไม่มีแมลงเม่าเหมือนวันแรก ก็ดีเหมือนกัน…

[28] คั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์

diary-0028-คั่วเมล็ดมะม่วงหิมพาน

28.คั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์

ด้วยความที่ว่าอยากจะปลูกมะม่วงหิมพานต์ไว้สัก 4-6 ต้น เพราะเป็นพืชที่ให้ทั้งโปรตีน ให้ทั้งน้ำมัน ทั้งเป็นที่นิยมอีกต่างหาก เอาเป็นว่ากินเองก็ได้ ทำขายก็คงพอมีคนสนใจ

ทีนี้ก่อนจะปลูก มันก็ต้องศึกษากันก่อนว่ากระบวนการที่จะทำให้ได้กินเนี่ย เขาทำอย่างไร ไม่ใช่ว่าปลูกแล้วแปรรูปยาก ขั้นตอนเยอะ อะไรแบบนี้มันก็ไม่ไหว

พอดีว่ามีคนเขาให้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาให้ปลูก เราก็เลยแบ่งส่วนหนึ่งมาทดลองคั่วดู ก่อนจะคั่วก็เปิดหาความรู้กันในอินเตอร์เน็ตนั่นแหละ ตามที่่เขาทำให้ดูกัน เราก็เรียนรู้ไป

พอมาถึงคราวทำจริงนี่ก็ระวังเหมือนกัน เพราะที่เขาทำให้ดูนี่มันติดไฟง่าย เราก็ลองเอาหม้อเก่านี่มาคั่ว ก็คั่วไป ใช้ไม้เขี่ย วน ๆ ไปให้มันร้อนหลาย ๆ ด้าน ไม่นานนักก็ไฟลุก เราก็ตายใจ เห็นเปลือกมันหนาเลยปล่อยให้ไฟลุกไปสักพัก รอบแรกได้แบบรูปขวาบน น้ำตาลมาเชียว สรุปว่าเสีย

รอบสองพอจะกะเวลาได้ คือถ้าไฟติด ก็ดับแล้วเลิกเลย ก็ออกมาดูดี แต่เมล็ดมันไม่เต่งเหมือนที่เราซื้อกินกัน ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน แต่ก็กินได้

สรุปลองกินทั้งแบบยั่งไม่คั่ว คั่วแล้วไหม้ คั่วแล้วยังไม่ไหม้ ก็โอเค สรุปความคิดว่าจะปลูกมะม่วงหิมพานต์ไว้กินก็ผ่าน ไว้ปลูกโตให้ผลแล้วค่อยมาว่ากันอีกที

[27] ถางหญ้า ตัดหญ้า ซอยหญ้า

diary-0027-ตัดหญ้า

27. ถางหญ้า ตัดหญ้า ซอยหญ้า

ที่นี่เป็นไร่เก่า มีหญ้าเป็นปกติ ถ้าปล่อยไว้นาน หญ้าจะโต ยาวมากกว่า 1 เมตร แม้จะเห็นว่ามันแห้ง แต่มันยังไม่ตาย ถ้าเราไม่ตัด มันก็จะไม่สลาย มันจะอยู่ของมันแบบนั้นไปอีกนานพอสมควร

แต่ถ้าเราตัด มันก็จะแตกใบใหม่ ถึงตอนนั้นค่อยขุดต้นมันออกอีกทีหนึ่ง เมื่อเราตัดหญ้าเราก็จะได้หญ้า จะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่สะดวก

แต่ก่อนผมใช้คลุมต้นไม้บ้าง คลุมแปลงผักบ้าง ไอ้คลุมต้นไม้นี่มันก็ดีอยู่หรอก ไม่นานก็ย่อย แถมรักษาความชื้นใต้ต้นได้อีก แต่คลุมแปลงผักนี่ไม่ไหว หญ้ายาวกว่าหนึ่งเมตร จัดลงแปลงผักเล็ก ๆ ของเรา ยังไงมันก็ขาด ๆ เกิน ๆ ล้นออกมาบ้าง ไม่สม่ำเสมอกันบ้าง

สุดท้ายก็เลยลองเอาหญ้ามาตัด ก็ลองตัดตั้งแต่ 2 นิ้ว ไปจนถึง 6 7 8… ก็แล้วแต่จะไปใช้กับที่แบบไหน ถ้าเอาไปคลุมพื้นที่เพาะเมล็ด ซอยสั้น ๆ มันก็ดี แต่ถ้าเอาไปลงแปลงผัก ซอยสั้น ๆ ก็จะเสียแรงเสียเวลาเยอะไปหน่อย

ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ดี ที่เอาไว้ทำตอนเที่ยง ๆ จนถึงบ่าย เป็นกิจกรรมที่ทำได้ในร่ม ไม่ต้องออกแดด ตัดหญ้าไป ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ไป เพลินดีนักเชียว

ยามเย็น

diary-0025-ยามเย็น

ยามเย็น

พอมองบรรยากาศตอนเย็นแล้วก็คิดถึงความแตกต่างจากบ้านที่กรุงเทพฯ ที่นี่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ทุ่งหญ้า ไร่นา ภูเขา ต้นไม้… แสงยามเย็นจึงไม่มีอะไรบังมากนัก เต็มที่ก็ภูเขาบัง แต่กรุงเทพฯ นี่ตึกบัง บ้านบัง ป้ายบัง ก็เป็นความแตกต่างของเมืองกับชนบท มันก็เป็นของมันอย่างนั้น

ในตอนที่แสงแดดอ่อน ๆ ยามเย็นกำลังจะหมดไป ลมหนาวก็พัดมา ช่วงก่อนหน้านี้จะหนาวแค่ตอนเช้ากับตอนหัวค่ำ แต่ตอนนี้เหมือนจะมีลมหนาวพัดมาทั้งวัน แต่ยังไม่ถึงกับหนาวมาก แค่ยืนขุดดินตากแดดตอนเช้า 8.00 น ก็ยังหนาวจนอยากใส่ชุดกันหนาวทั้งตัวทีเดียว

ถ้าเป็นสมัยก่อนผมก็คงจะอยากไปเที่ยวประเทศที่เขาหนาวสุด ๆ มีหิมะ มีธารน้ำแข็ง แต่ตอนนี้ไม่เอาแล้ว อยู่ที่นี่ แค่หนาวเท่านี้บางทีก็ลำบากร่างกายแล้ว เลยไม่รู้จะไปหาหนาวกว่านี้ทำไม

หน้าหนาวนี่ก็ดีอย่าง ทำงานเหงื่อแห้งไว ไม่เลอะเทอะนัก ส่วนหน้าฝนนี่ลำบากสุด คือเหงื่อออกมาก ยุงเยอะ เลอะเทอะ แต่ให้ผลผลิตดีสุด ผักโตไวดี ส่วนหน้าร้อนนี่เสียน้ำเยอะ คนก็ต้องกินน้ำบ่อย ต้นไม้ก็เช่นกัน

[23] การเลือกวัสดุอุปกรณ์ (ลวด)

diary-0023-การเลือกวัสดุอุปกรณ์-ลวด

23. การเลือกวัสดุอุปกรณ์ (ลวด)

วันนี้จะมาเล่าเรื่องลวด ในรูปนี้มีลวดสองเส้น เส้นหนึ่งเป็นของเก่า อีกเส้นพึ่งซื้อมาใหม่…

เส้นที่เป็นของเก่าซื้อติดบ้านไว้นานแล้ว อยู่ด้านขวา แขวนไม้ไว้เป็นปีก็ไม่มีสนิมกิน แต่ลวดด้านซ้ายซื้อมาไม่นาน เอามาผูกไม้ก็ไม่นาน สนิมกินในเวลาไม่นาน

บางครั้งการเริ่มทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง เราก็ต้องเสียเวลาให้กับความไม่รู้ อย่างเช่นเราไม่มีความรู้ในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ เห็นหน้าตามันเหมือนจะกันสนิมได้ก็ซื้อมา แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นสนิมเหมือนกับลวดผูกเหล็กทั่วไปได้

ของแต่ละอย่างมีวิธีใช้ของมัน ลวดด้านซ้าย ถ้าใช้ในร่มในที่แห้งก็คงไม่มีปัญหาอะไร

เหมือนกับของหลายอย่างที่ผมใช้แล้วใช้ผิดวิธีเพราะไม่มีความรู้ บุ้งกี๋มันยกของหนักมากไม่ได้ แรงเรามีจริง แต่มันตามแรงเราไม่ไหว มันก็หัก มันก็พัง หรือมีดที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่พอฟันผิดเหลี่ยมนิดหน่อย กลับงอไปทั้งเล่ม

เราก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนี่แหละครับ พวกนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้มีชุดความรู้เผยแพร่อยู่ทั่วไป อาจจะมีก็เช่นพวกในกลุ่มของคนที่ทำอาชีพหรือคนที่เผชิญกับปัญหาเดียวกันเอามาแบ่งปัน แต่ส่วนใหญ่เราก็พลาดก่อนทั้งนั้น เพราะไม่รู้ยังไงล่ะครับ มันก็เลยประมาณผิดไป

[22] ฝนตกปลายหนาว

diary-0022-ฝนตกปลายหนาว

22.ฝนตกปลายหนาว

วันนี้มีฝนตกตั้งแต่เช้า หลังจากที่ไม่เห็นมันตกมากว่าครึ่งเดือน

อากาศก่อนหน้านี้ก็ค่อนข้างเย็น ตอนเช้าอุณหภูมิลงไปถึง 19 องศา ซึ่งเย็นแค่นี้ ผมคิดว่าผมก็อยู่ไม่ค่อยสบายแล้ว แต่ปี 58 ที่นี่ก็เคยเย็นกว่านี้ ตกลงไปประมาณ 13-14 องศา เรียกว่าออกมากลางแจ้งลมพัดทีนึงเล่นเอามือชากันเลย

หลังจากอากาศเย็นเมื่อวันสองวันก่อนผ่านไป มันก็เริ่มอุ่นขึ้น เมื่อวานตอนเช้าวัดได้ 24 องศา ก็กำลังดี คิดว่าน่าจะอุ่นขึ้นอีก แต่ฝนกลับตกลงมาก็เลยน่าจะกลายเป็นเย็นลงไปอีก

บ้านที่อยู่นี่ก็ไม่ได้กันร้อนหนาวดีเท่าที่กรุงเทพฯ จะค่อนข้างอ่อนไหวมาก เพราะสร้างด้วยวัสดุที่ไม่กันความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเท่าไรนัก ก็อยู่กันไป…